วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ความหมายของคำว่า "สิทธิ"

คำว่า “สิทธิ” หมายถึงอำนาจหรือประโยชน์ของบุคคล ซึ่งกฎหมายรับรองและคุ้มครองให้ จากบทนิยามดังกล่าว เราสามารถแยกคำว่าสิทธิออกมาดูส่วนประกอบว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง คือ
1. อำนาจหรือประโยชน์ ในที่นี้หมายถึง อำนาจเหนือทรัพย์ และ อำนาจเหนือบุคคลอื่นอำนาจเหนือทรัพย์นี้เราเรียกว่า “ทรัพยสิทธิ” กล่าวโดยคร่าว ๆ ก็คือ อำนาจในการใช้สอยหรือติดตามเอาคืน หรือยึดถือทรัพย์นั้นไว้นั่นเอง ซึ่งอำนาจนี้ต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้ด้วย ถ้ากฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้เราก็จะไม่มีสิทธิ
“ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้น ท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น”
“ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้น โดยมิชอบด้วยกฎหมาย”
จะเห็นได้ว่า กฎหมายได้ให้อำนาจหรือประโยชน์ในการมีสิทธิไว้ว่าเจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิอย่างไรบ้าง ถ้าผู้ไม่มีสิทธิในทรัพย์สินมายึดถือครอบครองทรัพย์สินนั้นเจ้าของก็มีสิทธิติดตามเอาคืนได้
ตัวอย่างเช่น ดำ เป็นเจ้าของหนังสือเล่มหนึ่ง ดำย่อมมีสิทธิที่จะใช้สอยหรือแม้แต่ทำลายหนังสือของตัวเองได้ โดยที่กฎหมายจะมาเอาผิดดำไม่ได้ ถ้าแดงเกิดมาหยิบเอาหนังสือของดำไป ดำก็ย่อมมีสิทธิขัดขวางไม่ให้แดงมาเอาไปได้ หรือ ดำเป็นเจ้าของบ้าน แดงเป็นขโมยมาขึ้นบ้านดำ ดำจึงทำร้ายแดง เช่นนี้ ดำมีสิทธิขัดขวางไม่ให้แดงมาเอาทรัพย์ของดำไปได้ ดำอ้างป้องกันได้ ไม่มีความผิด เหตุเพราะ ดำมีสิทธินั่นเอง

ที่กล่าวมานี้คือสิทธิในทรัพย์หรือทรัพยสิทธิ ส่วนสิทธิอีกกรณีหนึ่งคือ อำนาจเหนือบุคคลหรือบุคคลสิทธิ กรณีเช่น “บุคคลหนึ่งมีสิทธิเหนือ หรือต่อบุคคลอื่น” เมื่อกฎหมายกำหนดให้บุคคลหนึ่งมีสิทธิ บุคคลอีกคนหนึ่งจึงต้องมีหน้าที่ กล่าวโดยสรุปว่า สิทธิและหน้าที่เป็นของคู่กัน
“ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ อนึ่งการชำระหนี้ด้วยงดเว้นการอันใดอันหนึ่งก็ย่อมมีได้”
จะเห็นได้ว่า ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้ คือ หนี้ที่ชอบด้วยกฎหมายหรือกฏหมายคุ้มครองหรือรับรองให้มีมูลหนี้นั่นเอง หนี้การพนันเป็นหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายมาตราใดให้อำนาจไว้
“อันว่าซื้อขายนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย” กฎหมายให้อำนาจแก่ผู้ซื้อให้มีสิทธิได้รับโอนกรรมสิทธิ และให้อำนาจแก่ผู้ขายให้มีสิทธิได้รับชำระราคา ดังนั้น เมื่อ ดำตกลงซื้อม้าตัวหนึ่งจากแดง ดำมีสิทธิจะเรียกร้องให้แดงส่งมอบม้าให้ตน และแดงมีหน้าที่ต้องส่งมอบม้าให้ดำ กลับกันแดงมีสิทธิเรียกร้องให้ดำชำระราคาค่าม้า และดำมีหน้าที่ต้องชำระราคาค่าม้าให้แก่แดง กรณีนี้เรียกว่าบุคคลสิทธิ คือสิทธิหรืออำนาจที่บุคคลหนึ่งมีเหนือบุคคลหนึ่ง
ส่วนสิทธิที่บุคคลหนึ่งมีสิทธิเรียกร้องให้บุคคลอีกคนหนึ่งงดเว้นกระทำการ เช่น
“ถ้าผู้ครอบครองถูกรบกวนในการครอบครองทรัพย์สิน เพราะมีผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ครอบครองมีสิทธิจะให้ปลดเปลื้องการรบกวนนั้นได้ ถ้าเป็นที่น่าวิตกว่าจะยังมีการรบกวนอีก ผู้ครอบครองจะขอให้ศาลสั่งห้ามก็ได้”
เช่น ดำเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่ง แดงบุกรุกเข้ามาปลูกบ้านในที่ดำ โดยไม่มีสิทธิหรือโดยไม่ได้รับอนุญาตจากดำ ดำมีสิทธิจะห้ามหรือขับไล่แดงออกไปจากที่ของดำได้ นี่คือเรียกร้องให้แดงงดเว้นกระทำการบุกรุก แต่ที่กฎหมายเขียนว่าขอให้ศาลสั่งห้ามก็ได้ ไม่ได้แปลว่าตัวเขาเองไม่มีสิทธิสั่งห้าม แต่ส่วนใหญ่ห้ามแล้วเขาไม่ฟังจึงต้องขอให้ศาลสั่งห้าม ถ้าศาลห้ามแล้วไม่เชื่อเราสามารถไปเรียกตำรวจมาจับเขาออกไปได้เพราะเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งศาล
ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเรื่องสิทธิซึ่งกฎหมายให้อำนาจไว้

