วันเสาร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2554

เสรีภาพในการชุมนุม ใช้ได้แค่ไหนเพียงไร

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2250) ที่คนเสื้อแดงกล่าวกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหาร ได้บัญญัติรับรองเสรีภาพในการชุมนุมไว้ตามมาตรา 63

เสรีภาพในการชุมนุม มีบัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้

มาตรา 63 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก

มาตรา 63 นี้เขียนไว้ชัดเจน การชุมนุมต้องกระทำโดยสงบและปราศจากอาวุธ
อย่างไรก็ตาม เสรีภาพในการชุมนุมตามมาตรา 63 วรรคแรก แม้จะเป็นเสรีภาพ และแม้จะเป็นเสรีภาพตามกฎหมายมหาชนก็ตาม แต่เสรีภาพนั้น ก็อาจจะถูกจำกัดได้ด้วยกฎหมาย ดังที่ในวรรคสองของมาตรานี้บัญญัติไว้ว่า การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติ แห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ (หมายความว่า ถ้าชุมนุมในพื้นที่ส่วนตัว หรือในที่รโหฐานแล้ว ไม่เป็นไร) และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือใน ระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก

การชุมนุมที่ขัดต่อวรรคแรก หรือกล่าวโดยง่ายว่า การชุมนุมที่ไม่สงบและไม่ปราศจากอาวุธนั้นเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย กฎหมายไม่คุ้มครอง ดังนั้น ไม่ว่าการชุมนุมของสีใดก็ตามที่ขัดต่อกฎหมาย คือไม่มีความสงบ มีการขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย มีหรือใช้อาวุธใดๆ ก็ตาม ก็เป็นการชุมนุมที่ขัดต่อกฎหมาย ไม่สามารถอ้างเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญมาคุ้มครองได้

เสรีภาพในการชุมนุม Freedom of assembly นั้นควรจะเป็นอย่างไร เป็นสิทธิโดยเด็ดขาดและไร้ขอบเขตของประชาชนที่อำนาจรัฐล่วงไปไม่ถึงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนผู้เป็นเจ้าของสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมนี้ต้องทำความเข้าใจร่วมกันให้ถ่องแท้ เพื่อที่การชุมนุมโดยอ้างเสรีภาพของตนนั้นจะไม่กระทบสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น

ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม เห็นว่า “เสรีภาพ” หมายถึง สิ่งที่บุคคลกระทำการได้ โดยจะไม่ถูกป้องกันขัดขวางตามกฎหมาย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ได้ให้ความหมายของคำว่า “เสรีภาพ” ไว้ว่า ความสามารถที่จะกระทำการใดๆ ได้ตามที่ตนปรารถนา โดยไม่มีอุปสรรคขัดขวาง เช่น เสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการนับถือศาสนา ความมีสิทธิที่จะทำจะพูดโดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น

“เสรีภาพ” (Liberty) หมายถึง ประโยชน์ซึ่งบุคคลได้มาโดยปราศจากหน้าที่ที่จะต้องทำก่อนหรือตอบแทนตามกฎหมาย กล่าวคือ ได้มาโดยเปล่า และสามารถใช้ได้โดยไม่ถูกขัดขวางจากกฎหมาย โดยเฉพาะการใช้สิทธิทางการเมือง (Political Right) /คำจำกัดความโดย natjar2001

ความหมายจากคำจำกัดความต่างๆ อาจกล่าวได้ว่า “เสรีภาพ” หมายถึง อำนาจที่บุคคลสามารถเลือกกระทำหรือไม่กระทำอย่างใดได้โดยปราศจากการแทรกแซงของบุคคลอื่นหรือของกฎหมาย ทั้งนี้ ต้องคำนึงกฎเกณฑ์ ความสงบสุข ของสังคมและโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 421 บัญญัติว่า การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย
การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นนั้น หมายถึง การใช้สิทธิโดยไม่คำนึงถึง ไม่ยี่หระ ไม่แยแสต่อความเสียหายของผู้อื่น/ คำจำกัดความโดย natjar2001

ความหมายของคำว่า “เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ” (Freedom of peaceful assembly)
ศ.ดร.หยุด แสงอุทัย อธิบายว่า หมายถึง เสรีภาพที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย เพราะบุคคลจะต้องมาพบปะเพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม จึงจะสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งและสิทธิในทางการเมืองได้ถูกต้อง

