วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

การบอกล้างโมฆียะกรรม ภาพจำลองระยะเวลาการบอกล้าง






การบอกล้างโมฆียกรรม

มาตรา 175 โมฆียกรรมนั้น บุคคลต่อไปนี้จะบอกล้างเสียก็ได้

(1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้เยาว์ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ผู้เยาว์จะบอกล้างก่อนที่ตนบรรลุนิติภาวะก็ได้ถ้าได้รับความยินยอมของผู้แทน โดยชอบธรรม

(2)บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ เมื่อบุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว หรือผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณีแต่คนเสมือนไร้ความสามารถจะบอกล้างก่อนที่ตนจะพ้นจากการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ถ้าได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์

(3) บุคคลผู้แสดงเจตนาเพราะสำคัญผิด หรือถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่

(4) บุคคลวิกลจริตผู้กระทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตามมาตรา 30 ในขณะที่จริตของบุคคลนั้นไม่วิกลแล้ว

ถ้าบุคคลผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะถึงแก่ความตาย ก่อนมีการบอกล้างโมฆียกรรมทายาทของบุคคลดังกล่าวอาจบอกล้างโมฆียกรรมนั้นได้

จากมาตรานี้ ผู้มีสิทธิบอกล้างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความสามารถคือบุคคลตาม (1) (2) (4) และทายาทของบุคคลดังกล่าวตามวรรคท้ายคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่สามารถบอกล้างได้ ส่วน (3) นั้นไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นเรื่องของการบอกล้างโมฆียกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉล

ผลของการบอกล้าง

มาตรา 176 โมฆียกรรมเมื่อบอกล้างแล้วให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรกและให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน

การกลับคืนสู่ฐานะเดิม คือการให้คู่กรณีกลับไปเป็นเหมือนกับไม่ได้เคยทำนิติกรรมกันมาก่อนเลยเช่น หากผู้เยาว์นำทรัพย์ไปขาย เมื่อบอกล้างแล้ว ผู้ซื้อต้องคืนที่ดินมา ฝ่ายผู้เยาว์ต้องคืนเงินไป ถ้าหากฝ่ายใดคืนไม่ได้ต้องใช้ค่าเสียหาย เช่นผู้ซื้อนำที่ดินไปขายต่อแล้ว ก็ต้องคืนมาเป็นค่าเสียหายชดใช้แทน

มาตรา 181 โมฆียกรรมนั้นจะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ หรือเมื่อพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น

มาตรานี้เป็นเรื่องระยะเวลาในการบอกล้างโมฆียะ คือจะบอกล้างเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่อาจให้สัตยาบันได้ (คำว่าอาจให้สัตยาบันได้คือการรู้ถึงการทำนิติกรรมนั้นนั่นเอง ถ้ารู้แล้วก็อาจให้สัตยาบันได้ ถ้าไม่ให้สัตยาบันก็อาจบอกล้างได้นั่นเอง) แต่อย่างไรก็ตามหากไม่รู้ว่ามีการทำนิติกรรมนั้น ก็สามารถบอกล้างได้ภายใน 10 ปี ถ้าไม่รู้จนล่วงเลย 10 ปีแล้ว ไม่สามารถทำอะไรได้อีก นิติกรรมนั้นก็เป็นนิติกรรมที่บริบูรณ์แล้ว

ตัวอย่างเช่น นายดำ ผู้เยาว์ ทำนิติกรรมซื้อรถยนต์ในวันที่ 1 เมษายน 2550 ผู้แทนโดยชอบธรรมทราบเรื่องเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2552 และประสงค์จะบอกล้าง ต้องบอกล้างภายในวันที่ 25 เมษายน 2553 (ภายในหนึ่งปีนับแต่วันรู้) แต่ทั้งหมดนี้ต้องอยู่ภายใน 10 ปี ดังนั้น หากผู้แทนโดยชอบธรรมทราบเรื่องเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2560 จะต้องบอกล้างภายในวันที่ 1 เมษายน 2560 ไม่ใช่ 25 มีนาคม 2561 เพราะไม่ว่ารู้เมื่อไหร่ก็ตาม จะบอกล้างได้ต้องอยู่ภายใน 10 ปี


หมายเหตุ ภาพจำลองนี้มิได้ใช้เฉพาะกับการบอกล้างโมฆียกรรมแต่เีพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ปรับใช้กับอายุความทุกอย่าง เช่น อายุความในคดีละเมิด ที่ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำละเมิด แต่ต้องไม่เกิน 10 ปี นับแต่เหตุละเมิดได้เกิดขึ้นด้วย

เช่น นายดำ ขับรถยนต์ชนนายแดง ในวันที่ 5 มกราคม 2542 นายแดงต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตัวผุ้กระทำละเมิด คือวันที่ 5 มกราคม 2543 แต่หากนายแดงสลบไป และฟื้นขึ้นมาได้รู้เรื่องดังกล่าวในวันที่ 10 มกราคม 2542 นายแดงต้องฟ้องภายใน 10 มกราคม 2543 แต่ไม่ว่าจะเป็นเช่นไรก็ตาม ต้องใช้สิทธิฟ้องคดีภายใน 10 ปี คือ ภายในวันที่ 5 มกราคม 2553 เช่น นายแดงฟื้นและมีสติสมบูรณ์รู้เรื่องราวต่างๆ ในวันที่ 1 มกราคม 2553 นายแดงต้องฟ้องภายในวันที่ 5 มกราคม 2553


1 ความคิดเห็น:

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น