วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ความรู้ทางประวัติศาสตร์ เรื่องระบบกฎหมายและระบบวิธีพิจารณา 1

การปกครองในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น เป็นการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช กล่าวคือ กษัตริย์เป็นใหญ่ เป็นผู้มีสิทธิขาดในการลงอาญาแก่ปวงประชา ดังนั้น คำสั่งของกษัตริย์ในสมัยนั้นจึงเป็นกฎหมายที่ประชาชนต้องปฏิบัติตาม สภาพสังคมจึงเป็นสังคมในระบบศักดินา แบ่งเป็น 4 ชนชั้น ได้แก่
เจ้า
ขุน , มุนนาย
ไพร่
ทาส
ตำแหน่งกษัตริย์ถือเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และเป็นเจ้าของทุกอย่าง ทำให้เกิดการแย่งชิงราชบัลลังค์กันอย่างมากตลอดกรุงศรีอยุธยา ซึ่งไม่ปรากฏพบในสมัยกรุงสุโขทัย เพราะกรุงสุโขทัย ตำแหน่งกษัติรย์เป็นตำแหน่งที่ถือเสมือนหัวหน้าครอบครัว ไม่ใช่สมมุติเทพผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแบบกรุงศรีฯ ดังนั้น เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงขึ้นครองราชย์สมบัติ จึงต้องเถลิงพระราชอำนาจด้วยการออกกฎหมาย เพื่อบังคับแก่ประชาชน การออกกฎหมายจึงถือเป็นการแสดงถึงแสนยานุภาพของพระองค์ด้วย ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่กฎหมายกรุงศรีอยุธยามีมากเหลือเกิน และกฎหมายในหลายบทมีความซ้ำซ้อนกัน เพราะพระมหากษัตริย์ทรงออกกฎหมายใหม่แต่ก็ไม่ได้แก้หรือยกเลิกกฎหมายเดิม ทำให้กฎหมายกรุงศรีฯ มีความยุ่งยากในการใช้พอสมควร

กล่าวถึงระบบวิธีพิจารณาคดีในสมัยกรุงศรีนั้น เป็นการดำเนินวิธีพิจารณาแบบไต่สวนด้วยหลักการและวิธีคิดเช่นเดียวกับที่ข้าพเจ้าได้เขียนไว้ในกระทู้ก่อนหน้านี้ ด้วยเหตุเพราะอำนาจการพิจารณาพิพากษาเป็นของกษัตริย์ซึ่งถือเสมือนเทพ และได้ใช้อำนาจผ่านตระลาการ(ตระลาการนี้ ไม่ใช่ ศาล หรือผู้พิพากษา หรือตุลาการในปัจจุบัน แต่หมายถึงบุคคลในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด หากกฎหมายจะหมายถึงผู้พิพากษาก็จะเขียนจำเพาะไปเลยว่า ผู้พิพากษา คำว่า ตระลาการ กับ ตุลาการในปัจจุบันจึงไม่ใช่คำที่มีความหมายเดียวกัน)

ในสมัยกรุงศรีฯ พราหมณ์ปุโรหิตเป็นผู้ถือพระราชสาตรและพระธรรมศาสตร์ (กฎหมาย) ซึ่งต่อมาเรียก "ลูกขุน" ลูกขุนในความหมายนี้ มิใช่ลูกขุนในความหมายของ jury หากแต่เป็นผู้มีความรู้ด้านกฎหมาย ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายของพระมหากษัตริย์ หากเราดูหนังจักรๆ วงศ์ๆ เราจะเห็นพรามณ์ปุโรหิต เข้าเฝ้าทูลเรื่องนั้นเรื่องนี้ และปรึกษาข้อราชการต่างๆ กับพระมหากษัตริย์ตลอดเรื่อง
ต่อมาเมื่อพระราชอาณาจักร ขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นมาก ความคดีต่างๆ เกิดขึ้นตามพื้นที่ๆ ขยายออกไป จึงตั้งเป็นจตุสดมภ์ เวียง วัง คลัง นา ขึ้น บรรดาคดีความต่าง ๆ แยกออกไปชำระตามอำนาจของจตุสดมภ์ หน้าที่ของลูกขุนเหลืออยู่แต่การพิจารณาปรับบทกฎหมายในคำถวายฎีกา และเป็นที่ปรึกษาในราชการที่พระเจ้าแผ่นดิน เท่านั้น