Black’s Law Dictionary ได้ให้ความหมายไว้ว่า คือ สิทธิที่รัฐธรรมนูญได้รับรอง (Guarantee) ในการที่จะให้ประชาชนได้ชุมนุมและแสดงออกโดยสงบ ดังเช่น เรื่องศาสนา การเมือง หรือความไม่พอใจในเรื่องอื่นๆ

แน่นอนที่สุดว่า การชุมนุมโดยเฉพาะการชุมนุมในที่สาธารณะย่อมมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และวิถีชีวิตของบุคคลอื่นในสังคม ดังนั้น กฎหมายจึงจำเป็นต้องถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมการชุมนุมให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและไม่กระทบสิทธิของผู้อื่นจนมากนัก นั่นมิได้แปลว่า กฎหมายกำลังเข้ามาริดรอนสิทธิของประชาชนในการชุมนุม หากแต่กฎหมายกำลังทำหน้าที่ส่งเสริมสิทธิของบุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมให้สามารถใช้ได้โดยวิถีปกติต่างหาก

เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ประเทศไทยได้ยอมรับหลักการในการคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบมาช้านาน สังเกตได้จากรัฐธรรมนูญในอดีตหลายฉบับหรือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แม้ในฉบับก่อนๆ จะไม่ได้มีบัญญัติไว้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยถือว่าในการปกครองระบอบประชาธิปไตย การชุมนุมโดยสงบเป็นพื้นฐานของการแสดงออก เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแสดงเจตจำนงความประสงค์ของตนในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชน และชอบที่จะแสดงความคิดเห็นเพื่อบอกกล่าวแก่รัฐบาล จะได้นำไปประกอบการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขการบริหารราชการต่อไป เสรีภาพดังกล่าวนี้รวมถึง เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการเดินทาง เสรีภาพในการเขียน เสรีภาพในการพิมพ์และเผยแพร่เอกสารสิทธิในการเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ นับถือศาสนา เลือกกินเลือกใช้เลือกบริโภค เลือกการรักษาพยาบาล โดยรัฐจะต้องงดเว้นการเข้าแทรกแซงในการชุมนุมโดยสงบนั้นๆ ในทุกรูปแบบ หากการชุมนุมนั้น เป็นการชุมนุมตามวิถีแห่งประชาธิปไตยซึ่งได้รับการรับรองโดยกฎหมายแล้ว รัฐบาลมีหน้าที่ต้องเอื้อประโยชน์ในการชุมนุมให้แก่ประชาชนผู้กำลังใช้เสรีภาพของตน อาทิเช่น การดูแลความสงบเรียบร้อยให้ปราศจากการใช้กำลัง ใช้อาวุธ ให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ชุมนุม มิให้บุคคลที่ประสงค์ร้ายแทรกแซงเข้าก่อความไม่สงบในการชุมนุมของประชาชนได้
ในต่างประเทศพบว่า เสรีภาพในการชุมนุม ต้องเป็นเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบเช่นเดียวกัน ต้องปราศจากอาวุธเช่นเดียวกัน ต้องไม่กระทบสิทธิของบุคคลอื่นให้เดือดร้อนเสียหายเช่นเดียวกัน เรียกว่า "เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ
Freedom of Assembly " ซึ่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ค.ศ.1948 (The Universal Declaration of Human Right 1948) (UDHR) มาตรา 20 (1) บัญญัติว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการชุมนุมและการสมาคมโดยสงบ Article 21 (1) Everyone has the right to take part in the government of his country, directly or through freely chosen representatives. และประเทศภาคีสมาชิกของปฏิญญาสากลนี้ ก็ได้ปฏิบัติตามมาโดยตลอด
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966 (International Covenant on civil and Political Right 1966) (ICCPR) ข้อ 21 บัญญัติว่า สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้ นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมาย และเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติ หรือความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยของสังคม การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น
American convention on Human Rights มาตรา 15 บัญญัติว่า เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธย่อมได้รับการคุ้มครอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้ นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมาย และเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติ หรือความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยของสังคม การสาธารณสุข หรือศีลธรรม หรือสิทธิเสรีภาพอื่นๆ
Article 15. Right of Assembly The right of peaceful assembly, without arms, is recognized. No restrictions may be placed on the exercise of this right other than those imposed in conformity with the law and necessary in a democratic society in the interest of national security, public safety or public order, or to protect public health or morals or the rights or freedom of others.

