ความผิดฐานชิงทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์ในบางคำพิพากษาศาลฎีกาอาจจะทำให้นักศึกษาเกิดความสงสัย
หรือลังเลในการวินิจฉัย
เพราะบางคำพิพากษาศาลฎีกาดูเหมือนจะมีการใช้กำลังทำร้าย
แต่ศาลกลับวินิจฉัยว่า เป็นเพียงวิธีการเอาทรัพย์เท่านั้น
มิใช่การใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งสร้างความสับสนงุนงง
ให้แก่ผู้ศึกษาเป็นอย่างมาก
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับนิยามของความผิดฐานชิงทรัพย์เสียก่อนว่า เป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่ประกอบด้วยความผิดหลักสองฐานความผิดคือ ลักทรัพย์และทำร้ายร่างกาย หากขาดข้อใดข้อหนึ่งย่อมไม่ใช่ความผิดฐานชิงทรัพย์ เช่น การเข้าต่อยตีของนักเรียนช่างกล แล้วมีการเอาทรัพย์ไปโดยมีเจตนาอวดศักดา ไม่มีลักษณะการเอาทรัพย์ไปโดยทุจริตไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เมื่อไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ก็ย่อมไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ด้วย (๔๔๕/๒๕๓๗)
หรือมีเจตนาทำร้ายร่างกาย แล้วต่อมาจึงมีเจตนาเอาทรัพย์ไปในภายหลัง ก็มิใช่การกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่เป็นการกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายและลักทรัพย์ ต่างกรรมต่างวาระกัน (๑๒๖๑/๒๕๑๓)
ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์และชิงทรัพย์จึงมีจุดตัดกันที่เจตนาทำร้ายร่างกาย ถ้ามีเจตนาทำร้ายร่างกายประกอบด้วยจะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่ถ้าการบาดเจ็บของผู้เสียหายเกิดจากผลของการฉกฉวยเอาซึ่งหน้าจะเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ที่ต้องปรับด้วยบทหนัก
พฤติกรรมบางอย่างที่จำเลยกระทำแล้วมีผลให้ผู้เสียหายเป็นบาดแผลเล็กน้อย
แต่จำเลยมิได้มีเจตนาทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย
บาดแผลนั้นเกิดจากการเอาทรัพย์โดยฉกฉวย
หรือบาดแผลนั้นเกิดจากวิธีการเอาทรัพย์ของจำเลย
จึงไม่เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามนัยยะมาตรา ๑ (๖) ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
เช่น
ฎีกาที่ ๒๑๐๐/๒๕๒๑ จำเลยรวบคอผู้เสียหายเพื่อให้รู้ว่าสวมสร้อยคออยู่
แล้วกระตุกสร้อยคอทองคำหนัก 2 สลึง
สร้อยบาดคอเป็นแผลไม่ถึงเป็นอันตรายแก่กาย ไม่เป็นชิงทรัพย์
เป็นการฉกฉวยเอาซึ่งหน้า มีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์
ตามคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้
ปัญหาสำคัญอยู่ที่สร้อยคอมีขนาดเพียงสองสลึง จึงไม่อาจเล็งเห็นผลได้ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย
แต่ถ้าสร้อยคอมีขนาดใหญ่
จำเลยเล็งเห็นผลได้ว่าจะทำให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์มิใช่วิ่งราวทรัพย์
การวิ่งราวทรัพย์แล้วมีผลทำให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จะต้องปรับด้วยบทหนักตามวรรคสอง วรรคสาม
และวรรคท้าย
จะไปปรับด้วยชิงทรัพย์ไม่ได้
ดังที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้นว่า
ความผิดฐานชิงทรัพย์นั้น จำเลยต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลเพื่อทำร้ายร่างกายผู้เสียหายประกอบด้วย
จึงจะเป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย จุดนี้นักศึกษามักลืมนำมาตรา ๕๙
วรรคสอง มาวินิจฉัยด้วย อาจจะเป็นเพราะความหลงลืมหรือไม่แม่นยำในตัวบทกฏหมายมาตรา ๕๙ วรรคสอง
เมื่อพบข้อเท็จจริงจึงไม่ชัดในความหมายของคำว่า “เจตนา” ถ้าข้อเท็จจริงเป็นเจตนาประสงค์ต่อผล
เช่น ใช้มีดจี้ หรือทำร้ายร่างกายผู้เสียหายแล้วกระชากเอาสร้อยไป ค่อนข้างจะชัดเจนวินิจฉัยง่าย
แต่ถ้าข้อเท็จจริงเป็นการกระชากสร้อยธรรมดา ไม่มีเจตนาประสงค์ต่อผลในการทำร้ายร่างกายเลย นักศึกษาจะเริ่มลังเล นั่นเพราะหลงลืมนำเจตนาเล็งเห็นผลมาวินิจฉัยด้วย เช่น
การกระแทกไหล่เพื่อเอากระเป๋าสตางค์ไป
(๑๔๖๙/๒๔๙๔)
เป็นการใช้กำลังประทุษร้าย
เพราะในการนำสืบ เห็นชัดว่า
จำเลยมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายเพื่อล้วงเอากระเป๋าสตางค์ไป (คำพิพากษาฎีกาสั้นๆ
บางครั้งจะทำให้ผู้อ่านไม่เห็นชัดในพฤติกรรมการนำสืบ
ควรอ่านคำพิพากษาฎีกาฉบับเต็ม) ในบางคำพิพากษาฎีกา จำเลยน่าจะผิดชิงทรัพย์ แต่ศาลกลับลงแค่ลักทรัพย์ หรือวิ่งราวทรัพย์ นักศึกษาต้องไปอ่านคำพิพากษาฎีกาฉบับเต็ม เพราะบางคดี โจทก์มิได้มีคำขอให้ลงโทษฐานชิงทรัพย์ ศาลจะพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องไม่ได้
อ้อ!!! ต่างกันอย่างนี้นี่เอง
ตอบลบขอบคุณ สำหรับความรู้ ครับอาจารย์
ตอบลบขอบคุณครับ
ตอบลบthank
ตอบลบ