การชำระความในหัวเมืองเป็นอำนาจของเจ้าเมือง ดังนั้น เจ้าเมืองและผู้รักษาเมืองต่าง ๆ จึงมีอำนาจสูงสุดในเมืองนั้น การจะเอาผิดแก่ เจ้าเมืองและผู้รักษาเมืองนั้นจะต้องนำมาร้องฟ้องถึงเมืองหลวง สุดปัญญาที่คู่ความผู้เป็นประชาชนธรรมดาจะทำได้ ด้วยเกรงกลัวต่ออำนาจของเจ้าเมือง ดังนั้นพระมหากษัตริย์จึงทรงแต่งตั้ง ยกกระบัตร ทำหน้าที่ต่างพระเนตรพระกรรณในทางคดีความไปคอยสอดส่อง ดูแลอยู่ในเมืองนั้น ตำแหน่งนี้ รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเคยดำรงตำแหน่งยกกระบัตรเมืองราชบุรีมาแล้ว จึงทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านกฎหมาย เพราะเป็นผู้รู้จริง ปฏิบัติจริง

ปรากฏหลักฐานตาม พระราชกำหนดเก่า กฎหมายตราสามดวง ความว่า
“อนึ่งราษฎรพลเมืองมีกิจศุขทุกขสิ่งใดมาร้องฟ้องแก่ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการด้วยเนื้อความสิ่งใด ๆ ก็ให้ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการเมืองนั้น รับเอากิจศุขทุกขร้องฟ้องของราษฎร ซึ่งร้องฟ้องข้อนี้กะทงนี้เปนแต่เนื้อความสาเร่ว่า ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการณะเมืองนั้น จะพิจารณาว่ากล่าวให้สำเรจ์แต่ณะเมืองนั้นตามพระทำนูนได้ ก็ให้กรมการพิจารณาตามกระทรวงให้สำเรจ์ณะเมืองนั้น ถ้าโจทจำเลยติดใจแก่กรมการผู้เปนกระลาการไต่ถาม ถ้าเมืองเอกให้กรมมหาดไทจัตุสดมแลสัศดีผู้ได้ว่าอุธรนครบาล แลแพ่งนอกกระลาการเบิดเอาเนื้อความนั้นไปว่ากล่าวไต่ถามตามพระทำนูนตามสัจตามจริงให้สำเรจ์แต่ณะเมืองนั้น ๆ ถ้าเมืองตรีเมืองจัตวาให้ปลัดยุกระบัดนอกกระลาการ เบิกเอาไปว่าตามเนื้อความนั้นถ้าโจทจำเลยติดใจปลัดยุกรบัตร ให้ผู้รักษาเมืองผุ้รั้งบังคับให้กรมการนอกนั้นเอามาว่ากล่าวตามเนื้อความซึ่งโจทจำเลยติดใจกันนั้น ถ้าโจทจำเลยติดใจผู้รักษาเมืองผู้รั้งแลปลัดยุกระบัตรกรมการทังนั้น มิเตมใจให้ว่าเนื้อความสืบไป ให้ร้องฟ้องแก่กรมการซึ่งมิได้เปนกระลาการ ให้บอกหนังสือนำฟ้องโจทจำเลยเข้าไปว่ายังศาลา ประการหนึ่งว่าเนื้อความผู้ร้องฟ้องนั้นเปนเนื้อความวิปริตต่าง ๆ พ้นที่ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการจะว่ากล่าว ให้ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการเมืองจะว่ากล่าว ให้ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการปฤกษาพร้อมกันเหนเนื้อความฃองราษฎรฟ้องเปนข้อใหญ่ พ้นที่ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการจะว่ากล่าวให้สำเรจ์แต่ณะเมืองนั้นมิได้ ก็ให้ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการบอกหนังสือเข้าไปตามกฎให้ไว้นี้”

