วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2554

พระอัยการลักษณะทาษ (ทาส) กฎหมายตราสามดวง ทาสไทยสมัยโบราณ

ประเภทของทาษทีควรใช้ได้และไ่ม่ควรใช้ได้นั้น แบ่งแยกกัน มิใช่ทาษนั้นขึ้นชื่อว่าทาษแล้วจักใช้ได้ทั้งหมด ซึ่งทาษที่กฎหมายห้ามมิให้ใช้นั้น ไม่ค่อยมีการพูดถึงกันโดยเฉพาะในอินเตอร์เนต หาอ่านไม่ได้

อธิบายว่า ทาสวณฺณา อันว่าปรเพศแห่งทาษทังหลาย สตฺตมา มีเจตจำพวกอันควรจะใช้ได้นั้น ธเนน

วิกิเน ยฺยวา คือทาษไถ่มาด้วยทรัพย ๑ ปุตฺตทาสา คือลูกทาษเกิดในเรือนเบี้ย ๑ มาตาปิตา จทาสกา คือทาษได้มาแต่ฝ่ายข้างบิดามานดา ๑ ทินฺนกา จ คือทาษมีผู้ให้ ๑ อฏฏทาสาจ คือ ทาษอันได้ด้วยช่วยกังวลทุระทุกขแห่งคนอันต้องทันธโทษ ๑ ภตฺตกา จ คือทาษอันได้เลิ้ยงไว้ในกาลเมื่อเข้าแพง ๑ ธชาหตา จ ทาสกา คือนำธงไชยไปรบศึกแล้วแลได้มาเปนทาษชะเลย ๑ ทาส ๗ ประการดั่งนี้ควรจะใช้ได้

อนึ่งทาษอันมิควรจะใช้ได้นั้น ๖ ประการมีบาฬีดังนี้

มุญฺจนา ภิกฺขุทาสา จ พฺราหฺมณทานทาสกา

ทาโสเมติภิกฺขุ ภิกฺขุ อตฺถิสิลา อญฺเญชนา

เขตฺตทาสา ติ ฉฏฺเว ทาสกมฺเม น ลพฺภเร

อธิบายว่า ฉฏฺ เอว ทาสา อันว่าทาษไม่ควรจะว่าทาษไม่ควรจะใช้มี ๖ ประการ มุญฺจนา จ คือทาษอันโปรดเสียมิได้ใช้ ๑ ภิกฺขุทาสาจ คือทาษอันตนโปรดให้บวดเปนสมณ ๑ พฺราหฺมณทานทาสกา คือทาษอันตนโปรดให้ไปแก่พราหมณหนึ่ง ทาโส เม ติ ภิกฺขุ ภิกฺขุ คือภิกษุต่อภิษุจะว่ากันเปนทาษนั้นมิได้ ๑ อตฺถิสิลา อญฺเชนา คือผู้มาอาไศรยอยู่ในคามเขดที่เรือนสวนไร่นาแห่งตน ตนจะว่าผู้นั้นเปนทาษมิได้ ๑ เปน ๖ ประการด้วยกัน ทาส ๖ ปรการนี้ ทาสกมฺเม น ลพฺภเร อันบุทคนมิควรจะพึ่งใช้ในทาษกรรมกรแห่งตนได้

ทาสที่นายเงินจะใช้ได้นั้น กฎหมายตราสามดวงกำหนดไว้ ๗ ประเภท ได้แก่

1.ทาษสินไถ่ บุคคลที่ถูกขายหรือได้ขายตัวเป็นทาษ เช่น พ่อแม่ขายบุตร สามีขายภรรยา สามีอาจจะขายภริยาได้หากเสียการพนัน

2.ทาษในเรือนเบี้ย เด็กที่เกิดขึ้นระหว่างที่แม่เป็นทาษ

3.ทาษที่ได้รับมาด้วยมรดก ทาษที่ตกเป็นมรดกของนายทาษ เช่น พ่อแม่ตายทาษของพ่อแม่ตกได้แก่ลูก

4.ทาษท่านให้ ทาษที่ได้รับมาจากผู้อื่น

5.ทาษที่ช่วยไว้จากทัณฑ์โทษ บุคคลที่ได้รับการช่วยเหลือโดยจ่ายค่าปรับแทนให้ ไม่ต้องถูกลงโทษอาญา ก็จะมาเป็นทาษของผู้ช่วยเหลือ

6.ทาษที่ช่วยไว้ให้พ้นจากความอดอยาก ในภาวะที่ไพร่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองให้ประกอบอาชีพได้แล้ว ไพร่อาจขายตนเองเป็นทาษได้

7.ทาษเชลย ทาษที่ได้มาจากการชนะสงคราม ผู้ชนะจะกวาดต้อนไพร่พลไปเป็นทาษ

ทาษที่กฎหมายห้ามนำมาใช้ได้แก่

๑. ทาษอันโปรดเสียมิได้ใช้ ได้แ่ก่ทาษที่มีกฎหมายห้ามใช้ เช่น ทาษที่ไปทำภาระกิจแทนนายเงินแล้วถูกจับตัวไป หากรอดมาได้ กฎหมายไม่ให้ใช้เป็นทาษอีก ด้วยทำประโยชน์ให้แก่นายเงินมากแล้ว

๒. ทาษอันตนโปรดให้บวดเปนสมณ ทาษที่นายเงินศรัทธาในพระศาสนาให้บวชเป็นสมณแล้ว แม้ต่อมาภายหลังจะสึกออกมาก้เอามาเป็นทาษอีกไม่ได้

๓. ทาษอันตนโปรดให้ไปแก่พราหมณ ทาษที่ตนได้ยกให้แก่พราหมณ์แล้ว

๔. ภิกษุต่อภิษุจะว่ากันเปนทาษนั้นมิได้ ห้ามภิกษุผู้ใหญ่ใช้ผู้น้อยเป็นทาษ

๕. ผู้มาอาไศรยอยู่ในคามเขด ผู้มาอาศัยในเขตเรือนอยู่อย่างสหาย

๖. ผู้มาอาศัยที่เรือนสวนไร่นาแห่งตน ผู้มาอาศัยในสวนในไร่นาอย่างสหาย

ทาษ ๖ ประเภทนี้จะนำมาใช้ไม่ได้

ปุจฉา...

กรรมใดจำแนกคนให้ต่างกัน ทำให้เป็นผู้เกิดในตระกูลสูง ในตระกูลต่ำ

วิสัจชนา..

[๕๙๒] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม

เป็นคนกระด้าง เย่อหยิ่ง ย่อมไม่กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ไม่ลุกรับคนที่ควร

ลุกรับ ไม่ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ไม่ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง

ไม่สักการะคนที่ควรสักการะ ไม่เคารพคนที่ควรเคารพ ไม่นับถือคนที่ควรนับถือ

ไม่บูชาคนที่ควรบูชา เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะ

กรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย

ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคน

เกิดในสกุลต่ำ ดูกรมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อเกิดในสกุลต่ำนี้ คือ เป็นคน

กระด้าง เย่อหยิ่ง ย่อมไม่กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ไม่ลุกรับคนที่ควรลุกรับ

ไม่ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ไม่ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง ไม่

สักการะคนที่ควรสักการะ ไม่เคารพคนที่ควรเคารพ ไม่นับถือคนที่ควรนับถือ ไม่

บูชาคนที่ควรบูชา ฯ

[๕๙๓] ดูกรมาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม

เป็นคนไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง ย่อมกราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ลุกรับคนที่ควร

ลุกรับ ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง

สักการะคนที่ควรสักการะ เคารพคนที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ บูชาคน

