วันพุธที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2555

ความระงับแห่งหนี้ หักกลบลบหนี้ 1






หักกลบลบหนี้  เป็นวิธีการหนึ่งซึ่งจะทำให้เกิดความระงับแห่งหนี้  ซึ่งมีหลักเกณฑ์  วิธีการ  ระยะเวลาที่จะหักกลบลบกันได้ และข้อห้ามตามที่กฎหมายบัญญัติไว้  
มาตรา 341 ถ้าบุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดย มูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนด จะชำระไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ ของตนด้วยหักกลบลบกันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสอง ฝ่ายนั้น เว้นแต่สภาพแห่งหนี้ฝ่ายหนึ่งจะไม่เปิดช่องให้หักกลบลบกันได้
http://www.kodmhai.com/Pickodmhai/Spac1.gifบทบัญญัติดั่งกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับ หากเป็น การขัดกับเจตนาอันารคู่กรณีได้แสดงไว้ แต่เจตนาเช่นนี้ท่านห้ามมิให้ ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต 
หลักเกณฑ์สำคัญในการหักกลบลบหนี้
           
การจะนำหนี้มาหักกลบลบกันได้นั้น จะต้องปรากฏว่า บุคคลทั้งสองฝ่ายต่างมีความผูกพันต่อกันในฐานะต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน  เช่น  ดำ กู้เงินแดง ๕๐๐๐ บาท  ต่อมาแดงมาซื้อของร้านดำเป็นจำนวนเงิน ๓๐๐๐ บาท  เช่นนี้จะเห็นว่า ดำเป็นลูกหนี้เงินกู้แดง และแดงก็เป็นลูกหนี้ค่าสินค้าดำ  กรณีเช่นนี้  ดำและแดงสามารถนำยอดหนี้ที่ทั้งสองฝ่ายต่างค้างชำระต่อกัน  เป็นจำนวนที่ตรงกันมาหักกลบลบกันได้ คือ ๓๐๐๐ บาท 
            การจะนำหนี้มาหักกลบลบกันได้ ต้องปรากฏว่า หนี้นั้นต้องมีวัตถุแห่งหนี้เป็นอย่างเดียวกัน  เช่น หนี้เงินกับหนี้เงิน แม้ว่าจะมาจากมูลหนี้คนละมูลกัน ดังตัวอย่างข้างต้น  จะเห็นว่าเป็นหนี้เงินเหมือนกัน แต่หนี้ที่แดงต้องชำระแก่ดำเป็นหนี้ที่มาจากมูลหนี้กู้ยืม  ส่วนหนี้ที่ดำต้องชำระแก่แดงเป็นหนี้ที่มาจากมูลหนี้ซื้อขาย     หรือกรณีวัตถุแห่งหนี้เป็นสังกมะทรัพย์  ต้องเป็นสังกมะทรัพย์ชนิดเดียวกันหรือใช้แทนกันได้  (กล่าวคือมีค่าและราคาประมาณเดียวกัน) ก็สามารถหักกลบลบกันได้ เช่น ข้าวสารกับข้าวเหนียว  แต่ข้าวกับเกลือ  มีราคาต่างกันจะนำมาหักกลบลบกันไม่ได้    
            หนี้เงินจะนำมาหักกลบลบกับสังกมะทรัพย์ไม่ได้ 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 545/2500
จำเลยจะขอให้ศาลหักกลบลบหนี้เงินที่จำเลยติดค้างโจทก์และค่าเช่ากระบือที่ค้างอยู่ กับข้าวเปลือกของโจทก์ที่ฝากจำเลย และซึ่งจำเลยจะต้องส่งมอบคืนแก่โจทก์ไม่ได้เพราะมูลหนี้ไม่เป็นวัตถุอย่างเดียวกัน
ระยะเวลาที่จะขอหักกลบลบหนี้กันได้นั้น ต้องปรากฏว่า หนี้ทั้งสองรายต่างถึงกำหนดชำระแล้ว  เช่น  หนี้เงินกู้ที่แดงไปกู้ดำ ถึงกำหนดชำระวันที่  ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๕  หนี้ค่าสินค้าที่ดำไปซื้อจากแดง  ถึงกำหนดชำระวันที่  ๒๐  เมษายน  ๒๕๕๕   ดังนี้  ทั้งสองจะแสดงเจตนาขอหักกลบลบหนี้และมีผลเป็นการหักกลบลบหนี้กันได้ต่อเมื่อถึงวันที่  ๒๐  เมษายน  ๒๕๕๕ หรือหลังจากนั้นเท่านั้น  จะขอหักกลบลบหนี้กันก่อนหน้านี้ไม่ได้ 
สภาพแห่งหนี้ต้องเปิดช่องให้   ถ้าสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้หักกลบลบกันได้ ก็ไม่สามารถจะหักกลบลบกันได้  แม้ว่าวัตถุแห่งหนี้จะเป็นอย่างเดียวกันก็ตาม  เช่น  ดำและแดง ต่างมีหนี้ต้องส่งมอบรถยนต์ให้แก่กัน  แม้วัตถุแห่งหนี้จะเป็นอย่างเดียวกันคือหนี้ส่งมอบ  ทรัพย์เป็นประเภทเดียวกันคือรถยนต์  แต่ก็หักกลบลบกันไม่ได้ เพราะรถยนต์ย่อมมีความต่างกันในยี่ห้อ  ในสภาพ  ในราคาของตัวรถ  หรือ  หนี้ที่มีวัตถุประสงค์เป็นหนี้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการจะนำมาหักกลบลบกันไม่ได้ เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้ เช่น ดำมีหนี้ต้องร้องเพลงให้ในงานวันเกิดแดง  ส่วนแดงต้องวาดภาพให้ดำ  จะนำหนี้กระทำการร้องเพลงและวาดภาพมาหักกลบลบกันไม่ได้ แม้จะมีวัตถุแห่งหนี้เป็นหนี้กระทำการเหมือนกันก็ตาม
การแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้
มาตรา 342 หักกลบลบหนี้นั้น ทำได้ด้วยคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแสดง เจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง การแสดงเจตนาเช่นนี้ท่านว่าจะมีเงื่อนไขหรือ เงื่อนเวลาเริ่มต้นหรือเวลาสิ้นสุดอีกด้วยหาได้ไม่
       การแสดงเจตนาดั่งกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านว่ามีผลย้อนหลัง ขึ้นไปจนถึงเวลาซึ่งหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้นจะอาจหักกลบลบกันได้เป็น ครั้งแรก 


