วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กฎหมายแพ่งว่าด้วยบุคคล 1 สภาพบุคคล

สภาพบุคคลมีความสำคัญอย่างไร ทำใมเราต้องศึกษาเกี่ยวกับสภาพของบุคคล เพราะ การจะมีสิทธิต่างๆ ได้ต้องมีสภาพบุคคลเสียก่อน และในการวินิจฉัยคดีอาญาก็ต้องพิจารณาเรื่องการมีสภาพบุคคลของคนเสียก่อน เช่น ดำยิงแดง แต่แดงได้ตายไปก่อนหน้านั้นแล้ว ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องของสภาพบุคคล เราจะไม่สามารถวินิจฉัยความรับผิดของดำได้เลย ด้วยเหตุว่า สภาพบุคคลเป็นองค์ประกอบภายนอกของการกระทำความผิด ฐาน " ฆ่าผู้อื่น"

หรือการที่จอมขมังเวช ผ่าท้องศพตายทั้งกลม (ไม่ใช่ท้องกลม ต้องอ่านและเขียนว่าทั้งกลมซึ่งแปลว่า ทั้งหมด คือทั้งแม่ทั้งลูก) แล้วเอาเด็กในท้องศพมาทำกุมาร มีความผิดฐานทำลายศพหรือไม่ ถ้าเราไม่เข้าใจว่า สภาพบุคคลเริ่มเมื่อไหร่ เราจะวินิจฉัยผิดพลาด เพราะไปเข้าใจว่าผิดฐานทำลายศพ จะเป็นศพได้ต้องเกิดก่อน เกิดแล้วตายจึงเรียกว่า ศพ หากยังไม่เกิด ยังไม่คลอดจะตายไม่ได้้ เมื่อตายไม่ได้ ก็ไม่เป็นศพ


ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 15 สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดและอยู่รอดเป็นทารก สิ้นสุดลงเมื่อตาย

ทารกในครรภ์มารดาก็สามารถมีสิทธิต่าง ๆ ได้ หากว่าภายหลังคลอดแล้วรอดอยู่เป็นทารก

อธิบาย การพิจารณาสภาพบุคคลมีความสำคัญมาทั้งในทางแพ่งและทางอาญา

ในทางแพ่งเพื่อวินิจฉัยถึงสิทธิหน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผูกพันกับบุคคลอื่นด้วย

มาตรา 1604 บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถมีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่าเด็กที่เกิดมารอดอยู่ภายในสามร้อยสิบวันนับแต่เวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายนั้นเป็นทารกในครรภ์มารดาอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย

หมายความว่า บุคคลธรรมดา หรือมนุษย์เรานี่เอง จะมีสิทธิรับมรดกของบุคคลอื่นต้องมีสภาพบุคคลเสียก่อน เช่น นายดำ เป็นบิดาของเด็กชายแดง เมื่อนายดำถึงแก่ความตายทรัพย์สินของนายดำเรียกวา มรดก จะตกได้แก่เด็กชายแดง ถ้าเด็กชายแดงยังไม่คลอดออกมาหล่ะ ยังอยู่ในท้องของนางเหลือง ภรรยาของนายดำ แต่นายดำตายเสียก่อนเด็กชายแดงจะคลอดออกมาหล่ะ เด็กชายแดงยังอยู่ในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกหรือไม่ ต้องดูว่าเด็กชายแดงเมื่อคลอดแล้วสามารถอยู่รอดเป็นทารกได้หรือไม่ ถ้าอยู่รอดได้ เด็กชายแดงก็มีสิทธิได้รับมรดก ตาม มาตรา 1604 ประกอบกับ มาตรา 15

หัวใจของมาตรา 15 ก็คือการเริ่มสภาพบุคคลซึ่งต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการ

1. การคลอด

2. อยู่รอดเป็นทารก

การคลอด คืออะไร การคลอดตามพจนานุกรมฉบับราชบัญฑิตยสถาน หมายถึง การออกลูกหรือออกจากครรภ์ ฟังดูเหมือนเข้าใจง่าย แต่การวินิจฉัยพฤติการณ์ การออกลูกหรือออกจากครรภ์นี่หล่ะเป็นเรื่องยาก เช่น หัวโผล่ออกมาจากช่องคลอดแล้วแต่ตัวยังไม่โผล่ ถือเป็นการคลอดแล้วหรือยัง หรือคลอดแล้วทั้งตัวยังไม่ตัดสายสะดือเป็นการคลอดแล้วหรือยัง ต้องอาศัยหลักวิชาการแพทย์เพื่ออธิบายการคลอด

พระยาเทพวิทุร อธิบายไว้ในคำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่า ที่ว่าคลอดแล้วนั้นหมายถึงการคลอดที่สำเร็จบริบูรณ์ตามวิชาแพทย์

การคลอดที่สำเร็จบริบูรณ์ตามวิชาแพทย์แผนปัจจุบัน คือการที่ทารกแยกร่างกายออกจากร่างกายมารดาแล้วทั้งสิ้นคือไม่มีส่วนใดของร่างกายทารกยังอยู่ในร่างกายมารดาอีก ชีวิต ของทารกเริ่มเมื่อมีการหายใจ การหายใจได้เองโดยไม่ต้องใช้ออกซิเจนจากมารดา อธิบายได้ถึงชีวิตของบุคคลคนหนึ่งได้เริ่มขึ้นแล้ว ดังนั้น ถ้าเด็กชายแดงคลอดออกมาจากครรภ์นางเหลืองทั้งตัวแล้ว และ ได้หายใจเองแล้วเด็กชายแดงมีสภาพบุคคลแล้ว มีสิทธิและหน้าที่ตามที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้แล้ว เด็กชายแดงจึงมีสิทธิรับมรดกนายดำได้ แต่ถ้าขณะทำคลอดหมอประมาทเลินเล่อทำให้คอเด็กชายแดงหัก ขณะที่ยังออกจากครรภ์มารดามาไม่หมดทั้งตัว เมื่อดึงออกมาเด็กชายแดงไม่สามารถหายใจได้ เท่ากับว่าเด็กชายแดงคลอดแล้ว แต่ไม่สามารถอยู่รอดเป็นทารกได้เด็กชายแดงไม่มีสภาพบุคคลไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย กฎหมายไม่รับรองไม่คุ้มครองให้ เด็กชายแดงไม่มีสิทธิรับมรดกนายดำ

ถ้า เด็กชายแดงคลอดออกมาแล้ว หายใจเองได้เพียงครั้งเดียว เด็กชายแดงถึงแก่ความตายเพราะภาวะแทรกซ้อน ปัญหาว่าเด็กชายแดงจะมีสภาพบุคคลหรือยัง

การที่เด็กชายแดงออกจากครรภ์มารดามาทั้งตัวแล้ว มีการหายใจแล้วแม้เพียงครั้งเดียวก็บ่งบอกได้ว่า ชีวิตของเด็กชายแดงได้มีการดำเนินอยู่แล้ว เด็กชายแดงมีสภาพบุคคลแล้ว มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว เด็กชายแดงจึงมีสิทธิได้รับมรดกของนายดำ ส่วนรับมาแล้วจะได้ใช้หรือไม่หรือจะตกได้แก่ใครต่อเป็นเรื่องที่นักศึกษาต้องไปศึกษากันใน บรรพ 6 ว่าด้วยมรดกต่อไป

ปัญหาว่า การหายใจแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นหรือที่แสดงถึงภาวะแห่งชีวิต ถ้าเด็กคลอดออกมาแล้วไม่หายใจแต่หัวใจเต้น ตัวเขียวเชียว อย่างนี้ถือว่าอยู่รอดเป็นทารกหรือยัง