ที่ควรบูชา เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้

พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเกิด

เป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนเกิดในสกุลสูง ดูกรมาณพ

ปฏิปทาเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีสกุลสูงนี้ คือ เป็นคนไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง

ย่อมกราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ให้อาสนะแก่คนที่สมควร

แก่อาสนะ ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง สักการะคนที่ควรสักการะ เคารพคน

ที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ บูชาคนที่ควรบูชา ฯ

หมายเหตุ คำว่า ทาษ มิได้เขียนผิด แต่คำนี้โบราณเขียนเช่นนี้ เมื่อจะกล่าวถึงคำโบราณจึงสมควรให้ตัวสะกดเสียให้ถูกต้อง




พระเป็นพยาน พระอัยการลักษณะพยาน

พระภิกษุ สามเณร ในสมัยก่อนนี้ (ครั้งกรุงศรีอยุทธยาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น) สามารถไปเป็นพยานในศาลได้ แต่วิธีการสืบพยานจะไม่เหมือนกันการสืบพยานฆารวาส และจะมีวิธีการสืบอย่างไร ลองติดตามอ่านบันทึกนี้ดูนะคะ

๒๐ มาตราหนึ่ง ผู้มีอรรถคดีอ้างพญาณสามประการ ๆ หนึ่งอ้างพระสงฆแลพระสงฆทรงไตรยตะพายบาตรบริกขาร ๘ สำหรับพุทธปัญญัติ คือผ้าสังฆาฏิ ๑ ผ้าจีวร ๑ ผ้าสบง ๑ บาตร ๑ มีดอะรัญญะวาศรี ๑ กล่องเขม ๑ รัตคด ๑ ผ้าตรองน้ำ ๑ ให้กระลาการพิจารณาดู ถ้าพระสงฆทรงบริกขาร ๘ ครบดั่งนี้ท่านให้ฟังเอาเปนพญาณได้ ถ้าอรรถบริกขารทัง ๘ ขาดแต่งสิ่งหนึ่งท่านว่าหมีสมโดยอ้าง ถ้ากระลาการอ่านผเดนฃ้อความให้ฟัง พระสงฆทำกิริยาล้มตาลิปัดลง ท่านว่าฃ้อนั้นไม่สม ถ้าอ่านผเดนถึงข้อใดถือตาลิปัตสำรวมนิ่งอยู่ท่านว่าฃ้อนั้นสม ถ้าแลเผชิญพระสงฆทรงไตรอรรถบริกขารทัง ๘ ครบ ถ้าแลพระสงฆนั้นกล่าวถ้อยคำสมโดยอ้าง ท่านว่าอุตริพญาณหมีได้อยู่แก่ศีลสิกขาบทพระพุทธโอวาท จะฟังเอาถ้อยคำพระสงฆนั้นหมีได้

21

๒๑ อนึ่งถ้าอ้างสามเณรห่มดองถือย่ามเครื่องย่ามมีครบกระลาการอ่านผเดนให้ฟัง สามเณรถือย่ามนิ่งอยู่ ท่านว่าสมโดยอ้าง ถ้าอ่านผเดนถึงข้อใดวางย่ามลงไว้ ท่านว่าข้อนั้นไม่สมโดยอ้าง ถ้าสมเณรห่มสใบเฉียงหมีได้ถือย่ามแลกล่าวถ้อยคำแก่กระลาการ ท่านว่าเปนอันธพาละฟังเอาคำนั้นหมีได้

การสืบพยานพระภิกษุ สามเณรในพุทธศาสนานั้น กฎหมายห้ามไม่ให้พระและเณรพูดเลย นอกจากนี้การแต่งกายของพระยังสำคัญต่อการรับฟังเ็ป็นพยานด้วย เนื่องจากพระที่น่าเชื่อถือ และปฏิบัติดีตามพระพุทธศาสนาควรที่จะนุ่งห่มตามพระธรรมวินัย ด้วยอัฐบริขารครบสมบูรณ์ หากพระสงฆ์ผู้มาเป็นพยานทรงอัฐบริขารไม่ครบไม่ให้รับฟังเป็นพยาน

ในการถามพยานจะกระทำโดยการให้ตอบด้วยการทำกิริยาล้มตาละปัดหากว่าจะตอบว่าไม่ใช่ ให้ตั้งตาละปัด หากว่าข้อนั้นจะตอบว่าใช่ จึงมีคำตอบจากพระได้แต่เพียงใช่ กับไม่ใช่

สำหรับเณรให้พิจารณาการนุ่งห่มว่าต้องห่มดอง ถ้าไม่ห่มดองถือว่าแต่งกายถูกต้องไม่น่าเชื่อถือ ไม่สามารถเอาเป็นทิพย์พยานได้ การตอบคำถามก็เช่นกัน ให้เณรพึงทำด้วยการวางย่ามลงหากต้องการตอบว่าไม่ใช่ และให้ถือย่ามนิ่งอยู่หากจะตอบว่าใช่ หากพระหรือเณรกล่าวถ้อยคำใดออกมา กฎหมายถือว่า เป็นอันธพาล คำพยานนั้นเป็นอุตริพยาน รับฟังไม่ได้เลย

หมายเหตุ

การชั่งน้ำหนักพยานแบ่งเป็น

ทิพย์พยาน พยานที่ดีมีน้ำหนักมาก ได้แก่ พระภิกษุสามเณร นักบวช ครูอาจารย์ เป็นต้น

อุดรพยาน พยานที่ดีมีน้ำหนักปานกลาง ได้แก่ ชาวบ้านทั่วไป พ่อค้า เป็นต้น

อุตริพยาน พยานที่เลวมีน้ำหนักน้อย ได้แก่ ขอทาน คนพิการหูหนวกตาบอด คนไร้ญาติ บุคคลที่เป็นพยานให้แก่ญาติตนเอง



วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2554

อคติทั้งสี่ประการของนักกฎหมาย


นักกฎหมาย แปลว่า ผู้ชำนาญด้านกฎหมาย ถ้าจิตใจฝักไฝ่ในอคติทั้งสี่ประการได้แก่
ฉันทาคติ ความลำเอียงเพราะความรักความพอใจ
โทสาคติ ความลำเอียงเพราะความโกรธ ไม่ชอบใจ ไม่พอใจ
โมหาคติ ความลำเอียงเพราะความไม่รู้ ความเขลา (ไม่รู้แล้วไม่ศึกษาหาความรู้ คิดว่าตนเองนั้นรู้แล้ว ภาษาวัยรุ่นเรียกว่าโชว์โง่)

