วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การสอบสวนที่มีผลกระทบต่ออำนาจฟ้อง





การสอบสวนที่มีผลกระทบต่ออำนาจฟ้อง 

ในการอ่านบทความนี้ ควรที่จะอ่านบทความเรื่องการสอบสวนตามมาตรา  ๑๘ และ ๑๙ ให้เข้าใจเสียก่อน

การสอบสวนที่ไม่ชอบ  คือ  การสอบสวนที่มิได้ปฏิบัติตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วย การสอบสวน
ตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่า การสอบสวนที่ไม่ชอบ  มีผลเท่ากับไม่ได้มีการสอบสวนในคดีนั้น ส่งผลกระทบถึงอำนาจฟ้องของพนักงานอัยการ ตามมาตรา  ๑๒๐ 
มาตรา 120 ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาลโดย มิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน
มาตรา 121 พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอบสวน เว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ 
แต่ไม่ใช่ว่า การสอบสวนที่มิได้ปฏิบัติตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญาทั้งหมดจะเสียไปจนส่งผลกระทบถึงอำนาจฟ้อง  การสอบสวนที่ไม่ชอบสามารถส่งผลได้  ๒  กรณี  คือ
๑.  การสอบสวนเสียไป  พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง
๒.  การสอบสวนไม่เสียไป  พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้อง  เพียงแต่ส่งผลกระทบถึงการรับฟังพยานหลักฐานเท่านั้น

การสอบสวนที่มิได้กระทำตามบทบัญญัติว่าด้วยเขตอำนาจสอบสวน ตาม ป.วิ อาญา มาตรา ๑๘ และ ๑๙  รวมไปถึงการสอบสวนความผิดต่อส่วนตัวโดยมิได้มีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ ตาม ป.วิอาญา มาตรา ๑๒๑  เท่านั้น  ที่จะมีผลทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมด  ซึ่งกระทบถึงอำนาจฟ้องตาม 
(ติดตามอ่านรายละเอียดของสองมาตรานี้ในบทความเรื่อง อำนาจฟ้อง)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1756/2550
โจทก์ ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 570 เม็ด และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว 70 เม็ด แก่ผู้มีชื่อ และโจทก์นำสืบว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 500 เม็ด และจับพวกจำเลยเจ็ดคน พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนที่บุคคลทั้งเจ็ดซื้อจากจำเลยทั้งสองคนละ 10 เม็ด ได้ที่บ้านจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ในท้องที่สถานที่ตำรวจนครบาลแสมดำ การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่าย จึงเกิดในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลแสมดำทั้งสิ้น และโจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับพวกจำเลยอีก 2 คนที่ถูกจับในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางบอน การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็มิใช่ความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (3) จึงอยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลแสมดำตามมาตรา 18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 2 (6) มิใช่อยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางบอนที่สอบสวนคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2529/2549
การ สอบสวนที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 120 ต้องสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่ระบุไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 2 (6) ประกอบมาตรา 18 เมื่อเหตุที่อ้างว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางแก่ ส. เกิดที่บ้านในอำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยกับ ส. ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายภายหลังจากนั้นอีก ในประการใด ท้องที่ซึ่งจำเลยถูกจับก็อยู่ภายในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองกำแพงเพชร และไม่ปรากฏเหตุอื่นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่จะทำให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอปางศิลาทองมีอำนาจสอบสวนได้ ทั้งถือไม่ได้ว่าเป็นการทำการแทนพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 128 บัญญัติไว้ การสอบสวนจำเลยโดยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอปางศิลาทองจึงเป็นการสอบ สวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นการสอบสวนตามที่ระบุไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 582/2549
เหตุ คดีนี้เกิดในพื้นที่อำเภอเมืองอำนาจเจริญซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบ สวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองอำนาจเจริญ มิได้เกิดในเขตอำนาจสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญจึงไม่มีอำนาจสอบสวนความผิดซึ่ง ได้เกิดขึ้นในคดีนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ข้อที่โจทก์อ้างในฎีกาว่าเป็นกรณีพยานโจทก์ผู้จับกุมไม่แน่ใจว่าการกระทำผิด อาญาได้กระทำในท้องที่ใดระหว่างหลายท้องที่ พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 นั้น หมายความเฉพาะเมื่อสภาพการกระทำผิดอาญานั้นเองเป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่ในตัว ว่า เป็นการไม่แน่ว่ากระทำขึ้นในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ต่างเขตอำนาจสอบ สวน มิได้หมายความถึงกรณีที่ตัวพนักงานสอบสวนหรือผู้จับกุมสับสนในเรื่องพื้นที่ เขตอำนาจของตนเสียเอง ทั้งที่เป็นการแน่นอนแล้วว่าความผิดนั้นได้กระทำในท้องที่ใด เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทยเจริญยังขืนสอบสวนความผิดนี้ การสอบสวนนั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือได้ว่าคดีนี้ไม่มีการสอบสวน เมื่อยังมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้น โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีต่อศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

การสอบสวนที่ไม่ได้ปฏิบัติตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ไม่มีผลทำให้อำนาจฟ้องเสียไป  มีผลเพียงแต่คำให้การนั้นๆ  ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในศาลได้ (มีผลต่อการชั่งน้ำหนักคำพยานเท่านั้น)  เช่น  การสอบสวนที่ไม่ได้จัดหาทนายให้แก่จำเลย
ตาม  ๑๓๔  จะมีผล ตามมาตรา  ๑๓๔/๔ วรรคสาม ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตาม มาตรา 134/1 มาตรา 134/2 และ มาตรา 134/3 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้

หรือในการสอบปากคำผู้ต้องหา หรือผู้เสียหายเด็ก  ที่มิได้กระทำตามมาตรา  ๑๓๓ ทวิ  หรือ  ๑๓๓  ตรี  ไม่มีผลทำให้การสอบสวนเสียไป  คงมีผลเพียงแต่ใช้เป็นพยานหลักฐานในศาลไม่ได้ตาม  ป.วิ อาญา มาตรา ๒๒๖  ประกอบ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐  มาตรา  ๒๔๓ วรรคสอง  เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5294/2549 
ในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำเด็กหญิง ว. ซึ่งมีอายุ 13 ปีเศษ ในฐานะพยาน โดยไม่ได้จัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำ คำให้การของเด็กหญิง ว. จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่ผลของการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรานี้ คงทำให้คำให้การในชั้นสอบสวนของเด็กหญิง ว. ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 243 วรรคสอง เท่านั้น ไม่เป็นเหตุให้การสอบสวนของพนักงานสอบสวนเสียไปทั้งหมด ถือได้ว่ามีการสอบสวนความผิดในคดีนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
แม้การสอบสวนเด็กหญิง ว. ซึ่งมีอายุไม่เกิน 18 ปี จะไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่เมื่อในชั้นพิจารณาโจทก์อ้างเด็กหญิง ว. เป็นพยาน และเด็กหญิง ว. ได้เบิกความต่อหน้าศาลโดยผ่านนักสังคมสงเคราะห์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี แล้ว ศาลย่อมรับฟังคำเบิกความของเด็กหญิง ว. เป็นพยานได้

2 ความคิดเห็น:

  1. prasit jaidee27/2/55 14:41

    ขอบคุณมากครับอาจารย์ ที่ให้ความกระจ่าง

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ16/10/55 04:45

    ขอบพระคุณมากๆๆครับ

    ผมกำลังจะสอบ จึงมาหาข้อมูลครับ


    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น