ในจดหมายเหตุของลาลู แบร์ ยังได้กล่าวถึงการชำระความในสมัย กรุงศรีอยุธยา และหน้าที่ของยกระบัตรไว้ว่า "...ในเบื้องต้นโจทก์จะต้องไปหากรมการที่ปรึกษา อันเป็นเจ้าหมู่มูลนายตนก่อนหรือไม่ก็ไปหาเจ้าหมู่มูลนายในหมู่บ้านของตน แล้วคนผู้นี้ก็ไปหาเจ้าหมู่มูลนายที่ เป็นกรมการที่ปรึกษาอีกต่อหนึ่ง เพื่อยื่นคำฟ้องและกรมการที่ปรึกษา ก็นำไปต่อเจ้าเมืองนั้นก็คือต้องพิจารณาดูให้ถี่ถ้วนว่าควรจะสั่งให้รับ ฟ้องหรือยกฟ้องนั้น หากคำพิพากษานั้นมีอาการว่าไม่เป็นไปตาม ทางยุติธรรมไซร้ ก็เป็นหน้าที่ของยกกระบัตรหรืออัยการแผ่นดินจะ บอกกล่าวเตือนให้ศาลทราบไว้.."
วิธีการพิจารณาและพิพากษาคดีตามแบบกรุงศรีอยุธยานั้น ได้ใช้ต่อมาในกรุงรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งตั้งกระทรวงยุติธรรม ร.ศ.110 (พ.ศ.2434) จึงมีการเปลี่ยนแปลง เป็นการใช้บุคคล 2 กลุ่ม ได้แก่ ผู้พิพากษาและตระลาการกลุ่มหนึ่ง และพราหมณ์ซึ่งเชี่ยวชาญวิชา นิติศาสตร์เรียกว่า “ลูกขุน ณ ศาลหลวง” มี 12 คน อีกกลุ่มหนึ่ง โดย “ลูกขุน ณ ศาลหลวง” นี้ ทำหน้าที่ชี้บทกฎหมายเนื่องจากเป็นผู้เชี่ยวชาญทางนิติศาสตร์ แต่จะบังคับบัญชาอย่างใดไม่ได้ อำนาจการบังคับบัญชาทุกอย่างอยู่กับผู้พิพากษาตระลาการ

ถ้าใครจะฟ้องความจะเขียนเป็นหนังสือฟ้องไม่ได้ ต้องไปร้องต่อจ่าศาลว่าประสงค์จะฟ้องความเช่นว่านั้น ๆ จ่าศาลจดถ้อยคำลงเป็นหนังสือแล้วมอบให้พนักงานประทับฟ้องนำขึ้นปรึกษาลูกขุน ณ ศาลหลวง ว่าเป็นฟ้องต้องตามกฎหมายควรรับพิจารณาหรือไม่ ถ้าลูกขุนเห็นว่าควรรับ พนักงาน ประทับฟ้อง ก็หารือลูกขุนอีกชั้นหนึ่งว่าเป็นกระทรวงศาลใดที่จะพิจารณา แล้วส่งฟ้องกับตัวโจทก์ไปยังศาลนั้น

ปรากฏหลักฐานตาม พระราชกำหนดใหม่ กฎหมายตราสามดวง ความว่า


“ แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ถ้าผู้มีคดีจะร้องฟ้องกฎหมายแลทำฎีกาทูลเกล้า ฯ ถวายไซ้ ห้ามอย่าให้เฃียนหนังสือฟ้องใบฎีกาคำกฎไปยื่นดุจหนึ่งแต่ก่อนเปนอันขาดทีเดียว ถ้าแลผู้มีคดีจะว่าเนื้อความสิ่งใด ให้เข้าไปยังลูกขุนศาลาแลลูกขุนณสาลหลวงมีคำเจรจาว่า ข้าพเจ้าจะฟ้องกฎหมาย ถ้าจะฟ้องลูกขุนณศาลา ให้ไปเจรจาแก่จ่าศาลาแลขุนดาบทังสี่ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งอยู่เวน นำเอาตัวผู้จะว่าความเฃ้าไปให้การต่อหน้าลูกขุนณศาลา ถ้าผู้มีคดีจะไปฟ้องกฎหมายยังลูกขุนณสานหลวง ให้ขุนสีธรรมราชแลจ่าสาน นำเอาตัวความไปเขียนเอาคำฟ้องคำกฎหมาย ต่อหน้าลูกขุน....”

