สาบสูญ
มาตรา 61 ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้
ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือสองปี
(1) นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงครามและ หายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว
(2) นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลายหรือสูญหายไป
(3) นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไปถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น
ผู้ไม่อยู่ที่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญแล้ว กฎหมายให้สันนิษฐานว่าถึงแก่ความตาย เป็นกรณีถึงแก่ความตายโดยผลของกฎหมาย หลักเกณฑ์ที่จะขอให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญได้นั้นต้องดูตามมาตรา 61 ดังนี้
1. ไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่
2. ไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่
3. เป็นเวลา 5 ปี (เป็นการขอในกรณีธรรมดา)
อธิบาย การไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ โดยไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร หมายความว่า บุคคลนั้นหายไปจากบ้านเฉย ๆ เช่น บอกว่าจะไปทำงานที่ต่างจังหวัด แล้วไม่กลับมาอีกเลย หรือ หนีออกจากบ้านไปเฉย ๆ แล้วไม่กลับมาอีกเลย และ ไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ คือ ไม่มีใครทราบข่าวคราว ไม่เคยติดต่อญาติเลย ไม่มีใครพบเห็นอีกเลย และ การหายไปนั้นได้หายไปเป็นเวลา 5 ปี ผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการสามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งว่าบุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญได้ เมื่อศาลมีคำสั่งดังกล่าวแล้ว กฎหมายให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตาย สิทธิหน้าที่ของบุคคลนั้นย่อมระงับลง ทรัพย์สินของบุคคลนั้นตกแก่ทายาททันทีตามาตรา 1602 การที่กฎหมายใช้ คำว่า “สันนิษฐาน” นี้ หมายความว่า เป็นแต่เพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้นเพราะความหวังว่าเขาจะกลับมานั้นแทบไม่มี แต่หากเขากลับมาก็สามารถร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งว่าเขาเป็นคนสาบสูญได้
การขอตามวรรคท้ายนั้นเรียกว่าการขอกรณีพิเศษ คือหากมีเหตุตาม (1) – (3) ระยะเวลา 5 ปีตามวรรคแรกจะลดเหลือเพียง 2 ปี ผู้มีสิทธิร้องขอคือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการเหมือนวรรคแรก
(1) นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงครามและ หายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว
เช่น ดำเป็นทหารซึ่งประเทศไทยส่งไปร่วมรบที่ประเทศติมอร์ ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2547 การรบสิ้นสุดในวันที่ 25 ธันวาคม 2547 จนกระทั่งบัดนี้ดำไม่กลับมาประเทศไทยอีกเลย และไม่มีผู้ใดพบศพ (ถือว่าหายไปเพราะถ้าพบศพก็ไม่หาย) ดังนั้นวันแรกที่จะเกิดสิทธิในการร้องขอให้ดำเป็นบุคคลสาบสูญได้คือวันที่ 25 ธันวาคม 2549
(2) นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลายหรือสูญหายไป
