เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ในวันที่ 26 เมษายน 2553 จึงพ้นระยะเวลา 15 วัน ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคของผู้ถูกร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาวินิจฉัยคำร้องในประเด็นอื่นอีกต่อไป ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยโดยเสียงข้างมาก 4 ต่อ 2 ว่ากระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องไม่ชอบด้วยกฎหมายกรณีนี้จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในกรณีอื่นอีกต่อไปให้ยกคำร้อง
เป็นเรื่องที่ผู้เขียนเห็นว่าสังคมเข้าใจผิดอย่างแรงว่า การยกคำร้องนี้เป็นเพราะเหตุขาดอายุความ ซึ่งไม่ถูกต้อง ในคำวินิจฉัยไม่มีส่วนใดใช้คำว่า ขาดอายุความ มีแต่ พ้นระยะเวลา ดังนั้น ในวันนี้ผู้เขียนจะอธิบายให้นักศึกษากฎหมาย ซึ่งจำเป็นต้องใช้ถ้อยคำให้ถูกต้องอย่างเคร่งครัด เข้าใจให้ถูกต้อง และขอรับใช้พี่น้องประชาชนทั่วไปให้เข้าใจด้วยการอธิบายโดยใช้ถ้อยคำง่ายๆ ดังนี้
ในเรื่องของอายุความ คือ ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ใช้สิทธิเรียกร้องในเรื่องนั้นๆ ในคดีนั้นๆ ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เช่น การหมิ่นประมาทมีอายุความสามเดือน ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์หรือได้ฟ้องคดีภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรืื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิด หรือ ในคดีแพ่ง เช่น กรณีละเมิดผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดต้องได้ฟ้องคดีภายในหนึ่งปี นับแต่วันรู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำละเมิด การฟ้องคดีที่เกินกำหนดตามที่กฎหมายบัญญัตินี้เรียกว่า "ขาดอายุความ" ในเรื่องของอายุความให้พึงเข้าใจว่า เป็นอายุเวลาสำหรับการดำเนินคดีที่บัญญัติไว้ในกฎหมายสารบัญญัติ (กฎหมายสารบัญญัติคือกฎหมายที่บอกเนื้อหาความผิด เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่ง พรบ.จราจรทางบกฯลฯ)
ในเรื่องของระยะเวลา คือ เวลาทำการตามที่ได้กำหนดไว้โดยกฎหมาย คำสั่งศาล หรือระเบียบ ข้อบังคับ หรือเวลาทำการตามปกติของกิจการนั้น แล้วแต่กรณี เช่น การยื่นคำให้การต้องกระทำภายใน สิบห้าวันนับแต่วันที่จำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง หรือ การอุทธรณ์ต้องได้กระทำภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ซึ่งจะบัญญัติไว้ในกฎหมายวิธีสบัญญัติ เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีแพ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา เป็นต้น จะไม่พบว่ามีเรื่องขาดอายุความ หรือคำ่ว่าขาดอายุความในกฎหมายวิธีสบัญญัติ ยกตัวอย่างเช่น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอันเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ
มาตรา ๒๗๑ ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา)มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษา หรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3442/2547
จำเลยมิได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาจนล่วงพ้นระยะเวลา 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 จำเลยย่อม สิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาอีกต่อไป แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าการจำนองที่ดินได้ระงับสิ้นไป การจำนองที่ดิน จึงยังคงมีอยู่ แม้จำเลยสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแต่หนี้จำนองตามคำพิพากษาแล้วก็ตาม แต่จำเลยยังคงมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จำนองตามกฎหมายกับดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเป็นเวลา 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 745หรือ
มาตรา ๑๙๗ เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคำให้การแล้ว จำเลยมิได้ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมายหรือตามคำสั่งศาล ให้ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1820/2530
การที่จำเลยซึ่งมิได้ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอนุญาตให้ยื่นคำให้การและศาลสั่งไต่สวนคำร้องดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องระหว่างศาลกับจำเลย และมิใช่เหตุที่จะทำให้โจทก์ได้รับยกเว้นหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 ในอันที่จะต้องมีคำขอต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ทั้งโจทก์จะถือว่าระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลงในวันที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การไม่ได้
การที่จำเลยซึ่งมิได้ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอนุญาตให้ยื่นคำให้การและศาลสั่งไต่สวนคำร้องดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องระหว่างศาลกับจำเลย และมิใช่เหตุที่จะทำให้โจทก์ได้รับยกเว้นหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 ในอันที่จะต้องมีคำขอต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ทั้งโจทก์จะถือว่าระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลงในวันที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การไม่ได้
จะเห็นได้ว่าไม่มีคำพิพากษาเรื่องใดใช้คำว่าขาดอายุความ ดังนั้น นักศึกษากฎหมายต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนและอย่าได้ใช้ถ้อยคำสำนวนทางกฎหมายให้ผิดเพี้ยนไปจากที่ตัวบทกฎหมายบัญญัติไว้ เพราะหากใช้คำผิดเพี้ยนไปผลจะผิดไปทั้งหมด เหมือนติดกระดุมเม็ดแรกผิดจะทำให้การวินิจฉัยผิดทั้งหมด
เพราะเมื่อเป็นเรื่องของอายุความแล้ว ในคดีแพ่งหากจำเลยไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ศาลจะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น (ห้ามใช้คำว่าเกินคำขอ เพราะคำว่าเกินคำขอเป็นคำตามป.วิ อาญา มาตรา 192 ใช้สำหรับคดีอาญาเท่านั้น) ลูกศิษย์ที่ได้ร่ำเรียนกับผู้เขียนจะทราบดีว่าผู้เขียนเป็นคนเคร่งครัดกับการใช้ถ้อยคำตามกฎหมายเพียงใด ผิดไปแม้แต่คำเดียวก็ไม่ได้
แต่หากเป็นเรื่องของการยื่นหรือการปฏิบัติกระบวนวิธีพิจารณาใดพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว จะเป็นเรื่องของการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติ อันเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศิลธรรมอันดีของประชาชน ที่ศาลสามารถหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ไม่เป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง (คดีอาญา) หรือนอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใด
ดังนั้น เมื่อได้อ่านคำวินิจฉัยในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ทุกท่านพึงเข้าใจว่า กรณีดังกล่าวมิใช่เรื่องขาดอายุความแต่เป็นเรื่องพ้นระยะเวลา ซึ่งหมายถึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติอันเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง ที่ศาลสามารถหยิบยกวินิจฉัยเองได้ แม้จำเลยจะไม่ได้ให้การต่อสู้ก็ตาม
กฎหมายนั้น หากใช้คำผิดจะทำให้ความหมายผิด การวินิจฉัยกรณีใดๆ จะขาดความถูกต้องและแม่นยำ
"ระยะเวลาคืออายุความ
แต่อายุความไม่ใช่ระยะเวลา"
ยังมีประเด็นอื่นอีกหลายประเด็นที่ผู้เขียนกำลังดำเนินการเขียนบทความออกมาอย่างต่อเนื่องขอให้แฟนคลับครูนัทจ๋า ติดตามได้ในเร็วๆ นี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น