วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2554

การกำหนดประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ (หน้าที่นำสืบ) 2/1

การกำหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบนั้น ยืนอยู่บนหลักการว่า "ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น" เว้นแต่เข้าด้วยข้อยกเว้นต่างๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๘๔ และ ๘๔/๑ คู่ความไม่ต้องนำสืบในข้อเท็จจริงนั้น

มาตรา 84 การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทำโดยอาศัยพยานหลักฐาน ในสำนวนคดีนั้น เว้นแต่

(1) ข้อเท็จจริงซึ่งรู้กันอยู่ทั่วไป

(2) ข้อเท็จจริงซึ่งไม่อาจโต้แย้งได้ หรือ

(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล

มาตรา 84/1 คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็น ซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะ ได้รับประโยชน์ จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว

ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ต้องนำสืบหรือไม่มีภาระการพิสูจน์ ได้แก่

(1) ข้อเท็จจริงซึ่งรู้กันอยู่ทั่วไป หมายถึง ข้อเท็จจริงซึ่งคนทั่วๆ ไปรู้ได้ เช่น รู้ว่าวันเสาร์ อาทิตย์เป็นวันหยุดราชการ วันที่ ๑๓ เมษายน เป็นวันสงกรานต์ เป็นต้น ข้อเท็จจริงเหล่านี้คนทั่วๆ ไปรู้ ศาลก็รู้ เพราะศาลก็เป็นคนทั่วๆ ไป จึงไม่ต้องนำสืบให้ศาลเห็น

ฎีกาที่ 8874/2543 ข้อเท็จจริงว่าวันใดเป็นวันหยุดราชการหรือไม่เป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไ

ฎีกาที่ 3226/2525

คำว่า 'มารศาสนา' ตามความหมายในพจนานุกรม หมายถึงบุคคลผู้มีใจบาปหยาบช้าคอยกีดกันไม่ให้ผู้อื่นทำบุญและกีดกันบุญกุศลที่จะมาถึงตน ซึ่งเป็นบุคคลประเภทที่สาธารณชนย่อมรังเกียจที่จะคบหาสมาคมด้วย จำเลยพูดว่าผู้เสียหายด้วยถ้อยคำดังกล่าวต่อหน้าผู้เสียหาย จึงต้องมีความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 โดยโจทก์ไม่ต้องนำสืบอธิบายความหมายอีก เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไป

ฎีกาที่ 1876/2533 การกระทำความผิดใด เป็นภัยร้ายแรงต่อ ส่วนรวมหรือไม่เป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไป โจทก์มิต้องนำสืบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84(1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และสภาพความผิดดังกล่าว ศาลอาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยประกอบการพิจารณาลงโทษจำเลยได้ การที่ศาลอุทธรณ์ใช้ ดุลพินิจ กำหนดโทษจำคุกจำเลยเสียใหม่ถือได้ว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ตลอดจนคำแก้ อุทธรณ์ของจำเลยประกอบกันด้วย แล้ว ไม่จำเป็นที่ศาลอุทธรณ์จะต้อง หยิบยกเอาคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยขึ้นมาว่ากล่าวให้ปรากฏรายละเอียดประการอื่นโดยเฉพาะ แต่ ประการใด

หรือถ้อยคำที่มีลักษณะเป็นการดูหมิ่น เหยียดหยามผู้อื่น ที่สามัญชนฟังแล้วเข้าใจทันที ไม่ต้องแปลให้ศาลเข้าใจ เช่น คำกล่าวดูหมิ่นว่า "กูไม่เอามึงให้เสียน้ำ" "อีหน้าหัวควยพรรค์นี้" "อีเหี้ย" เป็นคำที่สามัญชนฟังแล้วทราบได้ เข้าใจได้ว่า เป็นคำดูหมิ่น

ฎีกาที่ 1989/2506 คำกล่าวดูหมิ่นว่า "กูไม่เอามึงให้เสียน้ำ อีหน้าหัวควยพรรค์นี้"เป็นถ้อยคำที่มีความหมายดูหมิ่นผู้อื่นอยู่ในตัวแล้ว เพราะเป็นถ้อยคำที่สามัญชนเข้าใจได้ชัดอยู่ในตัวเองไม่ใช่ถ้อยคำพิเศษ ส่วนถ้อยคำพิเศษนั้นเป็นถ้อยคำที่สามัญชนฟังแล้วไม่เข้าใจ หรือฟังแล้วแปลเป็น 2 แง่ได้โจทก์ไม่ต้องนำสืบอธิบาย


แต่ถ้าเป็นถ้อยคำที่รู้จักกันเองในหมู่เหล่า มิใช่เป็นคำที่มีความหมายพิเศษและใช้อย่างแพร่หลาย คู่ความต้องนำสืบให้ศาลเห็นด้วย เช่นคำสมัยโบราณ หรือ คำภาษาถิ่น

(2) ข้อเท็จจริงซึ่งไม่อาจโต้แย้งได้ หมายถึง ข้อเท็จจริงที่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเด็ดขาด หรือเป็นกฎหมายปิดปาก ข้อเท็จจริงนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจโต้แย้งได้ ไม่สามารถนำสืบให้ศาลเห็นเป็นอย่างอื่นได้


เช่น ตาม พรบ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ บัญญัติไว้ว่า

มาตรา 15 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เว้นแต่รัฐมนตรีได้อนุญาตเฉพาะในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ

การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

(1) เด็กซ์โตรไลเซอร์ไยด์ หรือ แอล เอส ดี มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ศูนย์จุดเจ็ดห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปหรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่สามร้อยมิลลิกรัมขึ้นไป


(2) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป


ดังนั้น หากมีการครอบครองสารเสพติด ตามปริมาณที่กฎหมายกำหนด จะแก้ตัวว่าครอบครองเพื่อเสพไม่ได้


ข้อเท็จจริงที่ปรากฎในสำนวนคดีอาญา ถือเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจโต้แย้งได้ในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เช่น ในคดีอาญา ศาลพิพากษาให้จำเลยมีความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยศาลฟังว่า จำเลยประมาท ดังนั้น ในคดีแพ่งที่มีการเรียกค่าเสียหาย ศาลที่พิจารณาคดีแพ่งจะฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้ประมาทไม่ได้ ข้อเท็จจริงที่ปรากฎในสำนวนคดีอาญานั้น จึงถือเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจโต้แย้งได้


(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล

ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับแล้วในศาลนั้น จะแบ่งเป็นคดีแพ่งกับคดีอาญา เพราะคำรับของแต่ละคดีมีรายละเอียดที่ต่างกัน และให้ผลที่ไม่เหมือนกัน จึงขอแยกไปเขียนไว้อีกบทหนึ่งในบทของคำรับ ในชั้นนี้ กล่าวโดยง่าย การรับของคู่ความนั้นแบ่งออกเป็นการรับโดยชัดแจ้ง และการรับโดยปริยาย (ถือว่าได้รับ) การไม่กล่าวถึงข้อเท็จจริงในข้อใด ถือว่ารับข้อเท็จจริงนั้นแล้วโดยปริยาย


ในบทหน้า จะได้กล่าวต่อในมาตรา ๘๔/๑



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น