วันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554

การเลิกสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ศึกษากรณีMOU 43



ตามที่ปรากฎข้อสัญญาต่างๆ ตาม mou 43 ในส่วนของการเลิกสัญญาที่มีปัญหาว่าจะกระทำได้หรือไม่ ขอสรุปเนื้อหาไว้ดังนี้ 1. เอ็มโอยู ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์เพื่ออะไร เจตนารมณ์หลักของเอ็มโอยูฉบับนี้คือเพื่อกระชับมิตรและความสัมพันธ์ ดังนั้น จึงนำมาซึ่งการเจรจาหากประสบหรือพบปัญหาจากเอ็มโอยูฉบับนี้ ตามที่ปรากฎในข้อ 8 แห่งเอ็มโอยูนี้ว่า ให้ระงับข้อพิพาท "โดยสันติวิธี" ด้วยวิธีการปรึกษาหารือหรือการเจรจา อีกทั้งไม่ปรากฎพบว่า เอ็มโอยูฉบับนี้มีข้อสงวนให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลิกสัญญาได้แต่เพียงลำพัง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะต้องการกระชับสัมพันธ์ ทำอะไรก็ตกลงร่วมกัน เหมือนคนจะแต่งงานกัน อะไรก็ได้นะที่รัก มีอะไรเราจะปรึกษากัน จัดการทรัพย์สินร่วมกัน ลองมาดูกฎหมายไทยเปรียบเทียบ


เอ็มโอยูใดๆ ก็เหมือนกับการที่คนสองคนแต่งงานกัน เหมือนกันอย่างไรหรือคะ เหมือนกันตรงที่ 1. ทั้งการสมรสและการทำเอ็มโอยูเป็นเรื่องของนิติกรรมสัญญา นิติกรรมสัญญาคือ การกระทำใดๆ ที่ทำลงด้วยความสมัครใจ (ในตัวบทเขียนว่าใจสมัคร) ไม่ขัดต่อกฎหมาย กล่าวคือ ไม่ผิดกฎหมาย เช่น การสมรส การซื้อขาย แต่ถ้าซื้อขายอาวุธเถื่อนนี่ไม่ใช่นิติกรรมแล้วเพราะขัดต่อกฎหมาย และมีผลทางกฎหมายในการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับสิทธิ ดังนั้น การสมรสกับเอ็มโอยูจึงเป็นเรื่องของสัญญาเหมือนกัน 2. ทั้งการสมรสและการทำเอ็มโอยูเป็นเรื่องของคนสองคน การสมรสเป็นเรื่องของชายหญิงคู่สมรส เอ็มโอยูเป็นเรื่องของคนหนึ่งชื่อประเทศไทย อีกคนหนึ่งชื่อประเทศกัมพูชา 3. ทั้งการสมรสและการทำเอ็มโอยูเป็นเรื่องของความสมัครใจและตกลงทุกอย่างร่วมกันของคู่สัญญา ในการสมรสต้องได้กระทำโดยความสมัครใจจะสมรส ในการทำเอ็มโอยูก็เช่นกัน ต้องสมัครใจในการจะทำสัญญาร่วมกัน ทุกอย่างต้องร่วมกัน เหมือนคู่สมรส ต้องร่วมกันในทุกอย่าง เช่น ร่วมประเวณี (อันนี้ไม่ทะลึ่งเพราะหากไม่มีการร่วมประเวณีศาลเคยพิพากษาแล้วว่ามิได้มีเจตนาจะสมรส เกิดขึ้นกรณีสมรสเพื่อสัญชาติ) ร่วมกันจัดการทรัพย์สิน ร่วมกันเลี้ยงดูบุตรฯลฯ เอ็มโอยูก็เช่นกัน ทุกอย่างต้องร่วมกัน เช่น ร่วมกันปักปันเขตแดน ร่วมกัน ฯลฯ 4. ทั้งการสมรสและการทำเอ็มโอยูจะเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่ได้ ทะเบียนสมรสนี้หากก่อนสมรสมิได้มีการทำสัญญาก่อนสมรสว่าให้ฝ่ายใดมีอำนาจจัดการทรัพย์สินตามลำพัง การจัดการทรัพย์สินต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบํัญญัติตามมาตรา 1476 คือจัดการร่วมกัน เอ็มโอยูก็เหมือนกัน เมื่อทำเอ็มโอยูแล้วจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ โดยปราศจากความยินยอมของทั้งสองฝ่ายไม่ได้ 5. ทั้งการสมรสและการทำเอ็มโอยูจะยุติสถานภาพได้ ต้องตกลงร่วมกัน คือ การสมรสต้องหย่ากันด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ในเมื่อสมัครใจแต่งต้องสมัครใจหย่า หากไม่ยอมหย่าแต่มีเหตุหย่าตามมาตรา 1516 สามารถฟ้องหย่าได้ เป็นการบังคับให้หย่าโดยอาศัยอำนาจศาล เอ็มโอยูก็เช่นกัน เมื่อจะเลิกต้องทำร่วมกัน เมื่อจูงมือกันทำสัญญาจะเลิกสัญญาต้องจูงมือกัน หากไม่ยอมเลิกสามารถใช้อำนาจศาลได้หากมีข้อสงวน แต่นี่เอ็มโอยู ไม่มีข้อสงวนใดๆ

