วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2554

ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ ต้องระวัง

ในการทำนิติกรรมหรือธุรกรรมบางอย่าง อาจจะเป็นการไม่สะดวกนัก หากเราจะต้องไปดำเนินการเองเสียทุกเรื่อง ดังนั้น กฎหมายจึงกำหนดอนุญาตให้มอบอำนาจให้ผู้อื่นเป็นตัวแทนในการจัดการแทนเราได้ โดยต้องทำการมอบอำนาจเป็นหนังสือ ในบางครั้ง เราอาจมอบอำนาจให้บุคคลซึ่งเราไว้วางใจจนลืมและไม่ได้ระมัดระวังที่จะอ่านและทำความเข้าใจในหนังสือมอบอำนาจนั้นให้ดีเสียก่อน หรือแม้กระทั่งลงลายมือชื่อในแบบฟร์อมหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ ด้วยไว้ใจให้ผู้รับมอบอำนาจไปกรอกข้อความเอาเอง ทำให้เกิดปัญหาผู้รับมอบอำนาจนำหนังสือมอบอำนาจไปทำนิติกรรมอย่างอื่นนอกเหนือเจตนาของผู้มอบอำนาจ เช่น นำหนังสือมอบอำนาจไปกรอกข้อความว่าผู้มอบอำนาจ ได้มอบอำนาจให้ขายอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ผู้ซื้อหลงเชื่อ และเข้าทำสัญญา กว่าเจ้าของทรัพย์สิน (ผู้มอบอำนาจ) จะรู้ตัว ทรัพย์สินนั้นก็ได้ถูกโอนเปลี่ยนมือไปเสียแล้ว ทำให้เป็นคดีความต้องตามเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายให้ยุ่งยากและเสียเวลา อีกทั้งอาจจะแพ้คดี เสียทั้งที่ดินและเสียเงินค่าทนายสู้คดีแบบซ้ำซ้อนแต่ไม่ได้อะไรกลับมาก็เป็นได้

ตััวอย่าง

นายดำ ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ไม่ได้กรอกข้อความให้นายแดงไปจัดการรังวัด ออกโฉนดที่ดิน แต่ปรากฎว่า นายแดงกรอกข้อความว่านายดำมอบอำนาจให้ตนทำการรังวัดออกโฉนดที่ดินและนำที่ดินไปจำนอง เมื่อนายแดงรังวัดออกโฉนดที่ดินแล้ว นายแดงจึงนำที่ดินไปจำนองและเอาเงินที่ได้จากการจำนองไปใช้จนหมด ปัญหาว่า ผู้มอบอำนาจสามารถเพิกถอนนิติกรรมการจำนองได้หรือไม่

ในเรื่องนี้ มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วว่า ผู้มอบอำนาจประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่สามารถเพิกถอนนิติกรรมการจำนองดังกล่าวได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 4708/2533 การที่ตัวการลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือมอบอำนาจโดยไม่กรอกข้อความไว้ ภายหลังจำเลยที่ 1 โดยทุจริตได้นำใบมอบอำนาจดังกล่าวไปกรอกข้อความแล้วขายฝากที่พิพาทให้จำเลยที่ 2ที่ 3 เป็นกรณีเข้าลักษณะความรับผิดของตัวการต่อบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 822 ซึ่งเป็นเรื่องที่ตัวแทนคือจำเลยที่ 1 ทำการเกินอำนาจตัวแทน แต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่า การอันนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทน ตัวการจึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริต โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของตัวการย่อมไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการขายฝากดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7906/2544
การที่โจทก์ฟ้องเพื่อติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของโจทก์จากจำเลยที่ 1 ผู้ปลอมเอกสารโดยกรอกข้อความอันเป็นเท็จลงในหนังสือมอบอำนาจซึ่งยังไม่ได้ กรอกข้อความว่า โจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจจัดการยื่นคำขอจดทะเบียนขายที่ดินของโจทก์โดยยอมให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับโอนในนามของจำเลยที่ 1 ได้ด้วย ทำให้สามารถโอนที่ดินไปเป็นของตนเองได้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลผู้ไม่มีสิทธิที่จะยึดถือที่ดินไว้ โจทก์สามารถฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 แม้โจทก์จะมีส่วนประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ก็ยังมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของโจทก์จากจำเลยที่ 1 ได้ ในเมื่อที่ดินนั้นยังมิได้โอนเปลี่ยนมือไปเป็นของบุคคลอื่น ยังอยู่ในวิสัยที่จะเพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ทำขึ้นโดยปราศจากอำนาจได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 รับจำนองที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนแก่จำเลยที่ 1 ผู้ปรากฏชื่อเป็นเจ้าของที่ดินอยู่ในขณะนั้น แม้ขณะจดทะเบียนจำนองจำเลยที่ 1 จะมิได้เป็นเจ้าของที่ดินที่จำนอง แต่พฤติการณ์ของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบ อำนาจซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความมอบให้จำเลยที่ 1 ยึดถือไว้พร้อม น.ส.3 ก. ทั้งยังมอบสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ไว้กับจำเลย ที่ 1 เป็นการกระทำที่เปิดโอกาสให้จำเลยที่ 1 นำเอกสารเหล่านั้นไปใช้ในกิจการอย่างอื่น ถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงโจทก์จะยกเอาผลที่เกิดจากความประมาท เลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์มาเป็นมูลเหตุฟ้องร้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองโดยสุจริตหาได้ไม่ หากสุจริตด้วยกันผู้ประมาทเลินเล่อย่อมเป็นผู้เสียเปรียบ การที่โจทก์มาฟ้องขอให้เพิกถอนการจำนองจึงถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่ สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และแม้ที่ดินจะต้องถูกโอนกลับไปเป็นของโจทก์นิติกรรมจำนองที่จำเลยที่ 1 ก่อไว้ย่อมตกติดมาด้วย

ฎ 8929/2542 (ประชุมใหญ่) การที่โจทก์ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความนับว่าเป็นประมาทเลินเล่อ โจทก์ไม่อาจยกความบกพร่องของหนังสือมอบอำนาจมายันให้เป็นที่เสียหายแก่ธนาคารซึ่งรับจำนองไว้โดยสุจริตได้


เป็นอันว่า ผู้มอบอำนาจ ก็ต้องหาเงินมาไถ่ถอนจำนองที่ดินของตนเอง โดยที่ตนเองไม่ได้รับประโยชน์จากการจำนองเลยแม้แต่น้อย ดังนั้น หากจะลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจในเรื่องใดๆ ก็ตาม ต้องอ่านและทำความเข้าใจให้ดี ลงลายมือชื่อทั้งตัวผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ รวมถึงพยานเสียให้เรียบร้อยในคราวเดียวกันนั้นเลย และควรจะถ่ายเอกสารหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเก็บไว้ให้ดีและให้ผู้รับมอบอำนาจเซนต์รับรองสำเนาถูกต้องด้วย หากภายหลัง ผู้รับมอบอำนาจเกิดไปแก้ไขหนังสือมอบอำนาจ ผู้มอบอำนาจจะได้มีหลักฐานยืนยันได้ว่า ข้อความที่แท้จริงในหนังสือมอบอำนาจนั้นมีว่าอย่างไร


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น