วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554

ธงคำตอบกฎหมายอาญาภาคทั่วไป (รปศ.)

ข้อ 1. นายเอก มีความแค้นกับนายโท ต้องการฆ่านายโท จึงลักลอบนำระเบิดเข้าไปวางในห้องเรียนที่มีนักศึกษาเรียนอยู่เป็นจำนวน 15 คน เมื่อถึงเวลาบรรยาย นายเอกกดระเบิดจากโทรศัพท์มือถือ ทำให้ระเบิดที่วางไว้นั้นเกิดระเบิดขึ้น นายโท และนักศึกษาทั้งหมดถึง ถึงแก่ความตาย พนักงานอัยการสั่งฟ้องนายเอก นายเอกรับผิดในการฆ่านายโท แต่ต่อสู้ว่าตนไม่ได้มีเจตนาฆ่านักศึกษาคนอื่นเป็นการเฉพาะ ถ้าท่านเป็นศาลท่านจะวินิจฉัยคดีนี้อย่างไร


กรณีตามปัญหาประมวลกฎหมายอาญาวางหลักกฎหมายเกี่ยวข้องไว้ดังนี้
หลักกฎหมายที่ 1 กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและ ในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการ กระทำนั้น

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายเอกต้องการฆ่านายโท จึงลักลอบนำระเบิดเข้าไปวางในห้องเรียนและกดระเบิดจากโทรศัพท์มือถือ โดยประสงค์ต่อผลคือความตายของนายโท เมื่อระเบิดนั้นเกิดระเบิดขึ้น นายโทถึงแก่ความตายสมเจตนาของนายเอกแล้ว นายเอกต้องรับผิดฐานฆ่านายโทโดยเจตนาประสงค์ต่อผล
กรณีนักศึกษาทั้งหมดที่ถึงแก่ความตายเพราะการระเบิดดังกล่าว นายเอกจะอ้างว่าตนไม่ได้มีเจตนาฆ่านักศึกษาคนอื่นเป็นการเฉพาะ หาได้ไม่ เพราะการที่นายเอกนำระเบิดไปวางไว้ในห้องเรียนซึ่งทราบดีว่า มีผู้อื่นร่วมเรียนอยู่ด้วย นายเอกย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า เมื่อระเบิดเกิดการระเบิดขึ้น ผู้อื่นจะถึงแก่ความตายไปด้วย นายเอกจึงต้องรับผิดต่อนักศึกษาทั้ง ๑๕ คนดังกล่าว ฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล

จึงวินิจฉัยว่า นายเอกมีความผิดฐานฆ่านายโทโดยเจตนาประสงค์ต่อผล และฆ่านักศึกษาทั้ง ๑๕ คนโดยเจตนาเล็งเห็นผล จากหลักกฎหมายประกอบเหตุผลดังกล่าวข้างต้น


ข้อ 2. นายธงชาติเป็นเด็กวัด มีนิสัยนักเลง เกเร วันเกิดเหตุ พระภิกษุผู้เป็นอาจารย์ เห็นนายธงชาติหยิบมีดไปด้วยรู้นิสัยศิษย์ จึงบังคับให้นายธงชาตินำมีดมาคืน แต่นายธงชาติไม่ยอม พระอาจารย์จึงเอาไม้ตะพดฟาดไปที่นายธงชาติหนึ่งที นายธงชาติไม่พอใจจึงเอามีดเล่มดังกล่าวแทงพระอาจารย์ถึงแก่มรณภาพ ดังนี้ นายธงชาติจะสามารถอ้างเหตุบรรเทาโทษใด ตามกฎหมายได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

กรณีตามปัญหาประมวลกฎหมายอาญาวางหลักกฎหมายเกี่ยวข้องไว้ดังนี้
หลักกฎหมายที่ 1 ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุ อันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะ ลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใด ก็ได้


ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายธงชาติมีนิสัยนักเลง เกเร เมื่อพระภิกษุผู้เป็นอาจารย์ เห็นนายธงชาติหยิบมีดไป จึงบังคับให้นายธงชาตินำมีดมาคืน แต่นายธงชาติไม่ยอม พระอาจารย์จึงเอาไม้ตะพดฟาดไปที่นายธงชาติหนึ่งที เป็นการลงโทษที่ครูบาอาจารย์สามารถกระทำต่อศิษย์ได้ ไม่ใช่กรณีที่นายธงชาติถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่นายธงชาติเอามีดเล่มดังกล่าวแทงพระอาจารย์ถึงแก่มรณภาพนั้น นายธงชาติจะอ้างเหตุบรรดาลโทสะเพื่อบรรเทาโทษไม่ได้เลย