ต่อจากนั้นตระลาการก็จะหมายเรียกตัวจำเลยมา ถามคำถามให้การแล้วส่งคำให้การไปปรึกษาลูกขุนให้ชี้ 2 สถาน คือว่าข้อใดรับกันในสำนวนและข้อใดจะต้องสืบพยาน ตระลาการจึงไปสืบพยานตามคำลูกขุน ครั้นสืบเสร็จแล้วก็ส่งสำนวนไปยังลูกขุน เพื่อชี้ขาดว่าฝ่ายไหนแพ้คดี เพราะเหตุใดตระลาการก็นำคำพิพากษาไปส่งผู้ปรับ ผู้ปรับวางโทษว่าควรปรับ โทษเช่นนั้น ๆ ส่งให้ตระลาการไปบังคับ

ในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ด้วยการจับศึกตลอดรัชกาลจึงไม่พบว่ามีการออกกฎหมายใหม่ๆ มาใช้บังคับแต่อย่างใด ดังนั้น กฎหมายและวิธีพิจารณาคดีจึงยังคงใช้ตามแบบกรุงศรีอยุธยา

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ในสมัยรัชกาลที่ 1 กฎหมายนั้นก็ยังคงใช้กฎหมายที่หลงเหลือมาจากกรุงศรีอยุธยา กฎหมายที่หลงเหลือมานั้นมีเพียง 1 ใน 10 ส่วน ถูกเผาไปเสีย 9 ส่วน แต่ก็ได้มีการเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่ตามคำบอกกล่าวขอผู้มีความรู้ทางกฎหมายที่ยังมีชีวิตรอดจากการเสียกรุง ได้อาศัยความทรงจำนำกฎหมายมาเล่าบอกและให้เขียนขึ้นมาใช้ใหม่ตามคำบอกเล่านั้น

จนกระทั่ง เกิดคดีฟ้องหย่าเรื่องหนึ่ง ซึ่งอำแดงป้อมฟ้องหย่านายบุญศรีสามี นายบุญศรีไม่ยอมหย่า แต่ศาลได้พิพากษาตามตัวบทกฎหมายเก่าบทหนึ่งซึ่งมีความว่า "ชายหาผิดมิได้ หญิงขอหย่า ท่านเป็นหญิงหย่าชาย หย่าได้"

นายบุญศรีได้นำเอาคดีขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อรัชกาลที่ 1 พระองค์ทรงเห็นด้วยว่าคำพิพากษาขัดต่อหลักการยุติธรรมและเมื่อเอาตัวบท กฎหมาย ที่ศาลยกขึ้นอ้างดังกล่าวมาตรวจสอบดู 3 ฉบับ โดยกฎหมายในสมัยก่อนนั้นไม่มีการแพร่หลายออกไปให้ประชาชนได้อ่านได้รู้ ด้วยเป็นของสูงจึงมีเพียง 3 ฉบับ ที่เก็บรักษาไว้สามที่ ฉบับหนึ่งเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดของหลวง ฉบับหนึ่งเก็บไว้ที่ศาลหลวง อีกฉบับหนึ่งเก็บไว้ข้างพระที่ของพระมหากษัตริย์ อีกฉบับหนึ่ง ปรากฎว่ามีข้อความตรงกัน จึงทำให้เห็นว่าตัวบทกฎหมายนี้มีตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อาจถูกคนดัดแปลงแต่งเอาตามใจชอบทำให้บทพระอัยการวิปราศฟั่นเฟือน จึงมีพระบรมราชโองการให้ทำการชำระสะสางบรรดาตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ที่ใช้กันอยู่แล้ว ประกาศใช้ใหม่ โดยประทับตรา พระราชสีห์ พระคชสีห์ และบัวแก้ว เรียกว่า "กฎหมายตราสามดวง" บังคับใช้แทนกฎหมายกรุงศรีเดิม

จากที่ดำเนินเรื่องราวมาเบื้องต้น ทำให้เห็นได้ว่า การดำเนินคดีในศาลยังคงใช้วิธีการไต่สวน ในระบบไต่สวนอยู่
ในส่วนของกฎหมายนั้น การลงโทษ หรือลงพระราชอาญานั้น เป็นการลงโทษตามจารีตนครบาล โดยเลียนแบบการลงโทษในนรก ซึ่งนับเป็นความโหดร้ายทารุณและน่ากลัวอย่างมาก เป็นมหันตโทษ เรียกว่า เทวะดึงษกรรมกร เป็นโทษหนักตามพระอัยการกระบดศึก ได้แก่

