วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2554

ผู้ทรง มาตรา 904

มาตรา 904 อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงิน หรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน

อธิบาย ผู้ทรงตั๋วมีลักษณะสำคัญ ๒ ประการคือ

มีตั๋วเงินไว้ในครอบครอง

ได้ครองครองตั๋วเงินไว้ในฐานะใดฐานะหนึ่งใน ๓ ฐานะ คือ ๑.โดยฐานะเป็นผู้รับเงิน ๒. เป็นผู้รับสลักหลัง ๓. ฐานะเป็นผู้ถือ

ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่เรียกว่าเป็นผู้ทรง เช่น ผู้สั่งจ่ายออกตั๋วจ่ายดำแต่ตั๋วหายไปเสียก่อน ดำไม่มีตั๋วในความครอบครองดำไม่ใช่ผู้ทรง หรือผู้ที่เก็บตั๋วหายได้ก็มิใช่ผู้ทรงแม้จะเป็นตั๋วผู้ถือที่โอนได้ด้วยการส่งมอบก็ตามเพราะมิได้รับการส่งมอบจากผู้มีสิทธิในตั๋วเงิน มิใช่ผู้ครอบครองตั๋วโดยสุจริต ผู้ยึดถือตั๋วเงินไว้แทนผู้อื่นถือว่าครอบครองแทนไม่เป็นผู้ทรง

ผู้ทรงในแต่ละฐานะย่อมเกิดขึ้นได้ดังนี้

๑. ฐานะเป็นผู้รับเงิน เกิดขึ้นในกรณีนายแดงผู้สั่งจ่ายระบุชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงินเอาไว้ในตั๋วเรียกว่า ตั๋วระบุชื่อ เช่น จ่าย.............นายดำ.........................

๒. เป็นผู้รับสลักหลัง เกิดขึ้นในกรณีตั๋วระบุชื่อนั้นถูกสลักหลังโอนให้ผู้อื่นรับประโยชน์ต่อไป เช่น นายดำ สลักหลังตั๋วโอนให้นายขาวต่อไป

๓. ฐานะเป็นผู้ถือ เกิดขึ้นในกรณีกรณีนายแดงผู้สั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือเช่น.จ่าย............ผู้ถือ หรือระบุชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงินเอาไว้ในตั๋วเช่น จ่าย.............นายดำ.....................หรือผู้ถือ โดยมิได้ขีดฆ่าคำว่าผู้ถือออก

สรุป จากมาตรา ๙๐๔ ตั๋วเงินมี ๒ ประเภท คือตั๋วระบุชื่อและตั๋วผู้ถือ ซึ่งวิธีการโอนต่างกัน

ผู้ยึดถือตั๋วเงินไว้แทนผู้อื่นถือว่าครอบครองแทนไม่เป็นผู้ทรง

ฎีกาที่ ๑๐๘๔/๒๕๔๒ จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบแก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาท เมื่อเช็คถึงกำหนดแม้โจทก์จะนำเข้าบัญชีมารดาเพื่อเรียกเก็บเงินและถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ก็เป็นเพียงการนำเช็คเข้าเรียกเก็บเงินโดยอาศัยบัญชีของมารดาแทนเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในคดีว่าโจทก์ได้มอบหรือโอนสิทธิอันเกิดแต่เช็คพิพาทให้แก่มารดาโจทก์แล้ว โจทก์ก็ยังคงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทอยู่ในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจ

ฟ้องคดีได้

การเป็นผู้ทรงถือว่าเป็นผู้ทรงทั้งฉบับ

ฎีกาที่ 183/2526 จำเลยออกเช็ค 300,000 บาท ชำระหนี้โจทก์ โจทก์ส่งมอบเช็คนั้นชำระหนี้ 200,000 บาท ให้ ก. ถือได้ว่าโจทก์ส่งมอบเช็คทั้งฉบับ ก.จึงเป็นผู้ทรงเช็คทั้งฉบับ ส่วนข้อตกลงมีอยู่อย่างไร เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับ ก. เมื่อ ก. นำเช็คไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ก. ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คจึงเป็นผู้เสียหายแต่ผู้เดียวโจทก์หาใช่ผู้เสียหายด้วยไม่

