วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554

ธงคำตอบกฎหมายอาญาภาคทั่วไป (รปศ.)

ข้อ 1. นายเอก มีความแค้นกับนายโท ต้องการฆ่านายโท จึงลักลอบนำระเบิดเข้าไปวางในห้องเรียนที่มีนักศึกษาเรียนอยู่เป็นจำนวน 15 คน เมื่อถึงเวลาบรรยาย นายเอกกดระเบิดจากโทรศัพท์มือถือ ทำให้ระเบิดที่วางไว้นั้นเกิดระเบิดขึ้น นายโท และนักศึกษาทั้งหมดถึง ถึงแก่ความตาย พนักงานอัยการสั่งฟ้องนายเอก นายเอกรับผิดในการฆ่านายโท แต่ต่อสู้ว่าตนไม่ได้มีเจตนาฆ่านักศึกษาคนอื่นเป็นการเฉพาะ ถ้าท่านเป็นศาลท่านจะวินิจฉัยคดีนี้อย่างไร


กรณีตามปัญหาประมวลกฎหมายอาญาวางหลักกฎหมายเกี่ยวข้องไว้ดังนี้
หลักกฎหมายที่ 1 กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและ ในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการ กระทำนั้น

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายเอกต้องการฆ่านายโท จึงลักลอบนำระเบิดเข้าไปวางในห้องเรียนและกดระเบิดจากโทรศัพท์มือถือ โดยประสงค์ต่อผลคือความตายของนายโท เมื่อระเบิดนั้นเกิดระเบิดขึ้น นายโทถึงแก่ความตายสมเจตนาของนายเอกแล้ว นายเอกต้องรับผิดฐานฆ่านายโทโดยเจตนาประสงค์ต่อผล
กรณีนักศึกษาทั้งหมดที่ถึงแก่ความตายเพราะการระเบิดดังกล่าว นายเอกจะอ้างว่าตนไม่ได้มีเจตนาฆ่านักศึกษาคนอื่นเป็นการเฉพาะ หาได้ไม่ เพราะการที่นายเอกนำระเบิดไปวางไว้ในห้องเรียนซึ่งทราบดีว่า มีผู้อื่นร่วมเรียนอยู่ด้วย นายเอกย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า เมื่อระเบิดเกิดการระเบิดขึ้น ผู้อื่นจะถึงแก่ความตายไปด้วย นายเอกจึงต้องรับผิดต่อนักศึกษาทั้ง ๑๕ คนดังกล่าว ฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล

จึงวินิจฉัยว่า นายเอกมีความผิดฐานฆ่านายโทโดยเจตนาประสงค์ต่อผล และฆ่านักศึกษาทั้ง ๑๕ คนโดยเจตนาเล็งเห็นผล จากหลักกฎหมายประกอบเหตุผลดังกล่าวข้างต้น


ข้อ 2. นายธงชาติเป็นเด็กวัด มีนิสัยนักเลง เกเร วันเกิดเหตุ พระภิกษุผู้เป็นอาจารย์ เห็นนายธงชาติหยิบมีดไปด้วยรู้นิสัยศิษย์ จึงบังคับให้นายธงชาตินำมีดมาคืน แต่นายธงชาติไม่ยอม พระอาจารย์จึงเอาไม้ตะพดฟาดไปที่นายธงชาติหนึ่งที นายธงชาติไม่พอใจจึงเอามีดเล่มดังกล่าวแทงพระอาจารย์ถึงแก่มรณภาพ ดังนี้ นายธงชาติจะสามารถอ้างเหตุบรรเทาโทษใด ตามกฎหมายได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

กรณีตามปัญหาประมวลกฎหมายอาญาวางหลักกฎหมายเกี่ยวข้องไว้ดังนี้
หลักกฎหมายที่ 1 ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุ อันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะ ลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใด ก็ได้


ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายธงชาติมีนิสัยนักเลง เกเร เมื่อพระภิกษุผู้เป็นอาจารย์ เห็นนายธงชาติหยิบมีดไป จึงบังคับให้นายธงชาตินำมีดมาคืน แต่นายธงชาติไม่ยอม พระอาจารย์จึงเอาไม้ตะพดฟาดไปที่นายธงชาติหนึ่งที เป็นการลงโทษที่ครูบาอาจารย์สามารถกระทำต่อศิษย์ได้ ไม่ใช่กรณีที่นายธงชาติถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่นายธงชาติเอามีดเล่มดังกล่าวแทงพระอาจารย์ถึงแก่มรณภาพนั้น นายธงชาติจะอ้างเหตุบรรดาลโทสะเพื่อบรรเทาโทษไม่ได้เลย

