วันพุธที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2554

กฎหมายแพ่งว่าด้วยบุคคล 7 การคุ้มครองชื่อบุคคล

การคุ้มครองชื่อบุคคล

มาตรา 18 สิทธิของบุคคลในการที่จะใช้นามอันชอบที่จะใช้ได้นั้น ถ้ามีบุคคลอื่นโต้แย้งก็ดี หรือบุคคลผู้เป็นเจ้าของนามนั้นต้องเสื่อมเสียประโยชน์เพราะการที่มีผู้อื่นมาใช้นามเดียวกันโดยมิได้รับอำนาจให้ใช้ได้ก็ดี บุคคลผู้เป็นเจ้าของนามจะเรียกให้บุคคลนั้นระงับความเสียหายก็ได้ ถ้าและเป็นที่พึงวิตกว่าจะต้องเสียหายอยู่สืบไป จะร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้

อธิบาย สิทธิของบุคคลในการใช้นามอันชอบธรรมนี้ กฎหมายบัญญัติคุ้มครองให้ ถ้าหากมีบุคคลอื่นใช้นามซ้ำกับชื่อของเราแล้วอาจทำให้เราได้รับความเสียหาย เราก็มีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งห้ามการใช้นามนั้นได้

นอกจากบทมาตรานี้จะคุ้มครองชื่อของบุคคลธรรมดาแล้ว ยังคุ้มครองชื่อของนิติบุคคลด้วย ชื่อในทางธุรกิจการค้า เครื่องหมายการค้าด้วย ซึ่งหากเป็นการใช้ชื่อซ้ำกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น ซึ่งอาจทำให้ประชาชนสับสนหลงผิดคิดว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น ก็อาจจะเป็นความผิดฐานละเมิดเครื่องหมายการค้าตาม พรบ.เครื่องหมายการค้า

ฎีกาที่ 1399/34 โจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องนุ่งห่มและเครื่องหอมใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า NEW MAN (นิวแมน) จำหน่ายในประเทศต่าง ๆ เกือบทั่วโลกมานานประมาณ15 ปี และยังจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ที่ประเทศฝรั่งเศษตั้งแต่ พ.ศ.2512 กับที่ประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ สินค้าของโจทก์ได้ส่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2513 เรื่อยมา จำเลยเพิ่งมาขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ใช้คำว่า NNEWMEN (เอ็นนิวแมน) เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2512 ถือว่าจำเลยกระทำการโดยไม่สุจริตและการที่จำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยกับเครื่องนุ่งห่ม และเครื่องแต่งกายที่จำเลยผลิตและจำหน่าย ซึ่งเป็นสินค้าประเภทเดียวกันกับสินค้าของโจทก์ ย่อมทำให้สาธารณชนหลงผิดอันเป็นการลวงขายสินค้าของจำเลยว่าเป็นสินค้าของโจทก์ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายเป็นการละเมิดต่อโจทก์

ตามตัวอย่างเป็นการละเมิดในเครื่องหมายการค้า สังเกตุว่า จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าคล้ายกับโจทก์และยังใช้กับสินค้าชนิดเดียวกันกับโจทก์ แต่หากใช้กับสินค้าคนละชนิดกับที่โจทก์จดทะเบียนไว้ ก็จะไม่เป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้า

สำหรับเรื่องชื่อบุคคลตามมาตรา 18 นั้น ไม่ได้คำนึงถึงว่าจะใช้กับธุรกิจการค้าประเภทเภทเดียวกันหรือไม่ หากชื่อที่ใช้เหมือนกับของบุคคลอื่นซึ่งใช้อยู่ก่อนแล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่เขาก็สามารถร้องได้ แต่ถ้าไม่เกิดความเสียหายก็จะร้องไม่ได้

ฎีกาที่ 2760/34 ชื่อร้านขายยาพิพาทมิได้มีการจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้า กรณีเป็นเรื่องสิทธิของบุคคลในการที่จะใช้นามอันชอบที่จะใช้ได้ตามที่บัญญัติไว้ในปพพ. มาตรา

18 โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอห้ามมิให้จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของเจ้ามรดกซึ่งก็มีสิทธิใช้นามนั้นมิให้ใช้นามดังกล่าวหรือเรียกค่าเสียหายในการที่จำเลยใช้นามนั้นได้ ในเมื่อจำเลยไม่ได้ใช้ไปในทางเสื่อมเสียต่อนามนั้น และมิได้ห้ามหรือขัดขวางมิให้โจทก์ใช้นามนั้นแต่อย่างใด

ฎีกาที่ 1502/2542 โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า "VICTORIA'S SECRET" โดยจดทะเบียนไว้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นอีกหลายประเทศ เพื่อใช้กับสินค้าประเภทของใช้ส่วนตัว เครื่องแต่งกายสุภาพบุรุษและสภาพสตรี ผลิตภัณฑ์ชุดชั้นในรวมทั้งสินค้าประเภทเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม สำหรับในประเทศไทยโจทก์เป็นเจ้าของเครื่อง

หมายการค้าดังกล่าวเพื่อใช้กับสินค้าในจำพวกที่ 38 เดิม จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการประเภทภัตตาคาร ส่วนจำเลยที่ 2 ประกอบกิจการสถานออกกำลังกาย โดยกิจการของจำเลยทั้งสองดังกล่าวใช้ชื่อทางการค้าว่า "VICTORIA'S SECRET" และ "วิคตอเรีย ซีเครท" โจทก์ขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทเป็นชื่อทางการค้าของจำเลยทั้งสอง กรณีเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในนามของบุคคลซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 บุคคลผู้เป็นเจ้าของนามหรือชื่อทางการค้า จะร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามได้ก็ต่อเมื่อการใช้นามหรือชื่อทางการค้าดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายหรือเป็นที่วิตกว่าจะต้องเสียหายอยู่สืบไปด้วย และโจทก์ผู้เป็นเจ้าของนามหรือชื่อทางการค้านั้นมีหน้าที่นำสืบถึงความเสียหายนั้น แต่พยานหลักฐาน

ที่โจทก์นำสืบมาไม่ปรากฏว่าการที่จำเลยทั้งสองนำเครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าของโจทก์ดังกล่าวไปใช้เป็นชื่อทางการค้าสำหรับสถานบริการประเภทภัตตาคาร ไนท์คลับ และสถานออกกำลังกายของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นการประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ที่จำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนไว้นั้น จะทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียงหรือเสื่อมเสียประโยชน์แต่อย่างใด ทั้งการที่จำเลยทั้งสองประกอบกิจการธุรกิจบริการ ก็เป็นธุรกิจที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับกิจการการค้าของโจทก์ซึ่งผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทของใช้ส่วนตัว เครื่องประดับและเครื่องแต่งกายสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี อันอาจทำให้โจทก์มีรายได้ในทางการค้าลดลงหรือทำให้โจทก์เสื่อมเสียประโยชน์หรือได้รับความเสียหายอื่นใด ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจขอให้สั่งห้ามจำเลยทั้งสองไม่ให้ใช้ชื่อทางการค้าดังกล่าวในการประกอบกิจการสถานบริการของจำเลยทั้งสองได้

ข้อสังเกต คดีนี้ถ้าทนายโจทก์ตั้งเรื่องฟ้องตามมาตรา 18 และสามารถนำสืบได้ว่าไนท์คลับดังกล่าว มีการขายบริการทางเพศ ซึ่งทำให้โจทก์เสื่อมเสียประโยชน์หรือได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงของโจทก์แล้ว รูปคดีจะเปลี่ยนไปอีกอย่าง ศาลอาจพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น