การรับโอนเช็คมาหลังธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินก็เป็นผู้ทรงเช่นเดียวกัน

ฎีกาที่ 4383/2545 ผู้ทรงเช็คที่จะมีอำนาจฟ้องผู้สั่งจ่ายให้ใช้เงินตามเช็ค ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ทรงเช็คขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเท่านั้น ผู้ที่รับโอนเช็คมาโดยสุจริตหลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินก็เป็นผู้ทรงเช็คที่มีอำนาจฟ้องผู้สั่งจ่ายให้ใช้เงินตามเช็คได้ โจทก์จะเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทขณะยื่นฟ้อง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้

ผู้ทรงเช็คถึงแก่ความตายก่อนเช็คถึงกำหนดทายาทเป็นผู้ทรงต่อไปเพราะเป็นทรัพยมรดก

ฎีกาที่ 3619/2543 เช็คพิพาทในคดีนี้ทั้งสองฉบับถึงกำหนดภายหลังจากที่ ป. ถึงแก่ความตาย

สิทธิตามเช็คจึงเป็นมรดกตกได้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทผู้ตายทันที ตามป.พ.พ. มาตรา 1599 โจทก์ทั้งสามจึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทย่อมถือได้ว่าโจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายและเป็นผู้เสียหายโดยตรงมีอำนาจฟ้องคดีนี้


วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2554

บุคคลผู้ต้องรับผิดตามตั๋ว มาตรา ๙๐๐

มาตรา 900 บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะได้รับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น

ถ้าลงเพียงแต่เครื่องหมายแต่อย่างหนึ่งอย่างใด เช่น แกงได หรือลายพิมพ์นิ้วมืออ้างเอาเป็นลายมือชื่อในตั๋วเงินไซร้ แม้ถึงว่าจะมีพยานลงชื่อรับรองก็ตาม ท่านว่าหาให้ผลเป็นลงลายมือชื่อในตั๋วเงินนั้นไม่

อธิบาย บุคคลมีความหมายทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

ลายมือชื่อ หมายถึงต้องเขียนด้วยลายมือตนเอง การใช้ลายพิมพ์นิ้วมือแม้จะมีพยานลงลายมือชื่อรับรองก็ใช้ไม่ได้ ลายมือชื่อนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นชื่อจริงจะลงชื่อเล่นก็ได้เช่น นายสนธยา ลาลายมือชื่อในตั๋วเงินว่า ยา ก็ต้องรับผิดเช่นกัน หรือ ดำ นำตั๋วเงินของแดงมาลงเป็นลายมือชื่อดำ ดำก็ต้องรับผิดตามมาตรา ๙๐๐ เพราะดำลงลายมือชื่อของตนในตั๋ว หรือดำลงลายมือชื่อเป็นชื่อของผู้อื่นดำก็ต้องรับผิดตามมาตรา ๙๐๐ เพราะดำเป็นผู้ลายมือชื่อของตนในตั๋ว ดังนั้นมาตรา ๙๐๐ ถือเป็นหัวใจสำคัญของตั๋วเงินเพราะถ้าหากมีการลงลายมือชื่อเข้าผูกพันตนแล้วอย่างไรเสียก็ต้องรับผิดตามมาตรานี้ (๓๗๘๘/๒๕๒๔ ป)

ฎีกาที่ ๒๔๑๗/๒๕๓๖ การที่จำเลยเขียนคำว่า แสงรุ้งเรือง ซึ่งเป็นซื่อร้านของจำเลยที่ ๒ ลงด้านหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับ ถือได้ว่าจำเลยที่ ๒ เจ้าของร้านเป็นผู้ลงลายมือของตนในเช็ค จึงเป็นการลงลายมือชื่อสลักหลังเช็ค ตามมาตาม ๙๐๐ วรรคแรก ๙๑๙ ๙๘๙ เมื่อเช็คพิพาทเป็นเช็คพิพาทเป็นเช็คผู้ถือจำเลยที่สองจึงต้องรับผิดในฐานะอาวัลจำเลยที่หนึ่งผู้สั่งจ่ายตามมาตรา ๙๒๑ ๙๔๐ ๙๘๙ วรรคแรก

