วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2554

ผู้ทรง มาตรา 904

มาตรา 904 อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงิน หรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน

อธิบาย ผู้ทรงตั๋วมีลักษณะสำคัญ ๒ ประการคือ

มีตั๋วเงินไว้ในครอบครอง

ได้ครองครองตั๋วเงินไว้ในฐานะใดฐานะหนึ่งใน ๓ ฐานะ คือ ๑.โดยฐานะเป็นผู้รับเงิน ๒. เป็นผู้รับสลักหลัง ๓. ฐานะเป็นผู้ถือ

ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่เรียกว่าเป็นผู้ทรง เช่น ผู้สั่งจ่ายออกตั๋วจ่ายดำแต่ตั๋วหายไปเสียก่อน ดำไม่มีตั๋วในความครอบครองดำไม่ใช่ผู้ทรง หรือผู้ที่เก็บตั๋วหายได้ก็มิใช่ผู้ทรงแม้จะเป็นตั๋วผู้ถือที่โอนได้ด้วยการส่งมอบก็ตามเพราะมิได้รับการส่งมอบจากผู้มีสิทธิในตั๋วเงิน มิใช่ผู้ครอบครองตั๋วโดยสุจริต ผู้ยึดถือตั๋วเงินไว้แทนผู้อื่นถือว่าครอบครองแทนไม่เป็นผู้ทรง

ผู้ทรงในแต่ละฐานะย่อมเกิดขึ้นได้ดังนี้

๑. ฐานะเป็นผู้รับเงิน เกิดขึ้นในกรณีนายแดงผู้สั่งจ่ายระบุชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงินเอาไว้ในตั๋วเรียกว่า ตั๋วระบุชื่อ เช่น จ่าย.............นายดำ.........................

๒. เป็นผู้รับสลักหลัง เกิดขึ้นในกรณีตั๋วระบุชื่อนั้นถูกสลักหลังโอนให้ผู้อื่นรับประโยชน์ต่อไป เช่น นายดำ สลักหลังตั๋วโอนให้นายขาวต่อไป

๓. ฐานะเป็นผู้ถือ เกิดขึ้นในกรณีกรณีนายแดงผู้สั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือเช่น.จ่าย............ผู้ถือ หรือระบุชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงินเอาไว้ในตั๋วเช่น จ่าย.............นายดำ.....................หรือผู้ถือ โดยมิได้ขีดฆ่าคำว่าผู้ถือออก

สรุป จากมาตรา ๙๐๔ ตั๋วเงินมี ๒ ประเภท คือตั๋วระบุชื่อและตั๋วผู้ถือ ซึ่งวิธีการโอนต่างกัน

ผู้ยึดถือตั๋วเงินไว้แทนผู้อื่นถือว่าครอบครองแทนไม่เป็นผู้ทรง

ฎีกาที่ ๑๐๘๔/๒๕๔๒ จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบแก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาท เมื่อเช็คถึงกำหนดแม้โจทก์จะนำเข้าบัญชีมารดาเพื่อเรียกเก็บเงินและถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ก็เป็นเพียงการนำเช็คเข้าเรียกเก็บเงินโดยอาศัยบัญชีของมารดาแทนเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในคดีว่าโจทก์ได้มอบหรือโอนสิทธิอันเกิดแต่เช็คพิพาทให้แก่มารดาโจทก์แล้ว โจทก์ก็ยังคงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทอยู่ในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจ

ฟ้องคดีได้

การเป็นผู้ทรงถือว่าเป็นผู้ทรงทั้งฉบับ

ฎีกาที่ 183/2526 จำเลยออกเช็ค 300,000 บาท ชำระหนี้โจทก์ โจทก์ส่งมอบเช็คนั้นชำระหนี้ 200,000 บาท ให้ ก. ถือได้ว่าโจทก์ส่งมอบเช็คทั้งฉบับ ก.จึงเป็นผู้ทรงเช็คทั้งฉบับ ส่วนข้อตกลงมีอยู่อย่างไร เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับ ก. เมื่อ ก. นำเช็คไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ก. ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คจึงเป็นผู้เสียหายแต่ผู้เดียวโจทก์หาใช่ผู้เสียหายด้วยไม่

การรับโอนเช็คมาหลังธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินก็เป็นผู้ทรงเช่นเดียวกัน

ฎีกาที่ 4383/2545 ผู้ทรงเช็คที่จะมีอำนาจฟ้องผู้สั่งจ่ายให้ใช้เงินตามเช็ค ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ทรงเช็คขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเท่านั้น ผู้ที่รับโอนเช็คมาโดยสุจริตหลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินก็เป็นผู้ทรงเช็คที่มีอำนาจฟ้องผู้สั่งจ่ายให้ใช้เงินตามเช็คได้ โจทก์จะเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทขณะยื่นฟ้อง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้

ผู้ทรงเช็คถึงแก่ความตายก่อนเช็คถึงกำหนดทายาทเป็นผู้ทรงต่อไปเพราะเป็นทรัพยมรดก

ฎีกาที่ 3619/2543 เช็คพิพาทในคดีนี้ทั้งสองฉบับถึงกำหนดภายหลังจากที่ ป. ถึงแก่ความตาย

สิทธิตามเช็คจึงเป็นมรดกตกได้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทผู้ตายทันที ตามป.พ.พ. มาตรา 1599 โจทก์ทั้งสามจึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทย่อมถือได้ว่าโจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายและเป็นผู้เสียหายโดยตรงมีอำนาจฟ้องคดีนี้


2 ความคิดเห็น:

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น