การหักกลบลบหนี้นั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องได้รับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งก่อนจึงจะหักกลบลบกันได้  แม้ว่าจะทำการหักกลบลบหนี้โดยขืนใจอีกฝ่ายหนึ่งก็ตาม  และการแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้กฏหมายไม่ได้กำหนดแบบของสัญญาไว้  จะทำโดยวาจาก็ได้
ฎีกาที่  2163/2548   ป.พ.พ. มาตรา 341 วรรคหนึ่ง ไม่ได้กำหนดว่า การหักกลบลบหนี้จะต้องได้รับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งก่อน เมื่อบริษัท บ. เป็นลูกหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์โดยมีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันและหนี้ดังกล่าวถึงกำหนดชำระแล้ว แต่ลูกหนี้ไม่ยอมชำระ จึงถือว่าลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์แทนลูกหนี้ และจำเลยตกเป็นลูกหนี้ของโจทก์ตั้งแต่เวลาที่ลูกหนี้ผิดนัดเป็นต้นไป ในขณะเดียวกันโจทก์ก็เป็นลูกหนี้ของจำเลยตามมูลหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งหนี้ดังกล่าวก็ถึงกำหนดชำระแล้วเช่นกัน เมื่อขณะที่จำเลยทำสัญญาค้ำประกันทั้งสองฝ่ายไม่ได้แสดงเจตนาไม่ให้นำหนี้ที่มีอยู่ต่อกันนั้นมาหักกลบลบกัน จำเลยจึงมีสิทธิที่จะนำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบกันได้ โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ หนี้ที่ยังมีข้อต่อสู้ที่นำมาหักกลบลบหนี้ไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 344 หมายถึงหนี้ที่ฝ่ายหนึ่งอ้างแล้วอีกฝ่ายหนึ่งมีข้อโต้แย้งไม่ยอมรับในข้อสาระสำคัญ ซึ่งมีผลกระทบถึงความรับผิดชอบในหนี้ดังกล่าวหรือจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิด  จำเลยได้แสดงเจตนาหักกลบลบหนี้ไปยังโจทก์ ขอให้นำหนี้ตามสัญญาค้ำประกันจำนวน 9,119,733.86 บาท หักกลบลบกันกับหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 20,000,000 บาท ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2540 แต่โจทก์ยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการและศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2542 การหักกลบลบหนี้จึงเกิดขึ้นและมีผลโดยสมบูรณ์ไปก่อนที่จะมีการฟื้นฟูกิจการของโจทก์ หนี้ที่มีอยู่แต่ละฝ่ายระงับไปเท่ากับจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ ซึ่งในขณะนั้นมูลหนี้ที่จำเลยนำไปขอหักกลับยังคงมีอยู่และยังมิได้ระงับไป แม้ต่อมาภายหลังจำเลยได้นำหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 20,000,000 บาท ไปยื่นขอรับชำระหนี้ในคดีที่โจทก์ขอฟื้นฟูกิจการ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้จำเลยได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน ก็ไม่ทำให้การหักกลบลบหนี้ดังกล่าวระงับหรือสิ้นผลไป

         
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 843/2516
การหักกลบลบหนี้นั้น แม้จำเลยจะแสดงเจตนาไปฝ่ายเดียวก็เป็นอันหักกลบลบหนี้กันได้
จำเลยเป็นหนี้เงินกู้โจทก์ กำหนดชำระภายในวันที่ 1 เมษายน 2497 และโจทก์เป็นหนี้ค่าจ้างว่าความจำเลยอยู่สองคดี คดีแรกคดีถึงที่สุดใน พ.ศ.2501 คดีที่สองคดีถึงที่สุดใน พ.ศ.2504 ดังนี้ จำเลยย่อมอยู่ในฐานะที่อาจหักกลบลบหนี้ได้แม้จำเลยจะได้แสดงเจตนาขอหักกลบลบหนี้ไปยังโจทก์เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2505 ซึ่งสิทธิเรียกร้องชำระหนี้ค่าจ้างว่าความของจำเลยขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่สิทธิในการหักกลบลบหนี้ของจำเลยย่อมมีผลใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 344 และการแสดงเจตนาของจำเลยดังกล่าวก็มีผลย้อนหลังขึ้นไปจนถึงเวลาซึ่งหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้นจะอาจหักกลบลบกันได้เป็นครั้งแรก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 342 วรรค 2 กล่าวคือ หนี้ค่าจ้างว่าความคดีแรกย้อนไปถึง พ.ศ.2501 หนี้ค่าจ้างว่าความคดีที่สอง ย้อนไปถึง พ.ศ.2504 ซึ่งสิทธิเรียกร้องของจำเลยยังไม่ขาด จึงหักกลบลบกันกับหนี้เงินกู้ของโจทก์หมดสิ้นแล้ว ไม่มีหนี้ที่โจทก์จะนำมาฟ้องได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 258/2523
ผู้ค้ำประกันลูกหนี้ต่อธนาคารมีเงินฝากในธนาคารเจ้าหนี้ลูกหนี้ผิดนัดผู้ค้ำประกันต้องรับผิดต่อธนาคาร ธนาคารหักเงินของผู้ค้ำประกันที่ฝากไว้กับธนาคารนั้นเมื่อใดก็ได้

          การหักกลบลบหนี้จะกระทำโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไม่ได้  กล่าวคือ  การหักกลบลบหนี้จะต้องกระทำโดยปราศจากเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลา
          ไม่ว่าจะหักกลบลบหนี้กันล่ากว่าวันที่หนี้ทั้งสองฝ่ายถึงกำหนดชำระแล้วเพียงใด การหักกลบลบหนี้นั้นก็ให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่หนี้ของทั้งสองฝ่ายถึงกำหนดชำระ  เช่น  ตามตัวอย่างข้างต้น  ดำและแดงมิได้แสดงเจตนาหักกลบลบหนี้กันในวันที่  ๒๐  เมษายน  ๒๕๕๕  แต่มาแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้กันวันที่  ๑๕ พฤษภาคม  ๒๕๕๕  ก็ให้ถือว่า หนี้ทั้งสองฝ่ายเป็นอันระงับไปตั้งแต่วันที่  ๒๐ เมษายน  ๒๕๕๕  จึงมีผลให้ไม่มีการคิดดอกเบี้ยระหว่างกันนับตั้งแต่วันที่  ๒๐ เมษายน ๒๕๕๕  เพราะถือว่าหนี้ระงับไปตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว

บทความต่อไปจะได้กล่าวถึงข้อห้ามในการหักกลบลบหนี้

อิณาทานํ ทุกฺขํ โลเก
การกู้หนี้ เป็นทุกข์ในโลก

วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2555

สิทธิในการตายกับการยุติการรักษา



เหตุควรฆ่าใครในโลกไม่มี

ในทางพุทธศาสนา  การฆ่าสัตว์เป็นบาป เป็นอกุศลกรรมในอกุศลกรรมบถ  
ในทางกฎหมาย  การฆ่าผู้อื่น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  ๒๘๘ 
การตัดชีวิตผู้อื่นย่อมไม่อาจจะกระทำได้ด้วยประการทั้งปวง  แม้การุณยฆาตก็ไม่อาจจะกระทำได้

สืบเนื่องจาก  พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ๒๕๕๐ บัญญัติไว้ในมาตรา  ๑๒

มาตรา 12 บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไป เพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

การ ดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่ง แล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง
จนถึงมีการออก กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ. ๒๕๕๓
ก็ไม่ได้หมายความว่า  การฆ่าด้วยความกรุณาหรือการุณยฆาตจะเกิดขึ้นในประเทศไทย  ในต่างประเทศ  เช่น  ประเทศสวิสเซอร์แลนด์กฎหมายเปิดช่องให้พิจารณาได้ว่า แพทย์สามารถกระทำการุณยฆาตได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ตราบใดที่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าไม่มีมูลเหตุ
ที่ จงใจท าให้ผู้อื่นตายและในประเทศเนเธอร์แลนด์ออกกฎหมายรองรับ การุณยฆาต ตั้งแต่ปี 2539
ในประเทศออสเตรเลีย การุณยฆาตกระทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยใช้
โปรแกรมสำเร็จรูป death-by–laptop ประกอบด้วย สายยางต่อกับเข็มฉีดยาที่บรรจุยาระงับความรู้สึก เช่น barbiturate ที่ฉีดเข้าทางเส้นเลือดดำ  อุปกรณ์ดังกล่าวจะทำงานโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์
การยุติการรักษาคือการหยุดการรักษาโดยวิธีการทางการแพทย์ เพื่อยื้อชีวิตผู้ป่วยต่อไป  และผู้ป่วยจะถึงแก่ความตายในที่สุด   การยุติการรักษาดังกล่าวจึงไม่ใช่  “การุณยฆาต” ตามความหมายสากล  และไม่เป็นปานาติบาต  ไม่ผิดศีล  ไม่ล่วงในอกุศลกรรมบถ
อย่างไรก็ดี  การที่แพทย์กระทำด้วยประการใดๆ ให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตายโดยมิใช่การยุติการรักษาเท่านั้น  แพทย์ยังคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานฆ่าผู้อื่นอยู่ 
การยุติการรักษาจึงมีผลเพียง  แพทย์ไม่มีความผิดตามจริยธรรมการแพทย์ที่จะต้องช่วยชีวิตมนุษย์ จะหยุดหรือปฏิเสธการรักษาไม่ได้เท่านั้นเอง

วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2555

ผลธรรมดา มาตรา ๖๓




ในเรื่องของผลธรรมดาตามมาตรา  ๖๓  นี้เป็นเรื่องที่นักเรียนกฎหมายมีความเข้าใจน้อย สับสน และไม่ชัดเจน   บทความนี้อาจจะทำให้นักเรียนกฎหมายมีความเข้าใจชัดเจนขึ้น

มาตรา ๖๓   ถ้าผลของการกระทำความผิดใดทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น ผลของการกระทำความผิดนั้นต้องเป็นผลที่ตามธรรมดา ย่อมเกิดขึ้นได้
สังเกตว่า  กฎหมายต้องการเรื่อง "ผล"  จึงใช้คำว่า  ถ้าผลของการกระทำความผิดใด...
ทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษ "หนักขึ้น"
ชื่อว่า "ผลธรรมดา" เป็นผลที่ไม่ธรรมดา เพราะถ้าผลที่เป็นธรรมดา ใช้ทฤษฎี "ผลโดยตรง" ก็เพียงพอ แต่ถ้าผลที่เกิดขึ้นไม่ธรรมดา คือผิดไปจากเจตนาหลักและผลนั้นเองทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น จึงจะวินิจฉัยด้วย "ผลธรรมดา"

จากความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ตามมาตรา  ๒๙๕  ผลเป็นอันตรายสาหัสตามมาตรา ๒๙๗  ต้องอาศัยมาตรา  ๖๓  ในการวินิจฉัย  เพราะ  ๒๙๗ เป็นบทหนักของ ๒๙๕ (อยู่ในหมวดเดียวกัน)

จากความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา ๒๙๕  ผลถึงตาย ตามมาตรา ๒๙๐  ใช้เพียงทฤษฎีผลโดยตรง  ไม่ต้องวินิจฉัยด้วยมาตรา  ๖๓  เพราะ  ๒๙๐  มิใช่บทหนักของ ๒๙๕
(เป็นความผิดคนละหมวดกัน)

ถ้าเกิดเหตุแทรกแซง  ให้วินิจฉัยด้วยทฤษฎีมูลเหตุที่เหมาะสม เพื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำกับผลว่าขาดกันหรือไม่ ต้องรับผิดเพียงผลใด โดยพิจารณาว่า เหตุแทรกแซงนั้นวิญญูชนคาดหมายได้หรือไม่  ถ้าคาดหมายได้ก็ต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้น  ถ้าวิญญูชนคาดหมายไม่ได้  ก็ไม่ต้องรับผิด 

การพิจารณาบทเบาบทหนัก  ผลฉกรรจ์  จึงมีความสำคัญที่นักนิติศาสตร์ต้องทำความเข้าใจให้ขาด  ว่าสิ่งไรเป็นเหตุฉกรรจ์  สิ่งไรเป็นผลฉกรรจ์  (เหตุฉกรรจ์ไม่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีต่างๆ เหล่านี้)

ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ศาลฎีกาใช้คำว่า "ผลธรรมดา" แล้วทำให้เกิดความสับสน เพราะศาลหมายจะใช้คำว่า ผลอันเป็นธรรมดา คือเป็นความธรรมดา หรือเป็นผลโดยตรงนั่นเอง แต่ศาลก้าวล่วงไปใช้คำว่า "ผลธรรมดา" ทำให้เกิดความสับสนว่าเป็น "ผลธรรมดาตามมาตรา ๖๓" ซึ่งไม่ใช่เลย เพราะมาตรา ๒๘๘ ไม่ใช่บทหนักของใคร แต่เป็นบทที่มีความรับผิดที่เป็นเอกเทศโดยตรงของตัวเอง

.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1478/2528
จำเลยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถูกที่ด้านหลัง กระสุนปืนตัดบริเวณไขสันหลังขาด ผู้ตายเป็นอัมพาตตั้งแต่เอวจนจดเท้าและถึงแก่ความตายสืบเนื่องมาจากบาดแผลที่ถูกยิงและภาวะติดเชื้ออย่างรุนแรงหลังจากเกิดเหตุ 9 เดือนเศษ ดังนี้ผู้ตายถึงแก่ความตายสืบเนื่องมาจากบาดแผลที่ถูกยิง แม้จะเนื่องจากการรักษาไม่ดีจนบาดแผลติดเชื้อ ก็เป็นผลธรรมดาอันสืบเนื่องมาจากการกระทำของจำเลย จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยเจตนา

 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงนายผิน โดยเจตนาฆ่านายผินถึงแก่ความตายเนื่องจากบาดแผลที่จำเลยกับพวกร่วมกันยิง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓, ๘๓, ๒๘๘
จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๓ ลงโทษจำคุก

จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยฎีกาว่าผู้ตายถูกยิงเพียงได้รับบาดเจ็บ และถึงแก่ความตายหลังเกิดเหตุเป็นเวลาถึง ๙ เดือนเศษ เพราะบาดแผลติดเชื้อมิใช่ถึงแก่ความตายเพราะบาดแผลที่ถูกยิงโดยตรงนั้น เห็นว่า ผู้ตายถูกยิงและถึงแก่ความตายสืบเนื่องมาจากบาดแผลที่ถูกยิง แม้จะเนื่องจากการรักษาไม่ดีจนบาดแผลติดเชื้อ ก็เป็นผลธรรมดาอันสืบเนื่องมาจากการกระทำของจำเลย เมื่อจำเลยร่วมกับพวกยิงผู้ตายโดยเจตนาฆ่า จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยเจตนาพิพากษายืน.



อธิบายฎีกา
เมื่อจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตาย ผลคือผู้ตายถึงแก่ความตาย ย่อมเป็นผลโดยตรงตามเจตนาของจำเลย ไม่จำต้องนำเอามาตรา ๖๓ มาวินิจฉัย แต่ควรใช้ทฤษฎี ผลโดยตรง ประกอบเหตุแทรกแซง ซึ่งวิญญูชนคาดหมายได้ (วิญญูชนย่อมคาดหมายได้ว่า เมื่อเป็นแผลแล้วแผลจะติดเชื้อ) ตามคำพิพากษาฎีกานี้ ถ้าจะใช้ให้ถูกต้อง ต้องใช้ ทฤษฎี ผลโดยตรงประกอบเหตุแทรกแซง เพื่อวินิจฉัยในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำกับผล ที่เหตุแทรกแซงดังกล่าวไม่ตัดผลของการกระทำ
ดูหมายเหตุท้ายฎีกา ของ ศ.ดร.เกรียติขจร วัจนะสวัสดิ์ ท่านเขียนไว้ชัดเจน ตรงตามหลักทฤษฎี
ฎีกาที่ 1478/2528 ข้อเท็จจริงว่าผู้ตายถูกยิงได้รับบาดเจ็บ และตายหลังจากถูกยิง 9 เดือน ความตายเกิดจากบาดแผลที่ถูกยิง ซึ่งผู้ตายรักษาตัวไม่ดีจนแผลติดเชื้อ ศาลฎีกาตัดสินให้จำเลยรับผิดในความตายโดยให้เหตุผลว่า ความตาย "เป็นผลธรรมดาอันสืบเนื่องมาจากการกระทำของจำเลย" แลดูประหนึ่งว่าเป็นการใช้หลักผลธรรมดาตามมาตรา 63 ซึ่งกรณีเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องของมาตรา 63 เพราะขณะยิงจำเลยก็เจตนาจะให้ผู้ถูกยิงตาย ในที่สุดผุ้ถูกยิงก็ตายสมเจตนาของจำเลยเมื่อไม่อยู่ในข่ายของมาตรา 63 จึงไม่ต้องพิจารณาหลัก"ผลธรรมดา" แต่ให้ดูว่าความตายอันเป็น "ผลโดยตรง" นั้นเกิดจากเหตุแทรกแซงที่คาดหมายได้หรือไม่ การที่ผู้เสียหายรักษาบาดแผลไม่ดีต้องถือว่าคาดหมายได้ จำเลยจึงต้องรับผิดในความตาย คำพิพากษาฎีกาที่ 1478/2528 จึงควรที่จะให้เหตุผลในทำนองว่า"จำเลยต้องรับผิดตามมาตรา 288 เพราะความตายเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลย" ซึ่งน่าจะถูกต้องกว่าจะไปใช้หลักผลธรรมดา