เช่น ดำขึ้นเครื่องบินเดินทางไปภูเก็ต ในวันที่ 15 ธันวาคม 2547 เครื่องบินตกวันนั้นเลยวันแรกที่จะขอให้ดำเป็นคนสาบสูญได้คือวันที่ 15 ธันวาคม 2549 แต่ถ้าเหตุภยันตรายนั้นคงมีต่อเนื่อง เช่น วันที่ 15 ธันวาคม ดำล่องเรือออกทะเลแล้วเกิดพายุ ในวันที่ 16 ทางชายฝั่งไม่ได้รับสัญญาณจากเรือ วันที่ 17 พายุสงบ วันที่เริ่มนับคือวันที่ไม่ได้รับสัญญาณจากเรือ ดังนั้นวันที่จะร้องได้คือวันที่ 16 ธันวาคม 2549 แต่ถ้าไม่มีการตรวจสัญญาณเลยต้องรอจนพายุสงบแล้วไม่พบเรือหรือไม่ติดต่อกลับมาอีก วันแรกจะเป็นวันที่ 17 ธันวาคม 2549 แล้วแต่ว่าเราไม่สามารถติดต่อบุคคลนั้นได้ในวันใด หรือไม่สามารถทราบข่าวคราวของเขาในวันใด
(3) นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไปถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น
เช่น วันที่ 15 ธันวาคม 2547 นายดำเดินทางจากกรุงเทพไปเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต ญาตินายดำทราบว่านายดำไปเที่ยวภูเก็ตแล้วจะกลับมาหลังปีใหม่ ปรากฎว่าในวันที่ 26 ธันวาคม 2547 เกิดคลื่นยักษ์ซินามิขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต หลังเกิดเหตุการณ์ญาติออกตามหาแต่ไม่พบนายดำ การนับระยะเวลาจะต่างจากผู้ไม่อยู่เพราะไม่ได้นับวันไป แต่นับวันที่ภยันตรายได้ผ่านพ้นไป เมื่อภยันตรายผ่านพ้นไปในวันที่ 26 ธันวาคม จะร้องขอให้เป็นคนสาบสูญได้ก็ต่อเมื่อถึงวันที่ 26 ธันวาคม 2549
หมายเหตุ ผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 61 นี้ไม่เหมือนกับผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 48 เพราะเมื่อบุคคลใดเป็นคนสาบสูญกฎหมายสันนิษฐานว่าตายนั้น ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากความตายของผู้สาบสูญเท่านั้นที่จะมีสิทธิขอได้ เช่น ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก ทายาทโดยพินัยกรรม ส่วนเจ้าหนี้นั้นเป็นผู้มีส่วนได้เสียในประโยชน์ระหว่างมีชีวิตไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในประโยชน์อันเกิดจากความตายจะร้องขอให้นายดำเป็นคนสาบสูญไม่ได้
ปัญหาว่าศาลใดมีอำนาจรับคำร้อง
ต้องดูตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิแพ่ง เขตอำนาจศาลเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบฯ Analogyไม่ได้
ฎีกาที่ 203/2514 การขอให้ศาลสั่งว่าบุคคลใดเป็นคนสาบสูญ ผู้มีส่วนได้เสียย่อมจะยื่นคำร้องขอได้ที่ศาลจังหวัดซึ่งบุคคลนั้นเคยมีภูมิลำเนา
มีตำราบางเล่ม ยกฎีกานี้ขึ้นมาเพื่อบอกว่าศาลใดที่มีอำนาจรับพิจารณา และมีคำสั่งในเรื่องนี้ซึ่งอาจทำให้นักศึกษาเกิดความสับสน เพราะจริง ๆ แล้วเราไม่ได้ร้องยังศาลที่บุคคลสาบสูญเคยมีภูมิลำเนาอยู่ ซึ่งถ้าหากยึดถือตามฎีกานี้จะต้องร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง เพราะศาลใดจะมีอำนาจรับพิจารณาพิพากษาคดีใดต้องดูตาม ป.วิแพ่งว่าด้วยเขตอำนาจศาล
มาตรา 4 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น
(1) คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดี
เกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่
(2) คำร้องขอ ให้เสนอต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล หรือต่อศาลที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล
ดังนั้น ตามตัวอย่างการร้องขอให้ดำเป็นคนสาบสูญจึงสามารถยื่นร้องได้ที่ศาลจังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นศาลที่มูลคดีเกิด และ ศาลจังหวัดปทุมธานีซึ่งเป็นศาลที่นายแดงผู้ร้องมีภูมิลำเนา หากนักศึกษาอ่านเจอฎีกานี้ขอให้เข้าใจใหม่ ฎีกานี้ไม่อาจนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานได้ต่อไป
ในการร้องต้องร้องต่อศาลจังหวัด หมายความว่าจะร้องต่อศาลแขวงไม่ได้เนื่องจากศาลแขวงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีไม่มีข้อพิพาทตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
ผลของการสาบสูญ
มาตรา 62 บุคคลซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้ถือว่าถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังที่ระบุไว้ในมาตรา 61
ปัญหาว่า เมื่อศาลมีคำสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญแล้ว ความตายของเขาเกิดขึ้นเมื่อไหร่ หรือจะถือว่าเขาถึงแก่ความตายตั้งแต่เมื่อไหร่นั่นเอง ตามตัวอย่างเดิม
นายแดงยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่านายดำเป็นคนสาบสูญเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2550 ศาลมีคำสั่งให้นายดำเป็นคนสาบสูญเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2550 ดังนี้ จะต้องถือว่านายดำเป็นคนสาบสูญตั้งแต่พ้นกำหนดระยะเวลาตามาตรา 61 คือวันที่ 26 ธันวาคม 2549 ไม่ใช่วันที่ยื่นคำร้อง หรือวันที่ศาลมีคำสั่ง แม้จะยื่นคำร้องภายหลังพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 61 นานเท่าใดก็ตามก็ต้องถือเอาวันที่พ้นกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในมาตรา 61 ตามมาตรา 62
การที่ศาลมีคำสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญนั้น มีผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของบุคคลนั้น เช่น
ผลในเรื่องทรัพย์สิน มาตรา 1602 วรรคแรก “มาตรา 1602 เมื่อบุคคลใดต้องถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา 62 แห่งประมวลกฎหมายนี้ มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท” ระวัง เราไม่นำมาตรา 1599 มาปรับ เพราะ 1599 บัญญัติไว้สำหรับความตายในกรณีธรรมดา
ผลในเรื่องครอบครัว กรณีถ้าผู้สาบสูญเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง อำนาจปกครองย่อมสิ้นสุด
หรือถ้าบุคคลสาบสูญเป็นผู้อยู่ในอำนาจปกครอง ความปกครองย่อมสิ้นสุดเมื่อผู้อยู่ในความปกครองตาย
ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา เป็นเรื่องพิเศษ เพราะการสาบสูญไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาสิ้นสุด เพราะ มาตรา 1501 บัญญัติว่า “การสมรสย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย การหย่า หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน” ส่วนการสาบสูญนั้นไม่ได้มีบัญญัติไว้ว่าให้การสมรสสิ้นสุดลง (ถ้ากฎหมายประสงค์จะให้หมายความรวมถึงการสาบสูญด้วยกฎหมายต้องระบุไว้ให้ชัด และการนี้จะ Analogy ก็ไม่ได้เพราะความตาย ในความหมายของมาตรานี้ เป็นคนละเรื่องกับการตายโดยผลของกฎหมาย กฎหมายคงเล็งเห็นว่าถ้าตายธรรมดา คู่สมรสย่อมไม่อาจกลับมาเป็นสามีภรรยากันได้อย่างแน่นอน แต่ถ้าสาบสูญเขาอาจจะกลับมาวันใดวันหนึ่งได้ จึงไม่ได้บัญญัติเรื่องการสาบสูญไว้ให้การสมรสสิ้นสุดลง)
แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้กำหนดไว้ให้การสาบสูญเป็นเหตุให้คู่สมรสฟ้องหย่าได้ ตามมาตรา 1516 เหตุฟ้องหย่ามีดังนี้
(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งเป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็น เวลาเกินสามปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
แสดงว่าถ้าเราอยากต้องการขาดจากการสมรส เช่น ต้องการสมรสใหม่เราต้องฟ้องหย่าเสียก่อน เมื่อฟ้องหย่าแล้วศาลมีคำพิพากษาให้หย่า เราก็เอาคำพิพากษาไปจดทะเบียนหย่า มันก็จะไปเข้า 1501 ถ้าเราไม่ทำเช่นนี้ก่อนการสมรสครั้งหลังจะกลายเป็นสมรสซ้อนทันที
การร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งสาบสูญ
มาตรา 63 เมื่อบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้นเอง หรือมีผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงาน อัยการร้องขอต่อศาล และพิสูจน์ได้ว่าบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ก็ดี หรือว่าตายในเวลาอื่นผิดไปจากเวลาดังระบุไว้ในมาตรา 62 ก็ดี ให้ศาลสั่งถอนคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้น แต่การถอนคำสั่งนี้ ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์แห่งการทั้งหลายอันได้ทำไปโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญจนถึงเวลาถอนคำสั่งนั้น
บุคคลผู้ได้ทรัพย์สินมาเนื่องแต่การที่ศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญ แต่ต้องเสียสิทธิของตนไปเพราะศาลสั่งถอนคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
เหตุแห่งการร้องขอ
1. บุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ หรือ
2. ตายในเวลาอื่นผิดไปจากเวลาดังระบุไว้ในมาตรา 62
ผู้มีสิทธิร้องขอ
1. ผู้สาบสูญนั้นเอง
2. ผู้มีส่วนได้เสีย ไม่จำต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียคนที่ร้องขอให้ศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ
3. พนักงานอัยการ
เช่น วันดีคืนดีหลังจากศาลมีคำสั่งให้นายดำเป็นคนสาบสูญแล้วนายดำกลับมา นายดำเองก็มีสิทธิที่จะร้องขอต่อศาลให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งให้ตนเป็นคนสาบสูญ
หรือ มีการสืบรู้ว่านายดำตายในเวลาอื่นอันผิดจากเวลาที่ระบุไว้ในมาตรา 62 เช่น เมื่อเหตุการณ์ซินามิสงบลงแล้ว มีผู้พบเห็นนายดำครั้งสุดท้ายวันที่ 30 ธันวาคม เช่นนี้ วันที่จะถือว่านายดำหายไปโดยไม่ทราบว่าเป็นตายร้ายดีประการใดต้องเริ่มนับที่ วันที่ 30 ธ.ค. 2547
และต้องนับไปอีก 5 ปี ไม่ใช่นับแค่ 2 ปีเพราะนายดำไม่ได้อยู่ในภยันตรายเช่นนั้น