การยกเลิกเอ็มโอยู จึงต้องกระทำลงโดยความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น อันนี้เป็นหลักสากลทั่วโลก หลักเดียวกันหมดค่ะ เริ่มด้วยอะไรจบด้วยอย่างนั้น เช่น กรณีศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ จะเลิกเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ต้องด้วยคำสั่งศาลเท่านั้น เป็นต้น ปัญหาว่า รัฐบาลไทยสามารถนำเอ็มโอยู เข้าสภาแล้วแก้ไขให้มีบทลงโทษในกรณีกัมพูชาละเมิดข้อตกลงในข้อ 5 ตามเอ็มโอยูนี้ได้หรือไม่

ตอบว่าได้ แต่สุดท้ายต้องไปถามกัมพูชาว่า เอ็งจะยอมมาแก้ข้อสัญญากับข้าหรือเปล่าเสียก่อน เพราะจุดบกพร่องในข้อ 5 คือ ไม่มีบทลงโทษ ยกตัวอย่างเช่น การถือสัญชาติหลายสัญชาติร่วมกับสัญชาติไทย อันที่จริงกฎหมาย พรบ.สัญชาติห้ามนะคะ หากถือสัญชาติอื่นต้องสละสัญชาติไทย แต่ที่ถือๆ กันได้เพราะกฎหมายไม่มีบทลงโทษค่ะ เรียกว่าเป็น Law Enforcement คือกฎหมายขาดสภาพบังคับ หากสนใจเรื่องนี้อ่านได้ที่นี่ http://natjar2001law.blogspot.com/2011/01/blog-post_08.html จึงปรากฎพบว่า คนไทยถือหลายสัญชาติ ต่างกับประเทศเยอรมัน หากต้องการถือสัญชาติเขาต้องสละสัญชาติอื่น หรือถ้าพบว่าแอบไปถือสัญชาติอื่นร่วมในภายหลังเขาจะถอนสัญชาติทันที

ปัญหาว่า เราสามารถใช้กำลังทางทหารเข้าขับไล่ประชาชนกัมพูชาได้หรือไม่ ตอบว่าได้ แต่ต้องดูผลกระทบด้วย ถามว่าต้องแคร์สายตาประเทศต่างๆ หรือไม่ อันนั้นสุดแท้แต่ความคิดใครความคิดมัน หากไม่แคร์รบไปเลย เอาบอมส์ไปลงกัมพูชาเลยก็ทำได้ รบไปไม่ต้องสนใจสนธิสัญญาอื่นๆ เช่น สนธิสัญญาเจนนิวา คนสวยไม่แคร์สื่อ จัดไปได้ แต่สุดท้ายคนที่มีเมตตาต้องมองว่าใครลำบาก และที่สุดการที่เราเอากำลังทางทหารเข้าไปจัดการรื้อถอนหรือกระทำอย่างใดๆ ก็ตาม เราเป็นฝ่ายละเมิดสนธิสัญญาและจะถูกกล่าวหาในข้อนั้นด้วยหรือไม่

แก้ปัญหาด้วยการไล่คนกัมพูชากลับให้หมด ทั้งเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายก็เอามาลงโทษเสีย และคนที่มีใบอนุญาติทำงานก็ถอนเสียและส่งตัวกลับทำได้หรือไม่ ถ้าจะทำก็ทำได้ เราสามารถออกกฎหมายมารองรับได้ และไม่เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังด้วย เพราะการใช้กฎหมายย้อนหลังนั้นต้องห้ามเฉพาะการใช้กฎหมายอาญา กฎหมายอาญาคือกฎหมายที่มีโทษทางอาญาเท่านั้น การส่งตัวกลับไม่ใช่โทษทางอาญาสามารถออกกฎหมายมารองรับเพื่อขับไล่ได้ แต่ ถามเจ้าของธุรกิจที่รับแรงงานต่างด้าวเหล่านั้นหรือยัง แน่ใจหรือเปล่าว่าเขาจะไม่ออกมาประท้วงรัฐบาลอีก และหากเขาประท้วงจะแก้ไขอย่างไร อย่าลืมว่าธรรมชาติมนุษย์สนใจปากท้องตัวเองก่อนเสมอ