http://lawdatabase.igetweb.com/index.php?mo=5&qid=500939

ฎีกาที่ 4563/2543 นี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยเรื่อง ผลโดยตรงได้เด็ดขาดชัดเจนมาก
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ขณะเกิดเหตุผู้ตายกับนายไพศาลขึ้นไปบนอาคารโรงเรียนเพื่อร่วมประเวณีกัน ต่อมาจำเลยทั้งสามตามขึ้นไปนายไพศาลจึงได้ผละออกมาจากผู้ตายซึ่งไม่ได้สวมกางเกงยืนหันหลังติดลูกกรงระเบียง จำเลยที่ 1 ถอดกางเกงเดินเข้าไปหาผู้ตายหันหน้าชนกันกับผู้ตายเพื่อข่มขืนกระทำชำเราผู้ตาย แต่ผู้ตายไม่ยินยอมโดยร้องว่าให้ศาลคนเดียวคนอื่นไม่เกี่ยว จำเลยที่ 1 พยายามจะข่มขืนกระทำชำเราผู้ตาย ผู้ตายขัดขืนจนพลัดตกลงไปจากระเบียงอาคารโรงเรียนได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 ถอดกางเกงเดินเข้าไปเพื่อข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายในขณะที่ผู้ตายไม่ได้สวมกางเกงและยืนพิงลูกกรงระเบียงซึ่งสูงเพียงกันโดยผู้ตายมิได้ยินยอมที่จะให้จำเลยที่ 1 กระทำชำเรานั้น จำเลยที่ 1ย่อมเล็งเห็นได้ว่าหากผู้ตายหลบหลีกขัดขืนมิให้จำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราแล้วอาจจะตกลงไปจากระเบียงอาคารโรงเรียนถึงแก่ความตายได้ เมื่อผู้ตายดิ้นรนขัดขืนเพื่อมิให้จำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราจนผู้ตายพลัดตกลงไปจากระเบียงอาคารโรงเรียนจนได้รับบาดเจ็บและตายในเวลาต่อมา จึงเป็นผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ 1 อันเป็นการกระทำโดยเจตนาฆ่าผู้ตายพยานฐานที่อยู่....

ความผิดในมาตรา ๒๘๘ ไม่มีวันที่จะเอามาตรา ๖๓ มาวินิจฉัยได้เลย เพราะไม่ใช่บทหนักหรือผลฉกรรจ์ของมาตราใด

วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2555

การประนีประนอมยอมความ


ความเบื้องต้น
               สัญญาประนีประนอมยอมความกฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา ๘๕๐-๘๕๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์
              มาตรา ๘๕๐ บัญญัติว่า การประนีประนอมยอมความ คือ สัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนให้แก่กัน
            มาตรา ๘๕๑ ใจความสำคัญ คือ สัญญาประนีประนอมจะใช้บังคับกับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือลงลายมือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องต่อศาลได้
         มาตรา ๘๕๒ ใจความสำคัญ คือ ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความ คือ ทำให้การเรียกร้อง ซึ่งแต่ละฝ่ายยอมสละได้ระงับลง และได้สิทธิใหม่ตามที่ปรากฏในสัญญาประนีประนอมยอมความ
การประนีประนอมยอมความเกิดได้อย่างไร
การประนีประนอมยอมความเกิดได้ ๒ ทาง
 (๑) โดยตัวคู่ความเอง เมื่อข้อพิพาทเกิดขึ้นไม่ว่าเพิ่งเริ่มเกิดหรือเมื่อนำข้อพิพาทยื่นฟ้องต่อศาลแล้วก็ตารมอาจเกิดสถานการณ์ที่เหมาะสมที่เอื้ออำนวยให้คู่ความสองฝ่ายโอนอ่อนเข้าหากันทำนองต่างฝ่ายต่างยอมผ่อนผันสั้นยาวให้แก่กันคู่ความทั้งสองฝ่ายอาจตกลงใจกันทำสัญญายอมความกันได้ด้วยตัวของคู่ความเองก็ได้   
(๒) โดยการไก่เกลี่ยของบุคลทีสาม    เมื่อเกิดมีข้อพิพาทขึ้นระหว่างคู่ความสองฝ่ายจะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ในการป้องกันตนเองตลอดจนรักษาผลประโยชน์ของตน มนุษย์จะเกิดความคิดเข้าข้างตนเองและจะเกิดความรู้สึกโกรธที่สิทธิของตนเองถูกล่วงละเมิด  โดยเฉพาะความรู้สึกของผู้สูญเสีย  โดยธรรมชาติข้อนี้ทำให้คู่ความมักจะยึดมั่นในจุดยืนของตนเองว่าต้องเป็นอย่างที่ตนคิดหรือคาดการณ์ไว้และจะไม่ยอมโอนอ่อนแม้จะถูกเจรจาต่อรองจากฝ่ายตรงข้าม  สภาพดังกล่าวยิ่งจะเกิดความขัดแย้งรุนแรงถ้าหากต่างฝ่ายต่างก็ถือว่าตนเองเป็นฝ่ายที่ถูกต้องมากกว่า   ความขัดแย้งทำให้เกิดอารมณ์เข้ามาแทรก  ยงถ้าหากได้แรงยุแหย่จากบุคคลอื่น  สภาพอารมณ์จะยิ่งรุนแรง  ทิฐิมานะการรักษาศักดิ์ศรีจะเกิดตามมาทำให้จุดยืนเหนียวแน่น  ยากแก่การเจรจาต่อรอง
                    ด้วยเหตุดังกล่าวหากมีบุคคลที่สามารถเข้ามาเป็นกาวใจ  โดยสามารถเข้าไปนั่งในหัวใจของทั้งสองฝ่ายได้อย่างสนิทแนบแน่นด้วยความบริสุทธิ์ใจ จริงใจ ตั้งใจและเป็นกลางอย่างแท้จริง
บุคคลที่สาม  ก็สามารถจะโยกคลอนจุดยืนของแต่ละฝ่ายให้อ่อนโอนลงมาหากันได้จนสุดท้ายต่างฝ่ายต่างพบทางออกของปัญหาที่ก่อนนั้นเป็นทางตันจนสามารถตกลงกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันได้ในลักษณะต่างฝ่ายต่างพอใจในที่สุด
ประเภทของการประนอมยอมความ  
การประนีประนอมยอมความนั้นมีอยู่ด้วยกัน ๒ ชนิด คือ
(๑)    การประนีประนอมยอมความนอกศาล
(๒)การประนีประนอมยอมความในศาล
                การประนีประนอมยอมความนอกศาล    เป็นกรณีที่ผู้มีข้อพิพาทต่อกันได้ทำความตกลงกัน  ซึ้งอาจเป็นกรณีที่คู่กรณีพิพาทได้เจรจาทำความตกลงกันเองหรือมีองค์กรบุคคลภายนอกเข้าดำเนินการเป็นคนกลางทำการไกล่เกลี่ยก็ได้จนในที่สุดสามารถทำความตกลงกันได้  แล้วทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันได้ 
               การประนีประนอมยอมความในศาล    เป็นกรณีที่เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นได้นำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาล  และในระหว่างที่ศาลกำลังพิจารณาคดีดังกล่าวอยู่  คู่กรณีได้ทำความตกลงกันได้ในข้อพิพาทดังกล่าว  ทำให้ข้อพิพาทที่มีอยู่นั้นสิ้นสุดลงจึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันขึ้นแล้วเสนอให้ศาลพิจารณา ซึ่งเมื่อศาลเห็นว่าสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมายศาลก็จะพิพากษาให้เป็นไปตามที่ได้ยอมความกันดังกล่าว
ตัวอย่างเช่น   นายดำเช่าบ้านนายแดงอยู่อาศัยในอัตราค่าเช่าเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท ต่อมาปรากฏว่านายดำค้างค่าเช่า ๕ เดือน  เป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท  นายแดงจึงบอกเลิกสัญญาเช่า  ฟ้องขับไล่และเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระจากนายดำต่อศาลระหว่างการพิจารณาของศาล   นายดำได้ทำความตกลงกับนายแดงในที่สุดตกลงกันได้โดยนายดำจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากบ้านเช่าภายใน ๑ เดือน และนายแดงไม่ติดใจเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระต่อไป  จึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเสนอต่อศาลและศาลได้พิพากษาให้เป็นไปตามที่ยอมความกันนั้น

