วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2554

อคติทั้งสี่ประการของนักกฎหมาย


นักกฎหมาย แปลว่า ผู้ชำนาญด้านกฎหมาย ถ้าจิตใจฝักไฝ่ในอคติทั้งสี่ประการได้แก่
ฉันทาคติ ความลำเอียงเพราะความรักความพอใจ
โทสาคติ ความลำเอียงเพราะความโกรธ ไม่ชอบใจ ไม่พอใจ
โมหาคติ ความลำเอียงเพราะความไม่รู้ ความเขลา (ไม่รู้แล้วไม่ศึกษาหาความรู้ คิดว่าตนเองนั้นรู้แล้ว ภาษาวัยรุ่นเรียกว่าโชว์โง่)

ภยาคติ ความลำเอียงเพราะความกลัว กลัวจนไม่กล้าพิจารณาตัดสิน นักกฎหมายต้องไม่กลัว ตายก็ตาย ต้องรักษาความถูกต้องไว้ด้วยชีวิต ตายก็ไม่ทิ้งความถูกต้อง ต้องพูดและทำในสิ่งที่ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่กลัวว่าจะไม่ถูกใจไม่ชอบใจใคร
ตามคัมภีร์อินทภาษได้กล่าวถึง ลักษณะเจตสิตทั้งสี่ดวงและลักษณะของผู้จะเป็นตระลาการไว้ดังนี้
"
ในเทวะอรรถาธิบายว่าบุทคลผู้ใด จะเปนผู้พิภากษาตัดสีนคดีการแห่งมนุษยนิกรทั้งหลาย พึงกระทำสันดานให้นิราศปราศจากอะคติธรรมทังสี่ คือฉันทาคติ ๑ โทษาคติ ๑ ภะยาคติ ๑ โมหาคติ ๑ ทังสี่ประการนี้เปนทุจริตธรรมอันมิได้สอาดมิได้เปนของแห่งสับปรุษ แลธรรมทังสี่เรียกว่าอะคตินั้น ด้วยเหตุเปนดั่งฤๅ อะคตินั้นแปลว่ามิได้เปนที่ตำเนินแห่งสับปรุษแลฉันท ๑ โทษะ ๑ ไภยะ ๑ โมหะ ๑ ธรรมทังสี่นี้นักปราชมิควรถึงมิควรตำเนินไปตามและฉันทะนั้นถ้าจัดตามภูมก็เปนอัญสะมานะราษีเจตสิกกุศลก็เกิดได้ ฝ่ายอะกุศลก็เกิดได้ แต่ทว่าเอามาจัดเข้าในอะคตินี้ ฉันทนั้นเปนอะกุศลจิตรโดยแท้ และโทษะไภยะโมหะสามดวงนี้เปนอะกุศลเจตสิกฝ่ายเดียว

แลซึ่งว่าให้ผู้พิภากษาปราศจากฉันทาคะตินั้น คือให้ทำจิตรให้นิราศขาดจากโลภ อย่าได้เหนแก่ลาภะโลกามิศสีนจ้างสีนบน อย่าได้เข้าด้วยฝ่ายโจทฝ่ายจำเลยเปนเหตุจะได้วิญาณพัศดุะแลอะวิญาณะพัศดุะ ให้กระทำจิตรให้เปนจัตุรัศเที่ยงแท้เปนท่ามกลาง ดั่งตราชูอันยกขึ้นอย่าได้กดขี่ฝ่ายโจทยกยอฝ่ายจำเลย ยกข้างฝ่ายโจท กดขี่ฝ่ายจำเลยให้พ่ายแพ้แก่กันลงด้วยอำนาจของตน ถึงมาทว่าผู้ต้องคดีนั้นจะเปนเผ่าพันธุเปนต้นว่าบิดามานดาตนก็ดี อย่าพึงเข้าด้วยสามาถฉันทาคติอันมิควรจะพึงไป จงทำจิตรให้ตั้งอยู่ในอุเบกขาญาณ จึ่งได้ชื่อว่าเปนองคตุลาการ มีอาการอันเสมอเหมือนด้วยตราชู ให้พิจารณาไต่ไปตามธรรมสาตรราชสาตร อันโบราณบัณฑิตยชาติ แลกระษัตรแต่ปางก่อนบัญญัติไว้อย่าให้พลั้งพลาด แลผู้พิภากษากระลาการไต่ไปโดยคลองธรรมดั่งกล่าวมานี้ ได้ชื่อว่าปราศจากฉันทาคติคืออะคติเปนปถม ๑

