วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

กฎหมายแพ่งว่่าด้วยบุคคล 9 การทำนิติกรรมของคนเสมือนไร้ความสามารถ

คนเสมือนไร้ความสามารถ

มาตรา 32 บุคคลใดมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หรือติดสุรายาเมา หรือมีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น จนไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว เมื่อบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 28 ร้องขอต่อศาล ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้

บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถตามวรรคหนึ่ง ต้องจัดให้อยู่ในความพิทักษ์ การแต่งตั้งผู้พิทักษ์ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายนี้

ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการสิ้นสุดของความเป็นผู้ปกครองในบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายนี้ มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดของการเป็นผู้พิทักษ์โดยอนุโลม

คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หลักเกณฑ์การเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ

คนเสมือนไร้ความสามารถนั้นคือคนปกติ เพียงแต่มีความประพฤติที่ไม่ดี หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบเท่านั้น ไม่ถึงกับวิกลจริต คนเสมือนไร้ฯ คืนคนที่

1. กายพิการ หรือ

2. มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือ

3. ประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หรือ

4. ติดสุรายาเมา หรือ

5. มีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น จนไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว

กายพิการ หมายถึงเหตุบกพร่องทางร่างกายไม่ว่าจะมีมาแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นในภายหลัง เช่น ตาบอด หูหนวก เป็นใบ้ เป็นอัมพาตเคลื่อนไหวไม่ได้ แต่บุคคลที่มีกายพิการเหล่านี้อาจมีสติสมบูรณ์เหมือนคนทั่วไปก็ได้

จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ คือ ผู้มีสภาพจิตไม่ปกติ การสั่งงานทางสมองไม่ปกตินั่นเองแต่ไม่ถึงกับวิกลจริต มีความรู้สึกรู้ผิดชอบอยู่บ้าง เช่น คนปัญญาอ่อนที่เป็นไม่มากสามารถเรียนรู้ได้ เป็นต้น

ประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ คนพวกนี้มีความประพฤติที่อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติแก่ครอบครัวหรือบุคคลอื่นได้ เช่น พวกป๋าขา ขาเท เทกระเป๋าแบบไม่อั้น จ่ายแบบไร้เหตุผล หากจ่ายมาก ๆ จนถึงขั้นกระทบกระเทือนความมั่นคงในครอบครัวก็อาจถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนฯ ได้ หรือ พวกชอบเล่นการพนัน หมกมุ่นอยู่ในการพนัน จนไม่เป็นอันทำงานการเป็นหนี้เป็นสินอันเกิดจากการพนัน อาจทำให้ครอบครัว ลูก เมีย ได้รับภัยพิบัติได้ พวกนี้อาจถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ฯ ได้

ติดสุรายาเมา พวกที่ติดสิ่งเสพติดนา ๆ ชนิด เมาทั้งวี่ทั้งวัน ไม่เป็นอันทำการงาน อาจถึงขั้นตบตีลูก เมีย สมองเสื่อมได้ ซึ่งเป็นการสร้างภัยพิบัติให้แก่ครอบครัว คนพวกนี้ก็เข้าข่ายถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนฯ ได้

มีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น ในข้อนี้กฎหมายบัญญัติไว้เพื่ออุดช่องว่างในกรณีที่หาที่ลงตามข้อต่าง ๆ ไม่ได้ แต่บุคคลอาจสร้างภัยพิบัติได้ก็เข้าข้อดังกล่าว

เหตุบกพร่องดังกล่าว ทำให้

ไม่สามารถจัดทำการงานโดยตนเองได้ ซึ่งกรณีเป็นเรื่องสำคัญ หากเขายังสามารถจัดทำการงานโดยตนเองได้ก็ไม่สามารถร้องขอได้

จัดกิจการไปในทางเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนหรือครอบครัว ซึ่งหากแม้เขาจะจัดทำการงานโดยตนเองได้ แต่การจัดทำการงานนั้นทำให้เสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนหรือครอบครัว เช่น ผู้ที่ชอบดื่มสุรา เวลาเมา เพื่อนยืมเงิน เท่าไหร่ได้หมด มีเช็คเซ็นต์เช็คจนเสียหายแก่ครอบครัว ใครต่อรองธุรกิจอย่างไรได้หมด ขายของก็ลดราคาจนขาดทุนหมด นี่แหละจัดการเสียหาย สามารถร้องขอได้

การตั้งผู้พิทักษ์

เมื่อศาลพิจารณาได้ความดังนั้นจริงแล้ว ศาลจะมีคำสั่งตั้งผู้พิทักษ์เพื่อดูแลบุคคลเสมือนไร้ความสามารถต่อไป

