วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เขียนผลงานวิชาการอย่างไรไม่ละเมิดลิขสิทธิ์



เขียนผลงานวิชาการอย่างไรไม่ละเมิดลิขสิทธิ์

ใครมีสิทธิในงานลิขสิทธิ์
ลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
"ผู้สร้างสรรค์" หมายความว่า ผู้ทำหรือผู้ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้


ดังนั้น กรณีภาพถ่าย ผู้มีสิทธิในภาพถ่ายคือผู้ถ่ายภาพและหากเป็นการถ่ายภาพบุคคล บุคคลตามภาพนั้นเป็นผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์นั่นเอง

มาตรา ๒๗ การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๑๕ (๕) ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(๑) ทำซ้ำหรือดัดแปลง
(๒)เผยแพร่ต่อสาธารณชน

กฎหมายลิขสิทธิ์กำหนดงานที่ถือว่าไม่มีลิขสิทธิ์ไว้ด้วย หมายความว่า ทุกคนสามารถนำชิ้นงานทั้งหมดหรือบางส่วนไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือส่วนรวมได้โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือจ่ายค่าตอบแทนก่อน อันได้แก่
1. ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่างๆที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารอันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
2. รัฐธรรมนูญ และ กฎหมาย
3. ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือ หน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
4. คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
5. คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่างๆตาม ข้อ 1 ถึง 4 ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น

สำหรับข้อยกเว้นที่ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในแต่ละกรณีที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการเขียนผลงานวิชาการ หรือรูปแบบอื่น ๆ ได้แก่
(1) วิจัยหรือศึกษางานนั้น อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
(2) ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท
(3) ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
(4) เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
(5) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงานผลการพิจารณาดังกล่าว
(6) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏโดยผู้สอน เพื่อประโยชน์ในการสอนของตน อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
(7) ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนของงาน หรือตัดทอนหรือทำบทสรุปโดยผู้สอนหรือสถาบันศึกษา เพื่อแจกจ่ายหรือจำหน่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือในสถาบันศึกษา ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร
(8) นำงานนั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ
(9) การกล่าว คัด ลอก เลียน หรืออ้างอิงงานบางตอนตามสมควรจากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
(10) การทำซ้ำโดยบรรณารักษ์ของห้องสมุด ซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากการทำซ้ำนั้นมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไร ดังต่อไปนี้
·         การทำซ้ำเพื่อใช้ในห้องสมุดหรือให้แก่ห้องสมุดอื่น
·         การทำซ้ำงานบางตอนตามสมควรให้แก่บุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ในการวิจัยหรือการศึกษา

