วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

วิธีพิจารณาคดีโดยใช้คณะลูกขุน 2 grand jury (คณะลูกขุนใหญ่)

grand jury คืออะไร

ในประเทศสหรัฐอเมริกาใช้กฎหมายในระบบคอมมอนลอว์ การฟ้องคดีอาญาต่อศาล สามารถกระทำได้โดยพนักงานอัยการเท่านั้น เอกชนไม่สามารถฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้ ซึ่งตรงนี้ต่างจากอังกฤษ สำหรับประเทศไทยใช้แบบอังกฤษ คือ บุคคลธรรมดา หรือพนักงานอัยการก็สามารถยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้ ดังนั้นในสหรัฐอเมริกาพนักงานอัยการจึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสอบนสวนและมีส่วนร่วมในการสอบสวน คอยให้คำชี้แนะ ให้คำปรึกษาแก่เจ้าพนักงานในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ในการกระทำความผิดของผู้ต้องหาในคดีอาญา
เมื่อสอบสวนแล้ว จะต้องมีกระบวนการกลั่นกรองคดีอีกครั้งหนึ่งว่าคดีใดมีมูลสมควรฟ้องหรือไม่ สำหรับประเทศไทย ผู้ซึงทำหน้าที่กลั่นกรองข้อมูลคดีในส่วนนี้คือศาล ดังนั้นในคดีอาญา ศาลจึงต้องไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนจะประทับรับฟ้อง หากเห็นว่าคดีมีมูลจึงจะประทับรับฟ้องได้ แต่ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ศาลจะไต่สวนมูลฟ้องหรือไม่ก็ได้ เพราะถือว่าได้ผ่านการกลั่นกรองจากพนักงานอัยการแล้ว
สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกามีระบบการกลั่นกรองข้อมูลความผิดในคดีอาญาก่อนฟ้องคดีต่อศาลอย่างไร โดยคณะลูกขุนใหญ่ (grand jury)
ในการฟ้องคดีอาญาต่อศาลของมลรัฐ (state courts) และศาลของรัฐบาลกลาง (federal courts)
นั้นเป็นอำนาจของรัฐเท่านั้น หมายความว่า พนักงานอัยการเท่านั้นเป็นผู้ฟ้องคดี สามารถทำได้ ๒ รูปแบบ ประการแรกคือ โดยคำสั่งอนุญาตให้ฟ้อง (indictment) ของคณะลูกขุนใหญ่หรือ grand jury
ประการที่สอง คือ โดยคำฟ้องของพนักงานอัยการที่เรียกว่า information
ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ที่บัญญัติว่า การฟ้องคดีอาญาความผิดร้ายแรง (felony) ต้องมีคำสั่งอนุญาตให้ฟ้องคดีโดยคณะลูกขุนใหญ่ จึงหมายความว่าเฉพาะคดีอาญาความผิดร้ายแรงเท่านั้นที่จะต้องมีคำสั่งให้ฟ้อง (indictment) ของคณะลูกขุนใหญ่ ส่วนคดีอาญาความผิดเล็กน้อย (misdeameanor) พนักงานอัยการไม่ต้องนำคดีไปไต่สวนมูลฟ้องในคณะลูกขุนใหญ่
ปัญหาจึงมีว่า แล้วในศาลมลรัฐ (state courts) พนักงานอัยการถูกบังคับโดย The Fifth Amendment ที่จะต้องใช้ grand jury indictment เวลาฟ้องคดีอาญาความผิดร้ายแรงหรือไม่ เพราะจริงๆแล้ว คดีอาญาส่วนใหญ่นั้นจะพิจารณาในศาลของมลรัฐเป็นหลัก คดีอาญาส่วนน้อยเท่านั้นที่จะมีการฟ้องในศาลของรัฐบาลกลาง (federal courts)
แต่ทั้งนี้ศาลสูงของสหรัฐอเมริกาได้วินิจฉัยไว้ในคดี Hurtado v. California (110 U.S 516, 1884) ว่ามลรัฐต่างๆ ไม่ถูกบังคับว่าจะต้องใช้ระบบ grand jury ในการที่พนักงานอัยการจะฟ้องคดีอาญาความผิดร้ายแรงต่อศาล ดังนั้น กฏหมายวิธีพิจารณาความอาญาของมลรัฐต่างๆ จึงมีความหลากหลาย เช่น ปัจจุบันมี ๒๗ มลรัฐ อนุญาตให้พนักงานอัยการฟ้องคดีโดย information และมีอีก ๔ มลรัฐ บัญญัติว่าพนักงานอัยการสามารถฟ้องคดีอาญาความผิดร้ายแรงต่อศาลได้ information เว้นแต่คดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตเท่านั้น ที่จะต้องผ่าน grand jury

grand jury คือใคร

คณะบุคคลที่ประกอบด้วยบุคคลธรรมดา ไม่ใช่นักกฎหมาย จำนวน ๑๖- ๒๓ คน ทำหน้าที่พิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานที่พนักงานอัยการนำเสนอเพื่อวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของพนักงานอัยการมีมูลที่จะฟ้องคดีต่อศาลหรือไม่ ถ้ามีมูล grand jury ก็จะมีคำสั่งอนุญาต ใช้คำว่า “A True Bill” ถ้าไม่มีมูลก็จะสั่งว่า “No True Bill”
การพิจารณาของ grand jury เป็นการไต่สวนลับ ผู้ต้องหาไม่มีสิทธิเข้าฟังหรือเสนอพยานหลักฐานแต่ก็ไม่ห้ามที่ grand jury จะให้ผู้ต้องหาเข้าฟัง ซึ่งในกรณีเช่นว่านี้ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะปฏิเสธในการให้ถ้อยคำใดๆ อันเป็นปฏิปักษ์ต่อตน ( right of selfincrimination ) แต่การรับฟังพยานหลักฐานของ grand jury ไม่มีข้อจำกัดในบทตัดพยานหลักฐาน เช่น พยานหลักฐานที่ได้มาโดยไม่ชอบตามหลัก The Exclusionary Rule ( U.S v . Calandra 414 U.S 338,1974 ) หรือ พยานบอกเล่า ( hearsay Castello v. U.S 359,1956 ) ซึ่งก็หมายความว่า grand jury สามารถรับฟังพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องนี้ได้อย่างอิสระ ไม่หมือนในชั้นพิจารณาที่จะใช้บทตัดพยานอย่างเคร่งครัด หากลูกขุน ๑๒ คน จากคณะลูกขุนใหญ่ทั้งหมด ๑๖-๒๓ คน นั้น ลงมติให้ฟ้องคดีได้ พนักงานอัยการจึงสามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น