วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ Arbitration ตอนที่ ๔ Arbitarter



อนุญาโตตุลาการ     Arbiter ,  Arbitarter,  Arbitor,  Arbitartor

ความเบื้องต้น
                      

อนุญาโตตุลาการ    
                  อนุญาโตตุลาการเป็นบุคคลที่มีบทบาทที่สำคัญที่สุดในการระงับข้อพิพาทโดยวิธีการนี้ทั้งนี้เพราะการดำเนินกระบวนพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทนั้นย่อมต้องอาศัยความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และความยุติธรรม ของผู้เป็นอนุญาโตตุลาการ  ดังนั้นการระงับข้อพิพาทจะสำเร็จสมตามความมุ่งหมายหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับผู้เป็นอนุญาโตตุลาการเป็นสำคัญ  ด้วยเหตุนี้การแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจเป็นอย่างมากในการแต่งตั้งบุคคลที่จะมาเป็นอนุญาโตตุลาการ  ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของวิธีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ และบุคคลที่จะเป็นอนุญาโตตุลาการ  บุคคลที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติหรือมีความสามารถตามกฎหมาย
                        สิ่งสำคัญของคู่กรณีที่จะตกลงกันเกี่ยวกับวิธีการและบุคคลที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการ  ที่ต้องคำนึงถึงคือเรื่องของเสรีภาพในการทำความตกลงกัน ซึ่งเป็นหลักฐานของกฎหมายเอกชนและเรื่องของความเสมอภาคของคู่กรณีในการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ  ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่กรณี  คู่กรณีทุกฝ่ายต้องได้รับเสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียมกัน หลักแห่งความเสมอภาคในการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 11 ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530  บัญญัติว่า อนุญาโตตุลาการอาจมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ ในกรณีที่มีอนุญาโตตุลาการหลายคน ให้คู่กรณีตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายละเท่ากัน
                        ในกรณีที่สัญญาอนุญาโตตุลาการไม่ได้กำหนดจำนวนอนุญาโตตุลาการไว้ ให้คู่กรณีตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายละหนึ่งคน และให้อนุญาโตตุลาการดังกล่าวร่วมกันตั้งบุคคลภายนอกอีกหนึ่งคนร่วมเป็นอนุญาโตตุลาการด้วย
                        ตามมาตราที่ 11 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1) สัญญาอนุญาโตตุลาการจะกำหนดจำนวนอนุญาโตตุลาการไว้หรือไม่ก็ได้
2) ในกรณีที่มีการระบุจำนวนอนุญาโตตุลาการไว้ในสัญญา จะระบุให้มีจำนวน
อนุญาโตตุลาการคนเดียวหรือหลายคนก็ได้
3) กรณีที่ไม่มีการกำหนดจำนวนอนุญาโตตุลาการไว้ในสัญญา กฎหมายระบุให้มี
อนุญาโตตุลาการสามคนโดยให้คู่กรณีแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายละหนึ่งคน และให้อนุญาโตตุลาการดังกล่าวร่วมกันแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการคนที่สามขึ้น
ผลภายหลังของการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการนั้น  เมื่อมีการแต่งตั้งบุคคลใดเป็นอนุญาโตตุลาการโดยชอบแล้ว  บุคคลดังกล่าวก็จะสามารถทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีได้
                        ในทางปฏิบัติเกี่ยวกับวิธีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการนั้นคู่กรณีอาจตกลงกันดังต่อไปนี้
                        1.  การแต่งตั้งโดยคู่กรณีเอง ในกรณีมีข้อตกลงกันมาตั้งแต่ต้น โดยอาจจะมีการระบุบุคคลที่เป็นอนุญาโตตุลาการไว้ในสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือไม่ก็ได้ หรือจะตกลงกันภายหลังข้อพิพาทเกิดขึ้นก็ได้เช่นกัน
                        2.  ให้สถาบันอนุญาโตตุลาการ เป็นผู้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการให้ กรณีนี้จะเกิดขึ้นในกรณีที่คู่กรณีตกลงกันให้ระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการ  ตามข้อบังคับของสถาบันอนุญาโตตุลาการ ซึ่งในกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับของสถาบันอนุญาโตตุลาการก็อาจกำหนดวิธีการที่สถาบันอนุญาโตตุลาการจะแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการไว้
                        3.  ให้บุคคลภายนอกเป็นผู้แต่งตั้ง กรณีที่สัญญาอนุญาโตตุลาการกำหนดให้บุคคลภายนอกเป็นผู้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ  ซึ่งกรณีนี้สามารถทำได้เช่นกัน  ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 บัญญัติวิธีการนี้ไว้ในมาตรา  15  วรรคแรกว่าในกรณีที่สัญญาอนุญาโตตุลาการกำหนดให้บุคคลหนึ่ง หรือหลายคนเป็นอนุญาโตตุลาการ หรือให้บุคคลภายนอกเป็นผู้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ....
                        การแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการไม่ว่าโดยวิธีใด จะต้องเป็นไปตามมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 คือต้องทำการแต่งตั้งภายในกำหนดระยะเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญา  หรือภายในกำหนดเวลาอันสมควร โดยรับความยินยอมจากบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ
                        ผลภายหลังการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการนั้น เมื่อแต่งตั้งบุคคลใดเป็นอนุญาโตตุลาการโดยชอบแล้ว บุคคลดังกล่าวก็สามารถทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทระหว่างคู่กรณี โดยหลักการแล้ว เมื่อมีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการแล้วจะถอดถอนไม่ได้เว้นแต่คู่กรณีทุกฝ่ายได้ยินยอม  หรือปรากฏเหตุคัดค้านอนุญาโตตุลาการขึ้น  และได้มีการหยิบยกเหตุแห่งการคัดค้านนั้นขึ้น  แล้วมีการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นใหม่แทนบุคคลที่ถูกคัดค้าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น