ปัญหาว่า เมื่อศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญดังกล่าวแล้ว จะมีผลกระทบอย่างไรต่อบุคคลอื่นซึ่งได้ทรัพย์สินนั้นมาภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งเพิกถอนและบุคคล ผู้ถูกคำสั่งให้สาบสูญนั้นเองจะทำอย่างไร หากกลับมาแล้วไม่มีทรัพย์สินเหลืออยู่อีกเพราะได้แบ่งปันกันไปเสียหมดแล้ว ในเรื่องนี้วรรคท้ายของมาตรานี้บัญญัติทางแก้ไว้ว่า ให้บุคคลผู้ได้
ทรัพย์ไปนั้นต้องคืนทรัพย์ตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ เหลือเท่าใดคือเท่านั้น ไม่เหลือไม่ต้องคืน ถ้าได้ขายทรัพย์ไปได้เงินมาแทนต้องคืนเงิน ถ้านำเงินไปซื้อทรัพย์ใดต้องนำทรัพย์ซึ่งได้มาแทนนั้นมาคืน
ถ้าชายคนนึงเดินทางออกนอกประเทศแล้วอยู่ดีดี ตกเครื่องบินแล้วหายไปภายในระยะเวลา 2 ปี แล้วลูกได้แจ้งว่าเค้าเปนบุคคลสาญสูญ แล้วเค้าได้ทำพินัยกรรมไว้ให้ลูกเค้า สามคน .. คนที่หนึ่งได้เงินพร้อมดอกเบี้ยในบัญชีเป็นเงิน 1o ล้านบาท คนที่สอง ได้แหวนเพชร1o ล้านบาทไปแต่เอาไปให้แฟน คนที่สามได้รถสปอรต์1คันราคา 10 ล้านบาทแต่เอาไปแต่งโดยตัดหลังคาออก "" แล้วทีนี้ เค้ากลับมาไม่ได้เปนบุคคลสาญสูญแล้ว ...... อยากถามว่าลูกทั้งสามคนต้องเอาของที่ได้อะคืนแก่พ่อเค้าหรือไหม (พอจะเข้าใจในคำถามไหมค่ะ ขอขอบคุนมาล่วงหน้านะค่ะ ^^)
ตอบลบคืนเท่าที่เหลือค่ะ ฐานะลาภมิควรได้ ไม่ใช่ต้องหามาคืนทั้งหมดค่ะ ไม่ใช่การกลับสู่สภาพเดิม
ตอบลบเรียนสอบถามครับ
ตอบลบหากเป็นผู้ผูกพันธ์โดยสัญญาอันเป็นบุคคลสิทธิผูกพันผู้ไม่อยู่ เ่ช่นผู้ไม่อยู่ได้เช่าบ้านนาย ก. นาย ก. เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่ครับ
และผู้มีส่วนเสียที่อาจร้องขอต่อศาลสั่งให้นาย ก. เป็นคนสาบสูญจะเป็นใครได้บ้างครับ
เจ้าหนี้ไม่เป็นผู้มีส่วนได้ในมรดกของนาย ก.หรือครับ
คุณ jormuttamais ลองทำความเข้าใจดูอีกทีนะคะ ระหว่าง ผู้มีส่วนได้เสียในการร้องขอจัดการทรัพย์สินชั่วคราวกรณีเป็นแค่เพียงผู้ไม่อยู่ กับผู้มีส่วนได้เสียในการร้องขอให้บุคคลใดเป็นบุคคลสาบสูญ กับ กรณีเจ้าหนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดก เพราะเป็นคนละเรื่องกัน คุณกำลังสับสนและนำมามัดรวมกันหมดเลยค่ะ
ตอบลบเจ้าหนี้จะเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ศาลตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกได้นั้น ต้องเป็นกรณีที่กองมรดกไม่มีทายาททำให้เจ้าหนี้ไม่สามารถได้รับชำระหนี้ได้เท่านั้นนะคะ อย่าท่องจำไว้แต่เพียงว่า เจ้าหนี้เป็นผุ้มีส่วนได้เสียในกองมรดก แล้วเอามารวมกันทุกเรื่อง จะทำให้ประเด็นในการวินิจฉัยผิดพลาดไป
คำพิพากษา ศาลฎีกาที่ 1695/2531