ปัญหาว่า มีหนทางที่จะทำให้เอ็มโอยูฉบับนี้เป็นโมฆะหรือไม่ เราต้องศึกษาเรื่องความเป็นโมฆะของสัญญาเสียก่อน

สัญญาจะเป็นโมฆะเมื่อ

ก. นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือมีวัตถุเป็นการพ้นวิสัย อันนี้หลักเดียวกันทุกประเทศ ที่พันธมิตรกำลังบอกว่า เอ็มโอยูนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญของกัมพูชา ต้องไปพิจารณาว่าขัดจริงหรือไม่ และพิจาณาอีกว่า เมื่อขัดแล้วใครหล่ะจะยกเลิกหรือเพิกถอนได้ ไทยทำได้มั้ย อาศัยกฎหมายอะไร เช่น ไทยบอกเอ้ยนี่ขัดนะเป็นโมฆะ เขาถามกลับมาโมฆะแล้วไง การเป็นโมฆะ ไม่อัตโนมัติ ไม่ใช่ใครก็ยกขึ้นกล่าวอ้างได้ โมฆะเดียวที่ผู้มีส่วนได้เสียยกขึ้นกล่าวอ้างได้โดยไม่ต้องอาศัยคำพิพากษาของศาลคือการสมรสซ้อน ที่ผู้มีส่วนได้เสียกล่าวอ้างได้เลย ถามว่า ไทยเอาขึ้นศาลไทยให้พิพากษาว่าเอ็มโอยูนี้ขัดรฐน.กัมพูชาแล้วพิพากษาเป็นโมฆะ เอาไปยันกัมพูชาได้หรือไม่ตอบว่าไม่ได้ เพราะศาลไทยไม่มีอำนาจเหนืออธิปไตยกัมพูชา

ข. นิติกรรมมิได้ทำตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ อันนี้ไม่มีปัญหา เพราะเป็นไปตามแบบทุกประการ

ค. นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาที่ไม่ตรงกับเจตนาในใจจริง โดยที่คู่กรณีอีกฝ่ายรู้ กรณีนี้ตรงกับเจตนา เจตนารมณ์ของสัญญาเขียนไว้ชัดเจนแล้วเข้าใจดีแล้วทั้งสองฝ่าย

ง. นิติกรรมที่เกิดจากเจตนาลวง โดยคู่กรณีสมคบกันทำขึ้นเพื่อลวงคนอื่น โดยที่มิได้มีเจตนาทำนิติกรรมเพื่อให้ผูกพันทางกฎหมาย อันนี้ไม่มีการหลอกลวงกันให้เข้าทำเอ็มโอยู

จ. นิติกรรมที่เกิดโดยการแสดงเจตนา ด้วยความสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม ไม่ปรากฎว่า สำคัญผิดในสาระสำคัญแต่อย่างใด

ฉ. นิติกรรมที่เป็นโมฆียะและถูกบอกล้างแล้ว ข้อนี้ไม่เข้า

ช. นิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับหลังเมื่อเงื่อนไขสำเร็จแล้วตั้งแต่เวลาทำนิติกรรมหรือนิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ไม่อาจสำเร็จได้ เงื่อนไขยังไม่ได้ทำด้วยซ้ำไปข้อนี้ไม่เข้าอีก

ซ. นิติกรรมที่มีเงื่อนไขอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ปรากฎพบว่านิติกรรมไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด

ฌ. นิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนและเป็นเงื่อนไขอันจะสำเร็จหรือไม่ สุดแล้วแต่ใจของลูกหนี้เท่านั้น ข้อนี้ก็ไม่เข้า

ฎ. กรณีอื่น ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับกรณีนี้กำหนดไว้อีกแล้ว

ดังนั้นต้องไปดูความเป็นโมฆะของสัญญาในประเทศกัมพูชาว่าต่างกันมั้ย โดยเบื้องต้น "ไม่น่า" ต่างกันเพราะลอกมาจากแหล่งเดียวกันหมด

ต่อมา mou นี้มีผลผูกพันในฐานะสัญญาจริงหรือไม่

mou คือ บันทึกความเข้าใจ Memorandum Of Understan ding เป็นหนังสือซึ่งฝ่ายหนึ่งแสดงความสมัครใจจะปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใด และตามเงื่อนไขที่ปรากฏในหนังสือนั้นกับอีกฝ่ายหนึ่ง ในทางธุรกิจ อาจจะไม่ถือว่าเป็นสัญญาต้องทำสัญญากันอีกชั้นหนึ่งเสียก่อน แต่อย่างไรก็ดี mou คือความตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำสัญญาตามบันทึกความเข้าใจ ในทางปฏิบัติเมื่อทำเอ็มโอยูเป็นอย่างไรแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโดยลำพังได้ และสัญญาจะระบุข้อสัญญาตามเอ็มโอยูทุกประการ