สถาน หนึ่ง ให้ต่อยกระบาลให้ศีรษะแยกออก แล้วเอาคีมคีบก้อนเหล็กที่เผาไฟจนแดงใส่ลงไปให้มันสมองพลุ่งฟูขึ้น
สถาน หนึ่ง ให้ตัดเพียงหนังที่หน้าจดปากจดหูจดคอแล้วให้มุ่นกระหมวดผมเอาไม้ท่อนสอด ใช้คนโยกข้างละคน เอาหนังและผมออกแล้วจึงเอากรวดทรายหยาบขัดกระบาลศีรษะ ชำระให้ขาวสะอาดเหมือนพรรณสีสังข์(คือให้มีสีขาวเหมือนสีของหอยสังข์)
สถาน หนึ่ง เอาขอเกี่ยวปากไว้ แล้วเอาประทีปตามไว้ในปาก หรือไม่ก็เอาสิ่งคมๆแหวะหรือผ่าปากจนถึงใบหูทั้ง2ข้าง แล้วเอาขอเกี่ยวให้อ้าไว้
สถานหนึ่ง ให้เอาผ้าชุบน้ำมัน พันทั้งกายแล้วเอาเพลิงจุด
สถานหนึ่ง ให้เชือดเนื้อเป็นริ้วๆตั้งแต่ใต้คอจนถึงข้อเท้าแล้วผูกเชือกฉุดคร่าตีด่า ให้เดินเลียริ้วเนื้อหนังของตนจนกว่าจะตาย
สถานหนึ่ง ให้เอาห่วงเหล็กสวมข้อศอกข้อเข่า แล้วเอาหลักเหล็กสอดตรึงไว้กับพื้นดิน แล้วเอาเพลิงลนให้รอบจนกว่าจะตาย
สถานหนึ่ง ให้เอาเบ็ดใหญ่ 2 คม เกี่ยวเพิกเนื้อหนังเอ็นใหญ่เอ็นน้อยให้หลุดขาดออกมาจนกว่าจะสิ้นมังสา
สถาน หนึ่ง ให้เอามีดที่มีคมเชือดเนื้อให้ตกออกมาจากกายทีละตำลึงจนกว่าจะสิ้นมังสา
สถาน หนึ่ง ให้แล่และสับฟันทั่วร่างกาย แล้วเอาแปลงหวีชุบน้ำแสบกรีดขุดลอกหนังและเนื้อกับเอ็นเล็กเอ็นน้อยออกให้ สิ้น ให้เหลือแต่กระดูก
สถานหนึ่ง ให้เอาน้ำมันเดือดๆราด รดสาดลงมาแต่ศีรษะ จนกว่าจะตาย
สถานหนึ่ง ให้เอาฝูงสุนัขซึ่งกักขังไว้ให้อดอยาก กัดทึ้งเนื้อหนังร่างกายกินให้เหลือแต่กระดูก
สถานหนึ่ง ให้เอาขวานฝ่าอกทั้งที่เป็นเหมือนแหกโครงเนื้อ
สถานหนึ่ง ให้แทงด้วยหอกทีละน้อยๆ จนกว่าจะตาย
สถานหนึ่ง ให้ขุดหลุมฝังเพียงเอวแล้วเอาฟางปกลงคลอกด้วยเพลิง พอหนังไหม้ก็ให้เอาเหล็กไถให้เป็นริ้วเล็กริ้วใหญ่ ท่อนเล็กท่อนใหญ่

ส่วนโทษอาญาทั่วไปก็ไม่ได้น้อยหน้า เป็นโทษหนักเช่น ทวนด้วยลวดหนัง (เฆี่ยน) ตัดตีนสินมือ (ตัดมือตัดเท้า) เป็นต้น การลงโทษด้วยวิธีการเหล่านี้ใช้มาเรื่อยๆ ทำให้ต่างชาติเห็นประเทศไทยเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น