ดังนั้น นายธงชาติใม่สามารถอ้างเหตุบรรดาลโทสะเพื่อบรรเทาโทษใด จากหลักกฎหมายประกอบเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

ข้อ 3. นายบุญมีต้องการฆ่านายบุญมา ทราบมาว่า นายบุญยืนมีเรื่องราวและเคียดแค้นนายบุญมาอยู่ด้วย จึงได้เตรียมปืน .38 บรรจุกระสุนไว้เรียบร้อยและนำไปให้นายบุญยืน พร้อมทั้งพูดจาชักชวนให้นายบุญยืน พูดส่อเสียดให้นายบุญยืนเกิดความเกลียดชังนายบุญมา นายบุญยืนจึงนำปืนดังกล่าวไปฆ่านายบุญมา ให้วินิจฉัยความรับผิดของนายบุญมีและนายบุญมา

ตอบ
กรณีตามปัญหาประมวลกฎหมายอาญาวางหลักกฎหมายเกี่ยวข้องไว้ดังนี้
หลักกฎหมายที่ 1 ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้บังคับ ขู่เข็ญจ้าง วานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้ กระทำความผิด
ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทำลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสาม ของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น


ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า
นายบุญมีต้องการฆ่านายบุญมา ทราบมาว่า นายบุญยืนมีเรื่องราวและเคียดแค้นนายบุญมาอยู่ด้วย จึงได้เตรียมปืน .38 บรรจุกระสุนไว้เรียบร้อยและนำไปให้นายบุญยืน พร้อมทั้งพูดจาชักชวนให้นายบุญยืน พูดส่อเสียดให้นายบุญยืนเกิดความเกลียดชังนายบุญมาจนนายบุญยืนตกลงใจไปฆ่านายบุญมาตามคำยุยงของนายบุญมีนั้น นายบุญมีได้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยการยุยงส่งเสริม นายบุญมีจึงเป็นผู้ใช้ให้นายบุญยืนกระทำความผิด เมื่อนายบุญยืนนำปืนดังกล่าวไปฆ่านายบุญมา ตามที่นายบุญมียุยงดังกล่าว นายบุญมีจึงต้องรับโทษเสมือนตัวการ

จึงวินิจฉัยว่า นายบุญมี มีความผิดฐานใช้ให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาจากหลักกฎหมายประกอบเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

ข้อ 4. นายสร้อย นายสุข และนายสม ร่วมกันมาลักสายไฟที่โรงงานผลิตสายไฟของนายดำ เพื่อนำไปขาย โดยนายสร้อยและนายสุขปีนรั้วเข้าไปในโรงงาน จากนั้นนายสร้อยโยนทรัพย์ออกมากองไว้นอกรั้วโรงงานจนหมดเรียบร้อยแล้ว นายสร้อยและนายสุขจึงปีนออกมาเก็บทรัพย์ที่ลักมา แต่ก็ถูกจับได้เสียก่อน ยังไม่ทันได้นำสายไฟไปขาย ทั้งสามคน ต่อสู้ว่า การกระทำของตนเป็นเพียงความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ หาใช่ลักทรัพย์สำเร็จไม่ ดังนี้ ให้วินิจฉัยความรับผิดของทั้งสามคนดังกล่าว

มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์

กรณีตามปัญหาประมวลกฎหมายอาญาวางหลักกฎหมายเกี่ยวข้องไว้ดังนี้
หลักกฎหมายที่ 1 ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายาม กระทำความผิด

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า
นายสร้อย นายสุข และนายสม ร่วมกันมาลักสายไฟที่โรงงานผลิตสายไฟของนายดำ โดยนายสร้อยและนายสุขปีนรั้วเข้าไปในโรงงาน จากนั้นนายสร้อยโยนทรัพย์ออกมากองไว้นอกรั้วโรงงานจนหมดเรียบร้อยแล้ว ทรัพย์ดังกล่าวได้เคลื่อนที่และอยู่ในลักษณะที่พร้อมจะเอาไปได้แล้ว การลักทรัพย์ดังกล่าวสำเร็จแล้วหาใช้พยายามไม่
การที่นายสร้อยและนายสุขถูกจับได้เสียก่อน ยังไม่ทันได้นำสายไฟไปขาย ก็ไม่ทำให้ความผิดที่สำเร็จแล้วกลับกลายเป็นพยายามอีก

จึงวินิจฉัยว่า นายสร้อย นายสุข และนายสม มีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์เป็นความผิดสำเร็จ จากหลักกฎหมายประกอบเหตุผลดังกล่าวข้างต้น


วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

กระทำชำเราภริยาเด็ก ไม่มีความผิด ม.276, 277

ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖ ได้มีการแก้ไขจากกฎหมายเดิม ให้มีผลเป็นการคุ้มครองบุคคล ไม่ว่าชายหรือหญิงจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ หากแต่เป็นที่น่าแปลกใจของผู้เขียนว่า ทำไม มาตรา ๒๗๗ ว่าด้วยการกระทำชำเราเด็ก จึงไม่ได้รับการแก้ไขเสียให้สอดคล้องกัน บทความนี้ ผู้เขียนจึงขอนำมาตรา ๒๗๖ และ ๒๗๗ มาพิจารณาเปรียบเทียบ ทั้งแสดงความเห็นในฐานะนักวิชาการกฎหมายต่อกรณีการแก้ไขมาตรา ๒๗๖ และ ๒๗๗ ที่ไม่สอดคล้องกัน

ความแตกต่างระหว่างมาตรา ๒๗๖ เดิม กับ ๒๗๖ ที่แก้ไขใหม่

มาตรา 276 ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท
Spac1การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดย การใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น
Spac1ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง หรือกระทำกับชายในลักษณะเดียวกันต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต
Spac1ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำความผิดระหว่างคู่สมรสและคู่สมรสนั้น ยังประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติแทนการลงโทษก็ได้ ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก และคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไป และประสงค์จะหย่า ให้คู่สมรสฝ่ายนั้นแจ้งให้ศาลทราบ และให้ศาลแจ้งพนักงานอัยการให้ดำเนินการฟ้องหย่าให้

ความแตกต่างระหว่างมาตรา ๒๗๖ เดิม กับ ๒๗๖ ที่แก้ไขใหม่

ข้อ ๑. กระทำชำเราตาม ๒๗๖ เดิม หมายถึง จะต้องมีการร่วมเพศและสอดใส่อวัยวะเพศ โดยอวัยวะเพศชายจะต้องล่วงล้ำเข้าไปในช่องคลอดของหญิงเท่านั้น

กระทำชำเราตาม ๒๗๖ ใหม่ หมายถึง รวม การใช้วัตถุ สิ่งของอื่นแทนการใช้อวัยวะเพศชายในการข่มขืน ต่อไปความผิดฐานอนาจารก็ไม่มีที่ใช้ เพราะการกระทำอย่างใดๆ ก็สามารถอยู่ภายใต้ความหมายของกระทำชำเราได้ทั้งสิ้น เป็นการใช้กฎหมายอาญาในลักษณะหว่านแห ผิดต่อหลักการของการใช้กฎหมายอาญาเป็นอย่างมาก

คำว่า ผู้อื่นตาม ๒๗๖ ใหม่ รวมถึง ชายกระทำต่อชาย หรือหญิงกระทำต่อชาย หรือหญิงกระทำต่อหญิงได้โดยตรง โดยไม่ต้องอาศัยความเป็นตัวการร่วม

ข้อ ๒.กระทำชำเราตาม ๒๗๖ เดิม มิได้บัญญัติถึงการสนองความใคร่ของผู้ใด

กระทำชำเราตาม ๒๗๖ ใหม่ บัญญัติกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดย การใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น เป็นปัญหาว่า ถ้าหากว่าถ้าจำเลยแก้ตัวว่ากระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เช่นช่วยจับแขนขาหรือดูต้นทาง ต้องปรับด้วยตัวการหรือผู้สนับสนุน หรือถ้าจำเลยต่อสู้ว่า ตนมิได้กระทำเพื่อสนองความใคร่ของตน แต่สนองความใคร่ของผู้ถูกกระทำ จะพิพากษาคดีนี้อย่างไร

ข้อ ๓. มาตรา ๒๗๖ เดิม บัญญัติแต่เรื่องการกระทำโดยมีหรือใช้อาวุธหรือวัตถุระเบิด หรือโทรมหญิง