              ข้อแตกต่างระหว่างการประนีประนอมยอมความที่ทำนอกศาลและในศาล   คือ  ในกรณีการประนีประนอมยอมความนอกศาล  หากต่อมาภายหลังคู่สัญญาบิดพลิ้วไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญา  ฝ่ายที่ได้รับความเสียหายก็จะต้องนำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไปฟ้องร้องต่อศาลเพื่อบังคับให้อีกฝ่ายปฏิบัติตามสัญญานั้นอีกที   ส่วนสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลหากต่อมาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบิดพลิ้วไม่ปฏิบัติตามก็ไม่ต้องนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาลอีกครั้งโดยผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้บังคับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ทันที กล่าวคือ   คู่สัญญาฝ่ายนั้นอาจถูกยึดหลักอายัดทรัพย์สินมาขายทอดตลาดชำระหนี้ให้ฝ่ายผู้เสียหายได้  หรือบังคับให้ต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ให้ออกไปจากบ้านเช่าตามที่ระบุไว้ในคำพิพากษาได้


ประนีประนอมยอมความ
มาตรา ๘๕๐   อันว่าประนีประนอมยอมความนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือ จะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน
หลักเกณฑ์สำคัญ
๑.   ต้องมีคู่สัญญาสองฝ่าย  สัญญาประนีประนอมยอมความนั้น  มีลักษณะเป็น
สัญญาต่างตอบแทน  ประกอบด้วยคู่สัญญาสองฝ่าย  ฝ่ายละกี่คนก็ได้
๒.  ตกลงระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือ จะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไป    

ฎีกาที่  ๑๐๘/๒๕๔๕   โจทก์จำเลยพิพาทกันเรื่องที่ดิน  นายอำเภอเรียกโจทก์และจำเลยมาเจรจากันโดยมีการบันทึกคำเปรียบเทียบไว้ว่าจำเลยตกลงแบ่งที่ดินให้แก่โจทก์ตามส่วนที่ตกลงกัน  บันทึกคำเปรียบเทียบดังกล่าวมีลักษณะเป็นการตกลงระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่มีอยู่แล้วในขณะนั้นให้เสร็จไป  จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  850  อันมีผลให้สิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวอีก  คงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  852  เท่านั้น

ฎีกาที่ ๒๕๗๖/๒๕๓๑ คดีนี้ถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่แบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์จำนวน ๙ ส่วนใน ๒๑ ส่วน ในระหว่างบังคับคดีโจทก์ จำเลยทั้งสี่ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยศาลชั้นต้นรับรู้เป็นผู้ทำให้มีข้อตกลงกันไม่ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาคดีนี้ และให้ยุติคดีทุกคดีทั้งคดีที่พิพากษาแล้วและยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล และตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินกันใหม่ เมื่อโจทก์จำเลยทั้งสี่ได้ลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวต่อหน้าศาลแล้ว จึงเป็นสัญญาที่ใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๐ โดยมีผลทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญานั้นว่าเป็นของตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๒การบังคับคดีนี้และมูลหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาจึงเป็นอันระงับสิ้นไป โจทก์ จำเลยทั้งสี่จึงต้องปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว เมื่อจำเลยผิดสัญญาดังกล่าว โจทก์หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์ชอบที่จะไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยตามสิทธิที่เกิดขึ้นตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นจะกลับมาขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีตามคำพิพากษาซึ่งมูลหนี้ระงับไปแล้วหาได้ไม่. (อ้าง ฎีกา ๖๒๖/๒๔๙๑)
            ๓เป็นสัญญาที่ต่างฝ่ายต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน 
สัญญาประนีประนอมยอมความนั้น  เป็นสัญญาระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นในอนาคต (สามารถตกลงทำสัญญาประนีประนอมฯ กันไว้ล่วงหน้าได้) ให้ระงับไป

ฎีกาที่  ๓๗๔/๒๔๗๘  สัญญาที่ไม่มีข้อความอันเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาท  ไม่ถือเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ 
ข้อความเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาท  เช่น  ไม่ติดใจเรียกร้อง,  ยินยอมให้............... เป็นต้น

ฎีกาที่ ๔๑๐/๒๕๐๔   โจทก์จำเลยทำสัญญาให้กรรมการวัดสอบเขตที่ดินตามเนื้อที่ในโฉนดของโจทก์  หากปรากฏว่าจำเลยปลูกรั้วล้ำเข้าไปในเขตของโจทก์จำเลยยอมรื้อรั้ว เมื่อเริ่มรังวัดเพียงด้านหนึ่ง ปรากฏว่ารั้วของจำเลยล้ำเข้าไปในเขตที่ของโจทก์  1.20 เมตร  จำเลยจึงไม่ยอมให้วัดต่อไป สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยดังกล่าวนี้   ย่อมเป็นสัญญาที่ใช้บังคับกันได้ตามกฎหมายเมื่อจำเลยไม่ยินยอมให้กรรมการวัดตามสัญญาที่ตกลงกัน จำเลยก็เป็นฝ่ายผิดสัญญา  โจทก์ย่อมจะมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยมิให้ขัดขวางในการที่กรรมการจะทำการตามสัญญานั้นได้

ฎีกาที่  ๒๒๑/๒๕๐๐    โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์บาดเจ็บสาหัส ขอให้ลงโทษทางอาญา ในระหว่างพิจารณาปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาว่าจำเลยยอมใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวนหนึ่ง  โจทก์ยอมรับตามที่จำเลยชำระและไม่ติดใจว่ากล่าวเอาโทษจำเลยต่อไป ศาลพิพากษาให้รอการลงโทษจำเลย เช่นนี้  ถือว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โจทก์จะมาฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งอีกไม่ได้