วรรคท้าย ถ้าลงเพียงแต่เครื่องหมายแต่อย่างหนึ่งอย่างใด เช่น แกงได หรือลายพิมพ์นิ้วมืออ้างเอาเป็นลายมือชื่อในตั๋วเงินไซร้ แม้ถึงว่าจะมีพยานลงชื่อรับรองก็ตาม ท่านว่าหาให้ผลเป็นลงลายมือชื่อในตั๋วเงินนั้นไม่

อธิบาย ลายพิมพ์นิ้วมือที่แม้มีพยานรับรองถูกต้องตามมาตรา ๙ ที่มีผลสมบูรณ์สำหรับนิติกรรมทั่วไปไม่อาจใช้กับตั๋วเงินได้

มาตรา 901 ถ้าบุคคลคนใดลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงิน และมิได้เขียนแถลงว่ากระทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่งไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นย่อมเป็นผู้รับผิดตามความในตั๋วเงินนั้น

อธิบาย การลงลายมือชื่อในตั๋วเงินต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเว้นแต่ได้ระบุไว้ว่าทำแทนใครผู้ที่ต้องรับผิดคือผู้ที่ถูกระบุว่าถูกทำแทน เช่น ดำลงลายมือชื่อดำในตั๋วโดยระบุว่าทำแทนแดง ผู้ที่ต้องรับผิดคือแดงไม่ใช่ดำ เป็นไปตามหลักตัวการตัวแทน

270/20 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คประทับตราห้าง แต่ไม่ได้ระบุว่าทำแทนห้างต้องรับผิดในฐานะผู้สั่งจ่ายเป็นส่วนตัว

มาตรา 902 ถ้าตั๋วเงินลงลายมือชื่อของบุคคลหลายคน มีทั้งบุคคลซึ่งไม่อาจจะเป็นคู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นได้เลย หรือเป็นได้แต่ไม่เต็มผลไซร้ ท่านว่าการนี้ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงความรับผิดของบุคคลอื่น ๆ นอกนั้น ซึ่งคงต้องรับผิดตามตั๋วเงิน

อธิบาย คู่สัญญาในตั๋วเงินนั้นมีได้หลายคนเนื่องจากตั๋วเงินนั้นอาจมีการโอนต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้นคู่สัญญาบางคนอาจเป็นคู่สัญญาที่มีปัญหา ไม่อาจจะเป็นคู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นได้เลย เช่น นิติบุคคลที่มีข้อบังคับไม่ให้ออกตั๋วเงินแล้วยังฝืนออกหรือสลักหลังหรือยุ่งเกี่ยวกับตั๋วเงิน หรือเป็นได้แต่ไม่เต็มผล เช่น เป็นผู้หย่อนความสามารถ กฎหมายบอกว่าตั๋วเงินนั้นไม่เสียไป ผู้ทรงยังคงมีสิทธิไล่เบี้ยเอากับผู้ที่เป็นคู่สัญญาที่สมบูรณ์ได้

วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2554

ตั๋วเงิน ความหมายของตั๋วเงิน ประเภทของตั๋วเงิน

ลักษณะของตั๋วเงิน

ตั๋วเงินคือเอกสารที่คู่สัญญาใช้เป็นหลักฐานทางการเงิน เป็นนิติกรรมสองฝ่ายขึ้นไป จัดเป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่มีที่มาจากมูลหนี้เดิม มีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน (Reciprocal contract) บุคคลที่จะเข้าเป็นคู่สัญญาตั๋วเงินได้ต้องมีความสามารถตามมาตรา ๑๕๓ และต้องแสดงเจตนาเข้ามาเป็นคู่สัญญาในตั๋วเงินด้วยความสมัครใจตามมาตรา ๑๔๙ ปราศจากความสำคัญผิด กลฉ้อฉล หรือการข่มขู่ เช่นเดียวกับการทำสัญญาทั่วไป

ลักษณะสำคัญของตั๋วเงิน คือ

๑. เป็นเอกสารที่เป็นตราสาร กล่าวคือ เป็นหนังสือสัญญาที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้แก่ผู้ทรงตราสาร โดยมาตรา ๘๙๘ บัญญัติให้ตั๋วเงินมีสามประเภท ได้แก่ ตั๋วแลกเงิน, ตั๋วสัญญาใช้เงิน และเช็ค ตราสารอื่นที่ไม่ใช่ตราสารทั้งสามประเภทนี้ไม่ใช่ตั๋วเงิน เช่น เลตเตอร์ออฟเครดิต, ใบรับของในคลังสินค้า, ใบประทวนสินค้า, ใบหุ้น เอกสารเหล่านี้ แม้เป็นตราสารที่เปลี่ยนมือได้แต่ก็ไม่นับว่าเป็นตั๋วเงิน

