วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วิชาและจรณะ ของนักกฏหมาย โดยมรรคมีองค์แปด



วิชาชีพนักกฎหมาย นับว่าเป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญระดับแนวหน้าของสังคม เพราะนักกฎหมาย เป็นผู้ทำให้ถึงพร้อมซึ่งความถูกต้องและยุติธรรม หากนักกฎหมายขาดความรู้และจริยธรรมเสียแล้ว ความถูกต้องและเป็นธรรมย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ในสังคม
วิชาและจรณะ จึงคือหัวใจสำคัญของนักกฏหมาย
นักกฏหมายจะต้องธำรงค์ไว้ซึ่งวิชาและจรณะ จึงจะทำความถูกต้องและยุติธรรมให้เกิดแก่ปวงชนได้
นักกฏหมายที่ไร้วิชา ย่อมไม่อาจทำความถูกต้องแห่งบทบัญญัติให้ปรากฏได้
นักกฏหมายที่ไร้จรณะ ย่อมไม่อาจทำความยุติธรรมให้ปรากฏได้ 

หลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่หากนำมาปรับใช้กับจริยธรรมในวิชาชีพนักกฎหมายแล้วจะสามารถเอื้ออำนวยให้วิชาและจรณะเกิดขึ้นได้อย่างบริบูรณ์  คือ มรรคมีองค์แปด  ปรากฏหลักฐานที่ให้ความหมายตามคัมภีร์ปิฏก ดังนี้

มรรคมีองค์แปดเป็นไฉน

[๒๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นไฉน นี้คือมรรค
มีองค์ ๘ อันประเสริฐ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ

ก็สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ใน ทุกขนิโรธ
ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา อันนี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ฯ

สัมมาสังกัปปะ เป็นไฉน ความดำริในการออกจากกาม ความดำริใน ความไม่
พยาบาท ความดำริในอันไม่เบียดเบียน อันนี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ ฯ

สัมมาวาจา เป็นไฉน การงดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการพูดส่อเสียด
งดเว้นจากการพูดคำหยาบ งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ อันนี้เรียกว่า สัมมาวาจา ฯ

สัมมากัมมันตะ เป็นไฉน การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการถือ เอาสิ่งของที่เขามิได้ให้ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม อันนี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ ฯ

สัมมาอาชีวะ เป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ละการเลี้ยงชีพที่ผิดเสีย สำเร็จ
การเลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงชีพที่ชอบ อันนี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ ฯ

สัมมาวายามะ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เกิดฉันทะพยายาม ปรารภความ
เพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อมิให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่ เกิดบังเกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศลธรรมที่ยัง ไม่เกิดบังเกิดขึ้น เพื่อความตั้งอยู่ไม่เลือนหาย เจริญยิ่ง ไพบูลย์ มีขึ้น เต็มเปี่ยม แห่งกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว อันนี้เรียกว่าสัมมาวายามะ ฯ

สัมมาสติ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียรมีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ พิจารณา เห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและ โทมนัสในโลกเสียได้ อันนี้เรียกว่า สัมมาสติ ฯ

สัมมาสมาธิ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจาก อกุศลธรรม
บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจารมีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอมี อุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยทั้งหลาย สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา
มีสติอยู่เป็นสุข เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ อันนี้เรียกว่า สัมมา สมาธิ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามิมีปฏิปทาอริยสัจ ฯ

http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=10&A=6555&Z=6764

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒
ทีฆนิกาย มหาวรรค

[๓๕] สัมมาทิฏฐิ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?
ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมายความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้แจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลสปัญญาเครื่องนำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ชัด ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญาเหมือนศาตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่างคือปัญญา แสงสว่าง
คือปัญญา ปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัยธรรมความเห็นชอบ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ มีในสมัยนั้น.

[๓๖] สัมมาสังกัปปะ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?
ความตรึก ความตรึกอย่างแรง ความดำริ ความที่จิตแนบอยู่ในอารมณ์ ความที่จิตแนบสนิทอยู่ในอารมณ์ ความยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ ความดำริชอบ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่าสัมมาสังกัปปะ มีในสมัยนั้น.

[๓๗] สัมมาวายามะ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?
การปรารถความเพียรทางใจ ความขะมักเขม้น ความบากบั่น ความตั้งหน้า ความพยายาม ความอุตสาหะ ความทนทาน ความเข้มแข็ง ความหมั่น ความก้าวไปอย่างไม่ท้อถอย ความไม่ทอดทิ้งฉันทะ ความไม่ทอดทิ้งธุระ ความประคับประคองธุระ วิริยะ วิริยินทรีย์ วิริยพละความพยายามชอบ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า สัมมาวายามะ มีในสมัยนั้น.

[๓๘] สัมมาสติ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?
สติ ความตามระลึก ความหวนระลึก สติ กิริยาที่ระลึก ความทรงจำ ความไม่เลื่อนลอยความไม่ลืม สติ สตินทรีย์ สติพละ ความระลึกชอบ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า สัมมาสติ มีในสมัยนั้น

[๓๙] สัมมาสมาธิ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?
ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นคงอยู่แห่งจิต ความไม่ส่ายไปแห่งจิตความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป ความสงบสมาธินทรีย์ สมาธิพละ ความตั้งใจชอบในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า สัมมาสมาธิ มีในสมัยนั้น.