อำนาจหรือประโยชน์ของบุคคล
บุคคลซึ่งก็หมายถึงมนุษย์เรานี่เอง ไม่ว่าจะเป็นชาย หรือหญิง เด็ก หรือชรา ในชั้นนี้จะขออธิบายถึงสิทธิของบุคคลธรรมดาเสียก่อน สัตว์เดียรฉานมิใช่บุคคล กฎหมายจึงมิได้รับรองสิทธิให้แก่สัตว์ แต่การทำร้ายสัตว์ซึ่งเป็นของคน คือการละเมิดต่อสิทธิของคนไม่ใช่สิทธิของสัตว์ บุคคลได้รับการคุ้มครองสิทธิโดยกฎหมาย ดังนั้น เราต้องรู้ว่าคุณธรรมทางกฎ หมายคุ้มครองใคร คุณธรรมทางกฎหมายคือเจตนารมย์ของกฎหมายนั่นเอง เช่น
“ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่ชีวิต แก่ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด”
มาตรานี้คุณธรรมทางกฎหมายคุ้มครองบุคคล ซึ่งมีสิทธิในชีวิตร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในทรัพย์ เช่น สุนัขเป็นทรัพย์ของเราถ้ามาฆ่าสุนัขเรา ก็เป็นการละเมิดต่อสิทธิของเรา

ในกฎหมายอาญา
“ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสีย ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษ” คุณธรรมทางกฎหมายของมาตรานี้มุ่งคุ้มครองชื่อเสียงของบุคคล ดังนั้นหากใครกระทำให้ชื่อเสียงของบุคคลอื่นต้องเสียหายกฎหมายก็จะต้องเอาโทษ
“ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์” คุณธรรมทางกฎหมายมุ่งคุ้มครองทรัพย์สินของบุคคล หากใครกระทำความผิดต่อทรัพย์สินของบุคคล ก็ต้องรับโทษ
“ผู้ใดทำให้เกิดปฏิกูลแก่น้ำในบ่อ สระ หรือที่ขังน้ำอันมีไว้สำหรับประ ชาชนใช้สอย ต้องระวางโทษ”
คุณธรรมทางกฎหมายมาตรานี้มุ่งคุ้มครองสาธารณะชน หรือประชาชนส่วนรวมซึ่งมิใช่ปัจเจกชนคนใดคนหนึ่ง แต่ก็ยังคงต้องเป็นบุคคล มาตรานี้แม้บุคคลยังไม่ได้รับความเสียหายอย่างใด ๆ กฎหมายก็เอาโทษ ในทางอาญาเรียกว่าความผิดที่ไม่ต้องการผล
“ผู้ใดกระทำการทารุณต่อสัตว์ หรือฆ่าสัตว์โดยให้ได้รับทุกขเวทนาอันไม่จำเป็น ต้องระวางโทษ” มาตรานี้เป็นเรื่องของการกระทำต่อสัตว์ที่มีหรือไม่มีเจ้าของก็ตาม แต่ถ้ามีเจ้าของก็เป็นการกระทำต่อสิทธิในทรัพย์ของเจ้าของเขาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากทำต่อสุนัขจรจัดข้างถนน กฎหมายมาตรานี้มิได้เอาโทษเพราะกระทำต่อสิทธิของสัตว์ คุณธรรมทางกฎหมายคุ้มครองศิลธรรมอันดีของประชาชนซึ่งเป็นบุคคลนั่นเอง การทำร้ายหรือทำทารุณต่อสัตว์เป็นสิ่งที่บุคคลทั่ว ๆ ไป (ไม่หมายรวมถึงพวกจิตใจโหดร้าย) เห็นว่าเป็นเรื่องกระทบกระเทือนความรู้สึกทางจิตใจ หรือ ศิลธรรม กฎหมายจึงคุ้มครองให้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น