วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สิทธิและเสรีภาพของสื่อกับจริยธรรมในวิชาชีพ

สิทธิ และ เสรีภาพของสื่อสารมวลชนในการนำเสนอข่าวนั้น นับว่ามีความสำคัญยิ่งต่อสังคม หากข่าวสารถูกบิดเบือน หรือสื่อมวลชนถูกปิดกั้น ไม่ให้นำเสนอข่าว ความรับรู้ต่อความจริง จะไม่สามารถปรากฎแก่ประชาชนได้

ในทางกฎหมาย มีกฎหมายรองรับ สิทธิและเสรีภาพของสื่อ โดยปรากฎตามรัฐธรรมนุญ ความว่า

มาตรา 39 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัย อำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของ รัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศชื่อเสียง สิทธิ ในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความ เสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน

การสั่งปิดโรงพิมพ์ สถานีวิทยุกระจายเสียง หรือสถานีวิทยุ โทรทัศน์ เพื่อลิดรอนเสรีภาพตาม มาตรานี้ จะกระทำมิได้ การให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณา ในหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ จะ กระทำมิได้ เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะการ สงครามหรือการรบ แต่ทั้งนี้จะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบท บัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นตามความในวรรคสอง

เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นบุคคล สัญชาติไทย ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

การให้เงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นอุดหนุนหนังสือพิมพ์หรือสื่อ มวลชนอื่นของเอกชนรัฐจะกระทำมิได้

เมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแล้ว จะเห็นได้ว่า สื่อ มีสิทธิ และ เสรีภาพ คำสองคำนี้ มิใช่คำในความหมายอย่างเดียวกัน

สิทธิ คือ ประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้
สิทธิของสื่อนั้นมีกฎหมายรับรองและคุ้มครองให้ตามรัฐธรรมนูญแล้ว

เสรีภาพ คือ อิสระในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่กระทบต่อสิทธิของบุคคลอื่น คำว่าไม่กระทบต่อสิทธิของบุคคลอื่นนั้น หมายความว่า ต้องไม่ทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย เช่นแสดงความคิดเห็นในลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทบุคคลอื่นนั้นมิได้

นอกจากนี้แล้ว รัฐ ยังไม่สามารถปิด หรือจำกัดสิทธิและเสรีภาพของสื่อในการเขียนหรือแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้ สื่อจึงเป็นเครื่องมืออย่างดีให้กับประชาชนในการใช้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ดังที่เราเห็นได้จากหน้าหนังสือพิมพ์ หรือตามการรายงานข่าว การคุยข่าว การเล่าข่าวของสถานีโทรทัศน์เป็นการทั่วไป

แต่อย่างไรก็ดี การนำเสนอข่าวหรือความคิดเห็นนั้น อาจถูกจำกัดด้วยกรอบของกฎหมายเช่นกัน

"ทั้งนี้แล้วแต่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น" คือเครื่องมือของกฎหมาย ในอันที่จะใช้ปราบหรือปิดสื่อนอกรีต สื่อนอกรีต หมายถึง สื่อที่มิได้ประพฤติตนตามคลองธรรมของสื่อสารมวลชน แต่ประพฤติตนรับใช้การเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

กฎหมายทีใช้เป็นเครื่องมือในการปิดสื่อนอกรีตนั้น มิได้อยู่ที่ไหน หากแต่อยู่ที่รัฐธรรมนุญนั่นเอง โดยท้ายมาตรา 39 วรรคสาม ความว่า "เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะการ สงครามหรือการรบ แต่ทั้งนี้จะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบท บัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นตามความในวรรคสอง" จากบทบัญญัติดังกล่าว รัฐธรรมนุญเปิดโอกาสให้รัฐสามารถออกกฎหมายขึ้นมาจำกัดสิทธิสือ โดยปิดหรือห้ามการนำเสนอข่าวสารได้ ซึ่งในเรื่องนี้ อาจถูกมองว่า รัฐใช้กฎหมายเอื้อประโยชน์ปิดปากสื่อที่ไม่เห็นด้วยกับตนเอง มันจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ รัฐออกกฎหมายมาแล้ว สื่อจะถูกปิดตามกฎหมายที่รัฐออกโดยสถานเดียวหรือไม่ ย่อมไม่ใช่แน่

เพราะหากมีการออกกฎหมาย เพื่อดำเนินการที่เกี่ยวกับสื่อมวลชนตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ เช่นการเซ็นเซอร์ข่าวในยามสงครามเพื่อประโยชน์ของความมั่นคง หรือกฎหมายที่ออกมาห้ามเสนอข่าวเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ถ้าบุคคลใด เช่นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน เห็นว่ากฎหมายที่ออกมานั้น ละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ สามารถให้เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทกฎหมายนั้นขัดรัฐธรรมนูญ บทกฎหมายนั้นก็ไม่สามารถใช้บังคับต่อไปได้ ดังนั้น หากสื่อเห็นว่า กฎหมายที่ออกมาริดรอนสิทธิของตนนั้นขัดต่อรัฐธรรมนุญ กฎหมายเปิดช่องให้นำคดีขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนุญวินิจฉัยเพิกถอนกฎหมายนั้นได้

ในทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน "เสรีภาพของสื่อ คือเสรีภาพของประชาชน" ยังคงเป็นความจริงเสมอ หากสื่อนั้น แสดงความเห็นด้วยความเป็นกลาง เป็นกลางไม่ได้หมายยถึงเป็นกลางระหว่างฝ่ายใด แต่หมายถึงความเป็นกลางจากอคติทั้งสี่ประการ อันได้แก่

ฉันทาคติ กล่าวคือ ไม่แสดงความคิดเห็นเข้าข้างผู้ใด เพราะชื่นชอบ ชื่นชม หรือได้รับอามิสจากฝ่ายนั้น

โทสาคติ กล่าวคือ ไม่แสดงความคิดเห็นในการโจมตีผู้ใด เพราะไม่ชอบ เกลียดชัง หรือโกรธฝ่ายนั้น

โมหาคติ กล่าวคือ ไม่แสดงความคิดเห็นแบบด่วนได้ ใจเร็ว ยังไม่มีข้อมูล ยังไม่ตกผลึกทางความคิด เร่งเขียนข่าวออกขายแข่งกับผู้อื่นเสียก่อน

ภยคติ กล่าวคือ ไม่แสดงความคิดเห็น หรือแสดงความคิดเห็นใด โดยเกรงกลัวต่ออำนาจของผู้ใด หรือตกอยู่ภายใต้อำนาจและการครอบงำของผู้ใด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น