ภยาคติ ความลำเอียงเพราะความกลัว กลัวจนไม่กล้าพิจารณาตัดสิน นักกฎหมายต้องไม่กลัว ตายก็ตาย ต้องรักษาความถูกต้องไว้ด้วยชีวิต ตายก็ไม่ทิ้งความถูกต้อง ต้องพูดและทำในสิ่งที่ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่กลัวว่าจะไม่ถูกใจไม่ชอบใจใคร
ตามคัมภีร์อินทภาษได้กล่าวถึง ลักษณะเจตสิตทั้งสี่ดวงและลักษณะของผู้จะเป็นตระลาการไว้ดังนี้
"
ในเทวะอรรถาธิบายว่าบุทคลผู้ใด จะเปนผู้พิภากษาตัดสีนคดีการแห่งมนุษยนิกรทั้งหลาย พึงกระทำสันดานให้นิราศปราศจากอะคติธรรมทังสี่ คือฉันทาคติ ๑ โทษาคติ ๑ ภะยาคติ ๑ โมหาคติ ๑ ทังสี่ประการนี้เปนทุจริตธรรมอันมิได้สอาดมิได้เปนของแห่งสับปรุษ แลธรรมทังสี่เรียกว่าอะคตินั้น ด้วยเหตุเปนดั่งฤๅ อะคตินั้นแปลว่ามิได้เปนที่ตำเนินแห่งสับปรุษแลฉันท ๑ โทษะ ๑ ไภยะ ๑ โมหะ ๑ ธรรมทังสี่นี้นักปราชมิควรถึงมิควรตำเนินไปตามและฉันทะนั้นถ้าจัดตามภูมก็เปนอัญสะมานะราษีเจตสิกกุศลก็เกิดได้ ฝ่ายอะกุศลก็เกิดได้ แต่ทว่าเอามาจัดเข้าในอะคตินี้ ฉันทนั้นเปนอะกุศลจิตรโดยแท้ และโทษะไภยะโมหะสามดวงนี้เปนอะกุศลเจตสิกฝ่ายเดียว

แลซึ่งว่าให้ผู้พิภากษาปราศจากฉันทาคะตินั้น คือให้ทำจิตรให้นิราศขาดจากโลภ อย่าได้เหนแก่ลาภะโลกามิศสีนจ้างสีนบน อย่าได้เข้าด้วยฝ่ายโจทฝ่ายจำเลยเปนเหตุจะได้วิญาณพัศดุะแลอะวิญาณะพัศดุะ ให้กระทำจิตรให้เปนจัตุรัศเที่ยงแท้เปนท่ามกลาง ดั่งตราชูอันยกขึ้นอย่าได้กดขี่ฝ่ายโจทยกยอฝ่ายจำเลย ยกข้างฝ่ายโจท กดขี่ฝ่ายจำเลยให้พ่ายแพ้แก่กันลงด้วยอำนาจของตน ถึงมาทว่าผู้ต้องคดีนั้นจะเปนเผ่าพันธุเปนต้นว่าบิดามานดาตนก็ดี อย่าพึงเข้าด้วยสามาถฉันทาคติอันมิควรจะพึงไป จงทำจิตรให้ตั้งอยู่ในอุเบกขาญาณ จึ่งได้ชื่อว่าเปนองคตุลาการ มีอาการอันเสมอเหมือนด้วยตราชู ให้พิจารณาไต่ไปตามธรรมสาตรราชสาตร อันโบราณบัณฑิตยชาติ แลกระษัตรแต่ปางก่อนบัญญัติไว้อย่าให้พลั้งพลาด แลผู้พิภากษากระลาการไต่ไปโดยคลองธรรมดั่งกล่าวมานี้ ได้ชื่อว่าปราศจากฉันทาคติคืออะคติเปนปถม ๑

แลปราศจากโทษาคตินั้น คือให้ผู้พิภากษากระลาการกระทำจิตให้เสมออย่าได้ไต่ไปตามอำนาจ์โทษาพญาบาทจองเวร ว่าผู้นี้เปนคนปะฏิปักขข้าศึกผิดกันกับอาตมา อย่ากระทำซึ่งความโกรธแลเวระพญาบาทเปนเบื้องหน้าแล้วแลพิจารณากดขี่ให้พ่ายแพ้ ถึงมาทว่าฝ่ายโจทฝ่ายจำเลยก็ดีจะเปนคนข้าศึกผิดกันกับตนอยู่ในกาลก่อนก็อย่าได้ปล่อยซึ่งจิตรให้ไต่ไปตามอำนาจ์โทษาคะติ พึงดำเนินไปตามธรรมสาตรราชสาตร แลตั้งจิตรไว้ในมัชฌะตุเบกขาให้แน่แน่วแล้วจึ่งพิจารณาตัดสีนเปนท่ามกลาง อย่าให้ฝ่ายโจทฝ่ายจำเลยแพ้ชนะกันด้วยอำนาจ์โทษจิตรจองเวรแห่งตน เมื่อกระลาการผู้พิภากษาผู้ใดประพฤฒิได้ดั่งกล่าวมานี้ ได้ชื่อว่าผู้พิภากษากระลาการผู้นั้นปราศจากโทษาคติ มิได้ไปตามอะคติเปนคำรบสอง

ซึ่งว่าให้กระลาการแลผู้พิภากษาปราศจากภะยาคะตินั้น คือให้ผู้พิภากษากระลาการกระทำจิตรให้มั่นคง อย่าได้หวั่นไหวแต่ไภยความกลัวฝ่ายโจทแลฝ่ายจำเลย อย่าสดุ้งหวาดเสียวว่าผู้นี้เปนอธิบดีมียศถาศักดิแลเปนราชตระกูลประยูรอันใหญ่ยิ่ง ถ้าอาตมาพิภากษาควรแพ้แลแพ้ลงบัดนี้ ก็จะทำให้อาตมาถึงซึ่งความฉิบหายด้วยเหตุอันใดอันหนึ่งเปนมั่นคง อนึ่งอย่าพึ่งกลัวว่าผู้นี้มีวิทยาคมแลฝีมือกำลังกายแกล้วกล้าถ้าพ่ายแพ้ลงก็จะเคียดโกรธอาตมาแล้วจทำความวินาศอันใดอันหนึ่งให้ถึงเรา เพราะเหตุเราบังคับบันชาให้พ่ายแพ้ในที่อันควรจะแพ้ พึงกระทำจิตรให้องอาจ์อย่าได้หวาดไหวแต่ไภยความกลัวอะธิบดีตระกูล แต่เหตุอันใดอันหนึ่ง พึงยุดหน่วงซึ่งหลักคือสุจริตธรรม แล้วไต่ไปตามธรรมสาตรราชสาตรอันเปนบันทัดถาน อย่าให้นิกรชนฝูงปราชผู้ดำเนินด้วยญาณคติตำริติตนได้ว่าเปนคนมารยาสาไถย ถึงมาทว่าผู้ต้องคดีการจะเปนอะธิจะกระกูลประกอบด้วยยศศักดิอันสูงประการใดก็อย่าพึงกลับคดีการอันแพ้ให้ชนะ ด้วยสามาถภะยาคติคือความกลัว แลผู้พิภากษากระลาการผู้ใดประพฤฒิได้ดั่งกล่าวมานี้ ก็ได้ชื่อว่าผู้พิภากษากระลาการผู้นั้น ปราศจากภะยาคติมิได้ตำเนินไปตามอะคติเปนคำรบสาม

