วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555

อำนาจการพิจารณา พิพากษา ของผู้พิพากษาคนเดียว



มาตรา ๒๕ (๕) ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม เป็นมาตราที่สร้างความสงสัยให้แก่นักเรียนกฎหมายอย่างมาก ในส่วนของอำนาจการพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียว สำหรับการลงโทษจำคุกในคดีอาญา
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า อำนาจการพิจารณากับพิพากษา เป็นคนละเรื่องกัน ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน อำนาจการพิจารณาคือ อำนาจในการนั่งพิจารณาคดีอาญา  คือการนั่งพิจารณาสำนวนคดี ในการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล ส่วนอำนาจพิพากษาคืออำนาจในการพิจารณาลงโทษโดยทำเป็นคำพิพากษา 

ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจที่จะนั่งพิจารณาได้ในคดีอาญาที่มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือ  ไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  แต่ถ้าจะลงโทษจำคุกเกินหกเดือนหรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไม่สามารถพิพากษาลงได้ จะต้องอาศัยองค์คณะตามมาตรา ๒๖
มาตรา ๒๕ ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้
(๑) ไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องหรือคำขอที่ยื่นต่อศาลในคดีทั้งปวง
(๒) ไต่สวนและมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการเพื่อความปลอดภัย
(๓) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งในคดีอาญา
(๔) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
(๕) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่จะลงโทษจำคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้
ผู้พิพากษาประจำศาลไม่มีอำนาจตาม (๓) (๔) หรือ (๕)
มาตรา ๒๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๕ ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจากศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจำศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือคดีอาญาทั้งปวง



ตัวอย่าง  นายดำ เป็นผู้พิพากษาศาลชั้นต้น  พิจารณาคดีอาญาข้อหาฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๑ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นายดำสามารถนั่งพิจารณาคดีนี้เพียงนายเดียวได้ และสามารถลงโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนได้  (สูงสุดลงโทษได้หกเดือนเต็ม) แต่ถ้านายดำจะลงโทษจำคุกเจ็ดเดือน นายดำไม่สามารถทำคำพิพากษาเพียงคนเดียวได้ ต้องให้นายขาว ผู้พิพากษาในศาลนั้น เป็นองค์คณะด้วย

หมายเหตุ อัตราโทษที่จะลงนี้ ต้องเป็นโทษสุทธิ คือโทษที่ลดหรือเพิ่มเรียบร้อยแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น