ภูิมิลำเนาของบุคคลธรรมดา
ความจำเป็นที่จะต้องศึกษาเรื่องภูมิลำเนาของบุคคลธรรมนั้น ด้วยเหตุมีความเกี่ยวข้อทางกฎหมายหลายประการเช่น การร้องขอจัดการมรดกจะต้องร้องขอต่อศาลใด หรือศาลใดมีเขตอำนาจ จะต้องดูภูมิลำเนาของเจ้ามรดกเป็นหลัก
การฟ้องคดีบุคคลธรรมดา จะฟ้องต่อศาลใดหรือศาลใดมีเขตอำนาจ จะต้องดูภูมิลำเนาของจำเลยเป็นหลัก
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องศึกษาเรื่องภูมิลำเนาเสียให้เข้าใจ
มาตรา 37 ภูมิลำเนาของบุคคลธรรมดา ได้แก่ถิ่นอันบุคคลนั้นมีสถานที่อยู่เป็นแหล่งสำคัญ
“คำว่า” สถานที่อยู่เป็นแหล่ง หมายความว่า สถานที่อยู่ที่บุคคลมีเจตนาจะใช้เป็นที่อยู่อาศัยเป็นการถาวรมิใช่พักอาศัยชั่วคราว
ในทางปฏิบัติเราพิจารณาจากเอกสารมหาชนคือ ทะเบียนบ้าน ที่สำนักทะเบียนราษฎร แต่ก็ไม่แน่เสมอไปบุคคลอาจไม่มีภูมิลำเนาที่ตรงกับทะเบียนบ้านก็ได้ เช่น ดำ มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่สมุทรปราการ แต่ปรากฎว่าดำไม่เคยอยู่ที่นั่นเลย แต่ดำกลับอยู่อาศัยเป็นการถาวรกับครอบครัวที่ปทุมธานี ดังนี้ภูมิลำเนาของดำคือจังหวัดปทุมธานี
ฎีกาที่ 5912/2539 แม้ผู้ตายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านและถึงแก่ความตายที่จังหวัดพิจิตรแต่ผู้ตายก็ได้อยู่กินเป็นสามีภริยากับผู้ร้องถึง 20 ปี ที่จังหวัดสมุทรปราการและได้ซื้อที่ดินไว้ที่จังหวัดสมุทรปราการด้วย แสดงว่าผู้ตายมีบ้านอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการเป็นสถานที่อยู่อันเป็นแหล่งสำคัญอีกแห่งหนึ่งด้วย บ้านที่จังหวัดสมุทรปราการจึงเป็นภูมิลำเนาของผู้ตาย ผู้ร้องมีสิทธิเสนอคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 จัตวา
ฎีกาที่ 1233/2506 แม้จำเลยจะอ้างว่าได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่จังหวัดพระนครแล้ว ก่อนโจทก์ฟ้อง 8 วันก็ดี หากมีหลักฐานแสดงอยู่ว่าจำเลยยังคงมีบ้านและถิ่นที่อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ดังเดิมด้วย ย่อมถือได้ว่าจำเลยมีถิ่นที่อยู่สองแห่ง คือ ทั้งที่เชียงใหม่และจังหวัดพระนคร ซึ่งโจทก์ย่อมถือเอาแห่งใดแห่งหนึ่งว่าเป็นภูมิลำเนาของจำเลย และยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงเชียงใหม่ได้
ฎีกาที่ 1353/2518 จำเลยมีภูมิลำเนาเดิมอยู่จังหวัดศรีสะเกษจำเลยย้ายไปรับราชการจังหวัดร้อยเอ็ด แต่ยังออกเช็คที่ศรีสะเกษ ถือว่าจำเลยมีภูมิลำเนาที่ศรีสะเกษด้วย โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดตามเช็คที่ศาลศรีสะเกษได้
ฎีกาที่ 1681/2515 จำเลยรับราชการประจำอยู่ในกรุงเทพซึ่งถือได้ว่ามีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพ แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยยังมีถิ่นที่อยู่ที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมด้วยจึงถือได้ว่าถิ่นที่อยู่ของจำเลยมี 2 แห่ง และจะถือเอาถิ่นที่อยู่แห่งใดแห่งหนึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลยก็ได้ โจทก์ยื่นฟ้องคดีส่วนแพ่งที่ศาลจังหวัดราชบุรีซึ่งเป็นภูมิลำเนาแห่งหนึ่งของจำเลย
ฎีกาที่ 3053/2533 จำเลยแจ้งย้ายออกจากบ้านเดิมที่จังหวัดบุรีรัมย์ แล้วไม่แจ้งย้ายเข้าบ้านที่แจ้งไว้ในกรุงเทพมหานคร จึงไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยไปอยู่ที่ใด ทั้งยังได้ความว่าจำเลยแจ้งย้ายออกเฉพาะตัวจำเลยคนเดียว มิได้แจ้งย้ายครอบครัวไปด้วยแสดงว่าไม่มีเจตนาย้ายถิ่นที่อยู่และจงใจจะเปลี่ยนภูมิลำเนา ต้องถือว่าจำเลยมีภูมิลำเนาครั้งสุดท้ายอยู่ที่บ้านเดิมที่จังหวัดบุรีรัมย์ซึ่งอยู่ในเขตศาลจังหวัดบุรีรัมย์โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ได้