แลให้ปราศจากโมหาคตินั้น โมหะเจตสิกดวงนี้ คือ ตัวอะวิชา มีลักษณอันมืดไปในที่ทังปวง มิได้รู้จักกองทุกขและทุกขสมุทยทุกขนิโรธ ทุกขนิโรธคามินี ฝ่ายโลกียการเล่าโมหะตัวนี้ ถ้ามากในสันดานผู้ใดแล้ว ก็ให้มืดมัวหลงไหลไปมิได้รู้จักบาปบุญคุณแลโทษ ประโยชนแลใช่ปรโยชนมิได้รู้จักผิดแลชอบ มีแต่ให้มืดคลุ้มหุ้มไปด้วยโมหันทะการะเปนนิจดั่งนี้เปนลักษณแห่งโมหะ แลผู้พิพากษากระลาการพึงมละเว้นเสียซึ่งโมหะนั้นให้ปราศจากสันดาน จะพิภากษาคดีการประชาราษฎรนั้น พึงพิจารณาด้วยอุบายะปรีชาอันบริสุทธิ อย่าให้ทุจริตเข้าระคนได้ คดีใดควนแก่แพ้ ก็พึงพิจารณาให้เหนด้วยปัญาว่าควรแพ้ คดีใดจะพึงชนะ ก็สอดส่องให้เหนด้วยปัญาโดยแท้ว่าควรจะชนะ อย่าบังคับบันชาด้วยโมหาคติอันมืดหลงใหล ถ้าเหลือสติปัญาตนก็พึงเทียบทานถามซึ่งบัณฑิตยเสวะกามาตยผู้มีปัญาชาญฉลาดในราชบัญญัติ แลเคยในกิจคดีตัดสีนพิภากษามาในกาลก่อน อย่าทะอึงอวดตนด้วยอุณตมานะอันโมหาเหนเปล่าล้วนแต่หลงใหล พึงยุดหน่วงซึ่งหลักคือสุจริตธรรม อันมีลักษณละอายบาปกลัวบาป แล้วพึงไต่ไปตามธรรมสาตรราชสาตร อย่ากลับซึ่งคดีอันแพ้ให้ชนะ กลับคดีชนะให้แพ้ด้วยอำนาจแห่งโมหะคือความหลง ถ้าผู้พิภากษากระลาการผู้ใดประพฤฒิได้ดั่งกล่าวมานี้ กระลาการผู้นั้นได้ชื่อว่าปราศจากโมหาคะติ มิได้ไต่ไปตามอะคติเปนคำรบสี่ แลเสวะกามาตยหมู่ใด มละเสียซึ่งอะคติธรรมทังสี่นี้ ให้นิราษขาดจากสันดานได้ ตสฺส ยโส อภิวฑฺฒติ อันว่าอิศีริยศแลบริวารยศแห่งเสวะกามาตยหมู่นั้น ก็จะวัฒนาการจำเริญภิญโยยิ่งรุ่งเรืองไป สุกฺกปกฺเข ว จนฺทิมา ประดูจพระจันทรอันเพญผ่องรุ่งเรืองสว่างในนภางควิถีในวันสุกะปักขนั้น"
หมายเหตุ ภาษาทั้งหมดข้าพเจ้ามิได้พิมพ์ผิด แต่เป็นภาษาที่เขียนในกฎหมายตราสามดวง (กฎหมายโบราณ)

โดยหลักใหญ่ใจความ อธิบายว่า
อคติข้อฉันทา นั้น เป็นเจตสิกที่เป็นฝ่ายกุศล หรืออกุศลก็ได้ แต่หากเอามากล่าวในลักษณะแห่งผู้จะเป็นตระลาการ อคติข้อนี้กลายเป็นเจตสิกที่เป็นอกุศล กระลาการผู้เจริญด้วยฉันทาคติ คือพิจารณาคดีด้วยความรัก ความชอบใจใน คู่ความหรือทรัพย์สินที่คู่ความหามาให้ ไม่ว่าจะด้วยวิญาณทรัพย์ คือทรัพย์มีวิญญาณได้แก่คน สมัยก่อนหญิงเป็นทรัพย์ของสามี ลูกเป็นทรัพย์ของพ่อแม่จึงมีการยกหญิงให้แก่กระลาการเพื่อให้พิจารณาเข้าด้วยฝ่ายตน อวิญาณทรัพย์คือทรัพย์ที่ไม่มีชีวิต ย่อมถึงแก่อบายด้วยอกุศลกรรมนี้ (ตกนรกนะลูก กระลาการหรือนักกฎหมายจึงห้ามรับสินบน รับข้าวของ หรือแม้แต่ทานข้าวกับใครด้วยการสนทนาเรื่องผลประโยชน์จากคดีความ เว้นแต่เป็นทนายความนั้นไม่เกี่ยวกันเพราะเป็นวิชาชีพเขา อันนี้หมายเฉพาะผู้มีอำนาจจัดการตัดสิน)

อคติข้อโทสา นั้น เป็นเจตสิกฝ่ายอกุศล หากผู้เป็นกระลาการพึงพิจารณาคดีด้วยความขุ่นมัวใจ ไม่พอใจ โกรธ หรือพิจารณาคดีตามอำเภอใจไม่ประกอบด้วยพยานหลักฐานแล้ว เช่นพิจารณาด้วยความเชื่อของตน มิใช่เชื่อจากพยานหลักฐาน อคติข้อนี้ส่งผลให้เกิดในอบาย ตัวอย่าง ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีพรากผู้เยาว์ ลงโทษจำเลยเต็มที่ตามระวางโทษ เพราะตนเองมีลูกสาวและไม่พอใจการกระทำของคนเยียงจำเลย แม้ว่าท่านสามารถจะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายแต่ท่านต้องพิจารณาในใจว่า ขณะที่ท่านพิพากษาคดีนั้น ท่านได้กระทำด้วยความรู้สึกอารมณ์ใด หากกระทำด้วยความรู้สึกอารมณ์ร้อนรุ่ม ไม่พอใจ มิได้กระทำด้วยอุเบกขา ความวางเฉยแล้ว ท่านลงอบายแน่นอน

ภยคติ นั้น เป็นเจตสิกฝ่ายอกุศล ความกลัวทำให้เสื่อม ความกลัวภัยนี้ทำให้ผู้พิพากษากระลาการผู้มีอำนาจในการพิจารณาคดีไม่กล้าพิจารณาคดี ด้วยเกรงกลัวต่ออำนาจบารมีของคู่ความ ผู้พิพากษากระลาการจึงควรทำทำใจให้ดี อย่าสะดุ้งหวาดเสียวว่าผู้นี้มียศศักดิ์ ผู้นี้มีแรงอาฆาต หากว่าเราพิจารณาให้เขาแพ้ในที่ควรแพ้ เขาจะต้องพยาบาททำร้ายเราแน่นอน หากทำใจให้เข้มแข็งไม่ได้ ก็ไม่ควรอยู่ในกระบวนการยุติธรรม เพราะนั่นหมายถึง อบายแน่นอน

อคติข้อโมหา นั้น เป็นเจตสิกฝ่ายอกุศล มักเจริญมากในผู้มีภูมิความรู้ ทั้งทางโลกและทางธรรม ผู้มีภูมิความรู้มักเข้าใจว่าตนเองนั้นรู้แล้ว และที่ตนเองรู้นั้นคือที่สุดแล้ว จึงไม่แสวงหาความรู้เพิ่มเติม ไม่มองใคร ไม่สนใจ หากอคติข้อนี้เจริญในสันดานผู้เป็นกระลาการแล้วอันตรายมาก เพราะเขาจะทำการพิจารณาคดีไปด้วยความไม่รู้ ความหลงตนเอง ไม่ปรึกษาไม่ค้นคว้า บางครั้งมั่นใจในตัวเองคดีที่ไม่เคยทำก็ไม่ปรึกษาผู้รู้เสียก่อน (เรียกว่าไม่รู้แล้วยังไม่สนใจไถ่ถาม) นั่นไม่ใช่เพราะเขาประมาท แต่เขากำลังหลง หลงว่าตัวเองรู้

บุคคลผู้ไม่รู้ว่าตนเองไม่รู้นั้นเป็นบุคคลอันตราย หากเจริญในข้อโมหาคติ อบายแน่นอน

ดังนั้น หากคิดจะเป็นผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรม ต้องทำความเข้าใจกับหลักอินทภาษ (คำสอนของพระอินทร์) นี้ให้ดีๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ใดที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมก็ตาม ไม่งั้น ก่อนจะได้มาเกิดเป็นมนุษย์จะไปเสวยทุกขเวทนาในอบายภูมิเสียก่อน ทั้งขณะดำรงตำแหน่งหน้าที่อยู่นั้น จะพบแต่ความเสื่อมของชีวิตเรียกว่าทำมาหากินไม่ขึ้นไม่เจริญ ด้วยความเสื่อมในอกุศลเกาะกินใจเ็ป็นวิบากให้รับผลตลอดเวลา

วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554

การสมรสที่เป็นโมฆียะ

การสมรสที่เป็นโมฆียะ

มาตรา 1502 การสมรสที่เป็นโมฆียะสิ้นสุดลงเมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอน

มาตรา 1503 เหตุที่จะขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรสเพราะเหตุว่าเป็นโมฆียะ มีเฉพาะในกรณีที่คู่สมรสทำการฝ่าฝืนมาตรา 1448 มาตรา1505 มาตรา 1506 มาตรา 1507 และมาตรา 1509

อธิบาย เหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆียะ ได้แก่

1. การสมรสที่ชายและหญิงอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์

2. การสมรสโดยการสำคัญผิดตัวคู่สมรส เช่น สมรสกับคู่แฝดของผู้ที่เราต้องการสมรสด้วย แต่ถ้าเป็นเรื่อง

สำคัญผิดในฐานะของคู่สมรสแล้วไม่ใช่เรื่องสำคัญผิดตัวคู่สมรส ฐานะที่ว่านั้นไม่ว่าจะเป็นสำคัญผิดในคุณสมบัติหรือชื่อของบุคคล ก็ไม่ทำให้การสมรสเป็นโมฆียะ

3. การสมรสโดยถูกกลฉ้อฉล กลฉ้อฉลนี้ต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลนั้นจะไม่ทำการสมรส กลฉ้อฉลนี้-

คือการลวงให้แสดงเจตนาเข้าทำการสมรส กลฉ้อฉลนั้นการจะเป็นกลฉ้อฉลโดยการนิ่งก็ได้ เช่นชายต้องการสมรสกับหญิงที่เป็นคนดีไม่เคยต้องโทษต้องคดีหรือติดยาเสพติดมาก่อนอันนี้เกิดขึ้นได้ในสังคมหากชายต้องการมีตำแหน่งหน้าที่การงานในสังคมที่สำคัญและต้องถูกตรวจสอบคู่สมรสด้วย เช่น นายกรัฐมนตรี ผู้พิพากษา เป็นต้น หญิงก็รู้และตนเคยต้องคดีหรือติดยาเสพติดจนเป็นคดีมาก่อนแต่นิ่งเสีย เช่นนี้เป็นกลฉ้อฉลซึ่งหากชายรู้จะไม่ยอมสมรสด้วย

4. การสมรสโดยถูกข่มขู่ การถูกข่มขู่นี้ต้องถึงขนาดถ้ามิได้มีการข่มขู่จะไม่ยอมทำการสมรสด้วย เช่นชายใช้

อาวุธปืนข่มขู่ให้หญิงไปสมรสด้วย หรือจับบิดามารดาหญิงไปโดยข่มขู่ให้หญิงจดทะเบียนสมรสด้วย แต่การข่มขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมไม่ใช่การข่มขู่ในกรณีนี้ เช่น ชายเป็นข้าราชการทำลูกสาวเขาท้องแล้วบิดามารดาหญิงขู่ว่าถ้าไม่สมรสกับลูกสาวเขาจะฟ้องคดีแพ่ง คดีอาญา ร้องเรียนผู้บังคับบัญชา ไม่ทำให้การสมรสเป็นโมฆียะ

5. การสมรสของผู้เยาว์ที่ไม่ได้รับความยินยอมของบิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครอง ผู้เยาว์จะทำการสมรสได้นั้นต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้

(1) บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา

(2) บิดาหรือมารดา ในกรณีที่มารดาหรือบิดาตายหรือถูกถอนอำนาจปกครองหรือไม่อยู่ในสภาพหรือฐานะที่อาจให้ความยินยอม หรือโดยพฤติการณ์ผู้เยาว์ไม่อาจขอความยินยอมจากมารดาหรือบิดาได้

(3) ผู้รับบุตรบุญธรรม ในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม

(4) ผู้ปกครอง ในกรณีที่ไม่มีบุคคลซึ่งอาจให้ความยินยอมตาม (1)(2)และ (3) หรือมีแต่บุคคลดังกล่าวถูกถอนอำนาจปกครอง

หากผู้เยาว์สมรสไปโดยไม่ได้รับความยินยอมดังกล่าวการสมรสเป็นโมฆียะ แต่ในการฟ้องเพิกถอนการสมรสเฉพาะแต่บุคคลที่อาจให้ความยินยอมได้คือบุคคลตาม (1)- (4) เท่านั้นที่มีอำนาจฟ้อง ตัวชายหรือหญิงผู้เยาว์ไม่มีอำนาจฟ้องร้องขอให้เพิกถอน สิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครองในการร้องขอเพิกถอนระงับสิ้นไปเมื่อคู่สมรสมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์หรือหญิงมีครรภ์แล้ว และแม้ว่าหญิงจะอายุไม่ถึง 20 ปีแต่มีครรภ์สิทธิก็ระงับไปเช่นเดียวกัน

วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2554

ลิขสิทธิ์ และการคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์

ทุกวันนี้ ระบบอินเตอร์เนต ให้คุณประโยชน์ในการเผยแพร่งานเขียน (งานวรรณกรรม) ของผู้เขียนได้อย่างขว้างขวางและรวดเร็ว บทความนี้ ผู้เขียนจึงเขียนเรื่องงานอันมีลิขสิทธิ์และความคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ เพื่อให้นักเขียนในโลกอินเตอร์เนตทุกท่านได้ทราบว่า การเขียนของท่าน รวมถึงนามแฝงของท่านนั้น เป็นงานอันทรงคุณค่าที่เรียกว่า "ลิขสิทธิ์"

ลิขสิทธิ์ คือ ทรัพย์สินทางปัญญาชนิดหนึ่ง

คำว่า ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นคำที่แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า Intellectual property ซึ่งทางทฤษฎีแยกเป็นงาน 2 กลุ่มด้วยกัน คือ ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องหมายการค้า ชื่อเสียงทางการค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ การคุ้มครองพันธ์พืช การออกแบบผังภูมิของวงจรรวม ความลับทางการค้า สิทธิบัตร กับลิขสิทธิ์และสิทธิข้างเคียง ซึ่งเป็นงานด้านสุนทรียภาพ ได้แก่งานวรรณกรรม ศิลปกรรม นาฎกรรม ดนตรีกรรม สิ่งที่กฎหมายให้ความคุ้มครองคือสิทธิซึ่งมีลักษณะเป็นสารสิทธิไม่ใช่กรรมสิทธิ์ สิทธิหลักคือสิทธิที่จะไม่ให้ผู้ใดทำซ้ำหรือทำสำเนาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของสิทธิ หรือห้ามดัดแปลงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งสิทธิในลิขสิทธิ์มีลักษณะเป็นสิทธิเด็ดขาด Exclusive right

ใครมีสิทธิในงานลิขสิทธิ์

ลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

"ผู้สร้างสรรค์" หมายความว่า ผู้ทำหรือผู้ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้

อธิบาย คำว่า ผู้สร้างสรรค์ หมายความว่า ผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ขึ้น โดยก่อให้เกิดขึ้นตามความคิดของตนเอง ความพยายามหรือความวิริยะอุตสาหะของตนเอง Originality โดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานของผู้อื่น เช่น งานเขียนหนังสือที่เขียนตามความรู้ ลีลาและภาษาของตนเองโดยมิได้ดัดแปลงหรือคัดลอกจากงานของผู้อื่น เป็นต้น

