วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2554

ดอกเบี้ยผิดนัด คิดกันอย่างไร

ดอกเบี้ยผิดนัด ตามมาตรา 224 เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งนักเรียนกฎหมายมักไม่ค่อยเข้าใจ อ่านตัวบทกฎหมายแล้วไม่เข้าใจว่าคิดกันอย่างไร

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า การผิดนัดคืออะไร

มาตรา 204 ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วและภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้วลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว
ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและลูกหนี้มิได้ ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ก่อนการชำระหนี้ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว
จากบทบัญญัติมาตรา 204 หนี้ถึงกำหนดชำระเมื่อไหร่นั้น ต้องแยกพิจารณาเป็นหนี้ที่มีกำหนดชำระตามปีปฏิทิน กับหนี้ที่ไม่มีำกำหนดชำระ
กรณีหนี้ไม่มีกำหนดชำระ เจ้าหนี้ต้องให้คำเตือนลูกหนี้ให้ชำระหนี้เสียก่อน หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดคำเตือน ถือว่าลูกหนี้ผิดนัดเพราะเจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนแล้ว เช่น นายดำให้นายแดงกู้ยืมเงิน โดยไม่กำหนดว่าจะชำระกันเมื่อไหร่ นายดำจะเรียกให้นายแดงชำระหนี้ทันทีนั้นไม่ได้ นายดำต้องเตือนให้นายแดงชำระหนี้ โดยกำหนดเวลาให้ชำระเสียก่อน เช่น นายดำต้องการใช้เงินในเดือนมีนาคม นายดำอาจจะเตือนให้นายแดงชำระหนี้ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เช่นนี้ถือว่านายดำได้ให้คำเตือนนายแดงแล้ว หากในวันที่ 25 ก.พ. นายแดงไม่ชำระหนี้ นายแดงได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว
กรณีหนี้มีกำหนดชำระตามปีปฏิทินอย่างชัดเจน เช่น ครบกำหนดชำระหนี้ในวันที่ 30 มกราคม 2554 ดังนั้น หากวันที่ 30 มกราคม 2554 ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ ลูกหนี้ผิดนัดทันทีโดยที่เจ้าหนี้ไม่ต้องเตือน เพราะมีกำหนดชำระชัดเจนอยู่แล้ว
ปัญหาว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ดอกเบี้ยผิดนัดจะคิดกันอย่างไร ต้องดูมาตรา 224 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 224 หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัด ร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น

ซึ่งสามารถแบ่งวิธีคิดดอกเบี้ยได้เป็นสองกรณีคือ
1. ดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายกำหนดให้คิดได้ร้อยละ เจ็ดกึ่ง (7.5) ต่อปี ซึ่งดอกเบี้ยตามกฎหมายนี้ เจ้าหนี้สามารถเรียกได้แม้ไม่ได้กำหนดข้อตกลงกันไว้ในสัญญาเลยก็ตาม เช่น ดำให้แดงกู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ย (ดำใจดี) แต่เมื่อแดงผิดนัด กฎหมายให้สิทธิดำที่จะเรียกดอกเบี้ยผิดนัดได้ โดยดำสามารถเรียกได้นับแต่วันที่แดงผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

คำพิพากษาฎีกาที่ 1272/2501 สัญญากู้ยืมที่มิได้กำหนดดอกเบี้ยไว้ผู้กู้ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันผิดนัด ถ้าไม่ปรากฏว่าเจ้าหนี้ทวงถามเมื่อไรศาลให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง


ในกรณีที่เจ้าหนี้และลูกหนี้ ตกลงกันคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฏหมายกำหนด คือเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ตาม พรบ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา บังคับเฉพาะหนี้เิงิน ถ้าไม่ใช่หนี้เงินไม่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาฎีกาที่ 4056/2528 จำเลยกู้เงินโจทก์สัญญากู้ระบุดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าอัตราที่กฏหมายกำหนดไว้ ข้อกำหนดอัตราดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ มีผลให้โจทก์หมดสิทธิที่จะเรียกเอาดอกเบี้ยตามสัญญาได้ อย่างไรก็ดีสัญญากู้มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ ฉะนั้น หลังจากที่โจทก์แจ้งให้จำเลยชำระหนี้แล้วจำเลยยังคงเพิกเฉย จำเลยได้ชื่อว่าผิดนัดแล้ว หลังจากนั้นเป็นต้นไปโจทก์ชอบที่จะเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเอาแก่จำเลย