๒. ตั๋วเงินต้องมีมูลหนี้การออกตั๋วเงินนั้นต้องเป็นการออกเพื่อชำระหนี้ ตั๋วเงินไม่ได้ก่อให้เกิดหนี้ในตัวเอง ดังนั้นหากออกตั๋วเงินโดยไม่มีมูลหนี้ผู้ออกตั๋วไม่ต้องรับผิด เช่น การออกตั๋วเงินเพื่อชำระหนี้การพนันอันหาก่อให้เกิดหนี้ไม่ ตั๋วเงินนั้นไม่อาจบังคับได้เพราะเป็นการออกตั๋วโดยไม่มีมูลหนี้

๓. คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้จ่ายเงินเป็นจำนวนแน่นอน กล่าวคือ ต้องมีลักษณะเป็นคำสั่ง ไม่เปิดโอกาสให้ผู้จ่ายใช้ดุลยพินิจในการจ่าย เช่น กรุณาจ่ายเงินให้แก่นายดำ เช่นนี้ ผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้แก่นายดำ แม้จะใช้คำว่า โปรดหรือกรุณาก็เป็นเพียงการใช้คำสุภาพเท่านั้น

แต่หากว่า ตั๋วเงินมีข้อความ ถ้าจะจ่ายเงิน กรุณาจ่ายให้แก่นายดำ เช่นนี้ ไม่มีลักษณะเป็นคำสั่งเพราะเปิดโอกาสให้ผู้จ่ายใช้ดุลยพินิจว่าจะจ่ายเงินหรือไม่ ไม่ใช่ลักษณะของตั๋วเงิน

คำสั่งต้องปราศจากเงื่อนไขในการจ่ายเงิน ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนหรือบังคับหลังก็ตาม เงื่อนไขคือเหตุการณ์ในอนาคตอันไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ เช่น จะจ่ายต่อเมื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ เป็นเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอนว่าจะสอบเข้า ม. ธรรมศาสตร์ได้หรือไม่ถือเป็นการจ่ายโดยมีเงื่อนไข ต้องห้ามตามลักษณะตั๋วเงิน

ต้องจ่ายเป็นจำนวนเงินที่แน่นอน ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเงินสกุลใดก็ได้ แต่ต้องมีจำนวนที่แน่นอน เช่น การระบุดอกเบี้ยไว้ ๗% ถือว่าเป็นการระบุจำนวนเงินที่แน่นอนเพราะสามารถคำนวณจำนวนเงินที่แน่นอนได้

ตั๋วเงินแบ่งออกเป็นสามประเภท คือ ตั๋วแลกเงิน, ตั๋วสัญญาใช้เงิน และเช็ค

ตั๋วแลกเงิน มีลักษณะสำคัญดังนี้

มาตรา 908 อันว่าตั๋วแลกเงินนั้น คือหนังสือตราสาร ซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้สั่งจ่ายสั่งบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จ่ายให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งแก่บุคคลคนหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าผู้รับเงิน

จากบทบัญญัติมาตรา ๙๐๘ ตั๋วแลกเงินมีลักษณะ ดังนี้

๑. เป็นเอกสารอันเป็นตราสาร มีบุคคลเกี่ยวข้องอยู่ ๓ ฝ่าย ได้แก่

๑.๑ ผู้สั่งจ่าย (Drawer) อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของผู้จ่ายตามมูลหนี้เดิมและอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ผู้รับเงิน หรือผู้ถือตามมูลหนี้เดิมและมูลหนี้ในตั๋ว

๑.๒ ผู้จ่าย (Drawee) อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ของผู้สั่งจ่ายตามมูลหนี้เดิม

๑.๒ ผู้รับเงิน (Payee) อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของผู้สั่งจ่ายตามมูลหนี้เดิมและปัจจุบันเป็นเจ้าหนี้ตามตั๋วแลกเงินฉบับนี้ด้วย