แลปราศจากโทษาคตินั้น คือให้ผู้พิภากษากระลาการกระทำจิตให้เสมออย่าได้ไต่ไปตามอำนาจ์โทษาพญาบาทจองเวร ว่าผู้นี้เปนคนปะฏิปักขข้าศึกผิดกันกับอาตมา อย่ากระทำซึ่งความโกรธแลเวระพญาบาทเปนเบื้องหน้าแล้วแลพิจารณากดขี่ให้พ่ายแพ้ ถึงมาทว่าฝ่ายโจทฝ่ายจำเลยก็ดีจะเปนคนข้าศึกผิดกันกับตนอยู่ในกาลก่อนก็อย่าได้ปล่อยซึ่งจิตรให้ไต่ไปตามอำนาจ์โทษาคะติ พึงดำเนินไปตามธรรมสาตรราชสาตร แลตั้งจิตรไว้ในมัชฌะตุเบกขาให้แน่แน่วแล้วจึ่งพิจารณาตัดสีนเปนท่ามกลาง อย่าให้ฝ่ายโจทฝ่ายจำเลยแพ้ชนะกันด้วยอำนาจ์โทษจิตรจองเวรแห่งตน เมื่อกระลาการผู้พิภากษาผู้ใดประพฤฒิได้ดั่งกล่าวมานี้ ได้ชื่อว่าผู้พิภากษากระลาการผู้นั้นปราศจากโทษาคติ มิได้ไปตามอะคติเปนคำรบสอง

ซึ่งว่าให้กระลาการแลผู้พิภากษาปราศจากภะยาคะตินั้น คือให้ผู้พิภากษากระลาการกระทำจิตรให้มั่นคง อย่าได้หวั่นไหวแต่ไภยความกลัวฝ่ายโจทแลฝ่ายจำเลย อย่าสดุ้งหวาดเสียวว่าผู้นี้เปนอธิบดีมียศถาศักดิแลเปนราชตระกูลประยูรอันใหญ่ยิ่ง ถ้าอาตมาพิภากษาควรแพ้แลแพ้ลงบัดนี้ ก็จะทำให้อาตมาถึงซึ่งความฉิบหายด้วยเหตุอันใดอันหนึ่งเปนมั่นคง อนึ่งอย่าพึ่งกลัวว่าผู้นี้มีวิทยาคมแลฝีมือกำลังกายแกล้วกล้าถ้าพ่ายแพ้ลงก็จะเคียดโกรธอาตมาแล้วจทำความวินาศอันใดอันหนึ่งให้ถึงเรา เพราะเหตุเราบังคับบันชาให้พ่ายแพ้ในที่อันควรจะแพ้ พึงกระทำจิตรให้องอาจ์อย่าได้หวาดไหวแต่ไภยความกลัวอะธิบดีตระกูล แต่เหตุอันใดอันหนึ่ง พึงยุดหน่วงซึ่งหลักคือสุจริตธรรม แล้วไต่ไปตามธรรมสาตรราชสาตรอันเปนบันทัดถาน อย่าให้นิกรชนฝูงปราชผู้ดำเนินด้วยญาณคติตำริติตนได้ว่าเปนคนมารยาสาไถย ถึงมาทว่าผู้ต้องคดีการจะเปนอะธิจะกระกูลประกอบด้วยยศศักดิอันสูงประการใดก็อย่าพึงกลับคดีการอันแพ้ให้ชนะ ด้วยสามาถภะยาคติคือความกลัว แลผู้พิภากษากระลาการผู้ใดประพฤฒิได้ดั่งกล่าวมานี้ ก็ได้ชื่อว่าผู้พิภากษากระลาการผู้นั้น ปราศจากภะยาคติมิได้ตำเนินไปตามอะคติเปนคำรบสาม