แต่ในทางการทูตหรือในทางกฎหมายระหว่างประเทศ เป็น “สนธิสัญญา” ซึ่งมีสถานะเท่าเทียมและเป็นอย่างเดียวกัน “ความตกลง” (agreement) “ข้อตกลง” (arrangement) “บันทึกความตกลง” (me morandum of agreement) “พิธีสาร” (protocol) “อนุสัญญา” (Convention) ฯลฯ ดังนั้น หากบันทึกใดๆ ได้ทำตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแล้วไม่ว่าจะชื่ออะไรมันคือ “สนธิสัญญา” ทั้งสิ้น ผลผูกพันไม่อาจปฏิเสธหรือเล่นลิ้นได้เลย

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการคือ การที่กัมพูชานำคนเข้ามาอยู่ในพื้นที่พิพาท เป็นการละเมิดข้อสัญญาถึงขนาด ย้ำนะคะ ถึงขนาดทำให้ไม่สามารถปักปันเขตแดนสำเร็จได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฎ เพราะยังไม่มีการปักปันเขตแดนและรู้ชัดว่าไม่อาจทำได้สำเร็จ ดังนั้น การบอกเลิกสัญญาด้วยเหตุนี้จึงไม่อาจกระทำได้ แต่หากว่ามีการตั้งคณะกรรมการปักปันเขตแดนแล้ว แต่ไม่สามารถเข้าไปปักปันได้ กรณีนี้อาจจะเกิดเงื่อนไขให้บอกเลิกสัญญาได้

เงื่อนไขของการเกิดภาวะสงคราม ซึ่งหากไทยทำสงครามกับกัมพูชา เอ็มโอยูจะถูกยกเลิกไปโดยเงื่อนไขนี้ แต่ถามว่าคุ้มหรือไม่ ข้าวจะยากหมากจะแพง ภาษีจะต้องขึ้น เพราะต้องระดมเงินไปซื้ออาวุธทำสงคราม และบำรุงกำลังพล (ตามมีตามเกิด)

ทางออกของเรื่องนี้จึงควรเดินหน้าปักปันเขตแดน และหากไม่สามารถปักปันได้เพราะเหตุคู่สัญญาเข้าขัดขวางจึงจะเกิดเงื่อนไขในการเลิกสัญญาต่อไป




15 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ28/1/54 11:42

    อยากให้อาจารย์ไปอธิอบายในชั้นเรียนอีกทีน่ะค่ะ...เกี่ยวกับเรื่องนี้...หนูอยากรู้

    ตอบลบ
  2. ด้วยความเคารพในความเห็นของอาจารย์ แต่ผมไม่ยังอาจเห็นพ้องด้วย เห็นว่าหลักการและหลักกฎหมายที่อาจารย์อ้างถึง ส่วนใหญ่เป็นหลักกฎหมายในทางแพ่ง(เอกชน)มิใช่ใช่หลักกฎหมายมหาชน จึงไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง อีกทั้ง mou 2543 ขัดต่อ รัฐธรรมนูญไทย ปี 2540 มาตรา 224 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย (หรือเป็นโมฆะ ภาษาชาวบ้าน)และขัดต่อกัมพูชา มาตรา 2 และมาตรา 55 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายของกัมพูชาเช่นกัน แม้ บันทึก mou 2543 จะไม่ได้ระบุการบอกเลิกไว้ แต่เมื่อภายหลังทำบันทึกพัฒนาการของประเทศเป็นไปในทางขัดแย้งกับวัตถุประสงค์เดิม รัฐอธิปไตยแต่ละฝ่ายไม่ปรารถนาปฏิบัติตามบันทึกอีกต่อไป ทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดย่อมบอกเลิกได้ สอดคล้องกับอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ.1969 มาตรา 56 และความเห็นของอาจารย์ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้ความเห็นว่า "...แต่หากรัฐบาลจะบอกเลิก MOU ฉบับนี้ รัฐบาลจะหาเหตุ (grounds) อะไรมาเพื่อบอกเลิก MOU นี้ถือว่าเป็นประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศโดยตรง ซึ่งผู้เขียนจะจำกัดเฉพาะประเด็นนี้เท่านั้นตามอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ.1969 ซึ่งเป็นกฎหมายที่วางหลักเกี่ยวกับสนธิสัญญาเป็นการทั่วไปนั้น ได้กล่าวถึงการสิ้นสุดของสนธิสัญญาไว้ในมาตรา 56 ว่า สนธิสัญญาที่มิได้มีข้อบทเกี่ยวกับการบอกเลิกฝ่ายเดียว (Denunciation) หรือการถอนตัว (Withdrawal) ก็ไม่ตกอยู่ภายใต้การบอกเลิกฝ่ายเดียวหรือการถอนตัวได้เว้นแต่รัฐภาคีจะได้มีเจตนาเช่นว่านั้นหรือสิทธิการบอกเลิกฝ่ายเดียวหรือการถอนตัวอาจจะถือได้จากลักษณะของสนธิสัญญานั่นเอง และการบอกเลิกฝ่ายเดียวนี้ รัฐภาคีจะต้องแจ้งไปยังอีกฝ่ายหนึ่งไม่น้อยกว่า 12 เดือน ฉะนั้น เมื่อ MOU มิได้มีข้อบทเกี่ยวกับการบอกเลิกฝ่ายเดียวไว้ การใช้สิทธิบอกเลิกฝ่ายเดียวก็ต้องเป็นไปตามมาตรา 56 แห่งอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ.1969..." ดังน้ัน หากรัฐบาลไทยประสงค์จะบอกบันทึก mou 2543 ตามที่พันธมิตรเรียกร้อง เมื่อ MOU มิได้มีข้อบทเกี่ยวกับการบอกเลิกฝ่ายเดียวไว้ การบอกเลิกฝ่ายเดียวของรัฐบาลไทยจะต้องแจ้งไปยังอีกรัฐบาลกัมพูชาไม่น้อยกว่า 12 เดือน ตามมาตรา 56 แห่งอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ.1969 ครับ
    ด้วยความเคารพ
    ทนายเนติราษฎร์ นาคโฉม
    5 ก.พ.54