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka3/v.php?B=34&A=598&Z=847

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๔ พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๑
ธรรมสังคณีปกรณ์

[๑๘๐] สัมมาอาชีวะ เป็นไฉน
การงด การเว้น การเลิกละ เจตนาเครื่องเว้น จากมิจฉาอาชีวะ กิริยา
ไม่ทำ การไม่ทำ การไม่ล่วงละเมิด การไม่ล้ำเขต การกำจัด ต้นเหตุมิจฉาอาชีวะ
การเลี้ยงชีพชอบ อันเป็นองค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค อันใด
นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka3/v.php?B=35&A=2873&Z=2986

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๕ พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๒
วิภังคปกรณ์


[๒๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสังกัปปะเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เรากล่าวสัมมาสังกัปปะเป็น ๒ อย่าง คือ สัมมาสังกัปปะที่ยังเป็นสาสวะ เป็น
ส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑ สัมมาสังกัปปะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ
เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค อย่าง ๑ ฯ

[๒๖๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสังกัปปะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วน
แห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์เป็นไฉน คือความดำริในเนกขัมมะ ดำริในความไม่
พยาบาท ดำริในความไม่เบียดเบียน นี้สัมมาสังกัปปะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วน
แห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ ฯ

[๒๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสังกัปปะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ
เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความตรึก ความวิตก ความดำริ ความแน่ว ความแน่ ความปักใจ วจีสังขาร ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึกมีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรคเจริญอริยมรรคอยู่นี้แล สัมมาสังกัปปะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ

[๒๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมากัมมันตะเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสัมมากัมมันตะเป็น ๒ อย่าง คือ สัมมากัมมันตะที่ยังเป็น
สาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑ สัมมากัมมันตะของพระอริยะ
ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค อย่าง ๑ ฯ

[๒๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมากัมมันตะที่ยังเป็นสาสวะเป็นส่วน
แห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์เป็นไฉน คือ เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต งดเว้น
จากอทินนาทาน งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร นี้สัมมากัมมันตะที่ยังเป็นสาสวะ
เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ ฯ

[๒๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมากัมมันตะของพระอริยะที่เป็น
อนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรคเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความงด
ความเว้น เจตนางดเว้น จากกายทุจริตทั้ง ๓ ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิต
หาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้แล สัมมากัมมันตะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=14&A=3724&Z=3923

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

เมื่อนำมรรคมีองค์แปดมาบูรณาการเข้าด้วยวิชาและจรณะของนักกฎหมาย จึงได้ข้อควรประพฤติปฏิบัติ ดังนี้


สัมมาทิฏฐิ  คือ ความเห็นตรง เห็นถูก เห็นชอบ  เห็นว่าความจริงคือสิ่งที่ควรปฏิบัติ เห็นว่าควรเว้นจากการรับสินบน กลับแพ้ให้เป็นชนะ กลับชนะให้เป็นแพ้ ด้วยใฝ่ในอคติทั้งสี่ประการ

สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ หมายถึง การคิดพิจารณาตัวบทกฎหมายด้วยจิตดั่งตราชู เสมอกันทั้งสองฝ่าย  โดยเอาธรรมสาสตรต่างแว่น อินทรภาษต่างเนตร  นำเอาตัวบทกฏหมายมาวินิจฉัยด้วยจิตเป็นกลาง

สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ ไม่พูดจาโกหก  ไม่พูดเพ้อเจ้อไร้หลักการและหลักฐาน ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบคาย เหน็บแนม ด่าทอ  นักกฎหมายมักได้ชื่อว่าเป็นผู้มีมุสาวาทเป็นที่อยู่ ที่อาศัย และในความเป็นจริง นักกฎหมาย      จำนวนมากก็เป็นเช่นนั้น อีกทั้งนักกฏหมายยังได้ชื่อว่าเป็นผู้มีปากเป็นอาวุธ  กล่าวคำเสียดสีเหน็บแนมต่อคู่ความเสมอ

สัมมากัมมันตะ  คือ การประพฤติดีงามตามที่ตนเห็นได้มีความดำริไว้

สัมมาอาชีวะ  คือ หมั่นขวนขวายหาความรู้  ติดตามกฎหมายที่ออกใหม่ ที่แก้ไข อยู่เนืองๆ การไม่รับความโดยเอาเปรียบ โดยมีจิตประทุษร้าย ไม่วินิจฉัยความโดยมีอคติทั้งสี่ประการ

สัมมาวายามะ  คือ ความอุตสาหะ ความเพียร ในการทำงานให้ปรากฏแล้วด้วยความถูกต้องและเป็นธรรม

สัมมาสติ   คือ ความละเอียดรอบคอบในการทำคดีความ ทั้งนี้ ต้องสังวรอยู่เสมอว่า ชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สินของตัวความ หรือคู่ความ คือสิ่งที่อยู่ในมือเรา

สัมมาสมาธิ  คือ การฝึกจิตให้ตั้งมั่น สงบ มิให้อคติทั้งสี่ประการเข้าแทรกได้
เมื่อปฏิบัติมรรคมีองค์แปดได้ดังนี้แล้ว วิชาและจรณะย่อมเกิดแก่นักกฎหมายท่านนั้น ชีวิตของท่าน ก็จะจำเริญดุจพระจันทร์วันศุขปักษ์



    ไม่มีความคิดเห็น:

    แสดงความคิดเห็น

    หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น