ฎีกาที่  ๒๖๒๔/๒๕๑๖  คู่กรณีในคดีอาญาไม่ว่าจะเป็นความผิดอันยอมความกันได้หรือไม่ก็ตาม อาจตกลงประนีประนอมยอมความเรื่องค่าเสียหายในทางแพ่งอันพึงมีพึงได้ตามสิทธิของตนได้   กฎหมายห้ามเฉพาะการตกลงประนีประนอมยอมความเพื่อระงับหรืองดการฟ้องคดีอาญาที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้น
            สัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยทำให้ไว้แก่โจทก์เนื่องจากจำเลยบุกรุกขึ้นไปบนเรือนโจทก์ในเวลากลางคืนและกระทำอนาจารโจทก์มีข้อความว่า  จำเลยยอมเสียค่าทำขวัญให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวนหนึ่งภายในเวลาที่กำหนด หากไม่ทำตาม ยอมให้ดำเนินคดีต่อไปนั้น   เป็นเรื่องทำสัญญาประนีประนอมยอมความชดใช้ค่าเสียหาย ฐานละเมิดให้แก่โจทก์ในทางแพ่งเท่านั้น   ไม่ใช่ค่าเสียหายที่เรียกร้องเพื่อระงับการฟ้องคดีอาญาซึ่งกฎหมายห้ามไว้แต่อย่างใดจึงสมบูรณ์ใช้บังคับได้
            สัญญาประนีประนอมยอมความนั้น กฎหมายมิได้บังคับว่าคู่กรณีจะต้องลงชื่อทั้งสองฝ่าย แม้จำเลยผู้เดียวลงชื่อรับผิดต่อโจทก์ก็เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความได้
ฎีกาที่  ๓๔๓/๒๕๓๔       แม้สัญญาจะใช้ชื่อเรียกว่า      หนังสือรับสภาพหนี้แต่ข้อความในสัญญานั้นจำเลยยอมรับว่ามีหนี้อยู่กับโจทก์จริงและยอมตกลงผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นงวด ๆ  จึงเห็นได้ชัดว่าเป็นการที่โจทก์จำเลยทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทที่มีขึ้นตามมูลหนี้เดิมให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน   กรณีเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม  ป.พ.พ. มาตรา 850 หาใช่เป็นการรับสภาพหนี้โดยกำหนดเวลาและเงื่อนไขให้จำเลยชำระหนี้ไม่เมื่อสิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงมีอายุความ 10 ปีตาม  ป.พ.พ. มาตรา 168

การประนีประนอมยอมความนี้มีผลให้ข้อเรียกร้องเดิมระงับไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามข้อความในสัญญาที่ทำกันขึ้นใหม่นั้น นอกจากนั้นยังทำให้อายุความตามหนี้เดิมสะดุดหยุดลง แล้วอายุความเริ่มต้นเดินใหม่ต่อไปอีก ๑๐ ปี บางกรณีอายุความตามสัญญาเดิมอาจจะสั้นกว่า๑๐ ปี แต่เมื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันอายุความก็จะยาวออกไปอีก ๑๐ ปี เหมือน กันหมด เช่น คดีผิดสัญญาซื้อขาย  ซึ่งกฎหมายกำหนดอายุความไว้เพียง ๒ ปี หมายความว่าพ้น ๒ ปีไปแล้วเรียกเอาไม่ได้ แต่ถ้าผู้ซื้อผู้ขายทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อชำระเงินภายในกำหนดใหม่ อาจเป็น ๖ เดือน หรือ ๘ เดือน ก็แล้วแต่จะตกลงกัน   โดยผู้ซื้อยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ขายดังนี้ อายุความเรียกร้องเอาเงินค่าสินค้านั้นจะยาวออกไปอีก ๑๐ ปี  ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจาก  คู่กรณีตกลงระงับสิทธิเรียกร้องในคดีผิดสัญญาซื้อขายกันแล้วนั่นเอง  อายุความในกรณีผิดสัญญาซื้อขายจึงถูกระงับไปด้วย  ต้องเริ่มอายุความใหม่เป็นกรณีอายุความของสัญญาประนีประนอมยอมความนั่นเอง

เนื้อหาของสัญญาต้องมีวัตถุประสงค์ที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน  กล่าวคือ  ต้องอยู่ภายใต้ มาตรา ๑๕๐ โดยถือเอาเจตนาของคู่กรณีที่แสดงออก ไม่มีวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อกฎหมาย ไม่มีเงื่อนไขที่พ้นวิสัยที่จะปฏิบัติได้ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน   เช่น  ดำ  กับ แดง  ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า ดำ ยอมปลดหนี้ให้แก่แดง  โดยที่แดงต้องช่วยขับรถที่บรรจุระเบิดไว้เต็มคันรถ  ไปจอดอยู่แถวๆ ถนนจรัญสนิทวงศ์ซึ่งการขนวัตถุระเบิดดังกล่าว   เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย   สัญญาประนีประนอมยอมความนั้นเป็นโมฆะ บังคับกันไม่ได้

คดีอาญาที่เป็นความผิดต่อแผ่นดิน  ยอมความกันไม่ได้  หากทำสัญญายอมความไปมีผลเป็นโมฆะไม่สามารถบังคับกันได้

ฎีกาที่  ๑๕๒๗/๒๕๑๓   โจทก์เป็นบิดาของเด็กหญิง ส. อายุ 14 ปี  ทำสัญญากับจำเลยที่ 2 และที่ 3   ซึ่งเป็นมารดาและลุงของจำเลยที่ 1 ว่า  โจทก์ได้แจ้งความไว้ว่าจำเลยที่ 1  พรากเด็กหญิง  ส.  ไปเสียจากโจทก์เพื่อการอนาจารบัดนี้ได้ตกลงกันว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมชดใช้เงินค่าสินสอดให้ 5,000 บาท  ถ้าไม่ปฏิบัติตาม โจทก์ก็จะนำคดีมาฟ้องถ้าตกลงตามวันที่กล่าว โจทก์จะถอนคดี  การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3  ตกลงจะใช้เงินให้นั้นก็เพื่อให้โจทก์ถอดคดีข้อหาพรากผู้เยาว์   อันเป็นความผิดต่ออาญาแผ่นดิน  ข้อตกลงจะใช้เงินให้จึงตกเป็นโมฆะ เพราะมีวัตถุที่ประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนโจทก์จึงฟ้องบังคับจำเลยไม่ได้
ในกรณีคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา  คู่กรณีสามารถตกลงยอมความงดเว้นการใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่งกันได้  ทั้งนี้ไม่ว่าคดีอาญาดังกล่าวจะเป็นความผิดต่อแผ่นดินหรือความผิดต่อส่วนตัว

ตามตัวอย่างในฎีกาที่ ๑๕๒๗/๒๕๑๓     หากเป็นการตกลงในข้อที่ว่า     โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งอีก  การตกลงเช่นนี้ใช้ได้เพราะเป็นการตกลงในเรื่องทางแพ่งมิใช่ทางอาญา

ความสามารถในการทำสัญญา  
สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นการทำนิติกรรมอย่างหนึ่ง  ผู้ซึ่งสามารถทำสัญญาได้       จะต้องเป็นผู้มีความสามารถตามกฎหมายว่าด้วยความสามารถของบุคคล
ตัวแทนซึ่งได้รับมอบอำนาจทั่วไปจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้   ทนายความจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทนคู่ความได้เฉพาะเมื่อมีการแต่งตั้งและระบุให้ชัดเจนในใบแต่งทนายเท่านั้น  มิฉะนั้นไม่สามารถทำได้
ฎีกาที่ ๑๔๑๓/๒๕๒๔    บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับนายปิติมีลักษณะ เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ  เมื่อนายปิติไม่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากจำเลยให้นำหนังสือ
ประนีประนอมยอมความ  จึงถือไม่ได้ว่านายปิติทำแทนจำเลย หนังสือประนีประนอมยอมความไม่ผูกพันโจทก์และจำเลย   อ้างสัญญาประนีประนอมขึ้นต่อสู้ปัดความรับผิดไม่ได้


