คำว่า ดอกเบี้ย คือ ดอกผลนิตินัยอย่างหนึ่งของเงินที่เกิดจากบทบัญญัติของกฎหมายหรือเกิดจากข้อสัญญา ดอกเบี้ยจึงเป็นเรื่องที่คู่สัญญากำหนดกันไว้ว่าจะให้กันเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ซึ่งต้องไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดตาม พรบ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา คือ ร้อยละสิบห้าต่อปี
ตัวอย่างเช่น นายดำให้นายแดงกู้ยืมเงินจำนวน 10,000 บาท คิดดอกเบี้ย ร้อยละ 10 ต่อปี แสดงว่านายแดงต้องชำระหนี้นายดำเป็นต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 11,000 บาท เช่นนี้เรียกว่าดอกเบี้ยตามสัญญา คือดอกเบี้ยที่กำหนดกันไว้ในสัญญา หากนายแดงผิดนัด ไม่ชำระหนี้เมื่อครบกำหนดเวลาชำระหนี้ นายดำสามารถเรียกดอกเบี้ยผิดนัดได้อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับดอกเบี้ยตามสัญญาคือ ร้อยละ 10 ต่อปี ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 224 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 224 หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัด ร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้น โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น
ส่วนเบี้ยปรับคือ เงินที่ลูกหนี้สัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้ให้แก่เจ้าหนี้เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ถ้าเบี้ยปรับที่กำหนดกันไว้สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงได้ตามที่ศาลเห็นสมควร ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น กฎหมายให้วิเคราะห์ทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383
ตัวอย่างเช่น นายดำให้นายแดงกู้ยืมเงินจำนวน 10,000 บาท คิดดอกเบี้ย ร้อยละ 10 ต่อปี ครบกำหนดชำระวันที่ 30 มกราคม 2554 หากครบกำหนดชำระแล้วนายแดงไม่ชำระหนี้ ให้นายดำคิดดอกเบี้ยนายแดงได้ร้อยละ 15 ต่อปี จะเห็นได้ว่า ในส่วนดอกเบี้ยที่กำหนดเมื่อผิดนัดนั้น มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ เพราะมีการตกลงกำหนดกันไว้ล่วงหน้า ว่าจะให้เป็นจำนวนเท่านั้น เท่านี้เมื่อผิดนัด แม้จะเรียกว่าดอกเบี้ย แต่ศาลฎีกาก็ได้วินิจฉัยว่าเป็นเบี้ยปรับ เมื่อสูงเกินสมควร ศาลชอบที่จะลดลงได้ แต่ศาลจะลดลงจนต่ำกว่าสิทธิที่เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามมาตรา 224 ไม่ได้ กล่าวคือกรณีนี้ ศาลจะลดลงให้ต่ำที่สุดได้แค่ร้อยละ 10 ต่อปีเท่านั้น
คำพิพากษาฎีกาที่ 7328/2541 ข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ยเพิ่มในการที่ลูกหนี้ผิดนัดนั้น เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในรูปของดอกเบี้ยที่คิดเพิ่มขึ้นจากเดิม ดอกเบี้ยที่คิดเพิ่มขึ้นนี้มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ซึ่งถ้าสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 แต่ที่ศาลอุทธรณ์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนั้นยังไม่ถูกต้อง เพราะตามสัญญามีข้อตกลงจะชำระดอกเบี้ยตามปกติโดยไม่ผิดนัดในอัตราร้อยละ 14 และ 13.75 ต่อปี และถ้าผิดนัดจึงจะเพิ่มขึ้นจากนี้ ดังนั้นจึงเป็นเบี้ยปรับเฉพาะส่วนที่เกินจากร้อยละ 14 เป็น 13.75 ต่อปี เท่านั้นจะลดลงให้ต่ำกว่านี้ไม่ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 6236/2551 สัญญากู้เงินกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระบุว่า ถ้าผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระเงินกู้และดอกเบี้ยตามงวดชำระภายในกำหนด ผู้กู้ยินยอมให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดเพิ่มอีกในอัตราร้อยละ 0.50 ต่อวัน ของยอดเงินกู้ที่ค้างชำระจนกว่าจะชำระหมดสิ้น เป็นเรื่องที่จำเลยยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น สูงกว่าอัตราที่ตกลงกันไว้ในสัญญาได้หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญา จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งหากศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนก็มีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ปพพ. มาตรา 379 และมาตรา 383 วรรคหนึ่ง
ในหัวข้อต่อไปจะได้ศึกษาเรื่อง ดอกเบี้ยผิดนัด ตามมาตรา 224 ว่าคิดกันอย่างไร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น