วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

Estoppel ในคดีพระวิหาร

ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ศาลโลกพิพาษาคดีเขาพระวิหาร ให้ส่วนหนึ่งของประสาทพระวิหารตกเป็นของประเทศกัมพูชา

สืบเนื่องจาก พ.ศ. ๒๕๐๑ มีการอ้างสิทธิเหนือบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ที่ชายแดนไทยด้านอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และชายแดนกัมพูชาด้านจังหวัดพระวิหาร ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่ทั้งไทยและกัมพูชา ถือแผนที่ปักปันเขตแดนตามแนวสันปันน้ำของเทือกเขาพนมดงรักคนละฉบับ ทำให้เกิดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของทั้งสองฝ่ายในบริเวณที่เป็นที่ตั้งของตัวปราสาท โดยทั้งฝ่ายกัมพูชาและฝ่ายไทยได้ยินยอมให้มีการพิจารณาปัญหาดังกล่าวขึ้นที่ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒

คดีนี้ศาลโลกได้ตัดสินให้ตัวปราสาทเขาพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕ ด้วยคะแนนเสียง ๙ ต่อ ๓ ท่ามกลางความไม่พอใจของฝ่ายไทย ซึ่งเห็นว่าศาลโลกตัดสินคดีนี้อย่างไม่ยุติธรรม เนื่องจากศาลโลกยึดติดอยู่บนแผนที่ฉบับเดียว โดยที่ศาลโลกมิได้มีการตรวจสอบสถานที่อย่างจริงจังตามข้อตกลงไทย-ฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม การตัดสินคดีครั้งนี้ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องอาณาเขตทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา ในบริเวณดังกล่าวให้หมดไป และยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังต่อมาจนถึงปัจจุบัน

วิเคราะห์ข้อเท็จจริง

สันปันน้ำ คือ ส่วนที่สูงที่สุดของเทือกเขา ซึ่งนิยมนำมาปักปันเขตแดน ที่เราเห็นแผนที่แล้วมีขอบแผนที่ประเทศต่างๆ คือแนวเขตแดนของประเทศนั้นที่ปักปันตามสันปันน้ำค่ะ สันปันนำคือส่วนที่สูงที่สุด เมื่อเวลาที่ฝนตกกระทบส่วนที่สูงที่สุดแล้ว น้ำไหลไปทางใด เราจะแบ่งเขตแดนกันตามนั้น น้ำไหลเข้าไปสู่เขตแดนของประเทศใด นั่นคือดินแดนของประเทศนั้น

คดีนี้มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ถึง พ.ศ. ๒๔๕๑ ประเทศกัมพูชาตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศฝรั่งเศษ ดังนั้นประเทศฝรั่งเศษจึงเป็นเจ้าของดินแดนกัมพูชาที่แท้จริงในขณะนั้น ฝรั่งเศษได้ทำสัญญากับประเทศไทยอยู่หลายฉบับ แต่มีสัญญาอยู่ฉบับหนึ่งที่เป็นต้นเหตุของปัญหานี้ คือ สัญญาซึ่งลงในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ปี พ.ศ. ๒๔๔๗ มีความตกลงอยู่ว่า พรมแดนที่เป็นปัญหาให้ถือเอาสันปันน้ำเป็นเกณฑ์ในการแบ่งเขตแดน และให้แต่งตั้งคณะกรรมการปักบันเขตแดน เพื่อได้ทำการสำรวจบริเวณพื้นที่แถบนั้น

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ทางการไทยได้ขอให้ทางฝรั่งเศสทำแผนที่พรมแดน ฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่ขึ้นจำนวนหนึ่ง หนึ่งในนั้นเป็นแผนที่ที่ฝรั่งเศสลากเส้นเอาเขาพระวิหาร ซึ่งอยู่ในความครอบครองของประเทศไทย ไปอยู่ในฝั่งเขตแดนกัมพูชาของทางฝรั่งเศสด้วย โดยมิได้ยึดแนวสันปันน้ำเป็นเกณฑ์ (ในข้อนี้เองที่คนไทยไม่ยอมรับ และกล่าวหาว่าฝรั่งเศษละเมิดสัญญา) ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วยเช่นนั้น แต่

ประเทศไทยกลับไม่ได้คัดค้านแผนที่นั้นภายในเวลาอันสมควร คณะกรรมการฝ่ายไทยไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เลย แม้จะไม่ได้แสดงการยอมรับ แต่ก็ไม่ได้ทำการคัดค้านว่าแผนที่ฉบับที่มีปัญหานั้นไม่ถูกต้อง ท่านเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นคือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ตรัสขอบใจราชทูตฝรั่งเศสผู้นำส่งแผนที่นั้น และผู้ว่าราชการจังหวัดก็มิได้ทำการทักท้วง

ต่อมา มีการประชุมคณะกรรมการที่กรุงเทพ ฯ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ โดยใช้แผนที่นี้เป็นหลัก ก็ไม่มีผู้คัดค้าน
ดังนั้นในวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จึงได้ตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา ด้วยคะแนนเสียง ๙ ต่อ ๓

ทำให้คนไทยไม่ยอมรับ แต่ผู้เขียน ซึ่งได้ร่ำเรียนกฎหมาย และมีความเข้าใจในเรื่องหลักกฎหมายปิดปากยอมรับ

ในเมื่อเขาส่งแผนที่ ที่เขาทำให้เราแล้ว ให้เราได้ตรวจดูแล้ว เหตุใดเราจึงไม่ตรวจดูว่า แผนที่ ที่เขาทำนั้นได้ทำตามแนวสันปันน้ำอันเป็นข้อตกลงในสัญญาระหว่างประเทศหรือไม่ เรากลับเอาแผนที่เข้าลิ้นชัก นั่นคือการนิ่งในเรื่องที่ไม่ควรจะนิ่ง ทำให้เราต้องเสียพระวิหารไปในขณะนั้น

เมื่อเราไม่ได้คัดค้านแผนที่นั้นว่าไม่ชอบ จนประเด็นข้อพิพาทในเรื่องแผนที่นั้นชอบหรือไม่ เป็นอันยุติไปตามการนิ่งซึ่งถือเป็นการยอมรับของประเทศไทยแล้ว คำพิพากษาตัดสินออกมาเช่นนี้ ต้องยอมรับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น