ผู้มีสิทธิร้องขอ

คือบุคคลตามมาตรา 28 นั่นเอง

การตั้งผู้พิทักษ์

ปัญหาว่าใครเป็นผู้พิทักษ์ก็อยู่ในหลักการเดียวกับการตั้งผู้อนุบาลนั่นเอง

ผลของการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ

มาตรา 34 คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้

(1) นำทรัพย์สินไปลงทุน

(2) รับคืนทรัพย์สินที่ไปลงทุน ต้นเงินหรือทุนอย่างอื่น

(3) กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า

(4) รับประกันโดยประการใด ๆ อันมีผลให้ตนต้องถูกบังคับชำระหนี้

(5) เช่าหรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่าหกเดือนหรืออสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่าสามปี

(6) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูป เพื่อการกุศลการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

(7) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา

(8) ทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อจะได้มาหรือปล่อยไปซึ่งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือในสังหาริมทรัพย์อันมีค่า

(9) ก่อสร้างหรือดัดแปลงโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือซ่อมแซมอย่างใหญ่

(10) เสนอคดีต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ เว้นแต่การร้องขอตามมาตรา 35 หรือการร้องขอถอนผู้พิทักษ์

(11) ประนีประนอมยอมความ หรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

ถ้ามีกรณีอื่นใดนอกจากที่กล่าวในวรรคหนึ่ง ซึ่งคนเสมือนไร้ความสามารถอาจจัดการไปในทางเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว ในการสั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือเมื่อผู้พิทักษ์ร้องขอในภายหลังศาลมีอำนาจสั่งให้คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนจึงจะทำการนั้นได้

ในกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถไม่สามารถจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่กล่าวมาในวรรค 1 หรือวรรค 2 ได้ด้วยตนเอง เพราะเหตุมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่

สมประกอบศาลจะสั่งให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการนั้นแทนคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับผู้อนุบาลมาใช้บังคับแก่ผู้พิทักษ์โดยอนุโลม

คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

การใดกระทำลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรานี้ การนั้นเป็นโมฆียะ

จากบทบัญญัติมาตรา 34 จะเห็นได้ว่า นิติกรรมที่คนเสมือนฯ ไม่สามารถกระทำได้โดยลำพังจะถูกจำกัดไว้เพียง 11 กรณีเท่านั้น ดังนั้นโดยหลักแล้วคนเสมือนฯ สามารถทำนิติกรรมได้ทุกอย่างมีผลสมบูรณ์ทั้งสิ้น เว้นแต่ นิติกรรม 11 อย่างดังกล่าวซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน ผู้พิทักษ์ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมแทนคนเสมือนไร้ความสามารถ

ฎีกาที่ 5720/2546 คนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรมเองได้ทุกอย่าง เว้นแต่ต้องด้วยข้อจำกัด

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 34 ซึ่งจะทำได้เฉพาะเมื่อได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อน รวมทั้งกรณีเสนอคดีต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ตามมาตรา 34 (10) ผู้พิทักษ์จึงมีอำนาจหน้าที่เพียงให้ความยินยอมหรือไม่แก่คนเสมือนไร้ความสามารถในการฟ้องคดีเท่านั้น แต่ไม่มีบทบัญญัติใดใน ป.พ.พ. ให้อำนาจผู้พิทักษ์ฟ้องคดีแทนคนเสมือนไร้ความสามารถ ผู้พิทักษ์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนคนเสมือนไร้ความสามารถ

หากคนเสมือนฯ ทำนิติกรรมทั้ง 11 ประการ โดยไม่ได้รับความยินยอมผลจะทำให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ ซึ่งอาจถูกบอกล้างได้

หมายเหตุ คำว่า สังหาริมทรัพย์อันมีค่าตาม (8) หมายถึงสังหาริมทรัพย์ที่กฎหมายบังคับให้การซื้อขายต้องจดทะเบียน ตามมาตรา 456 เช่น เรือกำปั่นหรือเรือมีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟหรือเรือยนต์มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป แพและสัตว์พาหนะด้วย

ข้อยกเว้น ที่ผู้พิทักษ์มีอำนาจทำแทนคนเสมือนฯ จะอยู่ในวรรคสาม คือหากคนเสมือนฯ ไม่สามารถทำนิติกรรมเองได้เพราะกายพิการ หรือจิตฟั่นเฟือน ศาลจะสั่งให้ผู้พิทักษ์ทำแทนได้ซึ่งข้อควรระวังคือ แม้คนเสมือนไร้ฯ จะมีกายพิการ หรือจิตฟั่นเฟือน แต่ศาลไม่ได้สั่งให้ผู้พิทักษ์ทำแทน ผู้พิทักษ์จะทำแทนไม่ได้

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ24/9/55 19:52

    ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
  2. คดีแพ่ง ละเมิด
    คนวิกลจริตฟ้องคดีเองได้หรือไม่คับ
    ถ้าฟ้องไม่ได้ใครจะเป็นผู้ฟ้องแทน (ไม่ได้ร้องต่อศาลให้เป็นเคนเสมือนฯ)
    หากจะร้องขอต่อศาลให้เป็นคนเสมือนฯก่อนก็คงจะไม่ทัน เพราะอายุความคดีละเมิดเหลือไม่ถึง 1 เดือน
    มีทางแก้มั้ยคับ ช่วยชีแนะที

    ตอบลบ

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น