กองมรดกซึ่งไม่มีทายาทนั้น แม้มรดกจะตกทอดแก่แผ่นดิน แผ่นดินก็มิใช่ทายาท เจ้าหนี้ไม่อาจบังคับชำระหนี้จนกว่าจะได้ตั้งผู้จัดการมรดกขึ้น และหากไม่มีผู้จัดการมรดกอยู่ตราบใด เจ้าหนี้ก็ไม่มีทางได้รับชำระหนี้ได้เลย การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จากกองมรดกขึ้นอยู่กับการที่กองมรดกมีผู้จัดการมรดก ในกรณีเช่นนี้ จึงต้องถือว่าเจ้าหนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่ง ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ววินิจฉัยว่าผู้ร้อง ในฐานะเจ้าหนี้มิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตั้ง ผู้จัดการมรดก ให้ยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนฟังได้ว่านายเนียม ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2522 นายเนียมไม่มีทายาท นางทาเป็นเจ้าหนี้กองมรดกของนายเนียมศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางทาเป็นผู้จัดการมรดกของนายเนียมตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1280/2526 แต่การจัดการมรดกยังไม่เสร็จนางทาได้ถึงแก่กรรม ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทของนางทาได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางทา ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางทาตามคดีแพ่งหมาย เลขแดงที่ 477/2527 ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกไม่มีทายาทจึงยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็น ผู้จัดการมรดกของนายเนียมเป็นคดีนี้
พิเคราะห์ แล้ว คดีมีปัญหาในชั้นนี้ว่าผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกของนายเนียมซึ่งไม่มี ทายาทเป็นผู้มีส่วนได้เสียอันจะทำให้มีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า กองมรดกซึ่งไม่มีทายาทนั้นแม้มรดกจะตกทอดแก่แผ่นดิน แผ่นดินก็มิใช่ทายาท เจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับชำระหนี้จนกว่าจะได้ตั้งผู้จัดการมรดกขึ้น และหากไม่มีผู้จัดการมรดกอยู่ตราบใด เจ้าหนี้ก็ไม่มีทางได้รับชำระหนี้ได้เลย การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จากกองมรดกจึงขึ้นอยู่กับการที่กองมรดกมี ผู้จัดการมรดก ในกรณีเช่นนี้ต้องถือว่าเจ้าหนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องต่อศาล ขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713
ส่วนปัญหาที่ว่า สมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่นั้นเห็นว่า แม้ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้กองมรดก ซึ่งตามปกติย่อมมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก แต่เมื่อไม่ปรากฏว่ามีผู้มีส่วนได้เสียอื่นอีก และพนักงานอัยการก็มิได้คัดค้านไว้ จึงเห็นสมควรตั้งให้ตามที่ขอ"
พิพากษากลับ ให้ตั้งนายชื่น ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายเนียม ผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย และแจ้งคำสั่งนี้ให้พนักงานอัยการทราบด้วย
( เสียง ตรีวิมล - จุนท์ จันทรวงศ์ - ปชา วรธรรมพินิจ )
หมายเหตุ
อ่านบทความเรื่องผู้ไม่อยู่ประกอบแล้วพิจารณาเรื่องหลักการร้องขอด้วยค่ะ ทั้งหมดจะได้คำตอบ คำถามที่ท่านถามมานั้น มีคำตอบอยู่ชัดเจนแล้วหล่ะค่ะ
ตอบลบhttp://natjar2001law.blogspot.com/2011/01/5.html
ข้อเท็จจริงในคดีต้องอ่านให้แตก ต้องแยกให้ชัดค่ะ อย่าเพียงแต่ท่องจำฎีกา ลองอ่านฎีกาที่นำมาให้แล้วพิจารณาอีกที และลองอ่านบทความดูในส่วนหมายเหตุของผู้มีส่วนได้เสียดูอีกครั้งหนึ่ง ค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ พิจารณา
