ประวัติศาสตร์ของการอนุญาโตตุลาการ
คำว่า “อนุญาโตตุลาการ”
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
หมายความว่า “ผู้ชำระตัดสินในข้อพิพาท
ซึ่งทั้งโจทก์และจำเลยยินยอมพร้อมใจกันตั้งให้ว่ากล่าว”
อนุญาโตตุลาการ คือ
บุคคลซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคนเดียวหรือหลายคนที่คู่กรณีพิพาทหรือบุคคลอื่นที่ได้รับมอบหมาย
ตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นคนกลางและทำหน้าที่พิจารณาชี้ขาดตัดสินข้อพิพาทของคู่กรณี
สำหรับประเทศไทย พบหลักฐานในกฎหมายตามสามดวง
พระไอยการลักษณะตระลาการ ความว่า
“อันว่ากระลาการมีลักษณ ๖ ประการดั่งนี้นักปราชญ์พึงรู้
อันว่ากระลาการพระมหากระษัตรตั้งแต่งนั้น
ถ้าบังคับคดีผิดไซ้ควรให้กระลาการใช้ทรัพยเท่าบังคับผิดนั้น อนึ่งถ้ากระลาการบังคับชอบแล้ว
แลคู่ความกล่าวโทษกระลาการไซ้ให้ไหมเปนสองเท่าทรัพยอันกระลาการบังคับนั้น เหตุใดจึ่งกล่าวดั่งนี้เหตุบุทคลผู้นั้นเลมิดกระลาการอันบังคับเปนธรรมแลเลมิดพระราชบันหยัด
อันว่ากระลาการคู่ความทังสองข้างยอมให้บังคับนั้น
ถ้าแลบังคับบันชาผิดไซ้หาโทษมิได้ เหตุคู่ความทังสองข้างให้บังคับเอง
อันว่ากระลาการห้าประการ
คือกระลาการเปนฝักฝ่ายคู่ความข้างหนึ่งก็ดี คือกระลาการเปนนายร้อยนายแขวงก็ดี คือกระลาการบังคับด้วยจิตรอันเสมอทังสองก็ดี
คือกระลาการอันกระลาการผู้ใหญ่ ตั้งให้เปนรองอาตมานั้นก็ดี แลคือกระลาการอันพระมหากระษัตรตั้งนั้นก็ดี
แลกระลาการทังห้าประการนี้ ถ้าบังคับคดีนั้นแล้วแลคู่ความมิเตมใจแลอุธรเอาเนื้อความมาให้บังคับเล่าก็ได้
อันว่ากระลาการแลคู่ความมันยอมกันให้บังคับนั้น
ถ้าบังคับคดีนั้นคู่ความมีเตมใจ แลจะอุธรเอาเนื้อความนั้นมาให้บังคับไหม่เล่ามิได้เลย เหตุเนื้อความนั้นคนทังสองกอปรด้วยอุส่าหยอมให้ผู้นั้นบังคับ”
ในพระอัยการกระลาการแบ่งกระลาการไว้เป็น
6 ประการ ดังนี้
1. กระลาการพระมหากษัตริย์แต่งตั้ง
2. กระลาการคู่ความทังสองข้างยอมให้บังคับ
3. กระลาการเป็นฝักฝ่ายคู่ความข้างหนึ่ง
4. กระลาการเป็นนายร้อยนายแขวง
5. กระลาการบังคับด้วยจิตรอันเสมอทังสอง
6. กระลาการอันกระลาการผู้ใหญ่ตั้งให้เปนรองอาตมา
จะเห็นได้ว่า
หลักการของอนุญาโตตุลาการมีมาเนิ่นนานแล้ว ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาพร้อม ๆ
กับที่มีการพูดถึงเรื่องคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ และหลักอินทภาษ ซึ่งกระลาการ 6
จำพวกนี้ถูกบัญญัติไว้ในอินทภาษ
แต่ต่อมาถูกตัดมายกไว้ในพระอัยการกระลาการทีหลัง จึงไม่ปรากฎความนี้ในอินทภาษอีก
และการอนุญาโตตุลาการได้มีการใช้มาตลอดจนถึงทุกวันนี้นับเป็นเวลาหลายร้อยปี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น