วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

กรณีศึกษากฎหมายย้อนหลัง ประกาศ คปค. กับการยุบพรรค

โดยปกติเมื่อมีการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ กฎหมายลูกและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่างๆ ต้องตกไปตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทด้วย เว้นแต่ จะมีการออกกฎหมายมาว่า กฎหมายใดให้คงอยู่ ก็ต้องหมายความว่ากฎหมายนั้นยังอยู่

ในเรื่องของการยกเลิกกฎหมายนี้ ผู้เขียนขออธิบายให้กระจ่างชัดเจนดังนี้

กฎหมายนี้แบ่งเป็นกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญ กับกฎหมายที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่ได้คลอดจากรัฐธรรมนูญโดยตรง

หากเป็นกฎหมายที่คลอดจากรัฐธรรมนูญ เป็น พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ชื่อก็บอกว่า ประกอบ จึงแปลว่าถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายหลักก็ไม่รู้จะไปประกอบกับอะไร ย่อมต้องตกไปตามรัฐธรรมนูญ เว้นแต่ จะอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายเองให้คงไว้ซึ่ง พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว พรบ.ประกอบฯ ฉบับดังกล่าวจึงยังคงใช้บังคับได้

ในส่วนของกฎหมายอื่นที่ไม่ใช่กฎหมายที่คลอดจากรัฐธรรมนูญ การยกเลิกกฎหมายต้องอาศัยกฎหมายบัญญัติยกเลิก ถ้ากฎหมายไม่บัญญัติยกเลิกก็ไม่มีการยกเลิก เช่น การยกเลิกประมวลกฎหมายอาญาบางมาตรา จะมีการบัญญัติยกเลิก หรือบัญญัติแก้ไขอย่างชัดเจน

ในส่วนของคำวินิจฉัยขอให้ท่านติดตามได้ที่นี่


เมื่อพิจารณาตามคำพิพากษาแล้ว จะเห็นได้ชัดว่า

การยุบพรรคมิได้บัญญัติขึ้นมากลั่นแกล้งพรรคใดพรรคหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะมีหลายพรรคที่โดนยุบพรรคตามคำวินิจฉัยฉบับนี้เช่นกัน

ปัญหาต่อมา ประกาศคปค.27 เป็นกฎหมายย้อนหลังหรือไม่

ถ้าไม่มีประกาศฉบับนี้จะโดนยุบพรรคหรือไม่

ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 27


ข้อ 3.
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอื่นที่ทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใดเพราะเหตุกระทำตามต้องห้ามตามราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมืองพุทธศักราช 2541 ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นมีกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรค

ข้อ 4.
ผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยคำสั่งของศาลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พุทธศักราช 2541 ก่อนวันที่ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ใช้บังคับ ให้ผู้นั้นยังคงถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามคำสั่งของศาลต่อไป
ประกาศ ณ วันที่ 30 กันยายน พศ.2549

ตามที่ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2549 ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พุทธศักราช พ.ศ.2541 มีผลบังคับใช้ต่อไปนั้น เพื่อให้มีผลชัดเจนในการมีผลบังคับใช้ของกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งกำหนดเรื่องการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำการต้องห้ามตามกฎหมายนั้น คณะปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จึงมีประกาศดังต่อไปนี้

ซึ่งหมายความว่า ประกาศ คปค.ฉบับดังกล่าว รองรับให้ พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญปี 2541 ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป ซึ่งนอกจากจะไม่เป็นการยกเลิกกฎหมายแล้ว ยังเป็นการยืนยันให้กฎหมายนี้ยังใช้ต่อไป ในข้อนี้

การยุบพรรคดังกล่าว จึงเป็นไปตาม พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541


ดังที่บัญญัติในมาตรา 66 ประกอบมาตรา 69

มาตรา 66 เมื่อพรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง
(1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง ประเทศโดยวิธีการ ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
(2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ
(3) กระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือขัดต่อกฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือ
(4) กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 23 วรรคหนึ่ง มาตรา 52 หรือ มาตรา 53

มาตรา 69 ในกรณีที่พรรคการเมืองต้องยุบไปเพราะไม่ดำเนินการ ตามมาตรา 35 หรือมาตรา 62 หรือกระทำการตามมาตรา 66 ผู้ซึ่งเคยดำรง ตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ต้องยุบไปจะขอจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารของพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการขอจัดตั้งพรรค การเมืองขึ้นใหม่ตามมาตรา 8 อีกไม่ได้ ทั้งนี้ ภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นต้องยุบไป

ดังนั้นการยุบพรรคการเมืองตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 จึงมิใช่เป็นกรณีใช้กฎหมายย้อนหลังแต่อย่างใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น