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณคุณทนายเนติราษฎร์ มากค่ะ ที่แสดงความเห็นร่วมกัน และบอกตรงๆ ว่าชอบมากที่มีความเห็นแย้ง เพราะวิชาการจะเติบโตและแตกแขนงได้ต้องมีความเห็นแย้งเป็นหลายมุมมอง ในส่วนการมองที่มองตามกฎหมายแพ่งเพราะเห็นว่า ความสัมพันธ์ของเอ็มโอยู ดังกล่าวคู่กรณี (ไทย กัมพูชา) กระทำต่อกันโดยมีลักษณะความสัมพันธ์ทางสัญญา มิใช่เรื่องที่ภายในรัฐที่จะอาศัยพื้นฐานทางกฎหมายมหาชน เพราะมิใช่เรื่องที่รัฐกระทำต่อมหาชนที่อยู่ภายใต้อำนาจการปกครอง อันมีลักษณะของความไม่เสมอภาคในการทำสัญญา เช่นสัญญาทางปกครองหรือนิติกรรมทางปกครอง เน้นว่าในส่วนสัญญานะคะ จึงใช้นิติวิธีพื้นฐานทางเอกชนว่าด้วยเรื่องสัญญามาวิเคราะห์

    สำหรับในส่วนที่คุณเนติราษฎร์ ได้กล่าวว่า รัฐอธิปไตยแต่ละฝ่ายหรือฝ่ายใดไม่ปรารถนาปฏิบัติตามบันทึกอีกต่อไปนั้นก็สามารถบอกเลิกสัญญาโดยอาศัยอนุสัญญากรุงเวียนนามาตรา 56 บอกเลิกฝ่ายเดียวไปยังรัฐคู่สัญญาได้ ซึ่งต้องแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 12 เดือน นั้นคงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เราสามารถกระทำได้ ส่วนผลจะสำเร็จหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ยังไม่ต้องนำมาพิจารณาถึงในขั้นนี้ แต่อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทย(รัฐบาลอภิสิทธิ) ยังประสงค์จะใช้ mou 43 ในการกันปัญหาเรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกโลกอยู่ ตามข่าวที่เราทราบกันดี ในข้อนี้กระมังที่รัฐบาลไม่อาศัยอนุสัญญากรุงเวียนนามาตรา 56 นี้
    สำหรับปัญหาว่าหนังสือบอกเลิกต้องผ่านสภาหรือไม่ ที่ อ.ประสิทธิ์ ท่านมีความเห็นว่าไม่ต้องผ่านสภาเพราะมิใช่การทำหนังสือสัญญาแต่เป็นการกระทำฝ่ายเดียวของรัฐนั้น ในส่วนนี้นัทไม่เห็นพ้องด้วย เพราะการเลิกสัญญาคือการระงับซึ่งสิทธิของคู่สัญญา ในเมื่อการก่อสิทธิ ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าเป็นโมฆะเพราะไม่ผ่านสภา แล้วการระงับซึ่งสิทธิไม่ผ่านสภามันจะกลายเป็นปัญหาในทางเดียวกันหรือไม่ อีกทั้ง มาตรา 190 ตามที่ อ.ประสิทธิ์อ้างกล่าวถึง บัญญัติไว้ดังนี้

