วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

คำว่า "ภายใต้บังคับมาตรา..." ศึกษากรณีการเลือกตั้งปี 54




คำว่า "ภายใต้บังคับมาตรา..." นี้ เป็นปัญหาที่ทำให้นักกฎหมายได้รับความปวดหัวในการตีความหรือวินิจฉัยพอสมควร เพราะคำนี้ไม่ได้รับการศึกษาอย่างแตกฉานในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท แต่หากเป็นที่เนติบัณฑิตแล้ว จะได้รับการเรียนการสอนอย่างลึกซึ้ง ด้วยเหตุ ผู้ที่ผ่านการเรียนเนติบัณฑิตส่วนมากจะเข้าสู่การเป็นผู้พิพากษา อัยการ ซึ่งต้องใช้มาตรานี้กันเป็นประจำ ดังนั้น จึงไม่แปลกสำหรับผู้ที่ไม่ได้ศึกษาเนติบัณฑิต (บางท่าน) จะไม่ค่อยมีความเข้าใจ

มาตรา ๘๘ ในเขตเลือกตั้งใด ถ้าในวันเลือกตั้งมีผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับหรือน้อยกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะพึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น ผู้สมัครจะได้รับเลือกตั้งต่อเมื่อได้รับคะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นและมากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง ในกรณีที่ผู้สมัครผู้ใดได้รับคะแนนเลือกตั้งน้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นหรือไม่มากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนน ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยให้รับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เฉพาะตำแหน่งที่ได้รับคะแนนน้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่มากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์ลงคะแนนเลือกตั้งและให้นำความในมาตรา ๙ มาใช้บังคับ

ในการเลือกตั้งใหม่ตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีจำนวนผู้สมัครเท่ากับหรือน้อยกว่าจำนวนตำแหน่งที่ต้องเลือกตั้งใหม่ ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม และถ้ามีผู้สมัครผู้ใดได้คะแนนเลือกตั้งน้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นอีกหรือได้ไม่มากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยดำเนินการตามวรรคหนึ่งอีกครั้งหนึ่ง

ในการเลือกตั้งใหม่ตามวรรคสอง ถ้ามีจำนวนผู้สมัครเท่ากับจำนวนที่ต้องเลือกตั้งใหม่ให้ผู้สมัครซึ่งได้คะแนนเลือกตั้งมากที่สุดเรียงตามลำดับลงมาเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งตามจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องเลือกตั้งใหม่นั้น โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้งให้ผู้สมัครเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งภายในระยะเวลาตามมาตรา ๘

ในกรณีที่มีการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามวรรคสอง หากปรากฏว่ามีผู้สมัครน้อยกว่าจำนวนที่ต้องเลือกตั้งใหม่หรือไม่มีผู้สมัคร ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มเติม เพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบจำนวนและให้นำความในวรรคสองและวรรคสาม และความในส่วนที่ ๕ ผู้สมัครและการสมัครรับเลือกตั้ง ๒. การสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

หลักเกณฑ์สำคัญในมาตรา ๘๘
ในกรณีที่ผู้สมัครผู้ใดได้รับคะแนนเลือกตั้งน้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นหรือไม่มากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนน ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่
โดยให้รับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เฉพาะตำแหน่งที่ได้รับคะแนนน้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่มากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์ลงคะแนนเลือกตั้ง

เมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์สำคัญตามนี้แล้วจะได้ความว่า ถ้าในเขตเลือกตั้งใด
๑. ผู้สมัครได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละยี่สิบของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง หรือ
๒.ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด ยังได้คะแนนเสียงไม่มากกว่า (หมายถึงน้อยกว่าและเท่ากับด้วย แต่ถ้ากฎหมายเขียนว่าไม่น้อยกว่า ได้คะแนนเสียงเท่ากับคะแนนเสียงของผู้ไม่ประสงค์ออกเสียงจะไม่อยู่ในบังคับ ยกตัวอย่างเช่น ข้อหนึ่งกฎหมายใช้คำว่า ไม่น้อยกว่า หมายความว่า ถ้าได้คะแนนเสียงเท่ากับร้อยละยี่สิบพอดีไม่ต้องเลือกตั้งใหม่ ส่วนข้อสอง ถ้าได้คะแนนเสียงเท่ากับคะแนนเสียงของผู้โหวตโนก็ยังคงต้องเลือกตั้งใหม่) คะแนนเสียงของผู้ไม่ประสงค์จะออกเสียงเลือกตั้ง (โหวตโน) ต้องมีการเลือกตั้งใหม่