การให้ความคุ้มครองงานลิขสิทธิ์

การให้ความคุ้มครองงานลิขสิทธิ์เป็นไปโดยอัตโนมัติโดย ไม่ต้องมีการจดทะเบียน กล่าวคือ คุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์ มีลักษณะ Automatic protection แต่อาจจะมีการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์หรือไม่ก็ได้ หากมีการแจ้งก็เพียงอยู่ในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่พิสูจน์ถึงความเป็นเจ้าของงานดังกล่าวเท่านั้น ไม่ใช่การแจ้งเพื่อรับรองสิทธิ

ประเภทของงานอันมีลิขสิทธ์

"วรรณกรรม" หมายความว่า งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด เช่น หนังสือจุลสารสิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา เทศนา คำปราศรัย สุนทรพจน์ และให้หมายความรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย

"โปรแกรมคอมพิวเตอร์" หมายความว่า คำสั่ง ชุดคำสั่งหรือสิ่งอื่นใดที่นำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานหรือเพื่อให้ได้รับผลอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในลักษณะใด

"นาฎกรรม" หมายความว่า งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่าหรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว และให้หมายความรวมถึงการแสดงโดยวิธีใบ้ด้วย

"ศิลปกรรม" หมายความว่า งานอันมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้

(1) งานจิตรกรรม ได้แก่งานสร้างสรรค์รูปทรงที่ประกอบด้วยเส้น แสง สี หรือสิ่งอื่น อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ลงบนวัสดุอย่างเดียวหรือหลายอย่าง

(2) งานประติมากรรม ได้แก่งานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้

(3) งานภาพพิมพ์ ได้แก่งานสร้างสรรค์ภาพด้วยกรรมวิธีทางการพิมพ์และหมายความรวมถึงแม่พิมพ์หรือแบบพิมพ์ที่ใช้ในการพิมพ์ด้วย

(4) งานสถาปัตยกรรม ได้แก่งานออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างงานออกแบบตกแต่งภายในหรือภายนอก ตลอดจนบริเวณของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างหรือการสร้างสรรค์หุ่นจำลองของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง

(5) งานภาพถ่าย ได้แก่งานสร้างสรรค์ภาพที่เกิดจากการใช้เครื่องมือบันทึกภาพโดยใช้แสงผ่านเลนซ์ไปยังฟิล์มหรือกระจก และล้างด้วยน้ำยาซึ่งมีสูตรเฉพาะหรือด้วยกรรมวิธีใด ๆ อันทำให้เกิดภาพขึ้น หรือการบันทึกภาพโดยเครื่องมือหรือวิธีการอย่างอื่น

(6) งานภาพประกอบ แผนที่ โครงสร้าง ภาพร่าง หรืองานสร้างสรรค์รูปทรงสามมิติเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ หรือวิทยาศาสตร์

(7) งานศิลปะประยุกต์ ได้แก่งานที่นำเอางานตาม (1) ถึง (6)อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น นอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าวนั้น เช่น นำไปใช้สอย นำไปตกแต่งวัสดุหรือสิ่งของอันเป็นเครื่องใช้หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า

ทั้งนี้ ไม่ว่างานตาม (1) ถึง (7) จะมีคุณค่าทางศิลปะหรือไม่ และให้หมายความรวมถึงภาพถ่ายและแผนผังของงานดังกล่าวด้วย

"ดนตรีกรรม" หมายความว่า งานเกี่ยวกับเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อบรรเลงหรือขับร้องไม่ว่าจะมีทำนองและคำร้อง หรือทำนองอย่างเดียวและให้หมายความรวมถึงโน้ตเพลงหรือแผนภูมิเพลงที่ได้แยก และเรียบเรียงเสียงประสานแล้ว

"โสตทัศนวัสดุ" หมายความว่า งานอันประกอบด้วยลำดับของภาพโดยบันทึกลงในวัสดุไม่ว่าจะมีลักษณะอย่างใด อันสามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีกโดยใช้เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการใช้วัสดุนั้น และให้หมายความรวมถึงเสียงประกอบงานนั้นด้วย ถ้ามี

"ภาพยนตร์" หมายความว่า โสตทัศนวัสดุอันประกอบด้วยลำดับของภาพซึ่งสามารถนำออกฉายต่อเนื่องได้อย่างภาพยนตร์ หรือสามารถบันทึกลงบนวัสดุอื่น เพื่อนำออกฉายต่อเนื่องได้อย่างภาพยนตร์ และให้หมายความรวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์นั้นด้วย ถ้ามี

"สิ่งบันทึกเสียง" หมายความว่า งานอันประกอบด้วยลำดับของเสียงดนตรีเสียงการแสดง หรือเสียงอื่นใด โดยบันทึกในวัสดุไม่ว่าจะมีลักษณะใดๆอันสามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีกโดยใช้เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการใช้วัสดุนั้นแต่ทั้งนี้มิให้ หมายความรวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์หรือเสียงประกอบโสตทัศนวัสดุอย่างอื่น

"นักแสดง" หมายความว่า ผู้แสดง นักดนตรี นักร้อง นักเต้น นักรำ และ ผู้ซึ่งแสดงท่าทาง ร้อง กล่าว พากย์ แสดงตามบทหรือในลักษณะอื่นใด

"งานแพร่เสียงแพร่ภาพ" หมายความว่า งานที่น่าออกสู่สาธารณชนโดยการแพร่เสียงทางวิทยุกระจายเสียง การแพร่เสียงและหรือภาพทางวิทยุโทรทัศน์หรือโดยวิธีอย่างอื่นอันคล้ายคลึงกัน

งานที่ไม่มีลิขสิทธิ์

(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารอันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ

(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย

(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น

(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ

(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่างๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวงทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น

การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้สร้างสรรค์หรือผู้สร้างงานคนแรก

ปกติงานสร้างสรรค์จะเป็นงานที่เป็นลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ แต่มีข้อยกเว้นบางประการที่ทำให้ผู้สร้างสรรค์ไม่ใช่เจ้าของสิขสิทธิ์ หากเป็นกรณีดังต่อไปนี้

1. งานที่ผู้สร้างสรรค์ ได้สร้างสรรค์ขึ้นในฐานะพนักงานหรือลูกจ้างถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้ลิขสิทธิ์ในงานนั้นเป็นของผู้สร้างสรรค์แต่นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ตามที่เป็นวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงานนั้น

2. งานที่ผู้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการรับจ้างบุคคลอื่นให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานนั้น เว้นแต่ผู้สร้างสรรค์และผู้ว่าจ้างจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น

3. งานใดมีลักษณะเป็นการดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้เคยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ให้ผู้ที่ได้ดัดแปลงนั้นมีลิขสิทธิ์ให้ผู้ที่ได้ดัดแปลงนั้นมีลิขสิทธิ์ในงานที่ได้ดัดแปลงตามพระราชบัญญัตินี้แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ในงานของผู้สร้างสรรค์เดิมที่ถูกดัดแปลง

