การตายโดยผลของกฎหมาย
หากบุคคลหนึ่งบุคคลตายหายไปจากภูมิลำเนา โดยไม่มีผู้ใดทราบข่าวคราวเลยเมื่อหายไปสักระยะเวลาหนึ่ง (จะศึกษาต่อไปในเรื่องสาบสูญ) กฎหมายจึงสันนิษฐานว่าบุคคลนั้นอาจถึงแก่ความตายแล้วก็ได้ ทรัพย์สินของบุคคลนั้นจึงต้องมีการจัดการต่อไป การที่กฎหมายสันนิษฐานว่าบุคคลใดตายเช่นนี้เท่ากับบุคคลนั้นตายโดยผลของกฎหมาย แต่ก่อนที่กฎหมายจะสันนิษฐานเช่นนั้นได้ เวลาต้องได้ล่วงเลยไปนานพอสมควร ระยะเวลาที่อยู่ระหว่างรอการสันนิษฐานของกฎหมายนั้น เราเรียกบุคคลนั้นว่า “ผู้ไม่อยู่” เพื่อที่บุคคลอื่นในครอบครัวจะสามารถจัดการทรัพย์สินหรือกิจการของผู้นั้นไปพลางก่อนได้
มาตรา 48 ถ้าบุคคลใดไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่โดยมิได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดไปพลางก่อน ตามที่จำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์สินของบุคคลผู้ไม่อยู่นั้นก็ได้
เมื่อเวลาได้ล่วงเลยไปหนึ่งปี นับแต่วันที่ผู้ไม่อยู่นั้นไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่
และไม่มีผู้ใดได้รับข่าวเกี่ยวกับบุคคลนั้นประการใดเลยก็ดี หรือหนึ่งปีนับแต่วันมีผู้ได้พบเห็น หรือได้ทราบข่าวมาเป็นครั้งหลังสุดก็ดีเมื่อบุคคลตามวรรคหนึ่งร้องขอ ศาลจะตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ขึ้นก็ได้
อธิบาย เราจะดูกันที่มาตรา 48 วรรคแรกเสียก่อน จากมารตรา 48 วรรคแรกนี้ กฎหมายได้วางหลักเกณฑ์ของผู้ไม่อยู่ไว้ ดังนี้
1. ไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และ
2. ไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่
เช่น เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2547 นายดำออกเดินทางจากกรุงเทพไปเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต ญาตินายดำทราบว่านายดำไปเที่ยวภูเก็ตแล้วจะกลับมาหลังปีใหม่ ปรากฎว่าในวันที่ 26 ธันวาคม 2547 เกิดคลื่นยักษ์ซินามิขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต หลังเกิดเหตุการณ์ญาติออกตามหาแต่ไม่พบนายดำ การที่นายดำออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไป เป็นการไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ หลังจากวันที่ 15 นายดำไปภูเก็ตแล้วไม่เคยติดต่อกลับมาอีกเลย จึงไม่มีใครทราบว่านายดำเป็นตายร้ายดีประการใด ดังนั้นการเป็นผู้ไม่อยู่ของนายดำจึงเริ่มจากวันที่ 15 ธันวาคม 2547
แต่ถ้า คืนวันที่ 24 ธันวาคม นายดำได้โทรศัพท์กลับมาบ้านเพื่อส่งความสุขในวันคริสต์มาส แก่ภรรยาและลูก ๆ ดังนั้นการไม่ทราบว่านายดำเป็นตายร้ายดีประการใดจะเริ่มนับจากวันที่มีการติดต่อครั้งสุดท้าย นายดำจึงถือว่าเป็นผู้ไม่อยู่นับแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2547
การเป็นผู้ไม่อยู่จึงต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ 2 ข้อ คือ ไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และไม่มีผู้ใดรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวติอยู่หรือไม่ จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้
เหตุในการร้องขอตั้งผู้จัดการทรัพย์สิน
1. ผู้ไม่อยู่ไม่ได้ตั้งตัวแทนมอบอำนาจทั่วไปไว้
เนื่องจากผู้ไม่อยู่ย่อมต้องมีกิจการ หน้าที่ สิทธิต่าง ๆ ที่ผู้ไม่อยู่ต้องปฏิบัติ เช่นมีหน้า
ที่ต้องชำระหนี้ให้แก่ธนาคาร มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ หรือมีหน้าที่ต้องจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินใด ๆ หรือมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ใด ๆ กรณีตามตัวอย่างหากนายดำไม่ได้ตั้งผู้ใดเป็นผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้ ผู้ใดก็จะไม่สามารถปฏิบัติภาระกิจต่าง ๆ แทนนายดำได้ ดังนั้น กฎหมายจึงเปิดโอกาสให้มีการร้องต่อศาลเมื่อขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไปอยู่ไปพลางก่อนได้ แต่หากผู้ไม่อยู่ได้ตั้งตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไปไว้แล้ว เช่นก่อนไปนายดำตั้งนางเหลืองภรรยาตน เป็นตัวแทนมีอำนาจกระทำกิจการทุกอย่างแทนนายดำได้ เช่นนี้ เหตุในการร้องขอจัดตั้งผู้จัดการทรัพย์สินจึงไม่มี นางเหลืองสามารถจัดการทุกอย่างแทนนายดำได้
