วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การรับฟังพยานหลักฐาน 1 ประเภทของพยานหลักฐาน

ในการพิจารณาคดีของศาลนั้น ศาลพิจารณาตามพยานหลักฐานที่ปรากฏต่อศาล โดยที่ศาลมิได้รู้ได้เห็นเกี่ยวกับเรื่องพิพาท แต่สามารถตัดสินคดีได้จากพยานหลักฐาน ที่ปรากฏตามท้องสำนวน และการนำสืบของคู่ความ เมื่อศาลพิจารณาพยานหลักฐานแล้ว เห็นเป็นอย่างไร จึงจะได้พิพากษาไปตามพยานหลักฐาน ในการเขียนคำพิพากษา ศาลจึงใช้คำว่า “เชื่อได้ว่า” เชื่อได้ว่านั้นหมายถึง เชื่อจากพยานหลักฐาน มิใช่เชื่อจากความรู้สึกของตนเอง และคำๆ นี้ใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาเก่าๆ มิใช่เพิ่งมาใช้ในยุคสมัยปัจจุบันแต่อย่างใด ไม่มีคำพิพากษาฉบับไหนที่ไม่ใช้คำว่า เชื่อได้ว่า หรือถ้อยคำอื่นใดในทำนองเดียวกับคำว่า "เชื่อได้ว่า" ทั้งคดีที่โด่งดังทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นคดีซุกหุ้น 1 ที่อดีตนายกทักษิณหลุดรอดได้ ก็เพราะคำว่า “เชื่อได้ว่า” และคดีซุกหุ้น 2 ที่ไม่รอดก็ใช้คำว่า “เชื่อได้ว่า” เช่นเดียวกัน

คำพิพากษาฎีกาที่ 3409/2529 ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าโจทก์เป็นเจ้าของสลากกินแบ่งรัฐบาลฉบับที่ถูกรางวัลที่ 3 ดังกล่าว และบุตรสาวโจทก์ได้นำไปเผาไฟจริง "ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินรางวัลจากจำเลยหรือไม่ ปัญหานี้ก็พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การที่จำเลยกำหนดเงื่อนไขไว้ในสลากกินแบ่งทุกฉบับว่า เงินรางวัลจะจ่ายให้แก่ผู้ถือสลากฉบับที่ถูกรางวัลนำมาขอรับนั้น เงื่อนไขดังกล่าวแม้จำเลยจะกำหนดขึ้นโดยอาศัยอำนาจที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 ก็ตาม แต่เป็นเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นเพียงเพื่อให้จำเลยมีหลักฐานในการที่จะจ่ายเงินให้แก่ผู้ถูกรางวัลเท่านั้น ไม่ใช่ข้อกำหนดที่จะไม่จ่ายเงินรางวัลแก่ผู้ถูกรางวัลที่สลากสูญหายหรือถูกไฟไหม้ ดังเช่นกรณีนี้ และเห็นว่าการที่จำเลยจัดให้มีการออกสลากกินแบ่ง ก็โดยที่วัตถุประสงค์อย่างหนึ่งว่า จะแบ่งเงินที่ได้จากการขายสลากให้แก่ผู้ถูกสลากตามจำนวนที่กำหนดไว้ จำนวนเงินที่กำหนดนี้ถือได้ว่าเป็นสัญญาอันมีผลผูกพันระหว่างผู้จัดการออกสลากกินแบ่งกับผู้ถูกรางวัลดังนั้นเมื่อโจทก์มีหลักฐานเชื่อได้ว่า โจทก์ถูกรางวัล แต่สลากถูกไฟไหม้ดังวินิจฉัยข้างต้น โจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้รับเงินรางวัลจากจำเลย ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ชอบแล้วฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2239/2543
แม้ผู้คัดค้านจะไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดงว่าผู้ร้องมิได้มีสัญชาติไทยแต่ภาระการพิสูจน์ในเรื่องนี้ย่อมตกแก่ผู้ร้องที่ต้องนำสืบห้ศาลเชื่อได้ว่าผู้ร้องมีสัญชาติไทยโดยกำเนิดในประเทศไทย เมื่อปรากฏว่าสูติบัตรที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นของผู้ร้องมิได้อยู่ที่ผู้ร้อง แต่เป็นเอกสารที่นายทะเบียนท้องถิ่นรับรองสำเนาถูกต้องเนื่องจากผู้ร้องไปขอคัดมา แสดงว่าพยานหลักฐานดังกล่าวผู้ร้องมาแสวงหาจากในประเทศไทยเท่านั้น ผู้ร้องไม่ได้แสดงสำเนาทะเบียนบ้านที่อ้างว่าได้ไปค้นแต่ไม่พบซึ่งก็ไม่ปรากฏว่าเหตุใดจึงไม่พบสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าว และผู้ร้องไม่ได้แสดงเอกสารหลักฐานที่แสดงการเรียนในโรงเรียนหลายแห่งที่อ้างถึง ส่วนภาพถ่ายที่อ้างว่าถ่ายเมื่ออายุ 13 ปีนั้น ก็ไม่มีการนำสืบทางนิติเวชให้น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลเดียวกัน

พยานของผู้ร้องคงมีแต่พยานบุคคลทั้งสิ้น ซึ่งต่างไม่ได้พบผู้ร้องมาเป็นเวลานานและเบิกความถึงข้อเท็จจริงในรายละเอียดที่แตกต่างกันและขัดกันหลายอย่าง

จากคดีนายพูลผล ศาลไม่เคยรู้จักพ่อแม่นายพูลผล ขณะที่นายพูลผลยื่นคำร้อง นายพูลผลอายุ 63 ปี แล้ว ศาลไม่เคยเห็นว่านายพูลผลเกิดจากท้องพ่อท้องแม่ในแผ่นดินไทยหรือไม่ การที่นายพูลผลอ้างว่าตนได้สัญชาติไทยโดยการเกิด นายพูลผลต้องมีหลักฐานหรือพยานยืนยัน ตามกฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน ศาลจะเชื่อตามพยานหลักฐานเท่านั้น

พยานหลักฐาน หมายถึง สิ่งใด ๆ ที่แสดงข้อเท็จจริงให้ปรากฏแก่ศาล ไม่ว่าจะเป็น พยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุ ตลอดจนคำเบิกความความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ รายงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นต้น

เมื่อพิจารณาจากบทนิยามและความหมายของพยานหลักฐานแล้ว เราสามารถแยกประเภทของพยานหลักฐานออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. พยานบุคคล หมายถึง คำให้การของบุคคลที่มาให้การต่อศาลด้วยวาจา ต่อหน้าศาล หรือต่อ

หน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด และรวมถึง พยานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง ที่เราเรียกว่า พยานผู้เชี่ยวชาญ (ใช้ในคดีแพ่ง) หรือ พยานผู้ชำนาญการพิเศษ (ใช้ในคดีอาญา) อันที่จริงคือพยานบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องนั่นเอง เช่น แพทย์ วิศวะกร เป็นต้น เพียงแต่กฎหมายบัญญัติเรียกชื่อไว้ต่างกัน จึงสมควรใช้เสียให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติ อย่าใช้ผิดหรือปะปนกัน

พยานบุคคลนี้ยังแบ่ง ออกเป็นประจักษ์พยาน และพยานบอกเล่า สำหรับคำพยานของพยานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง ถูกแยกออกมาไม่เอามารวมด้วยกับประจักษ์พยาน หรือพยานบอกเล่า

ประจักษ์พยาน ในอดีต (ปรากฏตามพระอัยการลักษณภญาณ แห่งกฎหมายตราสามดวง) เรียกว่า สักขี คือ ผู้ได้รู้ได้เห็น ได้ยินมาด้วยตนเอง หรือกล่าวง่ายๆ คือ ได้ยินกับหู ได้เห็นกับตา ในเหตุการณ์นั้นๆ

พยานบอกเล่า คือ พยานบุคคลที่ได้ยินเรื่องราวมาอีกทอดหนึ่ง ไม่ใช่ได้ยินกับหู หรือได้เห็นกับตา

2. พยานเอกสาร หมายถึง ข้อความใด ๆ ที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรหรือรูปรอยใดที่สามารถ

ใช้เป็นเครื่องหมายแทนคำพูด เพื่อให้เข้าใจข้อความ หรือตามความหมายนั้น ๆ ได้ ไม่ว่าจะบันทึกด้วยการเขียน พิมพ์ แกะสลัก บนวัสดุใด ๆ เช่น กระดาษ ผ้า โลหะ ก็ได้

3. พยานวัตถุ (วัตถุพยาน) หมายถึง สิ่งใด ๆ ที่สามารถจะให้ศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่

ตรวจสอบเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี โดยจำลองวัตถุต่างๆ เช่น ภาพถ่ายสถานที่พิพาท หรือภาพถ่ายที่เกิดเหตุ

ในส่วนของพยานบุคคล พิจารณาได้ไม่ยากนักว่า อะไรคือประจักษ์พยาน อะไรคือพยานบอกเล่า แต่ในส่วนของพยานวัตถุ กับพยานเอกสารนั้น พิจารณายากที่จะแยกให้ชัดเจน

ในชั้นนี้ ขอให้หลักในการแยกระหว่างพยานเอกสารและพยานวัตถุ คือ พยานชิ้นใด ที่ใช้พิสูจน์ความหมายคือพยานเอกสาร พยานชิ้นใดที่ใช้พิสูจน์ความมีอยู่คือพยานวัตถุ ที่จะต้องแยกให้ชัดเจน เพราะเวลานำสืบพยานจะมีกฎหมายบัญญัติว่า ต้นฉบับเอกสารเท่านั้นที่จะใช้เป็นพยานได้ ดังนั้นหากเป็นวัตถุพยาน ก็ไม่จำต้องใช้ต้นฉบับ และไม่ต้องส่งสำเนาให้แก่คู่ความ

ลองดูตัวอย่าง

ภาพถ่ายห้องเช่าเป็นพยานวัตถุ เพราะใช้พิสูจน์ความมีอยู่ของห้องเช่า โดยจำลองมาเป็นภาพถ่าย แม้จะเป็นกระดาษ ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างที่เป็นกระดาษจะเป็นพยานเอกสาร สาระสำคัญมิได้อยู่ตรงนั้น