เนื้อหาของสัญญาประนีประนอมยอมความ     ไม่จำต้องสมบูรณ์อยู่ในเอกสารฉบับเดียว  จดหมายโต้ตอบที่เมื่อนำมาพิจารณารวมกันแล้วได้ความว่า  เจ้าหนี้และลูกหนี้ตกลงประนีประนอมยอมความกัน  ใช้เป็นหลักฐานแห่งสัญญาได้
หลักสำคัญในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความก็คือ ต้องให้ปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบตามสัญญานั้นเป็นสำคัญหรือลายมือชื่อของตัวแทนของฝ่ายนั้นก็ได้ จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ เช่น เจ้าหนี้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว ลูกหนี้มิได้ลงลายมือชื่อในสัญญานั้น เจ้าหนี้ก็จะนำสัญญานั้นไปฟ้องร้องลูกหนี้ไม่ได้   ในทางกลับกันเจ้าหนี้ลูกหนี้ประนีประนอมยอมความกันด้วยปากเปล่า     ภายหลังลูกหนี้เขียนหนังสือถึงเจ้าหนี้กล่าวถึงข้อตกลงที่ได้ทำไปแล้ว   และลงลายมือชื่อมาในจดหมายนั้น   ย่อมถือว่าจดหมายนั้นเป็นหลักฐานแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความ   ซึ่งมีลายมือชื่อของลูกหนี้อยู่แล้ว  เจ้าหนี้ใช้จดหมายนั้นเป็นหลักฐานฟ้องร้องลูกหนี้



มาตรา 851   อันสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ถ้ามิได้มี หลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้ บังคับคดีหาได้ไม่

อธิบาย    การจะตอบว่า  เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่ไม่ได้ทำเป็นหนังสือจะบังคับคดีไม่ได้ อันเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องนั้น  จะต้องมีข้อเท็จจริงชัดว่า  ได้ตกลงกันด้วยวาจา  ถ้าข้อเท็จจริงไปไม่ถึง  จะไปตอบว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่ไม่ได้ทำเป็นหนังสือนั้นไม่ได้  

วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2555

การรื้อคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่



ความผิดพลาดในการดำเนินคดีอาญานั้น  เป็นที่ยอมรับในกระบวนการยุติธรรมว่า ต้องมีขึ้นบ้างอย่างแน่นอน  ดังนั้น  จึงได้มีกฎหมายให้สิทธิแก่จำเลยที่ถูกดำเนินคดีอาญาและศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษให้สามารถขอรื้อคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ได้ เช่น มีหลักฐานเพิ่มเติมแน่ชัดแสดงต่อศาลว่า ตนไม่ใช่ผู้กระทำความผิดโดยถูกฟ้องผิดตัว  ถูกกลั่นแกล้ง หรือพยานเบิกความเป็นเท็จทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องถูกลงโทษ ฯลฯ  โดยสามารถอาศัย พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่  พ.ศ.๒๕๒๖  ขอให้ศาลมีคำสั่งรื้อคดีอาญาที่ตนต้องคำพิพากษาให้ลงโทษขึ้นพิจารณาใหม่ได้  โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญดังนี้



หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดมีสิทธิขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ในภายหลังหากปรากฏหลักฐานขึ้นใหม่ว่าบุคคลนั้นมิได้เป็นผู้กระทำความผิดและกำหนดให้มีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทน และได้รับบรรดาสิทธิที่เสียไปเพราะผลแห่งคำพิพากษานั้นคืน หากปรากฏตามคำพิพากษาของศาลที่พิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ว่าบุคคลผู้นั้นมิได้กระทำความผิด จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้



มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
คดีหมายความว่า คดีอาญา
คำร้องหมายความว่า คำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ลงโทษแล้วขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่
มาตรา ๕ คดีใดที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้บุคคลใดต้องรับโทษอาญาในคดีนั้นแล้ว อาจมีการร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ เมื่อปรากฏว่า
(๑) พยานบุคคลซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้น ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังแสดงว่าคำเบิกความของพยานนั้นเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง
(๒) พยานหลักฐานอื่นนอกจากพยานบุคคลตาม (๑) ซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิจารณาพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้น ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังแสดงว่าเป็นพยานหลักฐานปลอมหรือเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง หรือ
(๓) มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีซึ่งถ้าได้นำมาสืบในคดีอันถึงที่สุดนั้น จะแสดงว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ได้กระทำความผิด

มาตรา ๖ บุคคลดังต่อไปนี้มีสิทธิยื่นคำร้อง
(๑) บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด
(๒) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลในกรณีที่บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นเป็นผู้เยาว์ หรือคนไร้ความสามารถ
(๓) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลในกรณีที่นิติบุคคลนั้นต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด
(๔) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาของบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดซึ่งถึงแก่ความตายก่อนที่จะมีการยื่นคำร้อง หรือ
(๕) พนักงานอัยการในกรณีที่พนักงานอัยการมิได้เป็นโจทก์ในคดีเดิม

อธิบาย  ในการขอรื้อคดีอาญานี้ ต้องปรากฏว่า  ผู้ต้องคำพิพากษาหรือจำเลยนั้นถูกลงโทษอาญา โดยมีคำพิพากษาถึงที่สุดเสียก่อน   (คำว่า คำพิพากษาถึงที่สุดหมายถึง  กรณีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์  ฎีกา  แล้วไม่มีผู้ใดอุทธรณ์  หรือถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกา)

และต้องปรากฏว่า
(๑) พยานบุคคลซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้น ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังแสดงว่าคำเบิกความของพยานนั้นเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง
อธิบาย   ในกรณีตามอนุมาตรานี้  ต้องมีการฟ้องร้องต่อพยานในคดีอาญาที่ตนต้องคำพิพากษาว่า  เบิกความเท็จ และศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่า  พยานในคดีดังกล่าวเบิกความเท็จ
(๒) พยานหลักฐานอื่นนอกจากพยานบุคคลตาม (๑) ซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิจารณาพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้น ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังแสดงว่าเป็นพยานหลักฐานปลอมหรือเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง หรือ
อธิบาย  ในกรณีตามอนุมาตรานี้  ต้องมีการฟ้องร้องต่อพยานในคดีอาญาที่ตนต้องคำพิพากษาว่า  นำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ  และศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่า  หลักฐานในคดีดังกล่าวนั้นเป็นหลักฐานปลอมหรือเป็นเท็จ
(๓) มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีซึ่งถ้าได้นำมาสืบในคดีอันถึงที่สุดนั้น จะแสดงว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ได้กระทำความผิด
อธิบาย  มีพยานหลักฐานเพิ่มขึ้นมาใหม่ที่จะแสดงได้ว่า  บุคคลผู้ต้องโทษอาญานั้นไม่ได้กระทำความผิด  ถูกใส่ความ  หรือถูกฟ้องผิดตัว  (ถ้าไม่มีหลักฐานแน่ชัด  ศาลมีอำนาจที่จะไม่อนุญาตให้รื้อคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้)