มาตรา ๘๙ ภายใต้บังคับมาตรา ๘๘ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ผู้สมัครซึ่งได้คะแนนเลือกตั้งมากที่สุดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง แต่ในเขตเลือกตั้งที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้มากกว่าหนึ่งคน ให้ผู้สมัครซึ่งได้คะแนนเลือกตั้งมากที่สุดเรียงตามลำดับลงมาในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งตามจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะพึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น

ปัญหาว่า มาตรา ๘๙ ต้องบังคับเงื่อนไขของจำนวนคะแนนเสียงตามมาตรา ๘๙ หรือไม่
ดังนี้ เมื่อกฎหมายบัญญัติว่า "ภายใต้
บังคับของมาตรา..." ย่อมแสดงว่า มาตรานั้นต้องอยู่ภายใต้บังคับ กล่าวคือ ต้องใช้เงื่อนไขตามมาตราที่บังคับเหนือกว่า ในกรณีนี้ มาตรา ๘๙ ต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา ๘๘ ดังนั้น มาตรา ๘๙ ไม่ว่าจะใช้ในกรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งได้คะแนนเสียงกี่คนก็ตาม ก็ยังคงต้องบังคับเงื่อนไขของคะแนนเสียงตามมาตรา ๘๘

และเรื่องนี้เป็นหลักสากลในการพิจารณาข้อกฎหมายมาช้านาน ตัวอย่างเช่น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๘
มาตรา 288 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่ง มาตรา 55 ถ้าบุคคลใด กล่าวอ้างว่าจำเลย หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สิน ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ ก่อนที่ได้เอาทรัพย์สินเช่นว่านี้ออก ขายทอดตลาด หรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อ ศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ปล่อยทรัพย์สินเช่นว่านั้น ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้กล่าวอ้างนั้นนำส่งสำเนาคำร้องขอแก่โจทก์หรือเจ้าหนี้ตาม คำพิพากษา และจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงาน บังคับคดีโดยลำดับ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับคำร้องขอเช่นว่านี้ ให้งดการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินที่พิพาทนั้นไว้ในระหว่าง รอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลดั่งที่บัญญัติไว้ต่อไปนี้

มาตรา
55 เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของ บุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้


บทบัญญัติมาตรา ๒๘๘ เป็นเรื่องที่บุคคลมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้ศาลปล่อยทรัพย์ที่ยึดได้ แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ใครก็จะยื่นคำร้องขอให้ปล่อยได้ จะมีอำนาจยื่นคำร้องก็ต่อเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขในมาตรา ๕๕ เสียก่อน คือจะต้องเป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิ หรือมีกฎหมายรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลได้ เช่นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ
ดังนั้นผู้ซึ่งไม่มีกรรมสิทธิในทรัพย์ที่ยึดไม่อาจร้องขอต่อศาลให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 1823/2493 ว่าประเด็นเรื่องร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ถูกยึดมีว่า ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกยึดหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 และ 55 ผู้ใช้สิทธิทางศาลขอให้ปล่อยทรัพย์หาต้องมีกรรมสิทธิ์หรือทรัพยสิทธิในทรัพย์นั้นไม่ ผู้มีส่วนได้เสีย (ซึ่งในคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้คือกรมป่าไม้ผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาไม้หวงห้าม) มีสิทธิร้องขัดทรัพย์ขอให้ปล่อยไม้หวงห้ามที่ถูกยึดได้

คำพิพากษาฎีกาที่
1824/2493 ก็วินิจฉัยอย่างเดียวกัน โดยถือว่าผู้รับสัมปทานจากรัฐบาลให้มีสิทธิเข้าถือเอาไม้ในป่าตามที่กำหนดไว้ ก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะมีสิทธิร้องขัดทรัพย์ได้

กล่าวโดยสรุป เสียงโหวตโนยังคงครอบมาถึงมาตรา ๘๙ อย่างไม่ต้องสงสัย



2 ความคิดเห็น:

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น