งานในข้อนี้ได้รับอิทธิพลจากระบบกฎหมายแองโกลแซกซอน ซึ่งถือหลักว่างานอันมีลิขสิทธิ์ดังเดิม เช่น งานวรรณกรรม หรืองานดนตรีกรรม เจ้าของสิทธิ์อาจมอบหมายให้ผู้อื่นนำไปดัดแปลงเป็นงานใหม่ เช่นงานภาพยนตร์ หรือสิ่งบันทึกเสียงได้ และผู้ดัดแปลงได้ลิขสิทธิ์ในงานที่ดัดแปลงแล้วนั้น ซึ่งแนวคิดนี้ต่างจากกฎหมายในภาคพื้นยุโรป ซึ่งถือหลักว่าผู้สร้างงานใหม่ถือเป็นเพียงผู้ใช้สิทธิ์ในงานเดิมแต่ไม่ได้สิทธิ์ในงานใหม่

การละเมิดลิขสิทธิ์

คือการ "ทำซ้ำ" หมายความรวมถึง คัดลอกไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ เลียนแบบ ทำสำเนา ทำแม่พิมพ์ บันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกเสียงและภาพ จากต้นฉบับ จากสำเนา หรือจากการโฆษณาในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนสำหรับในส่วนที่เกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ให้หมายความถึง คัดลอกหรือทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากสื่อบันทึกใด ไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้น

ใหม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

"ดัดแปลง" หมายความว่า ทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมหรือจำลองงานต้นฉบับในส่วน อันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

(1) ในส่วนที่เกี่ยวกับวรรณกรรม ให้หมายความรวมถึง แปลวรรณกรรมเปลี่ยนรูปวรรณกรรม หรือรวบรวมวรรณกรรมโดยคัดเลือกและจัดลำดับใหม่

(2) ในส่วนที่เกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ให้หมายความรวมถึงทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำขึ้นใหม่

(3) ในส่วนที่เกี่ยวกับนาฎกรรม ให้หมายความรวมถึง เปลี่ยนงานที่มิใช้นาฎกรรมให้เป็นนาฎกรรม หรือเปลี่ยนนาฎกรรมให้เป็นงานที่มิใช่นาฎกรรม ทั้งนี้ไม่ว่าในภาษาเดิมหรือต่างภาษากัน

(4) ในส่วนที่เกี่ยวกับศิลปกรรม ให้หมายความรวมถึง เปลี่ยนงานที่เป็นรูปสองมิติหรือสามมิติ ให้เป็นรูปสามมิติหรือสองมิติ หรือทำหุ่นจำลองจากงานต้นฉบับ

(5) ในส่วนที่เกี่ยวกับดนตรีกรรม ให้หมายความรวมถึง จัดลำดับเรียบเรียงเสียงประสานหรือเปลี่ยนคำร้องหรือทำนองใหม่

"เผยแพร่ต่อสาธารณชน" หมายความว่า ทำให้ปรากฏต่อสาธารณชนโดยการแสดง การบรรยาย การสวด การบรรเลง การทำให้ปรากฏด้วยเสียงและหรือภาพการก่อสร้าง การจำหน่าย หรือโดยวิธีอื่นใดซึ่งงานที่ได้จัดทำขึ้น

ตามสัญญาอนุญาตให้สร้างภาพยนตร์ซึ่งเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์กำหนดว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 2 นำนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ ซึ่งเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ 35 มิลลิเมตร ได้ 1 ครั้ง เพื่อจัดฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศภายใน 7 ปี ดังนี้ แม้จำเลยร่วมที่ 2 จะสร้างภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์โดยได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายดังกล่าวตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ อันเป็นการนำเอางานอันมีลิขสิทธิ์มาดัดแปลงและจำเลยร่วมที่ 2 มีลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ที่ดัดแปลงขึ้นตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 9 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ แต่สิทธิในลิขสิทธิ์สำหรับงานภาพยนตร์ดังกล่าวของจำเลยร่วมที่ 2 ที่ได้มาตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ดังกล่าวมีจำกัดอยู่เพียงสิทธิในการโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งภาพยนตร์นั้นด้วยการฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศภายใน 7 ปี เท่านั้น จำเลยร่วมที่ 2 ไม่มีสิทธิในการทำซ้ำหรือดัดแปลง นำออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งภาพยนตร์นั้นด้วยวิธีอื่น ไม่อาจให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานภาพยนตร์นั้น หรือให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์นั้นแก่ผู้อื่นได้ ตลอดจนไม่อาจอนุญาตให้ผู้อื่นทำซ้ำหรือดังแปลงนำออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานภาพยนตร์นั้น หรือไม่อาจอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในการให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานภาพยนตร์นั้นตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 มาตรา 13 และ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 (ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2537) มาตรา 15 ได้ การที่จำเลยร่วมที่ 2 นำภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ที่ตนสร้างขึ้นไปบันทึกเป็นวิดีโอเทปในรูปของงานโสตทัศนวัสดุหรือภาพยนตร์ แล้วนำวิดีโอนั้นออกจำหน่ายและให้เช่า จึงเป็นการทำซ้ำงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์อันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งมีอยู่ในภาพยนตร์นั้น โดยไม่มีสิทธิที่จะทำได้ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ และไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนั้นการกระทำดังกล่าวของจำเลยร่วมที่ 2 ย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ของโจทก์ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 24 (1) หรือ

พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27 (1)

เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะอนุญาตให้ผู้อื่นนำภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ซึ่งมีงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดังกล่าวอันเป็นสิทธิ์ของโจทก์รวมอยู่ด้วยไปทำซ้ำโดยวิธีอื่น ซึ่งรวมถึงการบันทึกเป็นม้วนวิดีโอเทปภาพยนตร์ได้ การที่จำเลยร่วมที่ 1แม้ว่าจะได้รับอนุญาตจากจำเลยร่วมที่ 2 ให้นำภาพยนตร์ได้ การที่จำเลยร่วมที่ 2 สร้างขึ้นไปบันทึกเป็นวิดีโอเทปและนำออกจำหน่ายตามสัญญาที่ทำกับจำเลยร่วมที่ 2ก็ไม่มีสิทธิที่จะทำซ้ำงานภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นวิดีโอเทปภาพยนตร์และนำม้วนวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่ายได้รวมทั้งอนุญาตให้บริษัทจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 นำม้วนมาสเตอร์เทปภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวไป

ผลิตเป็นวิดีโอเทปออกจำหน่ายได้เช่นกัน

ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 ได้บัญญัติให้ความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดี แต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่าคู่ความฝ่ายใดจะชนะคดีเต็มตามข้อหาหรือแต่บางส่วน ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีนั้นเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง หรือให้คู่ความแต่ละฝ่ายเสียค่าฤชาธรรมเนียมส่วนของตนหรือตามส่วนแห่งค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายได้เสียไปก็ได้ตามที่ศาลจะใช้ดุลพินิจ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง ซึ่งเห็นได้ว่าการสั่งให้คู่ความฝ่ายใดรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมจำนวนมากน้อยเพียงใด เป็นดุลพินิจของศาล มีเพียงดุลพินิจในการสั่งเกี่ยวกับค่าทนายความซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งเท่านั้นที่ต้องเป็นไปตามอัตราค่าทนายความในตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ. ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ร่วมกับจำเลยอื่นใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยไม่ได้แยกให้จำเลยแต่ละคนชดใช้เท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยแต่ละคนต้องชดใช้แก่โจทก์ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

หมายเหตุ การละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์นอกจากเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ถือว่าเป็นการละเมิดอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะละเมิดตามมาตรา 420 ด้วย