ในการเขียนตำรับตำรา หนังสือต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการเขียนบันทึกบน BLOG นั้น เราอาจจะต้องใช้ "ภาพ" ประกอบคำอธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เนื้อความมีความชัดเจนยิ่งขึ้น
            ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ผู้เขียนดาวน์โหลดภาพจากระบบเครือข่ายสากลอินเทอร์เน็ต หรือสแกนมาจากหนังสืออื่น มาใช้ประกอบการเขียนผลงานได้หรือไม่ ?
            ประเด็นนี้ รศ.ดร.มานิตย์ จุมปา แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนอธิบายไว้ในหนังสือ "เขียนผลงานวิชาการอย่างไรไม่ละเมิดลิขสิทธิ์" ว่า
 "... กรณีนี้ต้องพิจารณาและระมัดระวังว่า ภาพที่ผู้เขียนจะนำมานั้นเป็นภาพที่มีลิขสิทธิ์หรือไม่ หลักการในพิจารณา คือ หากภาพนั้น เป็นภาพที่มีการถ่ายโดยไม่ได้สร้างสรรค์ใด ๆ ภาพนั้นก็ไม่มีลิขสิทธิ์ เช่น ภาพโต๊ะ, ภาพเก้าอี้ อาคาร เป็นต้น แต่หากภาพนั้นมีการใช้ความรู้ความสามารถในการสร้างสรรค์ เช่น ผู้ถ่ายได้ใช้ความพยายามอดทนเฝ้ารอเพื่อถ่ายภาพพระอาทิตย์ตก หรือมีการจัดแสง ปรับแต่งภาพเป็นพิเศษ ภาพที่สร้างสรรค์เช่นนี้จะเป็นภาพที่มีลิขสิทธิ์
ดังนั้น หากภาพใดมีลิขสิทธิ์ การเอาภาพเขามาประกอบการเขียนผลงาน จำต้องดำเนินการขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์เสียก่อน ส่วนภาพนั้นไม่มีลิขสิทธิ์ ย่อมสามารถนำมาใช้ประกอบการเขียนได้ โดยไม่จำต้องขออนุญาต
นอกจากนั้น หากภาพใดมีลิขสิทธิ์ แม้ผู้เขียนจะนำภาพนั้นจากระบบเครือข่ายสากลอินเทอร์เน็ต หรือนำมาจากที่ใดก็ตาม แล้วนำมาตกแต่งดัดแปลงจนไม่เหมือนของเดิม ในกรณีนี้ ยังคงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะเข้าข่ายดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ ..."
            ภาพที่อยู่ในระบบเครือข่ายสากลอินเทอร์เน็ต หรือแหล่งต่าง ๆ มีความยากลำบากที่เราจะทราบว่า ภาพใดผ่านการสร้างสรรค์มา
วิธีการที่ปลอดภัยที่สุด คือ ลงมือถ่ายภาพเองเลย ... ถ่ายเอง ก็เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ จะตกแต่งดัดแปลงสักแค่ไหน ก็ภาพเราเอง
                การถ่ายภาพเอง ต้องระมัดระวังการถ่ายภาพโดยเจ้าของเขาไม่ยินยอมด้วย เช่น เขาติดป้าย "ห้ามถ่ายภาพ" เอาไว้ แต่เราดันไปถ่าย แบบนี้อาจจะถูกฟ้องร้องว่าละเมิดลิขสิทธิ์เขาได้นะครับ เพราะร้านค้าบางร้าน กว่าจะจัดมุมร้านให้ได้ดี อาจจะต้องผ่านกระบวนการค้นคว้าวิจัยและสำรวจความต้องการมาหลายครั้ง หากต้องการภาพนั้นจริง ๆ ควรขออนุญาตจากเจ้าของเขาก่อนครับ และเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ก็ควรเขียนขอบคุณไว้ใต้ภาพดังกล่าวด้วย

การนำบทความจากนิตยสารมาเป็นกรณีศึกษาและวิเคราะห์ในวิทยานิพนธ์หรืองานวิจัย
            บทความในนิตยสาร ปกติลิขสิทธิ์ย่อมเป็นของผู้เขียนบทความ เว้นแต่จะมีข้อตกลงกันให้ลิขสิทธิ์ตกเป็นของนิตยสาร แต่อย่างไรก็ดี เมื่อบทความนั้นมีลิขสิทธิ์ การนำบทความมาเป็นกรณีศึกษาและวิเคราะห์ข้อบกพร่องในลักษณะที่นำมาทั้งบทความนั้น แม้จะมีการอ้างอิงระบุนามปากกาและนิตยสารอย่างชัดเจน ก็ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ 
ในกรณีประเด็นปัญหานี้ หากผู้เขียนประสงค์จะเขียนตำราแล้วยกบทความของผู้อื่นมาเป็นกรณีศึกษาและวิเคราะห์ข้อบกพร่อง ผู้เขียนจะต้องดำเนินการขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์เสียก่อน
โดยติดต่อไปยังสำนักพิมพ์เจ้าของนิตยสาร โดยการทำเป็นหนังสือหรือโทรติดต่อไปเบื้องต้นว่าเราต้องทำการขอลิขสิทธิ์อย่างไรเสียก่อน แล้วปฏิบัติตามนั้น

