วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

แสดงความเห็นทางการเมือง ระวังหมิ่นประมาท

การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองนั้น มิใช่จะทำได้ตามอำเภอใจ โดยความสะใจเป็นที่ตั้ง แต่การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ต้องประกอบด้วยหลักการและเหตุผล จะยกเมฆ หรืออ่านข่าว sms ยังไม่รู้ที่มาที่ไป แล้วนำมาวิพากษ์วิจารณ์ให้เป็นที่เสียหายแก่พรรคการเมืองหรือผู้ใดมิได้ การแสดงความคิดเห็นอย่างไร เสี่ยงคุก หรือปลอดภัยจากคุก

มาตรา ๓๒๖ ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากเป็นการแสดงความคิดเห็นตามเว็บบอร์ดการเมืองต่างๆ ในระบบอินเตอร์เนต ถือเป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาต้องระวางโทษหนักขึ้น
มาตรา ๓๒๘ ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

องค์ประกอบความผิดในความผิดฐานหมิ่นประมาท

๑.ใส่ความผู้อื่น

อธิบาย อย่างไรเรียกว่าการใส่ความ
การใส่ความคือการกล่าวคำให้ร้าย ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง ก็ถือว่าเป็นการกล่าวให้ร้าย (ภาษาชาวบ้านเรียกว่า นินทา) เช่น กล่าวว่า นายดำกับนางแดงเป็นชู้กัน แม้นายดำกับนางแดงจะมีความสัมพันธ์กันฉันชู้สาวจริง ผู้กล่าวก็มีความผิดแล้ว ถือว่าเป็นการใส่ความ

โดยส่วนใหญ่ การแสดงความเห็นทางการเมืองที่แสดงความเห็นในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองแต่เป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล เช่น กล่าวว่า นายดำ สส. พรรคสุขสันต์ เป็นชู้กับ นางขาว สส.พรรคเดียวกัน นี่เป็นการใส่ความ เพราะไม่เกี่ยวกับการเมือง

๒. ใส่ความต่อบุคคลที่สาม
บุคคลที่สามหมายถึง ใครก็ได้ที่ไม่ใช่เรา เช่น ดำไปกล่าวนินทาแดง กับเขียว เขียวเป็นบุคคลที่สามแล้ว แต่ต้องเป็นกรณีที่ดำไปกล่าวกับเขียว ไม่ใช่ดำกล่าวว่าแดงโดยลำพังแล้วเขียวมาได้ยินเอง บุคคลที่สามนี้จะมีกี่คนก็ได้ การกล่าวใส่ความตามเว็บบอร์ดต่างๆ ได้กระทำลงในระบบอินเตอร์เนตที่คนได้อ่านไปทั่วโลก จึงเป็นการใส่ความต่อบุคคลที่สามแล้ว

๓. ทำให้ผู้ถูกใส่ความนั้นเสียหาย ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ในข้อนี้ เอาความรู้สึกของบุคคลที่สามเป็นหลักว่า เมื่อได้ฟังแล้ว รู้สึกดูหมิ่น ดูถูกหรือเกลียดชังผู้ถูกใส่ความหรือไม่ กรณีเดิม ต้องเอาความรู้สึกของเขียวเป็นหลักว่า ฟังข้อความแล้ว รู้สึกไม่ดีต่อแดงหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3717/2547
ข้อความที่จำเลยทั้งหกลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน ในคอลัมน์ยุทธจักรแปดแฉก ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์นั้น เป็นข้อความทั่ว ๆ ไปที่วิจารณ์การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการคัดเลือกตัวบุคคล ที่จะเข้ารับตำแหน่งสำคัญในสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า ควรเป็นบุคคลที่อุทิศตนเพื่อทางราชการ โดยไม่มีข้อความใดที่ทำให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์เข้าใจว่า เจ้าพนักงานตำรวจที่ใช้เวลาราชการไปสะสางเรื่องส่วนตัวตั้งแต่เช้าจรดเย็น เป็นตัวโจทก์ การที่โจทก์นำบทความที่จำเลยที่ 6 เขียนไว้ในคอลัมน์อื่นก่อนหน้านี้มารวมเข้ากับข้อความในคอลัมน์ดังกล่าวว่า เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ ก็เป็นเพียงความเข้าใจของโจทก์เองเท่านั้นหาใช่เป็นความเข้าใจของบุคคลทั่ว ไปไม่ เมื่อโจทก์ยึดถือความรู้สึกนึกคิดของตนเองเป็นสำคัญทั้งๆ ที่บุคคลทั่วไปมิได้มีการรับรู้หรือเข้าใจในถ้อยคำหรือข้อความดังกล่าวว่าเป็นตัวโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งหกจึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์


