วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในคดีอาญา 1

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การพิจารณาพิพากษาคดีของศาล ศาลต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานในคดีให้เชื่อได้ว่าจำเลยกระทำความผิดจริง หากไม่สามารถรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดจริง ศาลต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้กับจำเลย ดังนั้นในส่วนของการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในคดีอาญานี้ เราจำเป็นต้องศึกษาเพื่อพิจารณาว่า พยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้หรือไม่ และมีน้ำหนักอย่างไร ในส่วนนี้จึงขอแบ่งน้ำหนักพยานหลักฐานออกเป็นสามกรณี

1. รับฟังได้มีน้ำหนักมาก ได้แก่ ประจักษ์พยาน และพยานชั้นหนึ่ง
2. รับฟังได้มีน้ำหนักน้อย ต้องฟังประกอบพยานหลักฐานอื่น ได้แก่ พยานบอกเล่า พยานที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ ฯลฯ
3. รับฟังไม่ได้เลย เพราะ ต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมาย

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 บัญญัติว่า

มาตรา 226 พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่า จะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่นและให้สืบตามบท บัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการ สืบพยาน

มาตรา 226 นี้มีลักษณะเป็นบทตัดพยาน ซึ่งจะบัญญัิติไว้ว่าพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องและพิสูจน์ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสิทธิ์เท่านั้นที่อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ สามารถแยกออกเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

1. พยานหลักฐานที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดี จะนำมาสืบไม่ได้ ศาลจะรับฟังมาชั่งน้ำหนักไม่ได้
เช่นโจทก์อ้างพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับประวัติอาชญากรรมของจำเลยมารับฟังว่าจำเลยกระทำ
ความผิดในคดีที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

2. คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมจะนำมารับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดไม่ได้ เว้นแต่เป็นถ้อยคำอื่นที่มิใช่คำรับสารภาพ ตาม ป.วิ.อ มา 84 วรรค 4 ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความ ผิดห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่น จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อ ได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือตาม มาตรา 83 วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับแล้วแต่กรณี เช่น นายดำถูกจับข้อหาลักทรัพย์ ขณะจับกุม เจ้าพนักงานตำรวจถามว่า นายดำลักทรัพย์จริงหรือไม่ นายดำรับสารภาพว่าได้ลักทรัพย์จริง ถ้อยคำดังกล่าว ศาลจะนำมาชั่งน้ำหนักรับฟังว่านายดำกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ไม่ได้ ส่วนถ้าเป็นถ้อยคำอื่นเช่น ถ้อยคำซัดทอด ถ้อยคำบอกเล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆ สามารถรับฟังได้เมื่อเจ้าพนักงานผู้จับกุมได้ทำการแจ้งสิทธิตามมาตรา 83 เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น การจับกุมโดยไม่แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาตามมาตรา 83 ให้แก่ผู้ถูกจับทราบ ทำให้การจับกุมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป หากสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว พนักงานอัยการสามารถฟ้องคดีได้ ผลของการจับกุมโดยไม่แจ้งสิทธิเพียงแต่ทำให้ถ้อยคำของผู้ถูกจับไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในศาลได้เท่านั้น

3. พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่ พยานหลักฐานที่
3.1 ได้มาโดยการจูงใจ เช่น จูงใจผู้ต้องหาว่าหากไปล่อซื้อยาเสพติดให้จะไม่ดำเนินคดี ถ้อยคำเช่นนี้เป็นการจูงใจ เป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากาษาฎีกาที่ 1839/2544 ส. ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนจาก ส. แล้ว เจ้าพนักงานตำรวจเสนอว่าหาก ส. ไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากผู้จำหน่ายให้ก็จะไม่ดำเนินคดี ส. จึงไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย การที่ ส. มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ จึงเป็นพยานชนิดที่เกิดขึ้นจากการจูงใจและให้คำมั่นสัญญาโดยมิชอบของ เจ้าพนักงานตำรวจ รับฟังเป็นพยานไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226