ข้อมูลในระบบอินเทอร์เน็ตมีการระบุไว้ในเว็บว่า ดาวน์โหลดฟรี เฉพาะอ่านเท่านั้น จะนำมาเขียนลงในวิทยานิพนธ์หรืองานวิจัยไม่ได้ เว้นแต่ข้อมูลนั้นเป็นงานอันไม่มีลิขสิทธิ์ หากต้องการนำมาใช้ ต้องติดต่อขอใช้ลิขสิทธิ์ไปยังเจ้าของงานนั้นทุกครั้ง
ข้อมูลในระบบอินเทอร์เน็ตที่ให้ดาวน์โหลดฟรี ที่นักวิชาการมักพบได้บ่อย ๆ ได้แก่
·         ไฟล์เอกสารภาษาไทย หรือ ภาษาอังกฤษ นามสกุล DOC (Microsoft Word)
·         ไฟล์เอกสารภาษาไทย หรือ ภาษาอังกฤษ นามสกุล PDF (Adobe Acrobat)
·         ไฟล์การนำเสนองาน นามสกุล PPT (Microsoft Power Point)
·         ไฟล์โปรแกรมต่าง ๆ เช่น นามสกุล EXE  (ผ่านการ Compile จากภาษาคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ)
·         เป็นต้น


บุคคลใดได้เขียนวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอก แล้วต่อมาประสงค์จะนำวิทยานิพนธ์นั้นมาเป็นส่วนหนึ่งของตำราที่ได้เขียนขึ้น เช่นนี้จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ?
            ปกติโดยทั่วไป หน้าปกของวิทยานิพนธ์มักจะมีข้อความทำนองว่า "ลิขสิทธิ์เป็นของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย..............." ซึ่งทำให้เข้าใจว่าลิขสิทธิ์ในวิทยานิพนธ์เป็นของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่ให้ปริญญาในการทำวิทยานิพนธ์นั้น
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาให้ถ่อยแท้แล้วจะพบว่า หาได้เป็นอย่างที่เข้าใจกันไม่ เพราะในการเขียนวิทยานิพนธ์นั้น ผู้เขียนไม่ได้รับจ้างมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษานั้น ๆ ในการเขียน ลิขสิทธิ์จึงไม่เป็นของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษานั้น ๆ อีกทั้งข้อสำคัญคือ การเขียนวิทยานิพนธ์เป็นการใช้ความรู้ความสามารถของผู้เขียนสร้างสรรค์ขึ้นโดยแท้ จึงถือว่า ลิขสิทธิ์ในวิทยานิพนธ์เป็นของผู้เขียนวิทยานิพนธ์ไม่ใช่ของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาที่ให้ปริญญาในการทำวิทยานิพนธ์นั้น
เมื่อลิขสิทธิ์ในวิทยานิพนธ์เป็นของผู้เขียนวิทยานิพนธ์ ผู้เขียนย่อมนำมาเป็นส่วนหนึ่งในตำราของตนได้ ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์แต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติในสังคมไทย มักนิยมที่จะทำหนังสือขออนุญาตจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาที่ให้ปริญญาในการทำวิทยานิพนธ์เสียก่อน เพื่อไม่ให้ผิดพ้องหมองใจกัน และโดยปกติอีกเช่นกันว่าจะได้รับอนุญาตโดยไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ..." 

