วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

กฎหมายแพ่งว่่าด้วยบุคคล 8 การทำนิติกรรมของคนไร้ความสามารถ

การทำนิติกรรมของคนไร้ความสามารถ

เรื่องต่อมาที่เราจะพูดถึงเป็นเรื่องของคนไร้ความสามารถ หลักเกณฑ์ของการเป็นคนไร้ความสามารถประการแรกคือบุคคลวิกลจริต ซึ่งเราได้พูดกันไปแล้ว ประการต่อมาที่เราต้องทำความเข้าใจคือ คนวิกลจริตนั้น ต้องวิกลแค่ไหนถึงจะเข้าหลักเกณฑ์ในการร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้ ถ้าวิกลจริตชนิดดีบ้างบ้าบ้างจะขอได้หรือไม่ ซึ่งคนวิกลฯ ชนิดดีบ้างบ้าบ้างนั้น กฎหมายคุ้มครองการทำนิติกรรมของเขาอยู่แล้วในมาตรา 30 ส่วนจะขอให้เป็นคนไร้ความสามารถได้หรือไม่จะได้พูดกันต่อไป

การวิกลจริตของคนเรามาจากความผิดปกติของการสั่งงานทางสมอง ที่เขาเรียกกันว่ามีอาการทางจิต คนเหล่านี้เขาเป็นคนประเภท สมองป่วยไม่ใช่จิตใจป่วย เขาไม่ได้ป่วยที่จิตใจแต่ป่วยที่สมอง คนพวกนี้หากเราจะร้องขอต่อศาลให้เป็นคนไร้ความสามารถต้องได้ความว่าเขา

1. เป็นอย่างมาก

2. เป็นอยู่เป็นประจำ (ไม่ใช่ดี ๆ บ้า ๆ) หรือถ้าบ้าบ้างดีบ้าง ตอนบ้าต้องมากกว่าตอนดี

6350/2541 (ประชุมใหญ่) เมื่อปี 2530 ส. ป่วยเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ทำให้สมองฝ่อและเสื่อม หลงลืมมีอาการทางจิต มีอารมณ์เปลี่ยนแปรง่าย ได้ทำการรักษาแล้วแต่แพทย์ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จนเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ ส. เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาลของผู้ร้อง

อธิบาย จากคำตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่า ส. มีอาการสมองเสื่อม หลงลืมฯลฯ ซึ่งอาการเหล่านี้แพทย์ได้ทำการรักษาแล้วแต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เมื่อไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้กฎหมายก็จำเป็นต้องเข้ามาปกป้องเขาไม่ให้ทำนิติกรรมในทางที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย

ดังนี้ เมื่อได้ความว่าบุคคลใดวิกลจริตอย่างมาก เป็นอยู่ประจำแล้ว ญาติของเขาก็สามารถยื่นคำร้องต่อศาลสั่งให้เขาเป็นคนไร้ความสามารถได้

การตั้งผู้อนุบาล

บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถตามวรรคหนึ่ง ต้องจัดให้อยู่ในความอนุบาล การแต่งตั้งผู้อนุบาล อำนาจหน้าที่ของผู้อนุบาลและการสิ้นสุดของความเป็นผู้อนุบาล ให้เป็นไปตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายนี้

เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าเขาเป็นคนวิกลจริตอย่างมากจริง ศาลจะมีคำสั่งแสดงว่าเขาเป็นคนวิกลจริตและมีการตั้งผู้อนุบาล ซึ่งทำหน้าที่ดูแลคนไร้ความสามารถนั้นต่อไป

ปัญหาว่าใครมีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าว

มาตรา 28 บุคคลวิกลจริตผู้ใด ถ้าคู่สมรสก็ดี ผู้บุพการี กล่าวคือ บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ทวดก็ดี ผู้สืบสันดาน กล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื่อก็ดี ผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ก็ดี ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ก็ดี หรือพนักงานอัยการก็ดี ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถ ศาลจะสั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้

ตามมาตรา 28 บอกไว้ว่าบุคคลที่มีสิทธิยื่นคำร้องได้แก่

1. คู่สมรส ต้องเป็นกรณีการสมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย

2. บุพการี ได้แก่ บิดามารดา ปู่ยา ตายาย ทวด

3. ผู้สืบสันดาน ได้แก่ ลูก หลาน เหลน ลื่อ

4. ผู้ปกครอง ผู้ปกครองนี้มีหน้าที่ดูแลผู้เยาว์กรณีผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา หรือมีแต่ไม่สามารถใช้อำนาจปกครองได้