การใส่ความนี้ต้องมีลักษณะชี้เฉพาะเจาะจงลงไปว่าหมายถึงใคร การใช้นามแฝงหรือนามที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่าหมายถึงใครก็พึงเข้าใจได้ว่าหมิ่นผู้ใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6060/2548

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐลงพิมพ์ข้อความมีหัวข้อข่าวว่า "แฉชัด ๆ "ชวน" บอกให้ปกปิด" ส่วนเนื้อข่าวมีข้อความว่า "ร้อยตำรวจเอกเฉลิมกล่าวว่า คดีบีบีซีเกิดขึ้น นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีการคดโกงธนาคารบีบีซี นายชวนหลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นทราบ ก็มีการบอกให้ปกปิดไว้อย่าพูดอะไร ตัวเองก็ยิ้มเงียบ อย่างนุ่มนวล รัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์แต่ละคนผูกไทใส่สูทพูดเพราะอย่างเดียว สื่อมวลชนก็ชื่นชม..." ข้อความที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาลงพิมพ์ดังกล่าวมีความหมายธรรมดา ประชาชนทั่วไปเข้าใจความหมายได้ว่า โจทก์ในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกระทำการโดยไม่ชอบด้วยหน้าที่ ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ไม่ดำเนินการสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเรื่องทุจริตในธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ จำกัด (มหาชน) หรือธนาคารบีบีซี ทั้ง ๆ ที่นายธารินทร์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้รายงานเรื่องการทุจริตดังกล่าวให้ทราบแล้ว แต่โจทก์กลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการทั้งยังบอกให้นายธารินทร์ปกปิดเรื่องการทุจริตไว้ไม่ให้เปิดเผย มีลักษณะเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เป็นการเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์ จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท แม้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากการอภิปรายในรัฐสภา และจำเลยที่ 2 มาลงพิมพ์โฆษณาเผยแพร่โดยมิได้เสริมแต่งข้อความหรือสอดแทรกความคิดเห็นก็ไม่ทำให้ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท


คดีนี้ศาลพิพากษาจำคุก ๖ เดือน ปรับ ๒๐,๐๐๐ บาท โทษคุกให้รอไว้ และให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวัน จำนวน ๕ ฉบับติดต่อกัน ฉบับละเจ็ดวัน


ปัจจุบัน คอการเมือง มักจะใช้ชื่อเรียกนักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่ไม่ตรงตามชื่อพรรค โดยมีเจตนาเลี่ยงบาลี แต่ถ้าพิจารณาได้ความว่าพรรคใด ก็เข้าข่ายเป็นการชี้เฉพาะเจาะจงเช่นกัน เช่น พรรคแมลงสาป พรรคเผาไทย เป็นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6031/2531
จำเลย ที่ 1 เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์มีข้อความว่า" พรรคไหนเอ่ยที่คนในพรรคพัวพันกับ การค้าเฮโรอีนระหว่างประเทศจนต้องแก้ปัญหาด้วยการปลิดชีพตัวเองลาโลก" ข้อความดังกล่าวทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่าหมายถึงพรรค ป. และ ด. สามีโจทก์ ดังนี้จำเลยที่ 1 มีเจตนาใส่ความผู้ตายโดยการโฆษณาด้วยเอกสารอันน่าจะเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่ง เป็นภรรยาของผู้ตายและบุตรเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังจากผู้อื่นได้ มิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาท จำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์และผู้โฆษณาย่อมต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเคยเป็นรัฐมนตรีมาก่อน ถ้าจะรอการลงโทษไว้ย่อมจะเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งให้จำเลยที่ 1 ต้องระมัดระวังความประพฤติของตน ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่สังคมมากกว่าที่จะลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 มิใช่ผู้เขียนแต่รับผิดในฐานะบรรณาธิการ ผู้พิมพ์และผู้โฆษณาจำเลยทั้งสองไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน พฤติการณ์และเหตุผลแห่งรูปคดีมีเหตุสมควรรอการลงโทษเพื่อให้โอกาสจำเลยทั้ง สองกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป

ข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาท


http://natjar2001law.blogspot.com/2011/02/1.html


1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ16/5/54 12:55

    ขอบพระคุณที่ให้ความรู้ค่ะ

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น