วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การ Analogy ในกฎหมายเอกชน

นิติวิธีทางกฎหมายเอกชนที่สร้างขึ้นเพื่ออุดช่องว่างของกฎหมายอีกประการก็คือ การ Analogy

การ Analogy ในกฎหมายแพ่ง
ในระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร บางทีการบัญญัติกฎหมายอาจไปไม่ถึงพฤติการณ์การ Analogy มีใช้มาแต่โบราณแล้ว เช่น ในกฎหมาย 12 โต๊ะ บัญญัติถึงเรื่องความรับผิดของเจ้าของสัตว์ 2 เท้า ไว้ ต่อมามีปัญหาเกิดขึ้นว่า มีสัตว์ 4 เท้าไปทำความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินของผู้อื่น เจ้าของต้องรับผิดหรือไม่
นี่คือพฤติการณ์ที่ตัวบทกฎหมายกฎหมายไปไม่ถึง เราย้อนกลับไปดูเรื่องการตีความตามเจตนารมย์เมื่อสักครู่ที่เราเรียนกัน ไป ในเรื่องนี้ เจตนารมย์คือต้องการให้เจ้าของที่เลี้ยงสัตว์มีความระมัดระวังไม่ให้สัตว์ของตนไปทำความเดือนร้อนให้ผู้อื่น ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นสัตว์กี่เท้าก็แล้วแต่ หากไปทำความเดือนร้อนให้ผู้อื่นก็เป็นความผิดเหมือนกัน เราจึงต้องนำเอาบทบัญญัติเรื่องสัตว์ 2 เท้า มาเทียบเคียงพฤติการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วปรับกฎหมายให้เข้ากับเหตุการ นี่แหละคือการ Analogy
ตัวอย่างในกฎหมายไทย
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1312 บุคคลใดสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้ท่านว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้น แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้น และจดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอม ต่อภายหลังถ้าโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมดเจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสียก็ได้
ถ้าบุคคลผู้สร้างโรงเรือนนั้นกระทำการโดยไม่สุจริต ท่านว่าเจ้าของที่ดินจะเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป และทำที่ดินให้เป็นตามเดิมโดยผู้สร้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

ฎีกาที่ 1511/42 เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 94068 ของโจทก์และโฉนดเลขที่ 94012 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลย เป็นที่ดินแปลงเดียวกันซึ่งโจทก์ซื้อมาจาก น. โดยมีสิ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินมาก่อนแล้ว ต่อมาโจทก์นำที่ดินโฉนดเลขที่ 94012 ไปจดทะเบียนจำนองและมีการบังคับจำนอง ซึ่ง ต. เป็นผู้ประมูลได้ จากนั้น ต. ขายที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลย ปรากฏว่าสิ่งปลูกสร้างบางส่วนคือส่วนหนึ่งของบ้านเลขที่ 17 และรั้วบ้านรุกล้ำที่ดินโฉนดเลขที่ 94068 ของโจทก์ กรณีจึงไม่เข้า ป.พ.พ. มาตรา 1312 เพราะการรุกล้ำมิได้เกิดจากจำเลยสร้างขึ้นเมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้จึงต้องนำมาตรา 1312 ซึ่งเป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับตามมาตรา 4 วรรคสอง แห่ง ป.พ.พ. ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รื้อส่วนของบ้านเลขที่ 17 ที่รุกล้ำ แต่มีสิทธิเรียกเงินเป็นค่าใช้ส่วนแดนกรรมสิทธิ์ และดำเนินการจดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจำยอม

ฎีกานี้เป็นการค้นลึกลงไปในเจตนารมณ์ของกฎหมายว่า หากสร้างโรงเรือนรุกล้ำโดยสุจริตก็ไม่ต้องรื้อส่วนที่รุกร้ำนั้นออกไป ปัญหาคือ การสร้างโรงเรือนรุกล้ำดูว่ารุกล้ำตอนสร้าง แต่จากฎีกานี้การรุกล้ำเกิดเพราะการแบ่งแยกที่ดิน ไม่ใช่สร้างรุกล้ำ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าถ้าแบ่งแยกที่ดินแล้วรุกล้ำต้องทำอย่างไร ศาลจะปฏิเสธไม่พิจารณาโดยอ้างว่าไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ไม่ได้ ศาลจึงต้องทำการ Analogy โดยใช้มาตรา 4 ปรับมาตรา 1312 มาใช้

การ Analogy โดยไม่ผ่านมาตรา 4 คือการ Analogy ในตัวของบทกฎหมายนั้น ๆ เลย เช่น
มาตรา 1352 ท่านว่าถ้าเจ้าของที่ดินได้รับค่าทดแทนตามสมควรแล้วต้องยอมให้ผู้อื่นวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้า หรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันผ่านที่ดินของตน เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินติดต่อ ซึ่งถ้าไม่ยอมให้ผ่านก็ไม่มีทางจะวางได้ หรือถ้าจะวางได้ก็เปลืองเงินมากเกินควร แต่เจ้าของที่ดินอาจให้ยกเอาประโยชน์ของตนขึ้นพิจารณาด้วย
คำว่า สิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันนี้ หมายถึงอะไรได้อีก เราต้องดูเจตนารมย์ก่อน มาตรานี้บัญญัติขึ้นเพื่อสิทธิหรือประโยชน์ที่จำเป็นของที่ดินข้างเคียงในการอยู่อาศัยของเขา ดังนั้นหากเขาเสียค่าตอบแทนแล้ว เราต้องยอมให้เขาใช้ที่ดินของเราเพื่อวางท่อน้ำ หรืออื่น ๆ ซึ่งจำเป็นได้ ท่อแก๊ส ไม่มีบัญญัติไว้ ปัญหาว่าเจ้าของที่ดินจะไม่ยอมให้วางได้ไหม หากเกิดพิพาทกันขึ้นก็ต้องดูว่าท่อแก๊สมีความจำเป็นหรือไม่ ถ้าจำเป็น แล้วไม่ได้ทำให้เสียหายอะไรซึ่งท่อแก๊สเองก็มีลักษณะเดียวกับพวกท่อน้ำ ก็ต้องยอมให้วาง อันนี้คือการ Analogy โดยตัวของมันเองไม่ต้องผ่านมาตรา 4 เลย

ดังนั้น Analogy คือการเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเทียบโดยใช้มาตรา 4 หรือเทียบโดยตัวของมันเองก็ตาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น