ตอบลบส่วนคำถามนี้
หากเป็นผู้ผูกพันธ์โดยสัญญาอันเป็นบุคคลสิทธิผูกพันผู้ไม่อยู่ เ่ช่นผู้ไม่อยู่ได้เช่าบ้านนาย ก. นาย ก. เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่ครับ
ต้องถามว่า ส่วนได้เสียเพื่อจะจัดการอะไรคะ ต้องให้ข้อเท็จจริงให้ชัด แล้วนำหลักกฎหมายมาพิจารณาอีกทีค่ะ
และอย่าเอาผู้เช่าที่มีส่วนได้เสียในทรัพย์ที่เอาประกัน ย่อมเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันได้มาสับสนกับกรณีนี้นะคะ อย่าท่องว่า ผู้เช่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เพราะหยาบไปสำหรับการวินิจฉัย ต้องพิจารณาด้วยว่า มีส่วนได้เสียในเหตุใดและประสงค์จะจัดการอะไร ผู้เช่าจะไปร้องขอให้บุคคลใดเป็นผู้สาบสูญเพื่อขอรับมรดก อันนี้คงไม่ใช่แน่ค่ะ
หมายเหตุ ครูไม่ได้ดุนะคะ ถ้าอ่านแล้ว ต้องใช้น้ำเสียงนุ่มนวลเหมือนตอนครูสอนหนังสือประกอบนะคะ ไม่เช่นนั้น อ่านข้อความแล้วจะดูเหมือนครูดุหรือว่าเอา ถ้าไม่ใช่ลูกศิษย์ครู จะไม่ทราบลีลาสำนวนการสอนหนังสือของครู เลยต้องบอกกล่าวไว้ก่อนอ่ะค่ะ :-)
ตอบลบเรียนสอบถามเพิ่มเติมครับ
ตอบลบในประเด็นการเช่านั้น เนื่องจากเห็นว่าสิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว จึงอยากสอบถามว่า หากผู้ให้เช่าเห็นว่าผู้เช่าไม่อยู่ หรือสาบสูญไปแล้ว แม้ยังมีญาติหรือทายาทของผู้เช่าจ่ายค่าเช่าอยู่ หากต้องการให้ศาลสั่งให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ไม่อยู่ หรือสาบสูญเพื่อหวังผลในการเลิกสัญญาเช่าจะได้หรือไม่ครับ
ในส่วนเรื่องมรดก ได้เคยอ่านบทความทั่วไปว่าเจ้าหนี้สามารถทวงหนี้จากทายาทไม่เกินมรดกที่ได้ หากลูกหนี้ไปจากภูมิลำเนาเป็นเวลาแล้ว เจ้าหนี้ต้องการร้องให้ศาลตัดสินให้เป็นผู้สาบสูญเพื่อหวังผลในการฟ้องมูลหนี้จากผู้จัดการมรดก ไม่ได้หวังผลในการเป็นผู้จัดการมรดกเสียเอง จะกระทำได้หรือไม่ครับ
หรือเจ้าหนี้ของผู้ไม่อยู่ หรือผู้สาบสูญ สามารถทำได้แต่เพีิยงฟ้องคดีเพื่อให้อายุความสะดุดหยุดลงครับ
หากในคำถามฟังดูแปลกอยู่ก็ต้องขออภัยด้วยครับ เนื่องจากผมพี่งเรียนนิติศาสตร์เป็นภาคเรียนแรก ความรู้ความเข้าใจกฎหมายยังขาดอยู่มาก
ขอบพระคุณที่กรุณาสละเวลาตอบครับ
ในประเด็นการเช่านั้น เนื่องจากเห็นว่าสิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว จึงอยากสอบถามว่า หากผู้ให้เช่าเห็นว่าผู้เช่าไม่อยู่ หรือสาบสูญไปแล้ว แม้ยังมีญาติหรือทายาทของผู้เช่าจ่ายค่าเช่าอยู่ หากต้องการให้ศาลสั่งให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ไม่อยู่ หรือสาบสูญเพื่อหวังผลในการเลิกสัญญาเช่าจะได้หรือไม่ครับ
ตอบลบ>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
ไม่เคยพบว่ามีฎีกาเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เมื่อพิจารณาหลักกฎหมายแล้วน่าจะทำไม่ได้ค่ะ เพราะการร้องขอให้บุคคลใดเป็นผู้ไม่อยู่ ก็เพื่อจะจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ ผู้ให้เช่าไม่มีสิทธิจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่จึงไม่มีอำนาจร้อง