    มาตรา ๑๙๐
    พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ
    หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่ง ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคง ทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศ อย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว
    ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ ตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้อง ชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภา เพื่อขอความเห็นชอบด้วย
    เมื่อลงนามในหนังสือสัญญาตามวรรคสองแล้ว ก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น และในกรณีที่การปฏิบัติ ตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม
    ให้มีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบ ต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า หรือการลงทุน อย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตาม หนังสือสัญญาดังกล่าวโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นและประชาชนทั่วไป
    ในกรณีที่มีปัญหาตามวรรคสอง ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาด โดยให้นำบทบัญญัติตามมาตรา ๑๕๔ (๑) มาใช้บังคับกับการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอนุโลม
    [แก้ไข]

    ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วก็ไม่พบว่ามีบทบัญญัติรองรับไว้อย่างชัดเจนเกรงว่าในทางปฏิบัติจะเกิดปัญหาเช่นนี้อีก

    ตอบลบ
  4. อีกประการหนึ่งนัทสงสัยมากว่า ตกลงพันธมิตรเขาต้องการอะไร ในเมื่อเขาบอกว่า mou 43 ไม่ถูกต้องเป็นโมฆะ แต่จะใ้ห้ใช้สนธิสัญญากรุงเวียนนาไปบอกเลิกสัญญา ในเมื่อ mou 43 นี้มีผลเป็นโมฆะเท่ากับเสียเปล่ามาแต่เริ่มแรก สภาพแห่งสัญญาไม่มีแล้วจะเลิกสัญญาได้อย่างไร การจะใช้อนุสัญญามาตรา 56 ได้ ต้องเป็นกรณีที่สัญญายังมีสภาพเป็นสัญญาอยู่ อุปมาเหมือน การสมรสที่เป็นโมฆะเสียเปล่ามาแต่เริ่มแรก ผู้มีส่วนได้เสียสามารถยกขึ้นกล่าวอ้างได้ เมื่อมีการกล่าวอ้างแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำให้การสมรสสิ้นสุดลงด้วยการหย่า เพราะสภาพแห่งการสมรสไม่มีจึงไม่อาจหย่าได้ ในกรณีเอ็มโอยู 43 ก็เช่นกัน โดยส่วนตัว ดิฉันมองว่าในเมื่อพันธมิตรต้องการที่จะบอกว่า mou เป็นโมฆะ แล้วจะไปเอามาตรา 56 อนุสัญญากรุงเวียนนามาใช้สิทธิบอกเลิกฝ่ายเดียว มันจะขัดกันหรือไม่ ไม่ทราบในส่วนนี้คุณเนติราษฎร์ เห็นเป็นอย่างไรคะ สุดท้ายอนุโมทนา ที่ได้นำมุมมองมาแลกเปลี่ยน เชื่อว่าเป็นประโยชน์แก่นักเรียนกฎหมายของนัทเป็นอย่างยิ่ง

    ตอบลบ
  5. พัทยา13/2/54 12:52

    ด้วยความเคารพในความเห็นของอาจารย์ ที่ช่วยให้เข้าใจในแง่มุมของสัญญามากขึ้น

    ผมมีคำถามบางประการอยากให้อาจารย์ช่วยตอบ
    1.ตามคำพิพากษาของศาลโลกที่ระบุว่าตัวปราสาทพระวิหารให้ตกเป็นของกัมพูชา แล้วพื้นที่โดยรอบเป็นของใคร ภูมะเขือเป็นของใคร
    2.จริงหรือไม่ที่ กรณี MOU 43 มีผลผูกพันต่อทหารทำให้ไม่สามารถใช้กำลังผลักดันต่อกรณีที่ทหารกัมพูชารุกร้ำดินแดงเข้ามาจนกระทั่งสามารถตั้งฐานกำลังยิงปืนใหญ่ใส่หมู่บ้านชาวไทย ทั้งที่ตั้งแต่คำพิพากษาของศาลโลกจนกระทั้งก่อนมี MOU 43 ไม่เคยเกิดขึ้น
    3.ผมก็ฟังการปราศรัยและอ่านเรื่องราวต่างๆ ตามแนวทางของ พธม. แล้วก็เข้าใจว่าต้องการให้รัฐบาลยกเลยMOU 43 จะฝ่ายเดี่ยวหรือสองฝ่ายก็ขอให้รัฐบาลเรายกเลย และทหารก็จะสามารถใช้แสนยานุภาพได้อย่างเต็มที่ในการปกป้องดินแดนแห่งราชอาณาจักรไทย ขับไล่กัมพูชาที่รุกล่ำดินแดนไทยเข้ามา ย่ำน่ะครับเฉพาะเขมรที่รุกล้ำดินแดนเข้ามาแล้วค่อยมาปักปันกันเสียใหม่ อย่างน้อยก็ไม่มีกองกำลังทหารมาตั้งฐานปืนใหญ่หันปากกระบอกปืนมาใส่บ้านคนไทย
    4.สุดท้าย อาจารย์เห็นด้วยหรือไม่อย่างไร กับแผนที่ฉบับ 1:200000 ที่นำมาใช้เป็นบันทัดฐานในการปักปันเขตแดน

