วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ม.27 ป.วิแพ่ง

กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ หมายถึง การใดที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม หรือที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการเขียนและการยื่นหรือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่น ๆ หรือในการพิจารณาคดี การพิจารณาพยานหลักฐาน หรือการบังคับคดี

มาตรา 27 ในกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม หรือที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการเขียนและการยื่นหรือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่น ๆ หรือในการพิจารณาคดี การพิจารณาพยานหลักฐาน หรือการบังคับคดี เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เสียหายเนื่องจากการที่มิได้ปฏิบัติเช่นว่านั้นยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือ

สั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควร

ข้อค้านเรื่องผิดระเบียบนั้น คู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจยกขึ้นกล่าวได้ไม่ว่าในเวลาใดๆก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น แต่ทั้งนี้คู่ความฝ่ายนั้นต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่ หลังจากที่ได้ทราบเรื่องผิดระเบียบแล้ว หรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้น ๆ

ถ้าศาลสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบใดๆ อันมิใช่เรื่องที่คู่ความละเลยไม่ดำเนินการพิจารณาเรื่องนั้นภายในระยะเวลาซึ่งกฎหมายหรือศาลกำหนดไว้เพียงเท่านี้ไม่เป็นการตัดสิทธิคู่ความฝ่ายนั้น ในอันที่จะดำเนินกระบวนพิจารณานั้น ๆ ใหม่ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบังคับ

อธิบาย

ข้อผิดระเบียบที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยในเรื่องการพิจารณา

5285/2537 โจทก์จำเลยท้ากันให้ผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์ตัวเลขว่าได้เขียนในคราวเดียวกันหรือเขียนขึ้นในภายหลัง กับตัวเลขดังกล่าวเขียนด้วยปากกาคนละด้ามหรือไม่ ศาลชั้นต้นมีหนังสือขดให้ผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์ในประการแรกมิได้ขอให้พิสูจน์ในประการหลังด้วย จึงไม่เป็นไปตามคำท้า การที่ศาลมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามคำท้าให้ครบถ้วน จึงเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27

5614/2538 จำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้ ช. ต่อสู้คดีแทน ช. จึงมีอำนาจแต่งตั้ง ว. เป็นทนายความแทนจำเลยที่ 2 เพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาได้โดยไม่ต้องได้รับมอบอำนาจให้แต่งทนายความอีกและ ว. ย่อมมีอำนาจลงนามในคำให้การและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยที่ 2 ได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการต่าง ๆ ที่ ว. ทำแทนจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบ และเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณา

และในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม จึงสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่เฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวโดยให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ภาค 1 และให้มีผลตลอดถึงจำเลยที่ 1 ด้วยเพราะหนี้ระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยทั้งสองเป็นหนี้ร่วม

หากเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลยพิจนิจในกระบวนพิจารณาที่ดำเนินการไปโดยชอบ ไม่ถือว่าเป็นการผิดระเบียบ

3375/25 การที่โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยโดยอ้างว่าตกลงกันได้ เกิดจากความสมัครใจของโจทก์เอง เมื่อจำเลยไม่ค้าน ศาลชั้นต้นจึงสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้อง มิใช่กรณีที่ศาลอนุญาตให้โดยผิดพลาดอันจะเป็นเหตุให้ศาลเพิกถอนคำสั่งได้ตาม ป.ว.พ. ม.27 ประกอบด้วย ป.ว.อ.ม.15 ที่โจทก์มาอ้างภายหลังว่าถอนฟ้องเพราะจำเลยและ จ.นำความเท็จมากล่าวให้โจทก์หลงเชื่อก็เป็นกรณีที่โจทก์จะต้องดำเนินคดีแก่จำเลยและ จ.เป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่เป็นข้ออ้างที่จะนำมาอ้างให้ศาลเพิกถอนคำสั่ง ที่ได้สั่งอนุญาตไปโดยชอบแล้วได้

6110/31 การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงได้สั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยและพยานจำเลยนั้น เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจวินิจฉัยว่าสมควรจะสืบพยานหรือไม่ มิใช่เป็นเรื่องการพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม มาตรา 27 และคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อจำเลยมีเวลาที่จะโต้คำสั่งนั้นก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึง 6 วัน แต่มิได้โต้แย้งไว้ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 266 (2)

133/49 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง โดยมีสำเนาทะเบียนบ้านแนบท้ายคำร้องซึ่งมีข้อความระบุว่าผู้ร้องย้ายภูมิลำเนาจากบ้านเลขที่ 17/115 ไปที่บ้านเลขที่ 30/5 ก่อนวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ปิดหมายตามคำแถลงของโจทก์ นอกจากนี้ตามบันทึกการปิดหมายของเจ้าหน้าที่ศาลก็ระบุว่า เจ้าหน้าที่ศาลได้รับแจ้งจากบุคคลใกล้เคียงว่า ผู้ร้องได้ย้ายบ้านใหม่แล้ว กรณีเช่นว่านี้นับว่ามีเหตุผลตามสมควรที่ศาลชั้นต้นจะทำการไต่สวนให้ได้ข้อเท็จจริงที่แน่ชัดเสียก่อนว่าในขณะที่มีการส่งหมายนัดไต่สวนนั้น ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ ณ บ้านที่มีการส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องหรือไม่ เพราะหากข้อเท็จจริงได้ความตามคำร้องย่อมเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบและทำให้ผู้ร้องเสียหายเพราะไม่มีโอกาสได้คัดค้านคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของโจทก์ การที่ศาลชั้นต้นด่วนมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยไม่ทำการไต่สวนคำร้องให้ทราบข้อเท็จริงแน่ชัดเสียก่อนเช่นนี้ เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบ

หากเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลยพิจนิจในกระบวนพิจารณาที่ดำเนินการไปโดยไม่ชอบ ก็ต้องถือว่าเป็นการผิดระเบียบ

1794/2544 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งแรกศาลชั้นต้นอนุญาตให้ถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ภายในเวลาดังกล่าว ครั้น

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 2 โดยมิได้อ้างเหตุสุดวิสัย แม้ศาลชั้นต้นได้รับคำร้องของจำเลยไว้พิจารณาและมีคำสั่งอนุญาตแล้ว ก็เป็นการสั่งไปโดยผิดหลง หาเป็นการถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายไม่ เพราะการใช้ดุลพินิจของศาลนั้นจะต้องใช้ดุลพินิจที่ยืนอยู่บนความถูกต้องตามกฎหมาย มิใช่เป็นการสั่งไปโดยผิดหลง จึงถือไม่ได้ว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้จำเลย เป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ


อาจเกิดจากความหลงลืมของศาลเอง

2994/2543 การประนีประนอมยอมความที่ศาลจะพิพากษาตามยอมได้ ศาลต้องสั่งรับฟ้องคดีนั้นแล้ว

โจทก์ฟ้องพร้อมยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้อง ส่วนคำฟ้องรอไว้สั่งเมื่อไต่สวนคำร้องขออนาถาเสร็จแล้วระหว่างไต่สวนโจทก์จำเลยทั้งหกตกลงกันและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมโดยศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำสั่งให้รับฟ้องโจทก์ จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตาม

ป.วิ.พ. ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม คำพิพากษา คำบังคับและหมายบังคับคดีที่ออกตามคำพิพากษาตามยอมจึงไม่ชอบ เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีอำนาจยึดทรัพย์สินของจำเลย

5369/2543 ข้อเท็จจริงปรากฏแก่ศาลชั้นต้นตั้งแต่บัดนั้นแล้วว่า จำเลยเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรประจำการ จำเลยจึงเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหารฯ มาตรา 16 (1)

ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลพลเรือนจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีจำเลยก่อนมีคำสั่งประทับฟ้องแล้ว ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาต่อมา จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดหลงที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีในเวลาต่อมาภายหลังนั้นเป็นการแก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดพลาดให้ถูกต้อง

หาใช่ที่กรณีที่ศาลชั้นต้นได้ทีคำสั่งประทับฟ้องไว้ในคณะที่ยังไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลทหาร

อาจเกิดจากความไม่รู้ข้อเท็จจริงของศาล

คร.1060/31 เหตุที่ศาลฎีกาได้ทำคำพิพากษาส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่านให้คู่ความฟัง เพราะปรากฏในสำนวนว่าโจทก์มิได้ยื่นฎีกาภายในกำหนดทั้งที่ความจริงได้มีการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และโจทก์

ได้ยื่นฎีกาภายในกำหนดแล้ว แต่หลักฐานไปปรากฏอยู่ในสำนวนอื่น การอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งเกิดจากข้อผิดพลาดดังกล่าวอันเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลฎีกาเพิกถอนการอ่านคำพิพากษา และให้ศาลชั้นต้นส่งคำพิพากษาศาลฎีกาคืน

วรรคสอง ข้อความที่ว่า ข้อค้านเรื่องผิดระเบียบนั้น คู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจยกขึ้นกล่าวได้ไม่ว่าในเวลาใดๆก่อนมีคำพิพากษา ใช้บังคับแต่เฉพาะกรณีที่คู่ความฝ่ายที่เสียหายได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างของการผิดระเบียบนั้นก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเท่านั้น แต่ถ้ารู้ในระหว่างพิจารณาต้องยื่นภายใน แปดวันนับแต่วันที่รู้ (รู้ 8 วัน ไม่รู้ก่อนศาลพิพากษา)

5047/2547 หลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 2 ได้แต่งทนายความเข้ามาในคดีและทนายจำเลยที่ 2 ยื่นคำแถลงขอคัดหรือถ่ายเอกสารต่างๆ ในสำนวนคดีเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2542 แสดงว่าจำเลยที่ 2 ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างในเรื่องผิดระเบียบเช่นว่านี้อย่างช้าในวันดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยที่ 2 เพิ่งยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบในวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 จึงล่วงเลยกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง แล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

หากคู่ความทราบกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา คู่ความฝ่ายนั้นต้องยกขึ้นอ้างภายใน 8 วันเช่นกัน

5876/2545 การขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 หาจำต้องยื่นคำร้องต่อศาลก่อนศาลมีคำพิพากษาเสมอไปไม่ หากคู่ความฝ่ายที่เสียหายเพิ่งทราบกระบวนพิจารณาที่ผลระเบียบภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว ก็ชอบที่จะใช้สิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบได้ แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น