มาตรา 39 ถ้าภูมิลำเนาไม่ปรากฏ ให้ถือว่าถิ่นที่อยู่เป็นภูมิลำเนา
มาตรา 40 บุคคลธรรมดาซึ่งเป็นผู้ไม่มีที่อยู่ปกติเป็นหลักแหล่ง หรือเป็นผู้ครองชีพในการเดินทางไปมาปราศจากหลักแหล่งที่ทำการงาน พบตัวในถิ่นไหนให้ถือว่าถิ่นนั้นเป็นภูมิลำเนา ของบุคคลนั้น
เช่นพวกเร่ร่อน เร่ร่อนรับจ้างไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ใครจ้างทำงานที่ไหนก็ไปเมื่อเสร็จงานแล้วไม่ได้กลับไปอยู่ที่ไหนเป็นเรื่องเป็นราว ดังนี้ ถิ่นที่อยู่ที่บุคคลนั้นอยู่ขณะนั้นหรือที่ ๆ พบตัวขณะนั้นเป็นภูมิลำเนา
มาตรา 42 ถ้าบุคคลใดได้เลือกเอาถิ่นใด โดยมีเจตนาปรากฏชัดแจ้งว่าจะให้เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการเพื่อทำการใด ให้ถือว่าถิ่นนั้นเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการสำหรับการนั้น
ฎีกาที่ 534/2540 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันไว้กับโจทก์โดยระบุว่าบรรดาหนังสือบอกกล่าวทั้งหลายหากโจทก์ส่งทางไปรษณีย์ไปยังที่อยู่ซึ่งได้ให้ไว้ ให้ถือว่าได้ส่งไปถึงผู้ค้ำประกันโดยชอบแล้วถือว่า จำเลยที่ 2 ประสงค์จะใช้ภูมิลำเนาที่แจ้งไว้เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการ
มาตรา 47 ภูมิลำเนาของผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล หรือตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่ เรือนจำหรือทัณฑสถานที่ถูกจำคุกอยู่ จนกว่าจะได้รับการปล่อยตัว
อธิบาย จะถือว่าเรือนจำหรือทัณฑสถานเป็นภูมิลำเนาของผู้ถูกจำคุกได้ต้องเป็นการจำคุกตามคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดเท่านั้น หากคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุดแล้วไม่ถือว่าเป็นภูมิลำเนา
ฎีกาที่ 8836/2538 จำเลยฟ้องโทษจำคุกอยู่ที่เรือนจำอำเภอกบินทร์บุรี โดยคดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ เรือนจำดังกล่าวจึงมิใช้ท้องที่ที่จำเลยมีภูมิลำเนาเพราะคดีที่จำเลยต้องคำพิพากษาให้ โทษจำเลยนั้น ยังไม่ถึงที่สุดของศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 47
ฎีกาที่ 2209/2540 ป.พ.พ. มาตรา 47 กำหนดภูลำเนาของผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลหรือตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่ เรือนจำหรือทัณฑสถานที่ถูกจำคุกอยู่จนกว่าจะได้ปล่อยตัว บทบัญญัติดังกล่าวแยกผู้ที่ถูกจำคุกออกเป็น 2 กรณี ต่างหากจากกันคือ ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลกรณีหนึ่ง และถูกจำคุกตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายอีกกรณีหนึ่งหาใช่เป็นกรณีเดียวกันไม่ เมื่อปรากฏว่าในขณะที่โจทก์ยื่นคำร้องขอฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดกบินทร์บุรี จำเลยถูกจำคุกตามคำพิพากษาอยู่ที่เรือนจำอำเภอ
กบินทร์บุรี แต่คำพิพากษาดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด ดังนี้จะถือว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่เรือนจำอำเภอกบินทร์บุรีตาม ป.พ.พ. มาตรา 47 ไม่ได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดกบินทร์บุรี
ฎีกาที่ 1085/2542 การที่จำเลยที่ 2 ถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นกรณีที่ศาลใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. ส่งผู้ร้ายข้ามแดนฯ มาตรา 10 ที่ให้สั่งขังจำเลยไว้มิใช่สั่งจำคุก จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล หรือถูกจำคุกตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 47 เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จึงไม่ใช่ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น