3.2 พยานหลักฐานที่ได้มาจากการล่อซื้อ โดยผู้กระทำการล่อซื้อไม่มีอำนาจเท่ากับเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด พยานหลักฐานนั้นฟังไม่ได้เลย เพราะการล่อซื้อคือการล่อเพื่อนำพยานหลักฐานให้ปรากฎต่อศาล ดังนั้น ผู้ถูกล่อต้องมีเจตนากระทำความผิดอยู่ก่อนแล้ว หากไม่มีเจตนากระทำความผิดมาก่อน แล้วไปก่อให้เขากระทำความผิด เท่ากับมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด เป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด และผู้ล่อต้องเป็นผู้ที่กฎหมายให้อำนาจล่อด้วย มิใช่ใครๆ ก็จะสามารถล่อได้

การใช้สายลับไปล่อซื้อของที่ผิดกฎหมายจากผู้ที่มีเจตนากระทำความผิดอยู่แล้ว ไม่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น พยานหลักฐานที่ใช้ในการล่อซื้อจึงรับฟังได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 8187/2543 การที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้สายลับนำเงินไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยซึ่งมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอยู่แล้ว เป็นวิธีการแสวงหาพยานหลักฐานในการกระทำความผิดของจำเลยที่ได้กระทำอยู่แล้ว มิได้ล่อหรือชักจูงใจให้จำเลยกระทำความผิดอาญาที่จำเลยไม่ได้กระทำความผิดมาก่อน การกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย ไม่เป็นการกระทำที่ดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของจำเลย ไม่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และไม่เข้าข้อต้องห้ามอ้างเป็นพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226


ในทางกลับกัน หากเป็นพยานหลักฐานที่ได้จากการล่อซื้อผู้ซึ่งมิได้มีอำนาจในการล่อซื้อ และได้กระทำต่อผู้ซึ่งไม่มีเจตนากระทำความผิดอยู่ก่อนแล้ว พยานหลักฐานที่ได้มานั้นรับฟังไม่ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 4301/2543 จำเลยที่ 1 ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีการทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องก่อนที่ ส. ซึ่งรับจ้างทำงานให้โจทก์จะไปล่อซื้อ แต่จะมีการประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วมีการทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในเครื่องคอมพิวเตอร์หลังจากที่ ส. ตกลงซื้อกับจำเลยที่ 3 แล้ว จำเลยที่ 3 ต้องการแถมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้แก่ ส. ตามที่ได้ตกลงกันในวันที่ ส. ไปล่อซื้อ พนักงานของจำเลยที่ 1อาจนำแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรเครื่องต้นแบบเข้ามาใช้เป็นต้นแบบบันทึกถ่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ลงไปในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องที่ ส. ล่อซื้อในช่วงเวลาหลังจากที่จำเลยที่ 1 ประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ที่โรงงานเสร็จและส่งไปที่สำนักงานจำเลยที่ 1 เพื่อรอส่งมอบแก่ลูกค้าที่สั่งซื้อตามเวลาที่นัดไว้ การทำซ้ำบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ลงในแผ่นบันทึกข้อมูลถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ ส. ล่อซื้อนั้นเป็นการทำซ้ำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์หลังจากวันที่ ส. ไปล่อซื้อแล้วเพื่อมอบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำซ้ำให้แก่ ส. มิใช่ทำซ้ำโดยผู้กระทำมีเจตนากระทำผิดอยู่แล้วก่อนการล่อซื้อ น่าเชื่อว่าการกระทำผิดดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากการล่อซื้อของ ส. ซึ่งได้รับจ้างให้ล่อซื้อจากโจทก์ เท่ากับโจทก์เป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำผิดโจทก์ย่อมไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้


ต่อตอนที่สองในครั้งหน้า

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ25/12/54 20:10

    ขอบคุณค่ะ บทความมีประโยชน์กับหนูมากๆ

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น