รูปถ่ายคน เป็นพยานวัตถุ เพราะใช้พิสูจน์ความมีอยู่ของบุคคล ไม่ได้สื่อความหมายอย่างใดๆ เลย

โพยหวย เป็นพยานวัตถุ เพราะใช้พิสูจน์ความมีอยู่จริงของการกระทำความผิดตาม พรบ. การพนัน

ท่อนไม้ที่มีข้อความว่า นายดำ กู้เงินนายขาวจำนวน 2,000 บาท ลงลายมือชื่อนายดำ ท่อนไม้ดังกล่าวเป็นพยานเอกสาร เพราะใช้พิสูจน์ความหมายว่าเป็นหลักฐานการกู้ยืมตามกฎหมายหรือไม่

ป้ายที่ใช้ในการชุมนุมที่มีข้อความหมิ่นประมาท เป็นพยานเอกสาร เพราะใช้พิสูจน์ในประเด็นที่ว่า ข้อความดังกล่าวนั้นหมิ่นประมาทหรือไม่

คำถาม

1. ภาพถ่ายศพผู้ตาย เป็นพยานหลักฐานชนิดใด เพราะเหตุใด

2. เทปบันทึกเสียง นายดำและนายขาว ที่บันทึกการตกลงซื้อขายสินค้ากัน เป็นพยานหลักฐานชนิดใด เพราะเหตุใด

3. ภาพถ่ายกำแพงบ้านที่มีข้อความว่า “อีขาว มึงเป็นชู้กับผัวชาวบ้าน สันดานชั่ว” เป็นพยานหลักฐานชนิดใด เพราะเหตุใด

4. แผ่นป้ายแสดงการเสียภาษี (เดิมเรียกว่าแผ่นป้ายวงกลม) ของปลอม เป็นพยานหลักฐานชนิดใด เพราะเหตุใด

5. ธนบัตรที่ใช้ในการล่อซื้อยาเสพติด ที่มีการทำตำหนิไว้ เป็นพยานหลักฐานชนิดใด เพราะเหตุใด

6.พนักงานสอบสวน ที่ทำการสอบสวนคดีที่ฟ้อง เป็นพยานบุึึคคลประเภทใด เพราะเหตุใด

6 ความคิดเห็น:

  1. ภาพถ่ายศพผู้ตาย เป็นพยานวัตถุ เพราะใช้พิสูจน์ความมีอยู่ของบุคคล ไม่ได้สื่อความหมายอย่างใดๆ เลย
    เทปบันทึกเสียง นายดำและนายขาว ที่บันทึกการตกลงซื้อขายสินค้ากัน เป็นพยานวัตถุ หมายถึง สิ่งใด ๆ ที่สามารถจะให้ศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี โดยจำลองวัตถุต่างเด๋วตอบต่อ

    ตอบลบ
  2. 3. ภาพถ่ายกำแพงบ้านที่มีข้อความว่า “อีขาว มึงเป็นชู้กับผัวชาวบ้าน สันดานชั่ว” เป็นพยานเอกสาร เพราะ ใช้พิสูจน์ในประเด็นที่ว่า ข้อความดังกล่าวนั้นหมิ่นประมาทหรือไม่
    4. แผ่นป้ายแสดงการเสียภาษี (เดิมเรียกว่าแผ่นป้ายวงกลม) ของปลอม เป็นพยานวัตถุ เพราะใช้พิสูจน์ความมีอยู่จริงของการกระทำความผิด
    5. ธนบัตรที่ใช้ในการล่อซื้อยาเสพติด ที่มีการทำตำหนิไว้ เป็นพยานวัตถุ
    เพราะใช้พิสูจน์ความมีอยู่จริงของการกระทำความผิด
    6.พนักงานสอบสวน ที่ทำการสอบสวนคดีที่ฟ้อง เป็นพยานบุึึคคลประเภทพยานบอกเล่า เพราะเป็นบุคคลที่ได้ยินเรื่องราวมาอีกทอดหนึ่ง จากการสอบสวนคดีไม่ใช่ได้ยินกับหู หรือได้เห็นกับตา

    ตอบลบ
  3. แหม เกือบถูกทั้งหมด เก่งจริงๆ พี่แวะเข้ามาปริ้นเนื้อหาไปสอนลูกศิษย์วันนี้ วันนี้สอนพยานนี่หล่ะ มีผิดข้อเดียวคือข้อ 4

    แผ่นป้ายแสดงการเสียภาษี เป็นพยานเอกสาร เพราะเป็นการสื่อความหมายของคำว่า เอกสารปลอม ว่ามีลักษณะเป็นการปลอมอย่า่งไรตามองค์ประกอบของมาตรา 264 (ลองดูที่ ม. 264 ปอ.)

    ตอบลบ
  4. ขอบคุณครับ ขออนุญาติเห็บข้อมูล

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ25/12/54 20:45

    ขอบคุณอาจารย์มากๆค่ะ

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น