5. ผู้พิทักษ์ ผู้พิทักษ์คือผู้ที่ดูแลคนเสมือนไร้ความสามารถ หากปรากฎว่าต่อมาคนเสมือนไร้ความสามารถนั้นวิกลจริต เขาก็สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้คนดังกล่าวเป็นคนไร้ความสามารถได้ ส่วนตัวเขาจะกลายมาเป็นผู้อนุบาล

6. ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้น เช่น กรณีสามีภรรยาไม่จดทะเบียน แต่อยู่กินดูแลซึ่งกันและกันก็ถือว่าเป็นผู้ปกครองดูแลได้ (ไม่พบคำพิพากษาฎีกาว่าไว้ เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเอง)

7. พนักงานอัยการ

เมื่อพบว่ากฎหมายเขียนไว้ว่าใครมีสิทธิร้องขอแล้วต้องตีความตามนี้เท่านั้น เพราะกฎหมายได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งดีแล้ว ดังนั้น ญาติพี่น้อง ผู้มีส่วนได้เสียอื่น หรือแม้กระทั่งเจ้าตัวบุคคลนั้นเองจะร้องขอตามมาตรานี้ไม่ได้ ดังนั้นหากผู้วิกลจริตรู้ตัวว่าตนวิกลฯ และต้องการให้กฎหมายคุ้มครองตนเอง หากขณะที่ตนไม่วิกลจริตจะร้องขอต่อพนักงานอัยการให้ร้องแทน ตนก็น่าจะทำได้

อำนาจหน้าที่ของผู้อนุบาล

ในมาตรา 28 วรรค 2 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้อนุบาลไว้ว่าให้เป็นไปตามบรรพ 5 ซึ่งบทบัญญัติบรรพ 5 เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ปกครอง

มาตรา 1598/18 ในกรณีที่บิดามารดาเป็นผู้อนุบาลบุตร ถ้าบุตรนั้นยังไม่บรรลุนิติภาวะให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลมแต่ถ้าบุตรนั้นบรรลุนิติภาวะแล้ว ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่สิทธิตามมาตรา 1567 (2) และ (3)

ในกรณีที่บุคคลอื่นซึ่งมิใช่บิดามารดาหรือมิใช่คู่สมรสเป็นผู้อนุบาลให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าผู้อยู่ในความอนุบาลบรรลุนิติภาวะแล้ว จะใช้สิทธิตามมาตรา 1567 (2) และ (3) ไม่ได้

มาตรา 1598/15 ในกรณีที่ศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถและภริยาหรือสามีเป็นผู้อนุบาล ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่สิทธิตามมาตรา 1567 (2) และ (3)

กรณีผู้เยาว์เป็นคนไร้ความสามารถ

มาตรา 1569 ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรในกรณีที่บุตรถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี

มาตรา 1569/1 ในกรณีที่ผู้เยาว์ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลอื่น ซึ่งมิใช่ผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองเป็นผู้อนุบาล ให้คำสั่งนั้นมีผลเป็นการถอนผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองที่เป็นอยู่ในขณะนั้น

กรณีบุคคลซึ่งไม่มีคู่สมรสเป็นคนไร้ความสามารถ

มาตรา 1569/1 วรรคท้าย ในกรณีที่บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและไม่มีคู่สมรสถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ให้บิดามารดาหรือบิดาหรือมารดาเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณี เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น

กรณีสามีหรือภรรยาเป็นคนไร้ความสามารถ

มาตรา 1463 ในกรณีที่ศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ภริยาหรือสามีย่อมเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แต่เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการร้องขอ และถ้ามีเหตุสำคัญศาลจะตั้งผู้อื่นเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ก็ได

ผลของการเป็นคนไร้ความสามารถ

มาตรา 29 การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลงการนั้นเป็นโมฆียะ

