วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ความเข้าใจที่ถูกต้องของคำว่า "กฎหมายย้อนหลัง"

การใช้กฎหมายย้อนหลังนั้น ยังมีผู้ที่ไม่เข้าใจหรือเข้าใจไม่ถูกต้องอีกจำนวนมาก เหตุเกิดเพราะความผิดพลาดในการท่องวลี "ห้ามใช้กฎหมายย้อนหลัง" โดยท่องวลีดังกล่าวไม่ครบทำให้ความหมายของกฎหมายผิดเพี้ยนไป

อันที่จริง หากต้องการท่องวลีใดทางกฎหมาย ขอให้ท่องให้ครบ จะไม่ทำให้ความหมายของวลีในทางกฎหมายผิดเพี้ยนไปได้

เช่น "ฟ้องเท็จ" ถ้าท่องแค่นี้จะทำให้เข้าใจว่า ฟ้องเท็จเป็นความผิดทั้งหมด อันที่จริง เป็นความผิดเฉพาะ "ฟ้องอาญาเท็จ" เท่านั้น เวลาท่องต้องท่องว่า "175 ฟ้องอาญาเท็จ" หากท่องได้ครบจะเข้าใจทันทีว่าฟ้องคดีแพ่งเป็นเท็จไม่มีความผิด แต่ผิดเฉพาะฟ้องคดีอาญาเป็นเท็จเท่านั้น

ในเรื่องกฎหมายย้อนหลังก็เช่นกัน การท่องวลีทางกฎหมายว่า "ห้ามใช้กฎหมายย้อนหลัง" นั้นเป็นการท่องวลีทางกฎหมายที่ไม่ครบ ทำให้เสียความหมายเข้าใจความหมายผิดเพี้ยน อันที่จริงต้องท่องว่า "กฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลังเป็นโทษแก่ผู้กระทำความผิด"

เมื่อท่องวลีดังกล่าวได้ครบ จะได้ความหมายที่ครบถ้วนสมบูรณ์ว่า การใช้กฎหมายย้อนหลังนั้นห้ามเฉพาะการใช้กฎหมายอาญาเท่านั้น ทีนี้เราต้องทำความเข้าใจว่า อะไรคือกฎหมายอาญา

กฎหมายอาญานั้น มิเฉพาะแก่กฎหมายที่มีชื่อว่า "ประมวลกฎหมายอาญา" เท่านั้น แต่หมายถึงกฎหมายทุกฉบับที่มีโทษทางอาญา โทษทางอาญาต้องไปดูที่ ป.อาญา ม.๑๘ บัญญัติไว้ ๕ ประการ ได้แก่
1. ประหารชีวิต
2. จำคุก
3. กักขัง
4. ปรับ
5. ริบทรัพย์สิน
หากกฎหมายออกมาภายหลัง แล้วย้อนหลังมาเป็นโทษแก่ผู้กระทำความผิดแล้วจะทำไม่ได้

เวลาจะท่องวลีในกฎหมาย ต้องท่องให้ครบ เพราะหากไม่ครบความหมายเปลี่ยนไปทันที ดังนั้น หากกฎหมายอาญาที่ออกมาแล้วเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดก็บังคับได้ เช่น เดิมกฎหมายเรื่องนี้บอกว่า โทษคือจำคุก หากผู้กระทำความผิดกระทำตามกฎหมายเดิม โทษต้องจำคุก ต่อมาเมื่อกฎหมายใหม่ออกมา เปลี่ยนเป็นโทษปรับ ศาลลงโทษปรับได้ค่ะ เพราะเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังในส่วนที่เป็นคุณ

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 52 นายดำกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น ไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ระวางโทษจำคุก ต่อมา วันที่ 1 ม.ค. 53 กฎหมายแก้ให้ความผิดฐานนี้มีแต่โทษปรับ เช่นนี้ เราสามารถนำโทษปรับมาใช้ลงโทษนายดำได้ เพราะเป็นการลงโทษที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ในทางกลับกัน หากกฎหมายเดิม มีโทษแค่ปรับ แต่กฎหมายใหม่ออกมามีโทษถึงจำคุก จะนำกฎหมายที่ออกใหม่ไปใช้ลงโทษจำคุกแก่นายดำในความผิดที่นายดำได้กระทำ ก่อนที่กฎหมายใหม่จะใช้บังคับไม่ได้
ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วางหลักกฎหมายไว้ดังนี้

มาตรา 2 บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการ อันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนด โทษไว้และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่ บัญญัติไว้ในกฎหมาย

ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำ เช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการ เป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับ โทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง

นอกจากนี้ยังมีการรองรับโดยรัฐธรรมนุญแห่งราชอาณาจักรไทยตลอดมาว่า

บุคคลจะไม่ต้องรับโทษอาญาเว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำผิดมิได้

หลักการดังกล่าวเป็นหลักกฎหมายสากล "No crime no punishment without law" หรือภาษาไทย แปลได้ว่า ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมาย ตรงกับหลักกฎหมายเยอรมันว่า Strafgesetzbuches ซึ่งเราก็ลอกมา หลักการดังกล่าว ใช้บังคับเฉพาะแต่ในกฎหมายอาญาเท่านั้น ดั่งเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้หลายเรื่องหลายกรณี

คำพิพากษาฎีกาที่เคยวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายที่มิได้มีผลเป็นการให้จำเลยต้องรับโทษทางอาญานั้น ไม่อยู่ในบังคับแห่งมาตรา 2 นี้ มีอยู่หลายเรื่อง เช่น

คำพิพากษาฎีกาที่ 6411/2534 ฎส.10 น.206 วินิจฉัยว่า การถอนสัญชาติไทยของบุคคลบางจำพวก แม้มีผลกระทบกระเทือนสิทธิอยู่บ้างก็ย้อนหลังได้เพราะการถอนสัญชาติไม่ใช่โทษทางอาญา

โทษทางอาญามี 5 สถาน ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ท่านควรท่องให้จำให้ได้ การถอนสัญชาติไม่ใช่ หนึ่งในห้าโทษอาญา จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 2

คำพิพากษาฎีกาที่ 219/2534 การที่ศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ไม่ใช่การลงโทษทางอาญา จึงย้อนหลังไปบังคับแก่ทรัพย์สินที่ยังคงมีอยู่ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 4593/2545 คำสั่งศาลให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมยังสถานพินิจ ไม่ใช่โทษทางอาญา จึงย้อนหลังไปบังคับให้ส่งตัวจำเลยไปยังสถานพินิจได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 9083/2544 การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นมาตรการทางกฎหมาย ไม่ใช่โทษทางอาญา ดังนั้น ศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของจำเลยได้

บทความต่อไปผู้เขียนจะขออธิบายถึง การใช้กฎหมายย้อนหลังต่อกรณีศึกษาคำวินิจฉัยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณียุบพรรคการเมือง

1 ความคิดเห็น:

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น