วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2557

ปาฏิโมกข์ 227 กับกฎหมาย

ศีลและวินัยคืออะไร ต่างกันอย่างไร


ศีล คือ "ข้อปฏิบัติ" ที่เป็นไปเพื่อความไม่เบียดเบียน เป็นฐานแห่งพระนิพพาน


วินัย คือ "ข้อบังคับ" (เหมือนกฎหมาย) ต้องปฏิบัติ หรือห้ามปฏิบัติ ถ้า

ฝ่าฝืน มีโทษ โทษทางวินัยเรียกว่า อาบัติ


การที่บัญญัติวินัยที่มีอาบัติ การบังคับวินัยนั้นจะทำไม่ได้ จึงต้องมีการบัญญัติอธิกรณสมถะด้วย เหมือนกฎหมายอาญาที่มีการบัญญัติข้อบังคับและมีโทษ แต่การจะบังคับดำเนินคดีอย่างไร ต้องใช้วิธีพิจารณาความอาญา แม้วินัยและอธิกรณสมถะก็ฉันนั้นเหมือนกัน

สิ่งที่ต้องยกขึ้นสู่พระปาฏิโมกข์คือวินัยไม่ใช่ศีล วินัยสงฆ์รวมอธิกรณสมถะจึงมี ๒๒๗ ไม่ใช่สองพันกว่าข้อตามคำกล่าวของพระคึกฤทธิ์

การตัดสินพระวินัยต้องถือตามพระวินัยปิฎก ไม่ใช่ถือตามพระสูตร
เหมือนอาญาจะตัดสินคดีอาญาต้องตัดสินตามกฎหมายอาญาไม่ใช่กฎหมายแพ่ง

ถ้าสวดปาฏิโมกข์ไม่ครบ จะทำให้ภิกษุนั้นขาดความระลึก จำได้หมายรู้ในพระปาฏิโมกข์ เหมือนนักเรียนกฎหมายที่ท่องตัวบทกฎหมายไม่ครบ จะรักษากฎหมาย ใช้กฎหมายให้ถ้วนถี่นั้นยากยิ่ง

เอวัง ศีลและวินัยก็มีด้วยประการฉะนี้

วันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

รอการประหาร



รอการประหาร คืออะไร ทำใมเมื่อศาลพิพากษาแล้วไม่ประหารเสียที ค้างประหารเป็นร้อยชีวิต  

เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ประหารชีวิต จะประหารทันทีไม่ได้ จะต้องมีการขอพระราชทานอภัยโทษเว้นโทษประหารไปยังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อให้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย

๑. ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยพระราชทานอภัยโทษเว้นโทษตายให้เหลือจำคุกตลอดชีวิต นักโทษจะได้ถอดตรวนและใช้ชีวิตอย่างปกติเหมือนมนุษย์ทั่วไป ซึ่งเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลอย่างหนึ่งของพระองค์ตามหลักพุทธศาสนา

๒. ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้ฎีกาตกไป ซึ่งก็หมายถึงไม่พระราชทานอภัยโทษนั่นเอง ส่วนมากที่ไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษจะเป็นคดีค้ายาบ้าประเภทมากๆ เป็นแสนๆ เม็ด เมื่อฎีกาตก ก็สามารถนำไปประหารได้ ที่เหลือคือรอความพร้อมในการประหารซึ่งเป็นเวลาอันนับถอยหลังแล้ว

๓. พระเจ้าอยู่หัวยังไม่มีพระบรมราชวินิจฉัยก็ต้องใส่ตรวนรอต่อไป จะประหารเลยไม่ได้

๔. พระเจ้าอยู่หัวยกฎีกา แต่นักโทษวิกลจริต เพราะกลัวจนเป็นบ้า ต้องรักษาจนกว่าจะหายแล้วจึงประหาร ถ้ารักษาแล้วไม่หายภายใน ๑ ปี ให้ลดโทษเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต

๕. พระเจ้าอยู่หัวยกฎีกา แต่จำเลยเป็นหญิงมีครรภ์ ให้รอจนคลอดและบุตรอดนมก่อนจึงจะแยกบุตรออกไปแล้วประหารชีวิตได

นัทถามว่า คนที่มีความคิดให้ประหารทันทีทราบเรื่องราวพวกนี้แค่ไหน และมีเมตตาเหลืออยู่ในใจหรือไม่ หรือคิดจะก้าวข้ามพระบรมราชวินิจฉัย และถ้าบอกว่า ไม่มีพระบรมราชวินิจฉัยเสียที ขอถามว่ามันกงการอะไรของเราต้องไปสนใจ นักโทษคนนั้น ยังไงก็ใส่ตรวนอยู่ในคุก ตกลงเราอยากให้คนตายหรืออยากบังคับโทษให้เป็นไปตามกฎหมายด้วยความยุติธรรมกันแน่

การพระราชทานอภัยโทษ




การอภัยโทษคืออะไร มีที่มาอย่างไร

การอภัยโทษ คือการบำเพ็ญพระราชกุศลของพระราชา มีมาแต่ก่อนพุทธกาล ในพระไตรปิฎกก็ปรากฎ ในประเทศไทยมีมาเป็นหลายร้อยปี 

แบ่งเป็นการพระราชทานอภัยโทษเฉพาะรายยกเว้นโทษตาย (โทษประหาร) กับการอภัยโทษเป็นการทั่วไป ซึ่งมีเงื่อนไขมากมายกว่านักโทษจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ 

เมื่อการอภัยโทษเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลอันยิ่งใหญ่ของพระราชา ผู้ซึ่งขัดขวางการบำเพ็ญกุศลนั้นจึงคือคนบาป เป็นโจรปล้นบุญ เพื่อนสมาชิกบางคนนัทยุติการคบหาทั้งๆ ที่คบกันมานาน เพราะกึ่งมิจฉาทิฏฐิว่าการฆ่าคนผิดแม้บาปก็ยอมรับ และมีเจตนาขัดขวางบุญของผู้อื่นอย่างชัดเจน นัทไม่คบหาคนประเภทนี้

เมื่อการอภัยโทษมีมานานขนาดนี้ แล้วเรา เด็กปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมจะล้มล้างจารีตที่ชอบโดยธรรม และเป็นไปตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะความไม่พอใจส่วนตัวในคดีเดียว มันถูกหรือ ?

พุทธดำรัสตอบ “..... ดูก่อนภัททาลิ เราขอเตือน โทษได้ครอบงำเธอผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความอุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อเรากำลังบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์กำลังสมาทานอยู่ซึ่งสิกขา แต่เพราะเธอเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว ทำคืนตามธรรมเราจึงรับโทษของเธอนั้น ข้อที่บุคคลเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไปนี้ เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยะ”

ภัททาลิสูตร ม. ม. (๑๖๕)
ตบ. ๑๓ : ๑๖๗ ตท.๑๓ : ๑๔๕
ตอ. MLS. II : ๑๑๑