ปัญหาของการอยู่รอดเป็นทารก เป็นปัญหาสำคัญมาก ซึ่งเดิมถือเอาการหายใจได้เองเป็นเครื่องบ่งชี้การอยู่รอดเป็นทารก แต่ต่อมาทางการแพทย์ยืนยันว่า การหายใจไม่ได้หมายถึงการมีชีวิตแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่อาการต่าง ๆ เช่นการร้อง การเต้นของหัวใจการกระตุกของกล้ามเนื้อ แสดงให้เห็นถึงภาวะแห่งชีวิตได้ ซึ่งหลักการนี้เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ได้ให้ความเห็นไว้ในเรื่ององค์ประกอบของการกระทำความผิดฐาน ฆ่าผู้อื่น ตาม ปอ.มาตรา 288 ไว้ว่า ผู้อื่นซึ่งถูกกระทำนั้นต้องมีสภาพบุคคลตามกฎหมาย โดยให้ความเห็นว่า

การมีชีวิตอยู่ภายหลังคลอดเคยถือว่า พิสูจน์ได้โดยมีลมในปอดด้วยการหายใจและโดยปกติคนมีชีวิตต้องหายใจ ถ้าไม่หายใจชั่วระยะเวลาหนึ่งก็ตาย ส่วนหัวใจนั้นตามปกติเต้นตั้งแต่เด็กยังอยู่ในครรภ์ แต่อาจมีการหายใจหรือร้องตั้งแต่ยังไม่คลอดออกมาหมดตัวก็ได้และอาจคลอดออกมาแล้วไม่หายใจจนกว่าจะพ้นระยะเวลาหนึ่งจึงจะหายใจก็ได้ เหตุนี้การพิสูจน์จึงไม่ต้องอาศัยการหายใจเพียงอย่างเดียว แต่อาจพิสูจน์การมีชีวิตโดยพฤติการณ์อื่น เช่น เมื่อคลอดหมดตัวแล้วเด็กร้อง ซึ่งเป็นการหายใจนั่นเอง หรือชีพจรเต้นคือหัวใจเต้นภายหลังคลอดแล้วหรือเด็กเคลื่อนไหวตัวเองภายหลังคลอดออกมาแล้ว ถ้ามีอาการอย่างใดอย่าง หนึ่ง ดังนี้ แม้ถูกฆ่าเสียก่อนหายใจ ก็ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลมีชีวิตถูกฆ่าได้ เพราะเมื่อมีชีวิตอยู่แล้ว คลอดแล้วดังนี้ แม้จะตายทันทีหลังจากนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลตั้งแต่ขณะคลอดหมดตัวไม่ใช่ตั้งแต่เริ่มหายใจ

จริง ๆ แล้วจะบอกว่าการเริ่มชีวิตตามกฎหมายถือตามการแพทย์ก็ไม่ค่อยถูกต้องนัก คือถูกบางส่วน เนื่องจากในทางการแพทย์ชีวิตของทารกเริ่มตั้งแต่มีการปฏิสนธิในครรภ์มารดาทีเดียว (คล้ายกับการนับอายุของจีนซึ่งเริ่มนับตั้งแต่อยู่ในท้องแม่) แต่ตามกฎหมายไม่ถือเอาขณะอยู่ในครรภ์มารดาว่ามีสภาพบุคคล ดังนั้นถ้ามีการฆ่า หรือทำร้ายทารกในครรภ์มารดาจึงไม่ใช่ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น แต่เป็นความผิดฐานทำให้ผู้อื่นแท้งบุตร จะเห็นว่า ทำให้หญิง (ผู้อื่น ) แท้งบุตร ตามป.อาญามาตรา 302 ผู้อื่นในที่นี้ไม่ได้หมายถึงตัวเด็กแต่หมายถึงแม่เด็กนั่นเอง

ปัญหาว่าเมื่อคลอดออกมาแล้วอยู่รอดแล้ว จะมีอาการครบ 32 หรือไม่ไม่สำคัญ สภาพบุคคลนี้พิจารณาเพียง คลอด และ อยู่รอด เท่านั้น


ในบทต่อไป จะเป็นเรื่องของสิทธิของทารกในครรภ์มารดา หากบิดาตายเสียก่อนทารกคลอดออกมา ทารกนั้นสามารถเป็นทายาทรับมรดกได้หรือไม่ ต่อตอนที่ 2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น