สรุป งานเขียนต่างๆ ที่เข้าลักษณะงานอันมีลิขสิทธิ์นั้น คุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์โดยไม่ต้องมีการจดทะเบียนลิขสิทธิ์แต่อย่างใด บางครั้งเราอาจจะไดยินผู้ประกอบการที่คิดชื่อหรือคิดค้นสูตร ต่างๆ พูดๆ กันว่า ไปจดลิขสิทธิ์ หรือได้จดลิขสิทธิ์แล้วนั้น เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง แต่ที่เขาจดทะเบียนนั้นคือ เครื่องหมายการค้า และสิทธิบัตรต่างหาก แต่ก็เอามาพูดรวมกันอยู่ในลิขสิทธิ์เสียหมด ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร แต่ถ้าเข้าใจเสียให้ถูกต้องได้จะเป็นการดี

วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554

การสมรสที่เป็นโมฆะ และผลของการสมรสที่เป็นโมฆะ

ความเป็นโมฆะของการสมรส

มาตรา 1495 การสมรสที่ฝ่าฝืน มาตรา 1449 มาตรา 145O มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ

มาตรา 1496 คำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่า การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ

คู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรส อาจร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะได้ถ้า ไม่มีบุคคลดังกล่าว ผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้อัยการเป็นผู้ร้องขอต่อศาลก็ได้

มาตรา 1497 การสมรสที่เป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้น หรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้

อธิบาย การสมรสที่ฝ่าฝืน 1449 (วิกลจริต) 1450 (ญาติ) 1452 (ซ้อน) 1458 (ความยินยอม) เป็นโมฆะแต่ต้องให้ศาลมีคำพิพากษาเสียก่อนถ้าศาลยังไม่มีคำพิพากษาอยู่ตราบใด การสมรสนั้นยังคงสมบูรณ์อยู่ เว้นแต่ 1452สมรสซ้อน บุคคลผู้มีส่วนได้เสียจะกล่าวอ้างขึ้นหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาก็ได้ ถ้าผู้มีส่วนได้เสียกล่าวอ้างขึ้นแล้วก็ต้องถือว่าการสมรสนั้นเสียเปล่ามาตั้งแต่เริ่มแรก (ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น คู่สมรส ผู้สืบสันดานของคู่สมรส บิดามารดา พนักงานอัยการ)

อย่างไรก็ดีการกล่าวอ้างว่าการสมรสซ้อนเป็นโมฆะอีกฝ่ายหนึ่งนั้นอาจจะไม่ยอมรับและอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตไม่ได้ เพราะยังไม่มีการบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส เช่นหากมีการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินให้บุคคลภายนอกโดยภริยาน้อย ภริยาหลวงถ้าเพียงแต่กล่าวอ้างก็ไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้เพราะบุคคลภายนอกสุจริต

ผลของการสมรสที่เป็นโมฆะ

มาตรา 1498 การสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา

ในกรณีที่การสมรสเป็นโมฆะ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสรวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรสั่งเป็นประการอื่นเมื่อได้พิเคราะห์ถึงภาระในครอบครัว ภาระในการหาเลี้ยงชีพ และฐานะของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ตลอดจนพฤติการณ์ อื่นทั้งปวงแล้ว

มาตรา 1499 การสมรสที่เป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา1450 หรือมาตรา1458 ไม่ทำให้ชายหรือหญิง ผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นโมฆะ

การสมรสที่เป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 ไม่ทำให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสก่อนที่ชายหรือหญิงนั้น รู้ถึงเหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ แต่การสมรสที่เป็นโมฆะดังกล่าวไม่ทำให้คู่สมรสเกิดสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง

การสมรสที่เป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 หรือมาตรา 1458 หรือฝ่าฝืนมาตรา 1452 ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดได้สมรสโดยสุจริตฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ และถ้าการสมรสที่เป็นโมฆะนั้นทำให้ฝ่ายที่ได้

สมรสโดยสุจริตต้องยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานที่เคยทำอยู่ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือก่อนที่จะได้รู้ว่าการสมรสของเป็นโมฆะ แล้วแต่กรณี ฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ด้วยสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพในกรณีนี้ให้นำมาตรา 1526 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1528 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

สิทธิเรียกร้องค่าทดแทน หรือค่าเลี้ยงชีพตามวรรคสาม มีกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด สำหรับกรณีการสมรสเป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 หรือมาตรา 1458 หรือนับแต่วันที่

รู้ถึงเหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ สำหรับกรณีการสมรสเป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452

อธิบาย 1. การสมรสที่เป็นโมฆะไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ในทางทรัพย์สิน คือไม่มีการสมรสมาตั้งแต่ต้นจึงไม่มีทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาที่จะต้องแบ่งกัน แต่อย่างไรก็ดี ทรัพย์สินที่คู่สมรสทำมาหาได้ร่วมกันต้องถือว่าเป็นกรรมสิทธิรวมต้องแบ่งกันคนละครึ่ง เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรกำหนดอย่างไร

949/2531 เมื่อการสมรสเป็นโมฆะแล้ว โจทก์จะฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยไม่ได้

2. การสมรสที่เป็นโมฆะไม่ทำให้คู่สมรสที่สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสและยังมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพและค่าทดแทนได้อีกด้วย มาตรา 1499 ให้ความคุ้มครองไว้ 3 กรณีคือ

2.1 ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตไม่เสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสนั้น

) การสมรสเป็นโมฆะในกรณีปกติ ได้แก่ วิกลจริต เป็นญาติ ฝ่าฝืนความยินยอม คู่สมรสที่สุจริตไม่เสื่อมสิทธิที่ได้มาเช่นสิทธิในการหักลดหย่อนภาษี ของหมั้นที่ตกได้แก่หญิง หรือหากมีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้การสมรสเป็นโมฆะภายหลังจากที่ชายตายแล้วหญิงมีสิทธิในการรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม แต่ถ้าไม่สุจริตไม่มีสิทธิรับมรดก

) กรณีโมฆะเพราะสมรสซ้อน ชายหรือหญิงที่สมรสโดยสุจริตไม่เสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสก่อนที่ชายหรือหญิงนั้นจะรู้ถึงเหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ

อย่างไรก็ดีการสมรสซ้อนนั้นแม้คู่สมรสที่จะทำการสมรสโดยสุจริตก็ไม่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของอีกฝ่ายหนึ่ง (เพราะเขามีคู่สมรสที่ถูกต้องจะได้รับอยู่แล้ว) หากเป็นพินัยกรรมไม่ห้ามแต่อย่างใด

2.2 ชายหรือหญิงที่สมรสโดยสุจริตมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ สิทธิเรียกค่าทดแทนมีอายุความ 2 ปีนับแต่

วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าการสมรสเป็นโมฆะ หรือนับแต่วันที่รู้ถึงเหตุที่เป็นโมฆะ (ซ้อนกล่าวอ้าง) กฎหมายให้สิทธิเฉพาะคู่สมรสฝ่ายที่สุจริตเรียกจากฝ่ายไม่สุจริตเท่านั้น เช่น ชายหลอกหญิงว่าไม่มีภรรยาหญิงจึงยอมจดทะเบียน สมรสด้วย หญิงเรียกค่าทดแทนได้ แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างไม่สุจริตเรียกกันไม่ได้

2.3 ชายหรือหญิงที่สมรสโดยสุจริตมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ คู่สมรสที่สุจริตมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพจากคู

สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ถ้าความเป็นโมฆะนี้ทำให้ตนต้องยากจนลงเพราะไม่มีรายได้เพียงพอจากทรัพย์สินหรือจากการงานที่เคยทำอยู่ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้การสมรสเป็นโมฆะ หรือก่อนที่จะได้รู้ว่าการสมรสของตนเป็นโมฆะกรณีสมรสซ้อน