    ตอบลบ
  6. สวัสดีค่ะคุณพัทยา ขออนุญาตแลกเปลี่ยนดังนี้นะคะ

    ๑. คำพิพากษาศาลโลกระบุว่าตัวปราสาทเป็นของกัมพูชาเท่านั้นค่ะ พื้นที่โดยรอบในส่วนทางขึ้น บารายต่างๆ ยังอยู่ในราชอาณาจักรไทยค่ะ
    ภูมะเขือเป็นของใครนั้น ตอบไม่ได้ค่ะ เพราะไม่มีความรู้ในเรื่องแผนที่ไม่มีหลักวิชาการใดสนับสนุนทั้งสิ้น ไม่สมควรที่นักวิชาการที่ไม่มีความรู้อย่างแท้จริงจะนำมาตอบ ต้องขอโทษด้วยนะคะ

    ๒. mou 43 เกิดขึ้นเพราะเรายังไม่ทราบแน่ชัดว่าพื้นที่พิพาทเป็นของใครจึงต้องทำการปักปันให้ทราบให้แน่ชัดเสียก่อนจึงจะสามารถใช้กำลังผลักดันได้ อุปมาเหมือน เราไม่ใช่เจ้าของบ้าน แ่ต่เป็นกรรมสิทธิร่วมกัน เราไม่มีสิทธิไปขับไล่เจ้าของอีกคน ฉันใดฉันนั้นค่ะ

    ๓. พอยกเลิกแล้ว แปลว่าพืนที่ตรงนั้นเป็นของเราหรือก็หาไม่ พอยกเลิกแล้วต่างคนต่างอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ดังกล่าว ที่สุดคือการรบเพื่อแย่งชิงค่ะ

    ๔. ไม่เห็นด้วยค่ะ และรัฐบาลก็ไม่ได้ใช้แผนที่ระวางดงรักฉบับ ๑ ต่อ ๒๐๐๐๐๐ นะคะ เท่าที่ทราบ

    ขอบพระคุณที่ได้สนทนาแลกเปลี่ยนกัน พอดีวันนี้จะขึ้นบทความใหม่ เรื่องข้อยกเว้นของความผิดฐานหมินประมาท ติดตามได้นะคะ ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
  7. พัทยา15/2/54 22:10

    ขอบคุณอาจารย์ที่กรุณาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผมขออนุญาตเพิ่มเติมดังนี้ครับ

    1.ผมก็เข้าใจเช่นเดียวกับอาจารย์น่ะครับว่าคำพิพากษาศาลโลกระบุว่าตัวปราสาทเป็นของกัมพูชาเท่านั้น ส่วนพื้นที่โดยรอบยังอยู่ในราชอาณาจักรไทย
    แล้วอาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรกับกรณีที่กัมพูชาเปิดฉากยิงเข้าใส่รถไถของทหารช่างขณะที่กำลังทำถนนเพื่อเข้าสู่วัดแก้วฯในพื้นที่รอบตัวปราสาทแล้วก็อ้างว่าทหารไทยรุกล้ำดินแดนกัมพูชา ทั้งที่ก่อนที่จะเกิดสนธิสัญญา mou 43ขึ้นทหารไทยสามารถไปปฏิบัติการได้โดยรอบตลอดแนวปฏิบัติการที่รัฐบาลในสมัยนั้นได้ล้อมรั่วไว้โดยไม่เคยเกิดกรณีพิพาทใดๆเลย
    2.ถ้าสนธิสัญญา mou 43เกิดขึ้นเพื่อปักปันเขตแดนจริง ดังนี้แล้วข้อปฏิบัติของทั้งสองฝ่ายควรเป็นอย่างไร มีสภาพบังคับแค่ไหนเมื่อฝ่ายกัมพูชาไม่ปฏิบัติตาม สนธิสัญญา ที่ยังคงสร้างถนนขึ้นมาจนถึงตัวปราสาทโดยผ่านพื้นที่โดยรอบที่อยู่ในอาณาจักรไทย แม้ว่ารัฐบาลไทยจะทำหนังสือประท้วงไปยี่สิบกว่าฉบับก็ไม่เห็นว่ากัมพูชามันจะสนใจอะไรมันก็ยังสร้างถนนต่อไปจนเสร็จไปสามเส้น ทั้งที่ในสนธิสัญญา mou 43ก็ระบุชัดว่าห้ามเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่โดยรอบจนกว่าจะการปักปันเขตเแดนเสร็จสิ้น ถ้าเปรียบเทียบกับการแย่งการครอบครองกรรมสิทธิ์แล้วอีกฝ่ายหนึ่งคงจะต้องนำเนินการใดๆเพื่อให้ฝ่ายที่กระทำการนั้นยุติการกระทำนั้นเสียไม่กำลังของตนเองในเบื่องต้นแล้วก็ต่อด้วยอำนาจของฝ่ายปกครอง
    3.ตามความเห็นของอาจารย์เรามีพื้นที่บริเวณใดบ้างที่ประเทศไทยมีกรรมสิทธิร่วมกันกับกัมพูชา
    4.โดยธรรมชาติแล้วถ้าผมกับอาจารย์มีข้อตกลงสัญญาระหว่างกันแล้วผมบอกยกเลิกในข้อสัญญาที่อาจารย์ได้เปรียบผมอยู่ อาจารย์จะยอมเหรอครับ และจนถึงวันนี้ผมก็ไม่เห็นว่ากัมพูชามันออกมาประกาศเลยว่าไม่เอาแผนที่ระวางดงรัก ผมได้ยินแต่ว่า สัญญาเดิมเป็นอย่างไรก็คงเป็นอยู่อย่างนั้น และระวางดงรักก็เป็นระวางที่มีความสำคัญต่อกัมพูชาที่จะเอาปราสาทและพื้นที่โดยรอบมาเป็นของกัมพูชาให้จงได้ ... อาจารย์คิดว่า กัมพูชามันจะยอมไหมครับ