แสดงว่า นิติกรรมซึ่งคนไร้ความสามารถทำลงไปย่อมเป็นโมฆียะทันทีไม่ต้องพิจารณาเลยว่าขณะทำนิติกรรมนั้นคนไร้ฯ จะมีสติดีหรือไม่ หรือบุคคลภายนอกจะรู้หรือไม่ เหตุเพราะ มาตรา 28 วรรคท้าย ปิดปากไว้แล้วว่าต้องประกาศในราชกิจจาฯ ดังนั้นเรื่องใดที่มีการประกาศในราชฯ แล้วให้ถือว่าทุกคนรู้แล้ว ดังนั้นเมื่อคนไร้ฯ ต้องการจะทำนิติกรรม หรือมีความจำเป็นต้องทำนิติกรรมใด ๆ จะไปขอความยินยอมจากผู้อนุบาลไม่ได้ เพราะการขอความยินยอมคือการขออนุญาตเพื่อทำนิติกรรมและตนเองเป็นผู้ทำนิติกรรมเองนั่นเอง สุดท้ายตนเองก็ต้องทำเอง แต่ในเมื่อกฎหมายบอกห้ามทำคือทำเองไม่ได้ก็ขอความยินยอมไม่ได้ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วผู้อนุบาลต้องทำแทนเขาเสียทั้งหมด

ส่วนนิติกรรมที่ต้องทำแทนเฉพาะตัวเช่น การสมรส การทำพินัยกรรม นั้นลืมได้เลยกฎหมายห้ามทำทั้งหมด

มาตรา 1449 การสมรสจะกระทำมิได้ถ้าชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริตหรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

มาตรา 1704 พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ

พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกอ้างว่าเป็นคนวิกลจริต แต่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้น จะเป็นอันเสียเปล่าก็แต่เมื่อพิสูจน์ได้ว่าในเวลาที่ทำพินัยกรรมนั้นผู้ทำจริตวิกลอยู่

การร้องขอเพิกถอนคำสั่งให้บุคคลใดเป็นคนไร้ความสามารถ

มาตรา 31 ถ้าเหตุที่ทำให้เป็นคนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดไปแล้ว และเมื่อบุคคลผู้นั้นเองหรือบุคคลใด ๆ ดังกล่าวมาในมาตรา 28 ร้องขอต่อศาลก็ให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้น

คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

7 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณค่ะ พี่นัท

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ15/5/55 20:06

    ขอบคุณค่ะ แต่มันยากมากเลยจะสอบแล้ว แต่อ่านสองรอบแล้ว ไม่จำสักทีเลย

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณมากนะค่ะสำหรับข้อมูลดีๆแบบนี้

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ30/9/55 12:00

    ขอบคุณมากคะ เข้าใจคะ

    ตอบลบ
  5. บุคคลวิกลจริตที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ทำนิติกรรมแล้วจะมีผลตามกฎหมายอย่างไร

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ไม่ระบุชื่อ26/10/55 14:47

      นิติกรรมที่คนวิกลจริตที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถกระทำจะ เป็นโมฆียะ (มีผลสมบูรณ์เมื่อยังไม่ได้บอกล้าง) เมื่อเข้าองค์ ประกอบ 2 ประการ คือ
      1. นิติกรรมนั้นได้ทำลงในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ คือ ทำในขณะเป็นบ้า นั่นเอง
      2. คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้ว่าผู้ทำนิติกรรมนั้นเป็นคนวิกลจริต
      นิติกรรมที่คนวิกลจริตที่ยังไม่ได้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ ความสามารถกระทำจะต้องเข้าหลักเกณฑ์ทั้งสองข้อนี้จึงจะเป็นโมฆียะ แต่ถ้า เข้าเพียงข้อใดข้อหนึ่งเพียงข้อเดียว นิติกรรมนั้นก็จะสมบูรณ์

      ลบ
  6. ไม่ระบุชื่อ26/10/55 14:46

    นิติกรรมที่คนวิกลจริตที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถกระทำจะ เป็นโมฆียะ (มีผลสมบูรณ์เมื่อยังไม่ได้บอกล้าง) เมื่อเข้าองค์ ประกอบ 2 ประการ คือ
    1. นิติกรรมนั้นได้ทำลงในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ คือ ทำในขณะเป็นบ้า นั่นเอง
    2. คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้ว่าผู้ทำนิติกรรมนั้นเป็นคนวิกลจริต
    นิติกรรมที่คนวิกลจริตที่ยังไม่ได้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ ความสามารถกระทำจะต้องเข้าหลักเกณฑ์ทั้งสองข้อนี้จึงจะเป็นโมฆียะ แต่ถ้า เข้าเพียงข้อใดข้อหนึ่งเพียงข้อเดียว นิติกรรมนั้นก็จะสมบูรณ์

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น