ความหมายของคำว่า ยืน ยก กลับ แก้ และยกย้อน
ยืน ยก กลับ แก้
คำที่มักใช้กันผิด หรือไม่เข้าใจความหมาย
ยืน หมายถึง ศาลสูงพิพากษายืนตามศาลล่างให้ "ลงโทษ" จำเลย
ยก หมายถึง ยกฟ้องโจทก์
กลับ หมายถึง ศาลสูงกลับคำพิพากษาศาลล่างจาก ยกฟ้องเป็นลงโทษ หรือลงโทษเป็น ยกฟ้อง
แก้ หมายถึง แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีทั้งแก้มาก แก้น้อย
(แก้ไขมาก คือแก้ทั้งบทและโทษ แก้น้อยคือ แก้อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น)
ในคดีอาญา ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิอาญา มาตรา ๒๒๐
มาตรา 220 ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์
แต่ที่พบ คือมักใช้คำผิดกัน ไปใช้ถ้อยคำว่า ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น (หมายถึงยืนให้ยกฟ้อง) ต้องห้ามฎีกา เป็นการใช้ถ้อยคำผิดและจะทำให้สับสน เพราะการ "ยืน" หมายถึง "ยืน" เพื่อลงโทษจำเลย ตามมาตรา ๒๑๘ สังเกตุมาตรา ๒๑๘ ให้ดีจะเห็นว่า ตัวบทเขียนไปถึง การลงโทษจำเลย หรือแก้ไขโทษจำเลยด้วย
มาตรา 218 ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี หรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับแต่โทษจำคุกไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ยืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี ไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่น ด้วยหรือไม่ ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
คำว่า "ยืน" ไม่ใช่หมายความว่ายืนตามในทุกๆ อย่าง แต่หมายความว่า "ยืนตามศาลล่างให้ลงโทษจำเลย"
คำว่า “ยกคำพิพากษา”
คำว่า "ศาลอุทธรณ์ "ยก" คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นกลับไปดำเนินการใหม่" ไม่ใช่ การยกฟ้อง แต่ยกคำพิพากษา เพราะคำพิพากษานั้นไม่ชอบด้วยไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังนั้น ถ้าเห็นคำว่า "ยก" ให้ดูให้ดีว่า ยกฟ้อง หรือ ยกคำพิพากษา
ตัวอย่าง
ศาลอุทธรณ์สั่งให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดี “ดา ตอร์ปิโด” หมิ่นเบื้องสูง แจงให้รอศาล รธน.พิจารณาข้อกฎหมายก่อน
โดยศาลอุทธรณ์มีความเห็นว่า ในการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นนั้น ศาลชั้นต้นได้ยกคำร้องของจำเลยที่เห็นแย้งในเรื่องการพิจารณาคดีลับของโจทก์ อ้างว่าเป็นการจำกัดสิทธิของจำเลย ศาลอุทธรณ์จึงเห็นว่าศาลชั้นต้นควรส่งความเห็นดังกล่าว ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า การพิจารณาคดีลับตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 177 ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 29, 40 ตามที่จำเลยอ้างหรือไม่ ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะเขียนคำพิพากษาใหม่อุทธรณ์ในข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น จึงให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความพิจารณาข้อกฎหมายเสียก่อน ส่วนจะให้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาใหม่หรือไม่นั้น แล้วแต่กรณี.
ดังนั้น ถ้าเห็นคำว่า "ยก" ให้พิจารณาให้ดีว่า ยกอะไร ยกฟ้อง หรือยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพื่อให้ดำเนินคดีใหม่ เรียกว่า "ยก ย้อน" ตาม ป.วิแพ่ง มาตรา ๒๗ ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วย้อนสำนวนกลับไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่
ใน ป.วิอาญา ไม่มีเรื่อง "ยก ย้อน" บัญญัติไว้โดยเฉพาะ เมื่อความปรากฎว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญาใดเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ให้ Analogy ป.วิแพ่งมาตรา ๒๗ มาใช้ โดยอาศัย ป.วิอาญา ม. ๑๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3196/2549
การที่ศาลชั้นต้นด่วนอนุญาตให้ถอนฟ้องและมีคำสั่งจำหน่ายคดีอาญาจากสารบบความไปก่อน โดยไม่รอให้คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งให้เสร็จไปพร้อมกัน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลงและผิดระเบียบว่าด้วยการพิจารณาคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 โจทก์ขอให้เพิกถอนได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น