    ตอบลบ
  8. มาเข้าชื่อรออ่านคำตอบของอาจารย์นัท ตอบคำถามคุณพัทยาครับ

    ตอบลบ
  9. :) นานาจิตตังค่ะคุณพัทยา สำหรับพ่อเอก ตั้งทู้ที่บ้านดิ

    เชิญคุณพัทยาร่วมเป็นสมาชิกที่นี่นะคะ สนุกค่ะเพื่อนๆ น่ารักทุกคน

    www.natjar2001law.com

    ตอบลบ
  10. ไม่ระบุชื่อ1/3/54 20:14

    สวัสดีค่ะ
    อยากปรึกษาและขอความคิดเห็นจากทุกท่านค่ะ คือตอนนี้กำลังหาหัวข้อเพื่่อทำ IS เกี่ยวกับสัญญาระหว่างประเทศ หรือ ธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิค
    ท่านใดมีประเด็นที่น่าสนใจ หรือความคิดเห็นดีๆ กรุณาช่วยแนะนำด้วยนะคะ

    ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
  11. is คืออะไรคะ ใช่วิทยานิพนธ์หรือเปล่าคะ ขอโทษที่ถามเพราะไม่่ทราบจริงๆ ว่า คืออะไรย่อมาจากอะไรค่ะ

    ตอบลบ
  12. ไม่ระบุชื่อ22/3/54 20:52

    อาจารย์เข้าใจผิดอย่างมากต่อประเด็นที่ว่า การจะระบุขอบเขตที่แน่ชัดในเขตแดนจะต้องมีการปักปันเสียก่อน หากไม่มีการปักปันก็เสมือนหาทางออกไม่พบ

    แท้จริงแล้ว การปักปันเขตแดนด้านไทย - กัมพูชา ได้แล้วเสร็จเมื่อ 103 ปีที่แล้ว มีการจัดทำหลักเขคแดน 73 หลัก เฉพาะบริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขาดงรัก เว้นว่างไว้ไม่มีหลักเขต เนื่องจากสัณฐานตามสภาพภูมิศาสตร์ คือ แนวหน้าผา จึงให้ใช้สันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดน ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีหลักเขตแดน จึงแน่ชัดว่า พื้นที่ภูมะเขือเป็นของไทยมาเนิ่นนาน จากการปักปันร่วมกันระหว่างไทยกับฝรั่งเศส

    ตอบลบ
  13. ขอบคุณค่ะ ที่แนะนำ

    ตอบลบ
  14. เด็กน้อย4/5/54 00:23

    อยากจะให้เขียนขยายความในเรื่องการยกเลิก mou 44นั้น ตามกฎหมายภายในจะต้องเข้าสภาหรือไม่ครับ

    ตอบลบ
  15. ไม่ระบุชื่อ31/5/54 13:22

    ตามความเห็นของประชาชนไม่ค่อยรู้กฎหมาย

    ในเมื่อ MOU2543 "ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภา" ผิดรัฐธรรมนูญ ม.224 อยู่แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเข้าสภา เพราะสภาไม่เคยรับรู้

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น