วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ตาม มาตรา ๖๕๔ ปพพ. กับ พรบ. ห้ามเรียกฯ

การเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา

การเรียกดอกเบี้ยในหนี้เงินที่เกินร้อยละ ๑๕ ต่อปีนั้น นักศึกษามักเข้าใจผิด หรือเข้าใจไม่เด็ดขาดระหว่าง ให้ลดลงมาเป็นร้อยละ ๑๕ ตาม ปพพ. มาตรา ๖๕๔ กับ เป็นโมฆะตาม ตามพรบ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ซึ่งหากไม่เข้าใจอย่างแท้จริงจะเข้าใจว่า กฎหมายนั้นขัดกันเอง ในความจริง หาได้ขัดกันไม่ เพราะ การใช้มาตรา ๖๕๔ นั้น ไม่ใช้กับหนี้เงิน ขอให้นักศึกษาพิจารณาตัวบทมาตรา ๖๕๔ มีคำไหนหรือไม่ที่มีบัญญัติเรื่องหนี้เงิน และโดยเฉพาะ มาตรา ๖๕๔ นั้นอยู่ในหมวดยืมใช้สิ้นเปลือง มิใช่กู้ยืมเงิน แม้จะมี มาตรา ๖๕๓ รวมอยู่ในหมวดดังกล่าวด้วย เพราะกู้ยืมเงินเป็นยืมใช้สิ้นเปลือง แต่ยืมใช้สิ้นเปลืองมิใช่กู้ยืมเงิน ส่วน พรบ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราใช้เฉพาะกู้ยืมเงินเท่านั้น

มาตรา 654 ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี

จะเห็นได้ชัดว่า มาตรา ๖๕๔ มิได้บัญญัติเรื่องกู้ยืมเงินไว้เลย ดังนั้น หนี้ที่จะลดดอกเบี้ยเป็นร้อยละ ๑๕ ได้นั้นต้องไม่ใช่หนี้เงิน เช่น ยืมข้าวสาร ๑๐ ถ้วย คิดดอกเบี้ยร้อยละ ๒๐ ต้องคืนดอกเบี้ยพร้อมต้น ๑๒ ถ้วย แต่เมื่อดอกเบี้ยเกินร้อยละ ๑๕ ต้องลดลงเหลือร้อยละ ๑๕ คือ คืนดอกเบี้ยแค่ถ้วยครึ่งรวมเป็น ๑๑ ถ้วยครึ่ง เป็นต้น

ตาม พรบ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. ๒๔๗๕

มาตรา ๓ บุคคลใด

(ก) ให้บุคคลอื่นยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือ

(ข) เพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราท่านบัญญัติไว้ในกฎหมาย บังอาจกำหนดข้อความอันไม่จริงในเรื่องจำนวนเงินกู้หรืออื่นๆ ไว้ในหนังสือสัญญา หรือตราสารที่เปลี่ยนมือได้ หรือ

(ค) นอกจากดอกเบี้ย ยังบังอาจกำหนดจะเอา หรือรับเอาซึ่งกำไรอื่นเป็นเงินหรือสิ่งของ หรือโดยวิธีเพิกถอนหนี้ หรืออื่นๆ จนเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากเกินส่วนอันสมควรตามเงื่อนไขแห่งการกู้ยืม

ท่านว่าบุคคลนั้นมีความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

เห็นได้ชัดว่า มาตรา ๓ ระบุชัดว่าเป็นการให้กู้ยืมเงิน ดังนั้น หากคิดดอกเบี้ยในหนี้กู้ยืมเงินเกินร้อยละ ๑๕ ต้องบังคับตาม พรบ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ซึ่งมีผลให้ดอกเบี้ยเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1913/2537

ปัญหาที่ว่าสัญญากู้ซึ่งมีดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดรวมเป็นเงินต้นด้วยเป็นโมฆะหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยจึงยกขึ้นมาในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง การที่โจทก์นำดอกเบี้ยล่วงหน้าที่คิดจากจำเลยในอัตราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 654 ไปรวมเป็นต้นเงินที่กู้ยืมตามสัญญากู้เฉพาะดอกเบี้ยที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจึงเป็นโมฆะ แต่หนี้เงินต้นและข้อตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.25 ต่อเดือน ยังคงสมบูรณ์ สัญญากู้ไม่ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับ และในส่วนที่สมบูรณ์โจทก์ย่อมนำมาใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมฟ้องร้องบังคับคดีได้

หมายเหตุ ทำไมคำพิพากษาฎีกานี้จึงต้องวินิจฉัยประกอบมาตรา ๖๕๔ เพราะอย่างที่ผู้เขียนกล่าวไว้ตอนต้น กู้ยืมเงินเป็นยืมใช้สิ้นเปลือง แต่ยืมใช้สิ้นเปลืองไม่ใช่กู้ยืมเงินนั่นเอง และอัตราดอกเบี้ยจะปรากฎอยู่ในมาตรา ๖๕๔ มิใช่ใน พรบ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยฯ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1050/2512

การยืมข้าวเปลือกซึ่งตกลงให้ดอกเบี้ยเป็นข้าวเปลือกในอัตรา1 ถังต่อข้าวเปลือกที่ยืม 2 ถังนั้นมิใช่ดอกเบี้ยตามความหมายของกฎหมาย เพราะผลประโยชน์ที่เรียกเป็นดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นได้จากหนี้เงินเท่านั้น เมื่อตกลงจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนในการยืมข้าวเปลือกกันไว้อย่างไร ผู้ยืมก็จะต้องชำระให้ตามข้อตกลงนั้น (ถ้าเกินร้อยละ ๑๕ ให้ลดเหลือร้อยละ ๑๕)

ประกาศห้ามมิให้ตกข้าวแก่ชาวนา จ.ศ.1239 ได้ถูกยกเลิกไปแล้วโดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งได้รวบรวมข้อบัญญัติต่างๆ ในทางแพ่งทั้งหมดขึ้นใช้บังคับ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1981/2511)

การเรียกดอกเบี้ยกรณีดอกเบี้ยเป็นโมฆะ เรียกดอกเบี้ยผิดนัดอย่างไร ติดตามที่นี่ต่อ

http://natjar2001law.blogspot.com/2011/01/blog-post_5302.html

4 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ18/5/54 15:03

    ขอบคุณครับ...(ไพศาล ศรีบุรินทร์)

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณมากครับพี่ กำลังสงสัยเรื่องดอกเบี้ยของกฎหมาย 2 ฉบับนี้พอดีเลยครับ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ10/7/55 12:01

    ถ้าการกู้ยืมเงินในสัญญาระบุดอกเบี้ยตามที่กฎหมายกำหนดโดยไม่ระบุจำนวนเงิน สามารถคิดดอกเบี้ยได้เท่าไร

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ดอกเบี้ยตามกฏหมายคือ ๗.๕ ค่ะ

      ลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น