ซึ่งหลักกติกาสากลเหล่านั้น อารยประเทศที่มีอารยธรรมของอารยชนได้นำมาบัญญัติไว้ในกฎหมายของแต่ละประเทศด้วย รวมถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 63

- ประเทศแคนาดา ได้บัญญัติไว้ใน The Constitution Act, 1982 มาตรา 2 (C)
- ประเทศฝรั่งเศส ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ที่เรียกว่า The Nouveau Code Penal มาตรา 431-1 มีลักษณะเป็นบทลงโทษทางอาญา ในกรณีที่การชุมนุมนั้นกระทำโดยมีลักษณะเป็นการข่มขู่ ต้องระวางโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับ 15,000
- ประเทศฮ่องกง ได้บัญญัติไว้ใน Basic Law มาตรา 27
- ประเทศ Iran ได้บัญญัติไว้ใน The constitution of Islamic Republic of Iran มาตรา 27
- ประเทศสเปน ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 21
- ประเทศสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ได้มีการบัญญัติรับรองไว้ใน The Constitution of Ireland มาตรา 40.6.1 ii โดยต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ และต้องไม่เป็นการรบกวนแก่บุคคลทั่วไปด้วย


ดังนั้น ขอให้ท่านพึงเข้าใจว่า เสรีภาพในการชุมนุมที่ประชาชนมีและเป็นใหญ่ในตนเองนั้น จะใช้ได้ภายใต้กรอบของการไม่กระทบสิทธิของผู้อื่น และไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นเท่านั้น มิใช่ใช้ได้ตามอำเภอใจแต่อย่างใด

3 ความคิดเห็น:

  1. ผมไม่ใช่นักกฏหมายครับ แต่ผมมองว่าเสรีภาพแบบนี้ สมมติว่า เรายืนที่จุดใดจุดหนึ่ง แล้วยื่นแขนออกไปรอบๆ มันไปโดนหรือกระทบบุคคลอื่น นั่นคือเสรีภาพของเรา แต่เมื่อมีคนหลายคนยืนยื่นแขนออกมา จะมีพื้นที่ ที่ข้องเกี่ยวกันหรือทับซ้อนกัน พื้นที่นั้นต้องใช้ข้อตกลง ซึ่งก็คือกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ปัญหามันอยู่ที่ข้อตกลงนั้น มันถูกต้องเหมาะสมแค่ไหน และคนที่ใช้ข้อตกลงนั้น ใช้แบบใดต่างหาก ผมมองว่า กฎหมาย(ในไทย)ก็แค่สิ่งที่คนกำหนดขึ้นครับ แต่เราก็ต้องเคารพและปฏิบัติตาม หากเห็นว่าไม่เหมาะสมเราก็สามารถแก้ไขได้

    ตอบลบ
  2. ขอแก้ไขความเห็น ...หากยื่นแขนออกไป ไม่ กระทบ(โดน)คนอื่น คือเสรีภาพของเรา หากกระทบ(โดน)คนอื่น นั่นคือล่วงเสรีภาพคนอื่นครับ

    ตอบลบ
  3. ถูกต้องค่ะครูแทน เห็นด้วยค่ะ กฎหมายเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เมื่อก่อนเชื่อว่ากฎหมายคือบัญญัติของสิ่งศักดิ์สิทธิเหนือธรรมชาติ เช่นพระเจ้า เทพ ต่างๆ มนุษย์จึงปฏิบัติตามอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ เป็นการปฏิบัติด้วยศรัทธาและความกลัวภัย ต่อมาพัฒนาการของมนุษย์มีมากขึ้นจากอิทธิพลการค้าการพาณิชย์ มนุษย์เรียนรู้ที่จะใช้วิถีชีวิตอย่างดีงามไม่เบียดเบียนกันจึงสร้างกฎขึ้นมาเป็นกฎหมายใช้ร่วมกัน เพื่อเป็นกรอบของสังคม
    กฎหมายที่ออกมาจากรัฐาธิปัตย์แล้วต้องเคารพ ถ้ากฎหมายไม่ดีต้องแก้กฎหมายให้ดี ให้เอื้อประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่กฎหมายไม่ดีเลยฝ่าฝืนกฎหมาย ปฏิเสธกฎหมาย หรือไม่ทำตามกฎหมายค่ะ

    ขอบคุณสำหรับความเห็นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกันนะคะ :)

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น