๒. ตั๋วแลกเงินต้องมีรายการดังต่อไปนี้

มาตรา 909 อันตั๋วแลกเงินนั้น ต้องมีรายการดั่งกล่าวต่อไปนี้ คือ

(1) คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วแลกเงิน

(2) คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้จ่ายเงินเป็นจำนวนแน่นอน

(3) ชื่อหรือยี่ห้อผู้จ่าย

(4) วันถึงกำหนดใช้เงิน

(5) สถานที่ใช้เงิน

(6) ชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ

(7) วันและสถานที่ออกตั๋วเงิน

(8) ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย

ตั๋วสัญญาใช้เงิน มีลักษณะสำคัญดังนี้

มาตรา 982 อันว่าตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น คือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า

ผู้ออกตั๋ว ให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือใช้ให้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับเงิน

จากบทบัญญัติมาตรา ๙๘๒ ตั๋วสัญญาใช้เงินมีลักษณะ ดังนี้

๑. เป็นเอกสารอันเป็นตราสาร มีบุคคลเกี่ยวข้องอยู่ ๒ ฝ่าย ได้แก่

๑.๑ ผู้ออกตั๋ว (Maker) อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ผู้รับเงิน

๑.๒ ผู้รับเงิน (Payee) อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ผู้ออกตั๋ว

โดยทั้งสองฝ่ายต่างก็เป็นลูกหนี้และเจ้าหนี้ตามมูลหนี้เดิมและมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น ตั๋วสัญญาใช้เงินอาจถูกนำออกใช้ในกรณีผู้ออกตั๋วไม่มีเงินสดเพียงพอที่จะชำระหนี้และไม่มีลูกหนี้ที่ตนจะสั่งชำระหนี้แทน ดังนั้นตั๋วสัญญาใช้เงินจึงไม่มีผู้จ่ายเนื่องจากผู้ออกตั๋วนั้นเองเป็นผู้จ่าย

๒. ตั๋วสัญญาใช้เงินต้องมีรายการดังต่อไปนี้

มาตรา 983 ตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น ต้องมีรายการดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

(1) คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน

(2) คำมั่นสัญญาอันปราศจากเงื่อนไขว่าจะใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน

(3) วันถึงกำหนดใช้เงิน

(4) สถานที่ใช้เงิน

(5) ชื่อ หรือยี่ห้อของผู้รับเงิน

(6) วันและสถานที่ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน

(7) ลายมือชื่อผู้ออกตั๋ว

เช็ค มีลักษณะสำคัญดังนี้

มาตรา 987 อันว่าเช็คนั้น คือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้สั่งจ่ายสั่งธนาคารให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อทวงถามให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งหรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่งอันเรียกว่าผู้รับเงิน

จากบทบัญญัติมาตรา ๙๘๗ เช็คมีลักษณะ ดังนี้

๑. เป็นเอกสารอันเป็นตราสาร มีบุคคลเกี่ยวข้องอยู่ ๓ ฝ่าย ได้แก่

๑.๑ ผู้สั่งจ่าย (Drawer) อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ธนาคาร โดยนำเงินมาฝากไว้กับธนาคารประเภทกระแสรายวัน โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะใช้เช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่ผู้รับเงินหรือผู้ถือ

๑.๒ ธนาคารผู้จ่ายเงิน (Banker) อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ของผู้สั่งจ่ายตามสัญญากระแสรายวัน และมีหน้าที่ให้บริการแก่ลูกค้าซึ่งเป็นผู้สั่งจ่าย

๑.๒ ผู้รับเงิน (Payee) หรือผู้ถือ (Bearer) อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของผู้สั่งจ่ายตามมูลหนี้เดิม และปัจจุบันหากเป็นผู้ครอบครองเช็คนั้นก็จะอยู่ในฐานเป็นเจ้าหนี้ผู้สั่งจ่ายตามเช็คนั้นด้วย

