วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

นิติวิธีทางกฎหมายมหาชน

ในเรื่องนิติวิธีนี้ จะบอกถึงพืนฐานและวิธีคิดทางกฎหมาย ซึ่งกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชนนั้นมีพื้นฐานวิธีคิดที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น การนำวิธีคิดของกฎหมายเอกชนมาใช้กับกฎหมายมหาชนจึงทำไม่ได้

กฎหมายมหาชนคืออะไร
กฎหมายมหาชน (Public Law) นั้น คือ กฎหมายที่กำหนดสถานะ และนิติสัมพันธ์ (ความสัมพันธ์ทางกฎหมาย) ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานของรัฐกับเอกชน หรือกับหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง ในฐานะที่รัฐและหน่วยงานของรัฐเป็น "ผู้ปกครอง"
ทั้งนี้ คู่กรณีคือรัฐและเอกชน ไม่อยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียม ด้วยรัฐเป็นผู้มีอำนาจเหนือเอกชน

กฎหมายมหาชนได้แก่

1. รัฐธรรมนูญ และกฎหมายรัฐธรรมนูญ คำสองคำนี้ต่างกัน อย่าได้เรียกรัฐธรรมนูญว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญเด็ดขาดเพราะเป็นคนละเรื่องกัน รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ ส่วนกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น ประกอบด้วยกฎหมายหลายฉบับที่เป็นองค์เดียวหรือสืบเนื่องกับรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญเป็นชื่อเฉพาะ ใช้เรียกกฎหมายแม่บทของกฎหมายต่างๆ ส่วนกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นความหมายอย่างกว้างของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จึงอย่างได้เรียกรัฐธรรมนูญว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ

ส่วนกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น ได้แก่กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เช่นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง 2541 หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญต่างๆ ที่ออกตามรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

นอกจากนี้แล้ว ยังมีกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ด้วย เช่นธรรมเนียมปฏิบัิติของการรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งจะเป็นธรรมเนียมกันไม่ให้ผู้ใดเอาผิดกับพระมหากษัตริย์ในกรณีทรงลงพระปรมาภิไธย ตามธรรมเนียมปฏิบัติกฎหมายรัฐธรรมนูญ The King can do no wrong ซึ่งในเรื่องนี้ก็ไม่มีบัญญัิตเอาไว้เหมือนกัน แต่เป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ
หรือธรรมเนียมปฏิบัิติในพระราชอำนาจยับยั้งร่างกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติถึงการร่างกฎหมายและการประกาศใช้กฎหมายไว้ว่า

มาตรา 150 “ร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากรัฐสภา เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้”

ส่วนในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยในร่างพระราชบัญญัตินั้น ตามมาตรา 151 กำหนดว่า “ร่างพระราชบัญญัติใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้น 90 วัน แล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายใน 30 วัน ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว

นั้น มีความหมายว่า กฎหมายสามารถประกาศใช้ได้แม้พระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย แต่ในธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ จะไม่ทำแบบนั้น เด็ดขาด อันนี้ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัิติ เป็นธรรมเนียม แม้กฎหมายจะบัญญัติให้ประกาศได้ แต่ก็ไม่สมควรประกาศ

นอกจากนี้ยังมีกรณีต่างๆ อีก เช่น กรณีที่พระมหากษัตริย์เห็นว่า กฎหมายนั้นร่างไม่ถูกต้อง กำหนดบทมาตราผิด ต่างๆ เหล่านี้ ก็จะไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งหากทำตามรัฐธรรมนูญแล้ว ก็สามารถบังคับใช้ได้เลย แต่เมื่อคำนึงถึงธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่มีใครทำ เพราะไม่บังควร ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญก็นับเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญเช่นกัน ดังนั้น กฎหมายรัฐธรรมนูญจึงมีสภาพเป็นนามธรรม ไม่มีการใช้เรียกเป็นชื่อเฉพาะแต่อย่างใด

ไม่ว่าจะเป็น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ก็จะไม่มีการเรียกว่า กฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เช่นกัน

2. กฎหมายปกครอง คือ กฎหมายที่กำหนดโครงสร้างการบริหารงานของฝ่ายปกครองออกเป็น ราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ตลอดจนกำหนดสถานะและความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายปกครองและประชาชน เช่น พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ที่บัญญัติเกี่ยวกับ คำสั่งทางปกครองและนิติกรรมทางปกครอง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

3. กฎหมายการคลัง คือ กฎหมายที่ว่าด้วยรายรับและรายจ่ายของรัฐ เช่น พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พระราชบัญญัติเงินคงคลัง

4. กฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ คือ กฎหมายมหาชนที่ว่าด้วยการแทรกแซงทางเศรษฐกิจของรัฐ เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป กฎหมายมหาชนคือกฎหมายที่รัฐใช้ปกครองพลเมืองนั่นเอง

กฎหมายอาญามีลักษณะเป็นกฎหมายมหาชนหรือไม่ ตอบว่ามีลักษณะเป็นกฎหมายมหาชน เพราะเป็นคำสั่งที่รัฐใช้ปกครองพลเมืองหรือประชาชนในรัฐนั้น

กฎหมายบางฉบับมีลักษณะพิเศษเป็นกึ่งเอกชนมหาชน เช่น กฎหมายแรงงาน ซึ่งประกอบด้วยกฎหมายหลายฉบับ เช่น พรบ.คุ้มครองแรงงาน พรบ.วิธีพิจารณาคดีแรงงานเป็นต้น

เมื่อรู้จักกฎหมายมหาชนแล้ว เราจะมาทำความเข้าใจในนิติวิธี หรือวิธีคิดทางกฎหมายมหาชนกัน