ดังนั้น นายธงชาติใม่สามารถอ้างเหตุบรรดาลโทสะเพื่อบรรเทาโทษใด จากหลักกฎหมายประกอบเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

ข้อ 3. นายบุญมีต้องการฆ่านายบุญมา ทราบมาว่า นายบุญยืนมีเรื่องราวและเคียดแค้นนายบุญมาอยู่ด้วย จึงได้เตรียมปืน .38 บรรจุกระสุนไว้เรียบร้อยและนำไปให้นายบุญยืน พร้อมทั้งพูดจาชักชวนให้นายบุญยืน พูดส่อเสียดให้นายบุญยืนเกิดความเกลียดชังนายบุญมา นายบุญยืนจึงนำปืนดังกล่าวไปฆ่านายบุญมา ให้วินิจฉัยความรับผิดของนายบุญมีและนายบุญมา

ตอบ
กรณีตามปัญหาประมวลกฎหมายอาญาวางหลักกฎหมายเกี่ยวข้องไว้ดังนี้
หลักกฎหมายที่ 1 ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้บังคับ ขู่เข็ญจ้าง วานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้ กระทำความผิด
ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทำลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสาม ของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น


ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า
นายบุญมีต้องการฆ่านายบุญมา ทราบมาว่า นายบุญยืนมีเรื่องราวและเคียดแค้นนายบุญมาอยู่ด้วย จึงได้เตรียมปืน .38 บรรจุกระสุนไว้เรียบร้อยและนำไปให้นายบุญยืน พร้อมทั้งพูดจาชักชวนให้นายบุญยืน พูดส่อเสียดให้นายบุญยืนเกิดความเกลียดชังนายบุญมาจนนายบุญยืนตกลงใจไปฆ่านายบุญมาตามคำยุยงของนายบุญมีนั้น นายบุญมีได้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยการยุยงส่งเสริม นายบุญมีจึงเป็นผู้ใช้ให้นายบุญยืนกระทำความผิด เมื่อนายบุญยืนนำปืนดังกล่าวไปฆ่านายบุญมา ตามที่นายบุญมียุยงดังกล่าว นายบุญมีจึงต้องรับโทษเสมือนตัวการ

จึงวินิจฉัยว่า นายบุญมี มีความผิดฐานใช้ให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาจากหลักกฎหมายประกอบเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

ข้อ 4. นายสร้อย นายสุข และนายสม ร่วมกันมาลักสายไฟที่โรงงานผลิตสายไฟของนายดำ เพื่อนำไปขาย โดยนายสร้อยและนายสุขปีนรั้วเข้าไปในโรงงาน จากนั้นนายสร้อยโยนทรัพย์ออกมากองไว้นอกรั้วโรงงานจนหมดเรียบร้อยแล้ว นายสร้อยและนายสุขจึงปีนออกมาเก็บทรัพย์ที่ลักมา แต่ก็ถูกจับได้เสียก่อน ยังไม่ทันได้นำสายไฟไปขาย ทั้งสามคน ต่อสู้ว่า การกระทำของตนเป็นเพียงความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ หาใช่ลักทรัพย์สำเร็จไม่ ดังนี้ ให้วินิจฉัยความรับผิดของทั้งสามคนดังกล่าว

มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์

กรณีตามปัญหาประมวลกฎหมายอาญาวางหลักกฎหมายเกี่ยวข้องไว้ดังนี้
หลักกฎหมายที่ 1 ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายาม กระทำความผิด

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า
นายสร้อย นายสุข และนายสม ร่วมกันมาลักสายไฟที่โรงงานผลิตสายไฟของนายดำ โดยนายสร้อยและนายสุขปีนรั้วเข้าไปในโรงงาน จากนั้นนายสร้อยโยนทรัพย์ออกมากองไว้นอกรั้วโรงงานจนหมดเรียบร้อยแล้ว ทรัพย์ดังกล่าวได้เคลื่อนที่และอยู่ในลักษณะที่พร้อมจะเอาไปได้แล้ว การลักทรัพย์ดังกล่าวสำเร็จแล้วหาใช้พยายามไม่
การที่นายสร้อยและนายสุขถูกจับได้เสียก่อน ยังไม่ทันได้นำสายไฟไปขาย ก็ไม่ทำให้ความผิดที่สำเร็จแล้วกลับกลายเป็นพยายามอีก

จึงวินิจฉัยว่า นายสร้อย นายสุข และนายสม มีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์เป็นความผิดสำเร็จ จากหลักกฎหมายประกอบเหตุผลดังกล่าวข้างต้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น