ข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐจัดทำขึ้นในการเขียนตำราจะสามารถนำมาใช้ได้มากน้อยเพียงใด 
 "...ข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐจัดทำขึ้น หน่วยงานของรัฐนั้นย่อมเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ การนำข้อมูลนั้นมาใช้ประกอบการเขียน ต้องอาศัยข้อยกเว้นที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๒ วรรคสอง (๓) คือ นำข้อมูลนั้นในปริมาณที่ไม่มากเกินสมควรมาประกอบการเขียนตำรา โดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในข้อมูลนั้น การรับรู้ในที่นี้คือ การอ้างอิง
ข้อที่ต้องระมัดระวัง คือ หากเป็นกรณีที่นำข้อมูลของหน่วยงานของรัฐที่มีลิขสิทธิ์มาประกอบการเขียนตำรา แต่ไม่มีการอ้างอิง กรณีนี้ถือได้ว่า เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะไม่มีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในข้อมูลนั้น
นอกจากนั้น หากนำข้อมูลของหน่วยงานของรัฐที่มีลิขสิทธิ์มาประกอบการเขียนตำรามากจนเกินไป เช่น ข้อมูลมีจำนวน ๕๐ หน้า นำทั้ง ๕๐ หน้ามาประกอบการเขียนตำรา โดยตำรานั้นรวมกับข้อมูลที่เอามาจาหน่วยงานของรัฐมีความหนารวมเพียง ๖๐ หน้า เช่นนี้ย่อมถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
อนึ่ง หากหน่วยงานของรัฐนั้นเป็นลักษณะการจัดทำรายงานตามอำนาจหน้าที่เพื่อเผยแพร่ เช่น ข้อมูลสถิติต่าง ๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จัดทำเผยแพร่ตามอำนาจหน้าที่ เป็นต้น เช่นนี้จะเข้าลักษณะเป็นรายงานของทางราชการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีลิขสิทธิ์ ตามมาตรา ๗ (๔) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ ผู้เขียนย่อมนำมาเขียนประกอบตำราได้ ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่โดยปกติมักจะมีการอ้างอิงว่า เป็นข้อมูลที่จัดทำโดยหน่วยงานใด เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ผู้เขียนเป็นผู้จัดทำข้อมูลนั้น ..."

การนำบทความของตนเองที่เขียนลงหนังสือพิมพ์ นิตยสาร มารวมเป็นหนังสือ จะสามารถกระทำได้มากน้อยเพียงใด 
            หากการเขียนบทความนั้นมีการว่าจ้างจากหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และมีการจ่ายค่าจ้างในลักษณะเป็นจ้างทำของ คือ จำนวนสูง จะเข้าลักษณะของการจ้างทำของ ซึ่งตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ กำหนดไว้ว่า
"มาตรา ๑๐ งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการรับจ้างบุคคลอื่น ให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานนั้น เว้นแต่ผู้สร้างสรรค์และผู้ว่าจ้างได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น"
โดยผลของมาตรา ๑๐ ลิขสิทธิ์ในบทความในกรณีแรกนี้จึงเป็นของผู้ว่าจ้าง (หนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร) ผู้เขียนไม่มีสิทธิในการนำมารวมพิมพ์เป็นหนังสือ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
หากการเขียนบทความนั้นไม่มีการตกลงว่าจ้าง แต่เป็นการที่ผู้เขียนเขียนไปลงพิมพ์เผยแพร่ หนังสือพิมพ์หรือนิตยสารบางแห่งไม่มีการจ่ายค่าตอบแทน กรณีนี้ย่อมชัดเจนว่าลิขสิทธิ์ในบทความนั้นเป็นของผู้เขียนในฐานะที่เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงาน แต่ในบางกรณีหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารบางแห่งมีการจ่ายค่าตอบแทนเพียงเล็กน้อย ค่าตอบแทนนี้เป็นเพียงค่าตอบแทนในการนำบทความนั้นลงพิมพ์ในครั้งนั้น ไม่ใช่การตอบแทนการซื้อลิขสิทธิ์ เช่นนี้บทความนั้น ๆ ยังคงเป็นของผู้เขียนบทความ ผู้เขียนบทความจึงสามารถนำมารวมพิมพ์เป็นหนังสือได้ หรือนำมาใช้ในงานวิทยานิพนธ์หรืองานวิจัยของตนเองได้