วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เหยียดหยามศาสนา มาตรา 206


ความผิดฐานเหยียดหยามศาสนา ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 206

ความผิดฐานเหยียดหยามศาสนา ไม่ค่อยมีคำพิพากษาฎีกาให้เราได้ศึกษากันมากนัก ด้วยประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ คนไทยส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชน จึงไม่ค่อยเห็นการกระทำอันเป็นการเหยียดหยามศาสนาเท่าไรนัก
ความผิดฐานนี้ ไม่ได้มีเจตนารมณ์เพื่อปกป้อง วัตถุหรือสถานของแต่ละศาสนา หากแต่มีเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อปกป้องความรู้สึกของประชาชนในการนับถือศาสนา การพิจารณาความผิดตามมาตรานี้ จึงต้องนำความรู้สึกของวิญญูชนในแต่ละศาสนาเข้าคำนึงประกอบหากวิญญูชนเห็นว่า เป็นการเหยียดหยามศาสนา ก็ต้องถือว่าเป็นการเหยียดหยามศาสนา แม้ผู้กระทำจะอ้างว่าตนไม่ได้มีเจตนาเหยียดหยามศาสนา แต่กระทำไปด้วยเจตนาอื่นก็ตาม

มาตรา ๒๐๖ ผู้ใด กระทำด้วยประการใดๆ แก่ วัตถุ หรือ สถาน อันเป็นที่เคารพ ในทางศาสนา ของหมู่ชนใด อันเป็นการเหยียดหยาม ศาสนานั้น ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ หนึ่งปี ถึง เจ็ดปี หรือ ปรับตั้งแต่ สองพันบาท ถึง หนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1807/2550 พิพากษาว่าพระพุทธรูปเป็นที่เคารพสักการะในทางศาสนาของประชาชนผู้นับถือศาสนาพุทธทั่วไป การกระทำของจำเลยตามที่ปรากฏในภาพถ่าย จำเลยแต่งกายเป็นภิกขุแล้วใช้เท้าข้างหนึ่งยืนอยู่บนฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติ โดยเท้าจำเลยอยู่บนส่วนหนึ่งของพระบาทพระพุทธรูปยกมือขวาขึ้นเลียนแบบพระพุทธรูป ส่วนใบหน้าของจำเลยแสดงท่าทางล้อเลียนถลึงตาอ้าปากเช่นนี้ นอกจากจะเป็นการไม่เคารพต่อพระพุทธรูปแล้ว จำเลยยังได้แสดงตนเสมอกับพระพุทธรูป จึงเป็นการกระทำอันไม่สมควรและเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามพุทธศาสนา จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้องที่จำเลยอ้างว่า จำเลยทำพิธีรักษาโรคโดยนั่งเพ่งกระแสจิตเกิดตัวลอยขึ้นไปยืนอยู่บนฐานพระพุทธรูปไม่มีเจตนาล้อเลียนนั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่สมเหตุสมผลและไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ คงจำคุก 8 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2

จากคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว จะเห็นว่า แม้จำเลยจะอ้างว่าตนไม่ได้มีเจตนาเหยียดหยามพระพุทธรูป หากแต่ตนมีเจตนาทำพิธีรักษาโรคก็ตาม

ความรู้สึกของพุทธศาสนิกชนเกี่ยวกับพระพุทธรูปนี้ เปราะบาง เพราะพุทธศาสนิกชนอาศัยพระพุทธรูปเพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้า เหมือน อาศัยรูปถ่ายบิดามารดาที่เสียชีวิตไปแล้ว เพื่อนึกถึงบิดามารดา เพื่อให้พระพุทธเจ้าทรงมีรูปธรรมปรากฏมากกว่าเป็นเพียงแค่นามธรรมจึงได้มีการสร้างพระพุทธรูป เหมือนกับการสร้างอนุสรณ์สถาน หรืออนุสาวรีย์วีรชน ก็เพื่อให้วีรชนเหล่านั้น (เช่นบางระจัน) มีรูปธรรมมากกว่าเป็นเพียงแค่นามธรรมที่นับวันจะถูกลืม

หากไม่มีบทกฎหมายมาตรานี้ปกป้องความรู้สึกของพุทธศาสนิกชน ไม่แน่..ลางที ต่อไปในอนาคต พุทธศาสนิกชนอาจเจ็บปวดใจ จากการที่มีผู้คนบางกลุ่มบางพวก นำพระพุทธรูปมาเหยียบ มาเผา มาทำลาย กันอย่างไม่ต้องเกรงใจ ไม่ต้องใส่ใจความรู้สึกของใคร



3 ความคิดเห็น:

  1. มันทำแล้วทางใต้งัย....

    ตอบลบ
  2. แม่นัท ตอนนี้ผมบอกตามตรง ผมตั้งกระทู้โจมตีพระเกษมในสนุกเยอะมากครับ

    แวะมาอ่านกฏหมายมาตรา206ของแม่นัทครับ ^^

    ตอบลบ
  3. จ้าพ่อเอก ตอนนี้คดีพระเกษมอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ถ้าศาลอุทธณ์กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ก็ต้องฎีกา (หมายถึงถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าผิด) กรณีเช่นนี้เคยมีฎีการองรับเป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว อย่างที่นำเสนอนี่หล่ะพ่อเอก

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น