วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เจ้าของสุนัขเลินเล่อ ปล่อยสุนัขหลุดมาทำความเสียหาย ต้องรับผิดทางแพ่งและอาญา

เมื่อวันก่อน ผู้เขียนได้พบบ้านใกล้เคียงกับผู้เขียน ซึ่งเลี้ยงสุนัขไว้หลายตัว เมื่อเปิดประตูเพื่อนำรถยนต์ออกจากบ้าน สุนัขก็หลุดออกมาด้วย และวิ่งไล่เห่า รถจักรยานยนต์ หรือรถจักรยานที่ขี่ผ่านมา เป็นภาพที่ผู้เขียนพบเห็นอยู่เป็นประจำ เลยพาให้นึกว่า หากผู้ขับขี่เกิดความตกใจ ควบคุมรถไม่ได้ รถจักรยานยนต์เสียหลักล้มลงบาดเจ็บ ความรับผิดทางกฎหมายจะเป็นเช่นไร จะได้ขอนำมาบอกเล่าดังนี้

กรณีเจ้าของบ้านหรือก็คือเจ้าของสุนัขนั่นเอง เปิดประตูบ้านเพื่อถอยรถออกจากบ้าน แล้วสุนัขที่เลี้ยงไว้หลุดออกมาวิ่งไล่จักรยานยนต์ที่กำลังขี่ผ่านมา ทำให้คนขี่จักรยานยนต์ตกใจบังคับรถไม่ได้ ล้มลงบาดเจ็บสาหัสทั้งคนขี่และคนซ้อน

ปัญหาว่า เจ้าของสุนัขมีความรับผิดอย่างใดหรือไม่ ขอแยกเป็นสองกรณีคือความรับผิดทางอาญาและความรับผิดทางแพ่ง ดังนี้

ธรรมดาการเลี้ยงสุนัข ต้องเลี้ยงและดูแลให้อยู่ภายในเคหะสถาน หากจะนำออกนอกเคหะสถานจะต้องมีการดูแลให้ปลอดภัย ไม่ให้ไปก่อความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ผู้อื่นได้ จะปล่อยไปเที่ยววิ่งเล่น อึ ฉี่ หน้าบ้านผู้อื่นให้เขาเดือดร้อนรำคาญไม่ได้ กรณีนี้ก็เช่นกัน เมื่อเจ้าของบ้านจะเปิดประตูบ้านเพื่อถอยรถออกไปทำงาน ควรจะต้องเก็บสุนัขใส่กรงให้เรียบร้อยเสียก่อน เมื่อ เจ้าของสุนัขไม่เก็บสุนัขของตนให้เรียบร้อย จึงเป็นการกระทำโดยประมาท ปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นผู้เลี้ยงสุนัขนั้นจักต้องมีตามวิสัย และพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ โดยนำสุนัขขังกรงให้เรียบร้อยเสียก่อน แต่ก็หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 ประกอบมาตรา 300

มาตรา 300 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในส่วนคดีแพ่ง หรือความรับผิดทางแพ่งนั้น เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นโดยมีมูลจากความรับผิดทางอาญา เราเรียกว่า “คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา หรือ อาญาสินไหม” ซึ่งปัจจุบันอยู่ในความรับผิดทางละเมิด โดยผู้ได้รับความเสียหายสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนได้

มาตรา 433 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

ในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนนั้น ศาลจะพิจารณาตามความเป็นจริงว่าเกิดความเสียหายไปอย่างไรบ้าง อันได้แก่ ค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย และหากรถจักรยานยนต์เกิดความเสียหาย เจ้าของสุนัขต้องรับผิดซ่อมแซมชดใช้ หรือกระทำอย่างใดๆ ให้รถกลับมาใช้การได้ดังเดิม

โดยปกติ เมื่อเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิจารณาคดีอาญา หากพนักงานอัยการเป็นผู้ยื่นฟ้องให้ ผู้เสียหายควรจะต้องติดตามเรื่องให้ดี เมื่อมีนัดศาลครั้งใดให้ไปแสดงตัวทุกครั้ง ศาลจะจัดการไกล่เกลี่ยเรื่องค่าเสียหายให้ไปพร้อมกันเลย ผู้เสียหายไม่ต้องนำคดีมาฟ้องเป็นคดีละเมิดใหม่ แต่หากผู้เสียหายมิได้ติดตามคดี และไม่ได้เข้าระบบไกล่เกลี่ย จะต้องนำคำพิพากษาคดีอาญานั้นมาฟ้องเป็นคดีละเมิดภายในอายุความคดีอาญา ผู้เสียหายจึงควรใส่ใจติดตามคดีอย่างใกล้ชิด ใบเสร็จหรือเอกสารต่างๆ ต้องเก็บรวบรวมไว้ให้ดี พร้อมที่จะนำมาแสดงได้เมื่อมีการตกลงเรื่องค่าสินไหมทดแทนกัน



1 ความคิดเห็น:

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น