แลให้ปราศจากโมหาคตินั้น โมหะเจตสิกดวงนี้ คือ ตัวอะวิชา มีลักษณอันมืดไปในที่ทังปวง มิได้รู้จักกองทุกขและทุกขสมุทยทุกขนิโรธ ทุกขนิโรธคามินี ฝ่ายโลกียการเล่าโมหะตัวนี้ ถ้ามากในสันดานผู้ใดแล้ว ก็ให้มืดมัวหลงไหลไปมิได้รู้จักบาปบุญคุณแลโทษ ประโยชนแลใช่ปรโยชนมิได้รู้จักผิดแลชอบ มีแต่ให้มืดคลุ้มหุ้มไปด้วยโมหันทะการะเปนนิจดั่งนี้เปนลักษณแห่งโมหะ แลผู้พิพากษากระลาการพึงมละเว้นเสียซึ่งโมหะนั้นให้ปราศจากสันดาน จะพิภากษาคดีการประชาราษฎรนั้น พึงพิจารณาด้วยอุบายะปรีชาอันบริสุทธิ อย่าให้ทุจริตเข้าระคนได้ คดีใดควนแก่แพ้ ก็พึงพิจารณาให้เหนด้วยปัญาว่าควรแพ้ คดีใดจะพึงชนะ ก็สอดส่องให้เหนด้วยปัญาโดยแท้ว่าควรจะชนะ อย่าบังคับบันชาด้วยโมหาคติอันมืดหลงใหล ถ้าเหลือสติปัญาตนก็พึงเทียบทานถามซึ่งบัณฑิตยเสวะกามาตยผู้มีปัญาชาญฉลาดในราชบัญญัติ แลเคยในกิจคดีตัดสีนพิภากษามาในกาลก่อน อย่าทะอึงอวดตนด้วยอุณตมานะอันโมหาเหนเปล่าล้วนแต่หลงใหล พึงยุดหน่วงซึ่งหลักคือสุจริตธรรม อันมีลักษณละอายบาปกลัวบาป แล้วพึงไต่ไปตามธรรมสาตรราชสาตร อย่ากลับซึ่งคดีอันแพ้ให้ชนะ กลับคดีชนะให้แพ้ด้วยอำนาจแห่งโมหะคือความหลง ถ้าผู้พิภากษากระลาการผู้ใดประพฤฒิได้ดั่งกล่าวมานี้ กระลาการผู้นั้นได้ชื่อว่าปราศจากโมหาคะติ มิได้ไต่ไปตามอะคติเปนคำรบสี่ แลเสวะกามาตยหมู่ใด มละเสียซึ่งอะคติธรรมทังสี่นี้ ให้นิราษขาดจากสันดานได้ ตสฺส ยโส อภิวฑฺฒติ อันว่าอิศีริยศแลบริวารยศแห่งเสวะกามาตยหมู่นั้น ก็จะวัฒนาการจำเริญภิญโยยิ่งรุ่งเรืองไป สุกฺกปกฺเข ว จนฺทิมา ประดูจพระจันทรอันเพญผ่องรุ่งเรืองสว่างในนภางควิถีในวันสุกะปักขนั้น"
หมายเหตุ ภาษาทั้งหมดข้าพเจ้ามิได้พิมพ์ผิด แต่เป็นภาษาที่เขียนในกฎหมายตราสามดวง (กฎหมายโบราณ)

โดยหลักใหญ่ใจความ อธิบายว่า
อคติข้อฉันทา นั้น เป็นเจตสิกที่เป็นฝ่ายกุศล หรืออกุศลก็ได้ แต่หากเอามากล่าวในลักษณะแห่งผู้จะเป็นตระลาการ อคติข้อนี้กลายเป็นเจตสิกที่เป็นอกุศล กระลาการผู้เจริญด้วยฉันทาคติ คือพิจารณาคดีด้วยความรัก ความชอบใจใน คู่ความหรือทรัพย์สินที่คู่ความหามาให้ ไม่ว่าจะด้วยวิญาณทรัพย์ คือทรัพย์มีวิญญาณได้แก่คน สมัยก่อนหญิงเป็นทรัพย์ของสามี ลูกเป็นทรัพย์ของพ่อแม่จึงมีการยกหญิงให้แก่กระลาการเพื่อให้พิจารณาเข้าด้วยฝ่ายตน อวิญาณทรัพย์คือทรัพย์ที่ไม่มีชีวิต ย่อมถึงแก่อบายด้วยอกุศลกรรมนี้ (ตกนรกนะลูก กระลาการหรือนักกฎหมายจึงห้ามรับสินบน รับข้าวของ หรือแม้แต่ทานข้าวกับใครด้วยการสนทนาเรื่องผลประโยชน์จากคดีความ เว้นแต่เป็นทนายความนั้นไม่เกี่ยวกันเพราะเป็นวิชาชีพเขา อันนี้หมายเฉพาะผู้มีอำนาจจัดการตัดสิน)