สำหรับการสาบสูญ ย่อมร้องเพื่อเป็นไปในการจัดการมรดก จึงไม่สามารถร้องขอได้
อีกทั้ง สัญญาเช่าจะระงับด้วยเหตุมรณะแห่งผู้เช่า เมื่อไม่ปรากฎความมรณะ แม้จะเป็นผู้ไม่อยู่ก็ตาม สัญญาไม่ระงับค่ะ
ในส่วนเรื่องมรดก ได้เคยอ่านบทความทั่วไปว่าเจ้าหนี้สามารถทวงหนี้จากทายาทไม่เกินมรดกที่ได้ หากลูกหนี้ไปจากภูมิลำเนาเป็นเวลาแล้ว เจ้าหนี้ต้องการร้องให้ศาลตัดสินให้เป็นผู้สาบสูญเพื่อหวังผลในการฟ้องมูลหนี้จากผู้จัดการมรดก ไม่ได้หวังผลในการเป็นผู้จัดการมรดกเสียเอง จะกระทำได้หรือไม่ครับ
ตอบลบ>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
การขอให้ศาลมีคำสั่งว่าบุคคลใดสาบสูญ ก็เพื่อจัดการมรดกค่ะ เหตุอื่นไม่ได้เลย ก็คงต้องรอจนกว่าทายาทจะร้องขอจัดการมรดก แล้วจึงไปบังคับเอาจากกองมรดก ในระหว่างนั้น เจ้าหนี้มีสิทธิได้ดอกเบี้ยอยู่แล้วค่ะ
หรือเจ้าหนี้ของผู้ไม่อยู่ หรือผู้สาบสูญ สามารถทำได้แต่เพีิยงฟ้องคดีเพื่อให้อายุความสะดุดหยุดลงครับ
ตอบลบหากในคำถามฟังดูแปลกอยู่ก็ต้องขออภัยด้วยครับ เนื่องจากผมพี่งเรียนนิติศาสตร์เป็นภาคเรียนแรก ความรู้ความเข้าใจกฎหมายยังขาดอยู่มาก
ขอบพระคุณที่กรุณาสละเวลาตอบครับ
>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
อายุความใดๆ ไม่มีสะดุดหยุดลงหรือหยุดอยู่อะไรเลยนะคะสำหรับการร้องขอจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ และการร้องขอให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญ
ยินดีค่ะ อ่านหนังสือเยอะๆ นะคะ ตั้งใจเรียน ความสำเร็จจะปรากฎได้จริงค่ะ
แล้วถ้าเป็นดอกผลที่งอกเงยจากตัวแม่ทรัพย์ล่ะคะต้องคืนด้วยมั๊ย
ตอบลบเจ้าของแม่ทรัพย์เป็นเจ้าของดอกผลค่ะ จึงต้องคืน
ตอบลบมาตรา 1336 ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอย และจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิ ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และ มีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วย กฎหมาย
ตอบลบครูคะ ถ้าผู้สาบสูญหายไปจากบ้านตนเอง อย่างนี้ฟ้องต่อเขตศาลที่อยู่ในภูมิลําเนาของผู้สาบสูญในฐานะเป็นที่ที่มูลคดีเกิดได้ไกมคะ
ตอบลบได้ค่ะ
ตอบลบขอบคุณมากๆครับมีประโยชน์มากๆ ขอให้เผยเเพร่สิ่งที่มีประโยชน์อย่างนี้ต่อไปน่ะครับ^^
ตอบลบอยากทราบว่าถ้าเป็นกรณีที่ คนสาบสูญได้ทำประกันชีวิตไว้แต่ขาดส่งเบี้ยประกัน ทำให้ทางบริษัทประกันเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์เป็นแบบขยายระยะเวลาคุ้มครอง (สมมติ มีผลคุ้มครองถึงวันที่ 16 พ.ค. 2556)
ตอบลบหากทายาทได้ยื่นคำร้องขอให้บิดาเป็นคนสาบสูญในวันที่ 10 ก.พ.2556 (ครบ 5 ปี ในวันที่ 10 ก.พ.) โดยศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญในวันที่ 20 พ.ค. 2556 แบบนี้ ทายาทยังมีสิทธิได้รับเงินตามกรมธรรม์อยู่รึเปล่าครับ ???
คือผมสงสัยว่ากรณีนี้ต้อง "ถือว่า บิดาของทายาทตาย 10ก.พ.2556" ซึ่งเป็นวันก่อนวันที่กรมธรรม์จะสิ้นผลอะครับ แต่เพียงแค่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญภายหลังจากกรมธรรม์สิ้นผลไปแล้ว