๒. เช็คต้องมีรายการดังต่อไปนี้

มาตรา 988 อันเช็คนั้น ต้องมีรายการดั่งกล่าวต่อไปนี้ คือ

(1) คำบอกชื่อว่าเป็นเช็ค

(2) คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน

(3) ชื่อ หรือยี่ห้อและสำนักของธนาคาร

(4) ชื่อ หรือยี่ห้อของผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ

(5) สถานที่ใช้เงิน

(6) วันและสถานที่ออกเช็ค

(7) ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย

มาตรา 898 อันตั๋วเงินตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้มีสามประเภท ๆ หนึ่ง

คือ ตั๋วแลกเงิน ประเภทหนึ่งคือ ตั๋วสัญญาใช้เงิน ประเภทหนึ่งคือเช็ค

อธิบาย ตั๋วเงินเป็นหนังสือตราสาร บุคคลที่จะเข้ามาเป็นคู่สัญญาในตั๋วเงินต้องมีความสามารถ ไม่ถูกข่มขู่ ปราศจากกลฉ้อฉล สมัครใจ เช่นเดียวกับนิติกรรมทั้งหลายทั่วไป

ลักษณะเด่นชัดของตั๋วเงิน คือ เป็นเอกสารที่มีข้อความเป็นคำสั่งให้จ่ายเงินให้แก่ผู้ทรงตราสาร

ตั๋วเงินมี ๓ ประเภทเท่านั้นคือ ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน และ เช็ค (ระวัง! Draft เป็นตั๋วแลกเงินธนาคาร) ใบประทวนสินค้า Letter of Credit ไม่ใช่ตั๋วเงิน

มาตรา 899 ข้อความอันใดซึ่งมิได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะนี้ ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน ท่านว่าข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่

อธิบาย ข้อความในตั๋วเงินจะมีผลบังคับเฉพาะที่กฎหมายระบุให้เขียนไว้เท่านั้น ข้อความที่กฎหมายไม่ได้ระบุไว้ให้เขียน ไม่ได้ทำให้ตั๋วตกเป็นโมฆะหรือเสียไปแต่อย่างใด ผลก็คือถือว่าไม่ได้เขียนข้อความดังกล่าวไว้เลยนั่นเอง

ข้อสังเกต ข้อความต่างๆ ที่กฎหมายบัญญัติให้เขียนได้

รายการต่างๆในตั๋วแลกเงิน (๙๐๙) ตั๋วสัญญาใช้เงิน (๙๘๓) และเช็ค (๙๘๘)

ข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลัง (๙๑๕)

ข้อกำหนดเกี่ยวกับดอกเบี้ย (๙๑๙)

ผู้สั่งจ่ายลงข้อความห้ามเปลี่ยนมือหรือห้ามโอน (มาตรา ๙๑๗ วรรค ๒) ผู้สลักหลังลงข้อความห้ามสลักหลัง (๙๒๓)

การอาวัล (๙๓๙)

การสอดเข้าแก้หน้า (๙๕๒,๙๕๗)

บันทึกข้อความที่ไม่จำต้องมีในคำคัดค้าน (๙๖๔)

บันทึกข้อความรับรองการใช้เงิน (๙๓๑) ธนาคารรับรองเช็ค ๙๙๓ วรรคแรก)

การลงข้อความกำหนดห้ามเปลี่ยนมือหรือห้ามโอน (๙๙๕)

ฎีกาที่ ๓๗๕๙/๒๕๔๒ การที่จำเลยขีดเส้นดำไว้ในช่องวันที่ การกระทำดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจไว้ว่าให้กระทำได้ ข้อความดังกล่าวจึงหาเป็นผลอย่างหนึ่งใดแก่เช็คไม่ ถือว่าจำเลยออกเช็คโดยไม่ได้ลงวันที่ เมื่อโจทก์ได้รับเช็คและนำเข้าบัญชี โจทก์หรือเจ้าหน้าที่ธนาคารจึงลงวันที่ในเช็คได้ตามมาตรา ๙๐๐ ประกอบ ๙๘๙

ฎีกาที่ ๔๒๐๑/๒๕๓๐ ข้อความตามตราประทับด้านหลังตั๋วสัญญาใช้เงินมีใจความว่าตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นจะสมบูรณ์ต่อเมื่อเช็คเรียกเก็บเงินได้เรียบร้อยแล้วนั้น เป็นข้อความที่ขัดต่อ ๙๘๒(๒) จึงไม่มีผลบังคับ