เนื่องจากกฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับต่อประชาชนในลักษณะของความไม่เท่าเทียม ดังนั้น การใช้กฎหมายมหาชนต้องใช้อย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการตีความ หรือการขยายความก็ตาม จะต้องเคร่งครัด

กฎหมายมหาชนมีวิธีคิดคือ ทุกอย่างห้ามเว้นแต่กฎหมายให้อำนาจ

เช่น กฎหมายอาญาบอกว่า ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษ เช่นนี้เห็นได้ว่ากฎหมายห้ามฆ่าคนอื่น ฆ่าตัวตายไม่ผิด ฆ่าคนอื่นไม่ได้ หากจะฆ่าแล้วไม่ผิดกฎหมายต้องดูว่ากฎหมายให้อำนาจหรือเปล่า

หากเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วย่อมกระทำได้ เช่น นายดำเห็นคนร้ายกำลังปืนเข้ามาเพื่อลักทรัพย์ในบ้านของตนเอง นายดำจึงใช้ปืนยิงไปที่คนร้าย โดยไม่เลือกว่าจะยิงส่วนใด หวังหยุดการกระทำของคนร้าย เช่นนี้ การกระทำของนายดำเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา แต่ก็มีกฎหมายอาญาในเรื่องป้องกันให้อำนาจกระทำได้ จึงไม่ผิดกฎหมาย

หรืออีกกรณี ในรัฐธรรมนูญบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิการชุมนุมของประชาชนไว้ ว่าจะต้องชุมนุมโดยสงบ

สิทธิในการชุมนุมนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 63 ได้รับรองไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
อย่างไรก็ตาม เสรีภาพในการชุมนุมตามมาตรา 63 วรรคแรก แม้จะเป็นเสรีภาพ และแม้จะเป็นเสรีภาพตามกฎหมายมหาชนก็ตาม แต่เสรีภาพนั้น ก็อาจจะถูกจำกัดได้ด้วยกฎหมาย ดังที่ในวรรคสองของมาตรานี้บัญญัติไว้ว่า การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติ แห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ (หมายความว่า ถ้าชุมนุมในพื้นที่ส่วนตัว หรือในที่รโหฐานแล้ว ไม่เป็นไร) และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือใน ระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก

ดังนั้นจึงมีกฎหมายหลายฉบับที่บัญญัติในลักษณะจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบตามมาตรา 63 เช่น

ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 คุ้มครองความสะดวกของประชาชนในการสัญจรบนท้องถนน ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้บัญญัติห้าม การเดินขบวนในลักษณะอันเป็นการกีดขวางทางจราจรหรือกระทำการใดๆบนทางเดินเท้าหรือท้องถนนที่เป็นการกีดขวางผู้อื่นในการใช้สัญจรไปมาโดยไม่มีเหตุอันสมควรและมีการขออนุญาตใช้เส้นทางต่อเจ้าพนักงานจราจรแล้วจึงจะเป็นการเดินขบวนที่ชอบด้วยกฎหมาย

การป้องกันความเดือนร้อนรำคาญจากการใช้เสียง ตามพระราชบัญญัติคบคุมการโฆษณาโดยใช้เรื่องขยายเสียง พ.ศ.2493

พระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน
สถานการณ์ฉุกเฉิน หมายความว่า สถานการณ์อันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักรหรืออันอาจทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน หรือภาวะการรบหรือการสงครามตามที่จะได้มีประกาศให้ทราบ

กฎอัยการศึก

ประมวลกฎหมายอาญา ได้มีบทบัญญัติความผิดเกี่ยวกับการชุมนุมหรือมั่วสุมกันโดยผิดกฎหมายและกำหนดโทษทางอาญาไว้ด้วย อาทิเช่น มาตรา 215-216 ความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปเพื่อจะทำการใดๆอันก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง มาตรา 385 ความผิดฐานกีดขวางทางสาธารณะในการจราจรทางบก มาตรา 116 ความผิดฐานบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ มาตรา 117 เป็นต้น

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า กฎหมายมหาชนนั้น ทุกอย่างทำไม่ได้ การจำกัดและริดรอนสิทธิในการชุมนุมโดยสงบของประชาชนนั้นทำไม่ได้ แต่หากเกิดความไม่สงบขึ้นมาแล้ว จะจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้นจะทำได้หรือไม่ ต้องดูว่ากฎหมายให้อำนาจไว้หรือไม่ดังกล่าวมาแล้ว นั่นเอง

ต่อมา เรื่องของการตีความกฎหมายมหาชน เช่นการตีความกฎหมายอาญา ต้องตีความโดยเคร่งครัด

ตีความโดยเคร่งครัดหมายความว่า ตีความตามตัวอักษรห้ามตีความโดยขยายความให้เป็นโทษแก่ผู้กระทำความผิด แต่หากตีความโดยขยายความให้เ็ป็นคุณนั้นย่อมทำได้

ดังนั้น การท่องวลีทางกฎหมายต้องท่องให้ครบด้วยจะท่องแต่ส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ จะำทำให้ความหมายเสียไป

ตัวอย่างเช่น มาตรา 217 บัญญัติว่า ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษ

การวางเพลิงเผาทรัพย์ที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ ได้แก่การวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นเท่านั้น การวางเพลิงเผาทรัพย์ของตนเอง หรือทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิร่วมกันกับผู้อื่นจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

กฎหมายมหาชนห้ามใช้ย้อนหลัง ในส่วนนี้จะขอเขียนเพิ่มเติมในหัวข้อใหม่เพราะเป็นหัวข้อที่ยาวพอสมควร



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น