วันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การพิสูจน์ความเป็นผู้ทรง มาตรา ๙๐๕

มาตรา 905 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครอง ถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักหลังลอยก็ตามท่านให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลัง ไปอีกท่านให้ถือว่าบุคคลผู้ที่ลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้นเป็นผู้ได้ซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่ง คำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียแล้ว ท่านให้ถือว่าเสมือนว่ามิได้มีเลย
ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดั่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริต หรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
อนึ่ง ข้อความในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย
อธิบาย วรรคแรกพูดถึงวิธีการสลักหลัง
การสลักหลังมีสองวิธีคือ ม.๙๑๙, ๙๒๐
๑. การสลักหลังโดยระบุชื่อผู้รับประโยชน์ เรียกว่า สลักหลังเฉพาะ
๒. การสลักหลังโดยไม่ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ เรียกว่า สลักหลังลอย
เมื่อรับสลักมาแล้วหากจะโอนตั๋วต่อต้องโอนให้ถูกตามวิธีการของตั๋วเงินเพราะต้องด้วยแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย ดังนี้



ข้อความในตัวบทที่ว่า แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักหลังลอยก็ตามท่านให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลัง ไปอีกท่านให้ถือว่าบุคคลผู้ที่ลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้นเป็นผู้ได้ซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย



ม.๙๐๕ วรรค ๒ ดูประกอบ ๑๐๐๘
มาตรา ๙๐๕ วรรค ๒ มุ่งคุ้มครองผู้ทรงตั๋วเงินที่สุจริตและไม่ประมาทเลินเล่ออย่าร้ายแรงในการได้ตั๋วเงินนั้นมา เป็นการคุ้มครองผู้รับโอนตั๋วโดยไม่คำนึงถึงผู้โอนว่าจะสุจริตหรือบกพร่องเพียงใด เพียงแต่ผู้ทรงสามารถพิสูจน์ได้ว่าตนสุจริตและการโอนไม่ขาดสายก็ไม่จำต้องคืนตั๋วให้แก่เจ้าของเดิม เช่น

สามสุจริตมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ต่อมาหนึ่งเจ้าของเช็คเดิมทราบว่าเช็คอยู่กับสามจึงมาทวงคืนเมื่อสามสามารถพิสูจน์สิทธิได้ว่าตนสุจริตและการโอนไม่ขาดสาย สามไม่ต้องคืน แต่หากสามไม่สุจริตเช่นเจ้าของเช็คประกาศลงหนังสือพิมพ์แล้ว หรือสามรู้แล้วว่าสองเก็บเช็คมาได้สามต้องคืนเช็คให้หนึ่งไป หรือหากการโอนนั้นขาดสาย เช่น



เห็นได้ว่า เมื่อหนึ่งรับโอนตั๋วสลักหลังเฉพาะมาแต่สองส่งมอบต่อให้สามการโอนขาดสาย สามต้องคืนตั๋วให้แก่หนึ่ง

หากสองผู้เก็บตั๋วได้ ปลอมลายมือชื่อหนึ่ง
สามต้องคืนตั๋วให้แก่หนึ่งตามมาตรา ๙๐๕ วรรค ๒ ประกอบ ๑๐๐๘ ผู้ใดจะอาศัยอ้างอิงแสวงสิทธิจากลายมือปลอมไม่ได้
ข้อสังเกต ถ้าเป็นเช็คผู้ถือสนใจเพียงสุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่เรื่องสลักหลัง ลายมือปลอมไม่ต้องสนใจ ตามวรรคท้าย เพราะตั๋วผู้ถือย่อมโอนได้ด้วยการส่งมอบ
2274/2534 มีผู้ปลอมการสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งจ่ายให้แก่บริษัท อ. ถือว่าการสลักหลังเป็นอันใช้ไม่ได้เลย เสมือนหนึ่งว่าบริษัท อ. ไม่เคยสลักหลังตั๋วแลกเงิน ตั๋วแลกเงิน ยังคงเป็นตั๋วแลกเงินที่สั่งจ่ายระบุชื่อแก่บริษัท อ. อยู่ โจทก์ได้รับตั๋วแลกเงินมาโดยอาศัยการสลักหลังของจำเลยที่ 1 ซึ่งสลักหลังต่อจากการสลักหลังปลอมจึงเป็นการได้มาโดยการสลักหลังที่ขาดสายถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินจำเลยที่ 6 ซึ่งรับรองตั๋วแลกเงินก่อนมีการสลักหลังปลอมจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามตั๋วแลกเงิน


3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ2/7/55 16:47

    มาตรา 905 วรรคสองตอนท้าย คำว่า "หาจำต้องสลักตั๋วเงินไม่" เป็นข้อความที่ผิดอย่างเป็นสาระสำคัญของตั๋วเงิน ข้อความที่ถูกต้องคือ "หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่"

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบพระคุณค่ะ แสดงว่า ในเว็บเขาพิมพ์มาผิด เพราะตัวบทจะก๊อปมาค่ะ

      ลบ
  2. ปรากฏหลักฐานความผิดพลาดจากกฏหมายไทยดอทคอม ตามนี้ค่ะ

    https://picasaweb.google.com/100962343816996574458/905#5768303424634219314

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น