มาตรา ๒๗๖ ใหม่ ได้บัญญัติถึงการกระทำอันเป็นโทรมชายลงไปเพิ่มเติมด้วย

ข้อ ๔. มาตรา ๒๗๖ เดิมไม่ได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้

มาตรา ๒๗๖ ใหม่ ถ้าเป็นกรณีที่เป็นการกระทำความผิดระหว่างคู่สมรสและคู่สมรสนั้น ยังประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติแทนการลงโทษก็ได้ ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก และคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไป และประสงค์จะหย่า ให้คู่สมรสฝ่ายนั้นแจ้งให้ศาลทราบ และให้ศาลแจ้งพนักงานอัยการให้ดำเนินการฟ้องหย่าให้ ปัญหาว่า พนักงานอัยการคงต้องอาศัยมาตรา ๑๕๑๖ (๖) เรื่องการเป็นปรปักษ์ต่อการเป็นสามีภรรยาอย่างร้ายแรงเพื่อฟ้องอย่า และเมื่อฟ้องอย่าแล้วก็ต้องมีการแบ่งสินสมรสซึ่งคงจะเป็นจุดอ่อนและกระเทือนต่อสถาบันครอบครัวพอสมควร และหากครอบครัวนั้นมีลูกก็ต้องมีปัญหาเรื่องการเลี้ยงดูบุตรให้ศาลต้องตามแก้อีก อีกทั้งโดยปกติการฟ้องหย่าเป็นเรื่องทางแพ่ง ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ เพราะพนักงานอัยการคือผู้รักษากฎหมาย ทนายของแผ่นดินที่มีหน้าที่ดำเนินคดีอาญาเพื่อความสุขสงบของประชาชนในบ้านเมืองโดยรวม ไม่ใช่ของเอกชนคนใดคนหนึ่ง การที่ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติเช่นนี้ เท่ากับเป็นการผลักดันพนักงานอัยการให้ต้องทำคดีแพ่งให้แก่เอกชนด้วยหรือไม่ เป็นข้อที่ต้องพิจารณา

เนื่องจากมาตรา ๒๗๖ ที่แก้ไขใหม่ ส่งผลให้การข่มขืนภริยาเป็นการกระทำความผิด เท่ากับการข่มขืนผู้อื่น (แล้วใครจะข่มขืนภริยา ข่มขืนผู้อื่นก็ผิดเท่าข่มขืนภริยา) แต่ปรากฏว่า มาตรา ๒๗๗ ในส่วนของการข่มขืนภริยาเด็ก (อายุต่ำกว่า ๑๕ ปี) ยังไม่ได้รับการแก้ไข

มาตรา
277 ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท
การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นสี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสามได้กระทำโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกัน อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงหรือกระทำกับเด็กชายในลักษณะเดียวกันและเด็กนั้นไม่ยินยอม หรือได้กระทำโดยมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้อาวุธ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต
ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการกระทำโดยบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปีกระทำ ต่อเด็กซึ่งมีอายุกว่าสิบสามปี แต่ยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นยินยอม และภายหลังศาลอนุญาตให้ทั้งสองฝ่ายสมรสกัน ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ ถ้าศาลอนุญาตให้สมรสในระหว่างที่ผู้กระทำผิดกำลังรับโทษในความผิดนั้นอยู่ ให้ศาลปล่อยผู้กระทำความผิดนั้นไป

ดังนั้น ถ้ากระทำชำเราแก่ภริยาเด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี แม้เด็กซึ่งเป็นภริยาจะไม่ยินยอม ก็สามารถกระทำได้โดยไม่มีความผิด จนกว่าภริยาเด็กนั้นจะมีอายุเกิน ๑๕ ปี จึงจะอยู่ภายใต้บังคับมาตรา ๒๗๖ ที่ทำให้การข่มขืนภริยามีความผิด ปัญหานี้ นักกฎหมายบางท่าน จะใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยการนำมาตรา ๒๗๖ มาใช้กับกรณีข่มขืนภริยาเด็ก ให้ปรับเข้าด้วย ๒๗๖ เพราะถือว่าเป็นการข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น เช่นกัน โดยส่วนตัวของข้าพเจ้า เห็นว่า การกระทำเช่นนั้นจะเป็นการขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ห้าม
Analogy และด้วยมาตรา ๒๗๗ เป็นบทเฉพาะที่ใช้กับเด็ก ไม่ใช่บททั่วไปที่ใช้กับบุคคลทั่วไป เพราะมีโทษหนักกว่า จึงไม่สามารถนำมาตรา ๒๗๖ มาปรับใช้แก่กรณีนี้ได้

หมายเหตุ ที่มาตรา ๒๗๗ ใช้คำว่า "กระทำชำเรา" โดยไม่มีคำว่า "ข่มขืน" เพราะว่า การชำเราเด็ก ไม่ว่าจะกระทำโดยขืนใจเด็กหรือไม่ก็ตาม ก็เป็นความผิดทั้งสิ้น

บทความนี้ ข้าพเจ้าในฐานะนักวิชาการด้านกฎหมาย จึงขอตั้งข้อสังเกตไว้เพื่อศึกษาการแก้ปัญหาทางกฎหมายต่อไปในอนาคต และขอแสดงจุดยืนคัดค้านกฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้อย่างสิ้นเชิง