วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เขตอำนาจศาลโลก

“ศาลโลก” หรือ “ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” International Court of Justice เป็นคนละศาลกับศาลอาญาระหว่างประเทศ International Criminal Court

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เป็นองค์กรหลักของสหประชาชาติเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างรัฐใน ประเด็นกฎหมายและข้อเท็จจริงต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับการตีความและการใช้กฎหมายระหว่างประเทศและอนุสัญญาระหว่างประเทศ

ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างรัฐนั้น คู่กรณีจะต้องเป็นรัฐด้วยกัน เช่น ประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา โดยรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ถ้าไม่ใช่รัฐบาลไม่อาจนำคดีขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ ดังนั้น ฝ่ายการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ เช่น พธม. หรือ นปช. เอกชนหรือนิติบุคคลจะเป็นคู่กรณีในศาลโลกไม่ได้ ไม่อาจเป็นโจทก์ยื่นฟ้องร้องต่อศาลโลกให้วินิจฉัยได้เลย

ปัญหาข้อกฎหมายภายในของประเทศหนึ่งประเทศใด เช่น การเลือกตั้งเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม การทุจริตคอรัปชั่นต่างๆ การตีความรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ที่เป็นกฎหมายบริหารจัดการภายในประเทศของแต่ละประเทศ ไม่อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่จะวินิจฉัยได้ เพราะศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่มีอำนาจวินิจฉัยกฎหมายภายในของแต่ละรัฐ อันเป็นการใช้อำนาจเหนืออำนาจรัฐต่างๆ

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ไม่อาจรื้อคดีที่ได้พิจารณาไปแล้วขึ้นพิจารณาใหม่ได้อีก เพราะไม่มีศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

ตามที่มีการกล่าวอ้างว่า หน่วยงานหรือกลุ่มบุคคลใดจะฟ้องร้องประเทศไทย รัฐบาลไทยต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่อาจทำได้เลย เพราะศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะพิจารณาคดีในกรณีคู่พิพาทเป็นรัฐหนึ่งกับอีกรัฐหนึ่งเท่านั้น (เหมือนคำว่า สงครามที่หมายถึงการรบระหว่างรัฐหนึ่งกับอีกรัฐหนึ่ง มิใช่การต่อสู้ของคนในรัฐเดียวกัน)

อย่างไรก็ดี พึงเข้าใจด้วยว่า การนำคดีขึ้นสู่ศาลโลกนั้น ต้องได้กระทำโดยสมัครใจของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายรัฐ (รัฐพิพาท) เพื่อให้ศาลโลกใช้อำนาจวินิจฉัยชี้ขาดกรณีนั้น ดังเช่นคดีเขาพระวิหารที่เราและกัมพูชาเคยจูงมือกันนำคดีขึ้นสู่ศาลมาแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น