6555/2548  คำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ของผู้ร้องอ้างแต่เพียงว่า คำเบิกความของพยานบุคคลโจทก์ 4 ปาก ที่ศาลอาศัยเป็นหลักในการพิพากษาลงโทษผู้ร้องทั้งสี่เป็นคำเบิกความเท็จ ไม่ถูกต้องตรงกับความจริง โดยไม่ปรากฏว่าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังแสดงว่าคำเบิกความของพยานดังกล่าวเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริงแต่อย่างใด ทั้งปรากฏในคำฟ้องฎีกาว่าผู้ร้องทั้งสี่เพิ่งจะยื่นฟ้องพยานโจทก์ดังกล่าว 1 ปาก เป็นจำเลยในคดีอาญาข้อหาเบิกความเท็จ แจ้งความเท็จ นำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานเท็จภายหลังจากที่ผู้ร้องทั้งสี่ได้ยื่นคำร้องนี้แล้ว กรณีจึงไม่ต้องด้วย พ.ร.บ. การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 5 (1) ส่วนที่ผู้ร้องทั้งสี่อ้างว่ามีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีซึ่งถ้าได้นำมาสืบแล้วจะแสดงว่าผู้ร้องทั้งสี่ไม่ได้กระทำความผิด ก็ปรากฏตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสี่ว่าพยานบุคคลที่ผู้ร้องอ้างปากหนึ่งเคยเบิกความเป็นพยานจำเลยในคดีนี้ไว้แล้ว ส่วนพยานปากอื่นล้วนเป็นบุคคลที่ผู้ร้องทั้งสี่รู้จักคุ้นเคยเพราะเป็นพนักงานที่ทำงานอยู่ในบริษัทผู้เสียหายเช่นเดียวกับผู้ร้องทั้งสี่บ้าง เป็นญาติพี่น้องกับผู้ร้องทั้งสี่บ้าง และเป็นเพื่อนบ้านของผู้ร้องทั้งสี่ซึ่งอยู่กับผู้ร้องทั้งสี่ในขณะเกิดเหตุบ้าง และพยานเอกสารที่ผู้ร้องอ้างก็เป็นเพียงบันทึกความเห็นและข้อที่พยานดังกล่าวจะมาเบิกความ พยานหลักฐานที่ผู้ร้องทั้งสี่อ้างตามคำร้องจึงเป็นพยานหลักฐานที่มีอยู่ก่อนและผู้ร้องทั้งสี่ทราบดีอยู่แล้ว ไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีที่ผู้ร้องทั้งสี่จะอ้างมาเป็นเหตุขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตาม พ.ร.บ. การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 5 (3) ได้ คำร้องของผู้ร้องทั้งสี่จึงไม่มีมูล ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสี่ได้โดยไม่ต้องไต่สวน คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสี่โดยไม่ทำความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งเพราะอำนาจในการมีคำสั่งเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 1 และการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนนั้นจะเป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 10 แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสี่ได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค
มีคำสั่งใหม่



6582/2547  ตาม พ.ร.บ. การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 5 บัญญัติว่า "คดีใดที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้บุคคลใดต้องรับโทษอาญาในคดีนั้นแล้ว อาจมีการร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ เมื่อปรากฏว่า (1)… (2)… (3) มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีซึ่งถ้าได้นำมาสืบในคดีอันถึงที่สุดนั้น จะแสดงว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ได้กระทำความผิด" จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าคดีที่จะได้รับการรื้อฟื้นขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้จะต้องเป็นคดีที่ได้มีการนำพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์ความผิดนั้นแล้ว แม้ผู้ร้องจะเป็นบุคคลที่ต้องรับโทษอาญา เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลางที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิด ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะต้องมายื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางในคดีดังกล่าว ตาม ป.อ. มาตรา 36 เพื่อศาลชั้นต้นจะได้ทำการไต่สวนพยานหลักฐานตามคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลาง และมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดจริงหรือไม่เสียก่อน เมื่อผู้ร้องมิได้ยื่นคำร้องขอคืนของกลางเพื่อให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่ง กรณีจึงยังไม่มีเหตุที่ผู้ร้องจะมายื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่โดยอ้างว่าผู้ร้องมีพยานหลักฐานใหม่ที่จะแสดงว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยการกระทำความผิดของจำเลย เพราะในคดีเดิมซึ่งถึงที่สุดศาลมิได้วินิจฉัยในประเด็นข้อนี้ แต่การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องของผู้ร้องโดยมิได้ทำความเห็นส่งไปให้ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 สั่ง และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ย่อมไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะสั่งคำร้องดังกล่าว อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่าคดีนี้ได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งใหม่


 ในการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งรื้อคดีขึ้นพิจารณาใหม่  ทีได้ยื่นคำร้องโดย บุคคลตามมาตรา ๖ (๑) – (๔)  ศาลจะต้องมีคำสั่งไต่สวนคำร้องเพื่อพิจารณาพยานหลักฐานตามข้ออ้างเสียก่อนว่ามีมูลเพียงพอให้รื้อคดีขึ้นพิจารณาใหม่หรือไม่  เว้นแต่กรณีที่พนักงานอัยการเป็นผู้ยื่นคำร้อง ศาลจะสั่งไต่สวนหรือไม่ก็ได้  ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา ๙

มาตรา ๙ ให้ศาลที่ได้รับคำร้องทำการไต่สวนคำร้องนั้นว่ามีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่หรือไม่ เว้นแต่ในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นผู้ร้อง ศาลจะไต่สวนคำร้องหรือไม่ก็ได้ ถ้าเห็นว่าไม่จำเป็นต้องไต่สวนคำร้อง ก็ให้ศาลสั่งรับคำร้องและดำเนินการพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ต่อไป คำสั่งของศาลในกรณีเช่นนี้ให้เป็นที่สุด
ในการไต่สวนคำร้องตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลส่งสำเนาคำร้องและแจ้งวันนัดไต่สวนไปให้โจทก์ในคดีเดิมทราบ ในกรณีที่โจทก์ในคดีเดิมมิใช่พนักงานอัยการ ให้ส่งสำเนาคำร้องและแจ้งวันนัดไต่สวนให้พนักงานอัยการทราบด้วย พนักงานอัยการและโจทก์ในคดีเดิมจะมาฟังการไต่สวนและซักค้านพยานของผู้ร้องด้วยหรือไม่ก็ได้ ผู้ร้องและโจทก์ในคดีเดิมมีสิทธิแต่งทนายแทนตนได้
เมื่อได้ไต่สวนคำร้องแล้ว ให้ศาลที่ไต่สวนคำร้องส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์โดยไม่ชักช้า
ให้ผู้พิพากษา ตุลาการของศาลตามกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมที่กฎหมายกำหนดให้เป็นศาลทหาร หรือตุลาการพระธรรมนูญคนเดียวมีอำนาจไต่สวนคำร้องและทำความเห็นได้

หากศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้องแล้ว เห็นว่า กรณีไม่มีมูลที่จะรื้อคดีขึ้นพิจารณาใหม่ คำสั่งศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด (หมายความว่า ผู้ต้องคำพิพากษาไม่อาจขอรื้อคดีได้ใหม่ หรือจะฎีกาต่อไปอีกก็ไม่ได้)  การสั่งคำร้องเป็นอำนาจเฉพาะของศาลอุทธรณ์เท่านั้น ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา  ๑๐



มาตรา ๑๐ เมื่อศาลอุทธรณ์ได้รับสำนวนการไต่สวนและความเห็นแล้ว ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ให้ศาลอุทธรณ์สั่งรับคำร้องและสั่งให้ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องดำเนินการพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ต่อไป แต่ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นไม่มีมูล ให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องนั้น
คำสั่งของศาลอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด


สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นเพราะอำนาจแห่งกรรมบันดาล จึงยังให้ผู้บริสุทธิ์กลายเป็นมีผิด อาจจะเป็นด้วยเหตุตนเคยใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่นไว้ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติก่อนก็ตาม พึงแก้กรรมด้วยการเว้นจาก กายทุจริต  มโนทุจริต วจีทุจริต  เดินทางมรรคมีองค์แปด  สำรวมกาย วาจาด้วยศีล  สำรวมใจด้วยภาวนา หนักจะกลายเป็นเบา  ดุจเติมน้ำจืดลงไปในน้ำเค็ม ฉะนั้น / ครูนัท  หนอนพระไตรปิฎก