อคติข้อโทสา นั้น เป็นเจตสิกฝ่ายอกุศล หากผู้เป็นกระลาการพึงพิจารณาคดีด้วยความขุ่นมัวใจ ไม่พอใจ โกรธ หรือพิจารณาคดีตามอำเภอใจไม่ประกอบด้วยพยานหลักฐานแล้ว เช่นพิจารณาด้วยความเชื่อของตน มิใช่เชื่อจากพยานหลักฐาน อคติข้อนี้ส่งผลให้เกิดในอบาย ตัวอย่าง ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีพรากผู้เยาว์ ลงโทษจำเลยเต็มที่ตามระวางโทษ เพราะตนเองมีลูกสาวและไม่พอใจการกระทำของคนเยียงจำเลย แม้ว่าท่านสามารถจะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายแต่ท่านต้องพิจารณาในใจว่า ขณะที่ท่านพิพากษาคดีนั้น ท่านได้กระทำด้วยความรู้สึกอารมณ์ใด หากกระทำด้วยความรู้สึกอารมณ์ร้อนรุ่ม ไม่พอใจ มิได้กระทำด้วยอุเบกขา ความวางเฉยแล้ว ท่านลงอบายแน่นอน

ภยคติ นั้น เป็นเจตสิกฝ่ายอกุศล ความกลัวทำให้เสื่อม ความกลัวภัยนี้ทำให้ผู้พิพากษากระลาการผู้มีอำนาจในการพิจารณาคดีไม่กล้าพิจารณาคดี ด้วยเกรงกลัวต่ออำนาจบารมีของคู่ความ ผู้พิพากษากระลาการจึงควรทำทำใจให้ดี อย่าสะดุ้งหวาดเสียวว่าผู้นี้มียศศักดิ์ ผู้นี้มีแรงอาฆาต หากว่าเราพิจารณาให้เขาแพ้ในที่ควรแพ้ เขาจะต้องพยาบาททำร้ายเราแน่นอน หากทำใจให้เข้มแข็งไม่ได้ ก็ไม่ควรอยู่ในกระบวนการยุติธรรม เพราะนั่นหมายถึง อบายแน่นอน

อคติข้อโมหา นั้น เป็นเจตสิกฝ่ายอกุศล มักเจริญมากในผู้มีภูมิความรู้ ทั้งทางโลกและทางธรรม ผู้มีภูมิความรู้มักเข้าใจว่าตนเองนั้นรู้แล้ว และที่ตนเองรู้นั้นคือที่สุดแล้ว จึงไม่แสวงหาความรู้เพิ่มเติม ไม่มองใคร ไม่สนใจ หากอคติข้อนี้เจริญในสันดานผู้เป็นกระลาการแล้วอันตรายมาก เพราะเขาจะทำการพิจารณาคดีไปด้วยความไม่รู้ ความหลงตนเอง ไม่ปรึกษาไม่ค้นคว้า บางครั้งมั่นใจในตัวเองคดีที่ไม่เคยทำก็ไม่ปรึกษาผู้รู้เสียก่อน (เรียกว่าไม่รู้แล้วยังไม่สนใจไถ่ถาม) นั่นไม่ใช่เพราะเขาประมาท แต่เขากำลังหลง หลงว่าตัวเองรู้

บุคคลผู้ไม่รู้ว่าตนเองไม่รู้นั้นเป็นบุคคลอันตราย หากเจริญในข้อโมหาคติ อบายแน่นอน

ดังนั้น หากคิดจะเป็นผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรม ต้องทำความเข้าใจกับหลักอินทภาษ (คำสอนของพระอินทร์) นี้ให้ดีๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ใดที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมก็ตาม ไม่งั้น ก่อนจะได้มาเกิดเป็นมนุษย์จะไปเสวยทุกขเวทนาในอบายภูมิเสียก่อน ทั้งขณะดำรงตำแหน่งหน้าที่อยู่นั้น จะพบแต่ความเสื่อมของชีวิตเรียกว่าทำมาหากินไม่ขึ้นไม่เจริญ ด้วยความเสื่อมในอกุศลเกาะกินใจเ็ป็นวิบากให้รับผลตลอดเวลา

1 ความคิดเห็น:

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น