ผู้มีสิทธิร้องขอ
1. ผู้มีส่วนได้เสีย คือผู้ได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์ หรือเป็นผู้ที่เกี่ยวข้อทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ เช่น บิดามารดา คู่สมรส บุตร เจ้าหนี้ ผู้เป็นหุ้นส่วน เป็นต้น
2. พนักงานอัยการ เช่นผู้ไม่อยู่ ไม่มีบิดามารดา ไม่มีคู่สมรส หรือผู้มีส่วนได้เสียอื่นมีเพียงแต่บุตรผู้เยาว์เพียงคนเดียว การยื่นคำร้องต่อศาลจึงต้องได้กระทำโดยพนักงานอัยการ เนื่องจากผู้เยาว์ไม่สามารถยื่นคำร้องหรือคำฟ้องเองได้
การขอตั้งผู้จัดการทรัพย์สินตาม มาตรา 48 วรรคท้าย
การขอตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ตามวรรคสองนี้จะกระทำได้ต่อเมื่อ
1. ผู้ไม่อยู่นั้นไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลา 1 ปีแล้ว และ
2. ไม่มีผู้ใดได้รับข่าวเกี่ยวกับบุคคลนั้นประการใดเลย หรือ 1 ปี นับแต่วันที่มีผู้พบเห็น
หรือได้ทราบข่าวมาเป็นครั้งสุดท้าย
บุคคลที่มีสิทธิร้องขอก็คือบุคคลตามวรรคแรกนั่นเอง
เช่น กรณีตามตัวอย่างเดิม นายดำออกจากบ้าน วันที่ 15 ธันวาคม 2547 นายดำเดินทางจากกรุงเทพไปเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต ญาตินายดำทราบว่านายดำไปเที่ยวภูเก็ตแล้วจะกลับมาหลังปีใหม่ ปรากฎว่าในวันที่ 26 ธันวาคม 2547 เกิดคลื่นยักษ์ซินามิขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต หลังเกิดเหตุการณ์ญาติออกตามหาแต่ไม่พบนายดำ การที่นายดำออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไป เป็นการไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ หลังจากวันที่ 15 นายดำไปภูเก็ตแล้วไม่เคยติดต่อกลับมาอีกเลย จึงไม่มีใครทราบว่านายดำเป็นตายร้ายดีประการใด หาก ผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอจัดการทรัพย์สินของนายดำตามวรรค 2 ต้องรอจนครบ 1 ปีเสียก่อนดังนั้นวันที่จะร้องขอได้วันแรกคือวันที่ 15 ธันวาคม 2548
แต่ถ้า คืนวันที่ 24 ธันวาคม นายดำได้โทรศัพท์กลับมาบ้าน ดังนั้นการไม่ทราบว่านายดำเป็นตายร้ายดีประการใดจะเริ่มนับจากวันที่มีการติดต่อครั้งสุดท้ายล่วงไป 1 ปี ผู้มีส่วนได้เสียจึงอาจร้องขอได้ในวันที่ 24 ธันวาคม 2548
ความแตกต่างของอำนาจจัดการทรัพย์สินตามวรรคแรกและวรรคท้าย
การจัดการทรัพย์สินตามวรรคแรกนั้น เวลาร้องขออนุญาตต่อศาลต้องระบุว่าจะจัดการทรัพย์ใดอย่างใด ศาลจะสั่งให้จัดการเฉพาะทรัพย์นั้นอย่างนั้น และเฉพาะเท่าที่จำเป็น การใดไม่จำเป็นหรือรอได้ต้องรอไว้ก่อน เช่น ขอจัดการชำระหนี้ธนาคารเป็นจำนวน..............จนกว่านายดำจะกลับมา ศาลจะอนุญาตให้ชำระหนี้เป็นจำนวน...........จนกว่านายดำจะกลับมา ขอจัดการห้างหุ้นส่วนซึ่งนายดำเป็นผู้ถือหุ้น ต้องระบุด้วยว่าจัดการอะไร เช่น จัดการเรื่องการจัดซื้อ ศาลจะสั่งเท่านั้น เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือน หรือเกิดความเสียหายแก่ผู้ไม่อยู่หากผู้ไม่อยู่กลับมา
แต่การร้องตามวรรคท้ายนั้น ที่กฎหมายให้ทิ้งเวลาไว้ 1 ปี เพื่อรอผู้ไม่อยู่กลับมานั้น เมื่อระยะเวลาล่วงไปหนึ่งปีจึงค่อนข้างมีโอกาสน้อยมากที่เขาจะกลับมา กฎหมายจึงเปิดโอกาสให้ร้องขอจัดการทรัพย์สินได้ การร้องขอในครั้งนี้ ผู้ร้องจะมีอำนาจจัดการทรัพย์สินอย่างผู้รับมอบอำนาจทั่วไปซึ่งมีอำนาจจัดการได้มากกว่าในวรรคแรก โดยไม่ต้องระบุว่าจะขออะไร หากเคยขอตามวรรคแรกแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปครบ 1 ปี อยากจะขอจัดการทรัพย์สินทั่วไปของผู้ไม่อยู่ก็ต้องขออีกครั้ง ศาลจะมีคำสั่งตั้งผู้จัดการทรัพย์ที่มีอำนาจจัดการทรัพย์สินทั่วไปอีกครั้งหนึ่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น