ดอกเบี้ยในหนี้เงินที่เกินอัตราที่กฏหมายกำหนด เป็นโมฆะทั้งหมด แต่เงินต้นสมบูรณ์ จึงเท่ากับดอกเบี้ยตามสัญญาไม่มี หากลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้สามารถคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ตามกฎหมายคือ ร้อยละเจ็ดกึ่ง เช่น ดำและแดงตกลงกันคิดดอกเบี้ย ร้อยละยี่สิบต่อปี ซึ่งเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ดอกเบี้ยตามสัญญาจึงเป็นโมฆะ เท่ากับดำไม่ได้คิดดอกเบี้ยแดง เมื่อแดงผิดนัด ดำยังมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยผิดนัดได้ตามกฎหมายคือ 7.5 ต่อปี ในข้อนี้เองที่นักเรียนกฎหมายเข้าใจผิดกันมาก
คำพิพากษาฎีกาที่ 4056/2528 จำเลยกู้เงินโจทก์สัญญากู้ระบุดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าอัตราที่กฏหมายกำหนดไว้ ข้อกำหนดอัตราดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ มีผลให้โจทก์หมดสิทธิที่จะเรียกเอาดอกเบี้ยตามสัญญาได้ อย่างไรก็ดีสัญญากู้มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ ฉะนั้น หลังจากที่โจทก์แจ้งให้จำเลยชำระหนี้แล้วจำเลยยังคงเพิกเฉย จำเลยได้ชื่อว่าผิดนัดแล้ว หลังจากนั้นเป็นต้นไปโจทก์ชอบที่จะเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเอาแก่จำเลย

2. ดอกเบี้ยผิดนัดที่คิดตามสัญญา หากมีสัญญากำหนดไว้ให้คิดดอกเบี้ยกันเท่าไหร่ ดอกเบี้ยผิดนัดคงคิดได้ตามสัญญาเช่น สัญญากำหนดให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 10 เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ดอกเบี้ยในส่วนนี้ก็สามารถเรียกได้ร้อยละ 10 เช่นเดียวกับดอกเบี้ยในสัญญา ซึ่งเป็นกรณีที่
อาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย คือ ตามข้อกำหนดในสัญญานั่นเอง กล่าวง่ายๆ คือ สัญญากำหนดดอกเบี้ยตามสัญญาไว้อย่างไร เมื่อผิดนัดก็สามารถคิดดอกเบี้ยได้เท่ากับดอกเบี้ยตามสัญญานั่นเอง



9 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ22/4/54 16:13

    เข้าใจแล้ว ขอบคุณมากค่ะ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ18/5/54 14:57

    เรื่องงนี้เป็นนเรื่องที่ซับซ้อนนและเข้าใจยาก...งขอบคุณอาจารย์มากๆๆครับบ...ผมขอกอปปี้ไปทำความเข้าใจก่อนนครับบ...เดี๋ยววถ้ามีประเด็นสงงสัย..งจะกลับมาขอความกรุณาจากอาจารย์ครับบ..(ไพศาล ศรีบุรินทร์)

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ9/3/55 22:54

    ผมผิดการชำระเงินมาประมาณ16เดือนเงินต้น ณ ตอนนั้นประมาณ245000 บาทแต่ทำไมตอนนี้เป็น307000บาท

    ตอบลบ
  4. กับธนาคารหรือเปล่าคะ บัตรเครดิตหรือเปล่า เพราะกรณีธนาคาร เขาใช้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยคิดดอกเบี้ย ไม่อยู่ภายใต้บทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ค่ะ ถ้าเป็นบัตรเครดิต พอผิดนัด ดอกถึงจมหูเลยค่ะ

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ19/6/55 17:14

    แล้วถ้าตามสัญญากำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดไว้ แต่ไม่ได้กำหนดว่ให้คิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันใด ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่คู่สัญญาผิดสัญญา หรือนับแต่วันที่บอกเลิกสัญญาคะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ดอกเบี้ยผิดนัด ก็คือดอกเบี้ยผิดนัด ไม่มีการกำหนดว่าคิดตั้งแต่วันใดหรอกค่ะ เพราะกฏหมายบัญญัติให้คิดตั้งแต่วันผิดนัด ลองอ่านบทความใหม่ให้เข้าใจนะคะ แล้วจะตอบได้เอง

      ลบ
  6. มาตรา 224 หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัด ร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น

    ซึ่งสามารถแบ่งวิธีคิดดอกเบี้ยได้เป็นสองกรณีคือ
    1. ดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายกำหนดให้คิดได้ร้อยละ เจ็ดกึ่ง (7.5) ต่อปี ซึ่งดอกเบี้ยตามกฎหมายนี้ เจ้าหนี้สามารถเรียกได้แม้ไม่ได้กำหนดข้อตกลงกันไว้ในสัญญาเลยก็ตาม เช่น ดำให้แดงกู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ย (ดำใจดี) แต่เมื่อแดงผิดนัด กฎหมายให้สิทธิดำที่จะเรียกดอกเบี้ยผิดนัดได้ โดยดำสามารถเรียกได้นับแต่วันที่แดงผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
    คำพิพากษาฎีกาที่ 1272/2501 สัญญากู้ยืมที่มิได้กำหนดดอกเบี้ยไว้ผู้กู้ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันผิดนัด ถ้าไม่ปรากฏว่าเจ้าหนี้ทวงถามเมื่อไรศาลให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง

    ทั้งหมดนี้อยู่ในบทความแล้วค่ะ แต่คุณไม่ได้อ่านให้เข้าใจ ก็นำความสงสัยมาถามเสียก่อน

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น